ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาและเป้าหมายที่เป็นประชาธิปไตยอยู่ 3 ฉบับ คือ ฉบับ 2489, ฉบับ 2517 และฉบับ 2540
ทั้ง 3 ฉบับมีจุดร่วมกัน 3 ประการสำคัญ คือ หนึ่งถือกำเนิดในช่วงที่ประเทศมีรัฐบาลที่นำโดยพลเรือน สอง ถือกำเนิดในช่วงที่ประเทศมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และสาม เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างสันติ
ซึ่งเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับที่เหลือส่วนใหญ่จะพบความแตกต่าง เพราะรัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นถือกำเนิดขึ้นในยามที่บ้านเมืองขาดความเป็นประชาธิปไตย ทั้งเป็นผลผลิตของการรัฐประหารที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และ 2560 ก็อยู่ในข่ายนี้
ย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่สังคมไทยผ่านพ้นจากภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง และมีการผลัดเปลี่ยนอำนาจจากรัฐบาลอำนาจนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ที่นำพาประเทศไทยเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพาร่วมกับฝ่ายอักษะ มาสู่รัฐบาลพลเรือนของคณะราษฎรสายปรีดี พนมยงค์และขบวนการเสรีไทยที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้และเจรจาจนไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม (เราเพิ่งฉลองวันสันติภาพไทยไปเมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา)
เป้าหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือปรับเปลี่ยนให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น โดยมีบทเรียนมาจากความบอบช้ำของประเทศในช่วงสงครามโลกที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมของผู้นำกองทัพโดยปราศจากการถ่วงดุลภายใต้คำขวัญของจอมพล ป. ที่ว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย”
โดยเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไข คือ การกำหนดให้มีพฤฒิสภา (ต่อมาเรียกว่าวุฒิสภา) ที่มาจากการเลือกตั้ง (ทางอ้อม) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยกำหนดให้มีสมาชิกในสภานี้ทั้งสิ้น 80 คน และห้ามเป็นข้าราชการประจำ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ข้าราชการประจำกลายเป็นฐานอำนาจของระบอบอำนาจนิยม
รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ถือเป็นฉบับที่ 3 ของประเทศ ริเริ่มนำเสนอตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเรือนของนายควง อภัยวงศ์ และมีการจัดทำร่างผ่านการตั้งกรรมาธิการในรัฐสภา โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธานการร่าง น่าเสียดายว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุสั้นมาก คือใช้อยู่แค่ปีกว่าๆ ก็มาถูกฉีกทิ้ง
เมื่อคณะนายทหารนำโดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจล้มล้างการปกครองในการรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ซึ่งทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในการปกครองแบบอำนาจนิยมต่อเนื่องยาวนานถึง 26 ปี
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่มีใครคาดฝันในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 การเดินขบวนของคลื่นมหาชนที่นำโดยนักศึกษาและประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ราว 5 แสนคน
ที่เริ่มต้นจากประเด็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้เปิดศักราชของการเมืองของประชาชน ที่มุ่งสร้างประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง ในบริบทเช่นนี้เองที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ภายใต้รัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์
รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากประชาชนที่ต้องการให้ประเทศมีกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตยและมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
รัฐบาลของอาจารย์สัญญา ซึ่งเดิมเป็นอธิบารบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้นำประเทศในห้วงยามวิกฤต จึงสัญญาตั้งแต่วันรับตำแหน่งว่าจะรีบจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน
การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ถือกำเนิดผ่านการร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับโดยคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง ซึ่งเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งสภาก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาโดยมีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างเข้มข้นและจริงจัง
ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติจำนวน 299 คนที่มีบทบาทในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะคัดเลือกกันมาจาก “สมัชชาแห่งชาติ” หรือที่สื่อมวลชนเรียกขานว่า “สภาสนามม้า” ที่มีจำนวนถึง 2,347 คน
ซึ่งมาจากหลากหลายภูมิหลังและสาขาอาชีพ รวมถึงอดีตผู้นำนักศึกษา แรงงาน อาจารย์ และตัวแทนในวงการต่างๆ แล้วมาเลือกกันเองให้เหลือ 299 คน (ชื่อสภาสนามม้ามาจากการจัดประชุมสมัชชาแห่งชาติที่สนามม้านางเลิ้งเพราะที่ประชุมอื่นๆ ไม่สามารถรองรับคนจำนวนเรือนพันได้
ทั้งนี้ ไม่มีบันทึกว่าการประชุมในครั้งนั้นต้องใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างวิทยุทรานซิสเตอร์หรือไม่) การมีสภาสนามม้าและสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่มาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพราะสังคมไม่เชื่อมั่นสภานิติบัญญัติชุดเก่าที่แต่งตั้งมาตั้งแต่สมัยจอมพลถนอมว่าจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้ จึงมีการยุบเลิกสภาเก่าที่ตกค้างมาจากคณะรัฐประหาร และสรรหาชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนหลัง 14 ตุลาฯ
รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยสูง เพราะมุ่งฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ขาดหายไปอย่างยาวนานตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 และยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม เนื้อหาด้านการรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงมีอยู่อย่างเข้มข้น
และมีการให้อำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติค่อนข้างสูง และยังแยกข้าราชการประจำออกจาข้าราชการการเมือง ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ น่าเสียดายอีกเช่นกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุขัยสั้น จบชีวิตลงด้วยการยึดอำนาจของกองทัพในการรัฐประหาร 6 ตุลาฯ 2519
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นั้น ถือกำเนิดมาจากกระแสการปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์ “ม็อบมือถือ” ในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งมาได้แรงผลักจากสภาพการเมืองในช่วง 2535-2540 ที่ประเทศมีรัฐบาลผสมอายุสั้น นายกฯ มีความอ่อนแอ บริหารประเทศไม่ได้ นโยบายขาดความต่อเนื่อง
คณะรัฐมนตรีอยู่ในอำนาจชุดละ 1-2 ปีก็ต้องยุบสภาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งและการต่อรองผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวภายในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐนาวาของนายกชวน หลีกภัย บรรหาร ศิลปอาชา และชวลิต ยงใจยุทธ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองจึงเป็นโจทก์ใหญ่ของการเมืองไทย ณ เวลานั้น
หากย้อนดูจุดกำเนิดที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ต้องให้เครดิตกับนายบรรหาร นายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2538-2539 ที่ริเริ่มผลักดันให้กระบวนการร่างรับธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับคิกออฟ ผ่านการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง
และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภาในสมัยนายกฯ บรรหารนี่เองที่ผลักดันให้มีการแก้ไข “วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” จนเป็นกุญแจไขไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้สำเร็จ มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 99 คน โดย 76 คนเป็นตัวแทนจังหวัด และอีก 23 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ
รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้รับการขนานนามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เนื่องจากกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างสูงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการตั้งเวทีทั่วประเทศรับฟังความคิดเห็นประชาชนและกลุ่มต่างๆ
ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในแง่กระบวนการต้องถือว่าเป็นประชาธิปไตยสูงยิ่งกว่าฉบับ 2480 และ 2517 เนื่องจากสองฉบับหลังกระบวนการเกิดขึ้นในรัฐสภาเป็นหลัก
รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญชนิดคอขาดบาดตาย เพราะในปีที่จะต้องผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือวิกฤตต้มยำกุ้ง
โครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ก่อให้เกิดโครงสร้างการเมืองใหม่ที่รัฐบาลมีเสถียรภาพ การเมืองเป็นการเมืองเชิงนโยบายและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมยึดโยงกับระบบการเมืองมากขึ้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมไทยก้าวผ่านห้วงเวลาวิกฤต ณ เวลานั้นมาได้
จากประวัติศาสตร์ เราจึงพบว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยทำให้เรามีรัฐธรรมนูญที่ตอบสนองประชาชนและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญที่ตอบสนองประชาชนก็ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและคุณภาพของประชาธิปไตย
จึงเป็นโจทก์ท้าทายสังคมไทยในปัจจุบันว่า เราจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของการสร้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎกติกาสูงสุดที่เป็น “สัญญาประชาคม” ของคนทั้งประเทศร่วมกันให้มีความเป็นประชาธิปไตยอีกครั้งได้หรือไม่
ความเห็น 13
dark hug
รัดถะทำนุนเปนกดหมายหลักหรือเปนแม่บทของกดหมายทั่วไปรัดถะทำนุน(PRINCIPLE LAW.) กดหมายทั่วไป(Common Law.)รัดถะทำนุนไม่มีหน้าที่สร้างการปกครอง แต่มีหน้าที่รักสาการปกครอง รัดถะทำนุนปี60.กำลังทำหน้าที่รักสาส้ากสพเน่าระบอบ ผะเดดการ ระบบกึ่งรัดถะสภา ไว้ไม่ให้ฝ่ายปชต.เข้าทำลายรักสาไว้ไม่ได้ดอกจ้า มันเน่าเปื่อยแล้วสะหายที่รัก
20 ส.ค. 2562 เวลา 11.36 น.
วสุวัชร
คนไทยชอบอิสระไม่ชอบอยู่ใต้กฎหมายแก้ให้ตายก็ไม่ดี อ้างต่างประเทศแต่ไม่ดูตัวเอง
20 ส.ค. 2562 เวลา 11.47 น.
wirat
ฉบับนี้อัปลักษณ์ที่สุด เขียนมาเพื่อรักษาอำนาจเผด็จการ
25 ส.ค. 2562 เวลา 15.25 น.
Manow
โดยนิสัยคนไทยไม่ค่อยกลัวกฎหมายแต่กลับกลัวคนมีเงิน ไม่ค่อยจะยกย่องคนทำดีแต่จะยกย่องคนมีเงินถึงแม้ว่าคนๆนั้นจะทำชั่ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญสักกี่ร้อยฉบับก็ไม่ได้ทำให้คนไทยส่วนมากสนใจหรอก คนไทยสนใจแต่ว่ารัฐบาลจะมีเงินมาให้พวกเขาใช้เท่าไหร่แค่นั้น
21 ส.ค. 2562 เวลา 15.02 น.
Somchai Ch.
ผู้ชนะย่อมได้เขียนประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญก็เหมือนกัน
21 ส.ค. 2562 เวลา 14.48 น.
ดูทั้งหมด