โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ลาก่อนตลอดกาล เพื่อนรัก (และเงิน) ของฉัน - LTF - เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

TALK TODAY

เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 17.05 น. • เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

ข่าวเด่นประเด็นร้อนของช่วงนี้ คงไม่มีอะไรโด่งดังไปกว่า การบอกลา LTF ตลอดกาลของมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ

ใช่แล้วค่ะ ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะไม่มี LTF ที่คอยช่วยเราลดหย่อนภาษีอีกต่อไปแล้ว

ท่ามกลางความเสียดายของมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลางทั้งหลาย (เราด้วย) แท้จริงแล้ว LTF เป็นเพื่อนแท้อย่างที่เราคิดหรือไม่ แล้วการยกเลิก LTF ไปใครได้ใครเสียกันแน่

วันนี้เราจะมาทบทวนเรื่องราวของ LTF เพื่อสั่งลากัน

/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\

คิดว่าผู้อ่านส่วนใหญ่คงอยู่ในวัยทำงาน แต่ก็น่าจะมีบ้างที่ยังเรียนอยู่ จึงจะขออธิบายก่อนว่า LTF คืออะไร

ทุกประเทศมีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำงานได้เงินมา ย่อมต้องเสียภาษีให้รัฐ แต่รัฐก็ไม่ใจร้ายเกินไป (มั้ง) มักมีนโยบายลดหย่อนออกมาช่วยเหลือประชาชน พร้อมจูงใจให้ทำอะไรบางอย่างที่มีประโยชน์

LTF (Long-term Equity Fund) หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว เป็นหนึ่งในนโยบายเหล่านั้น

กองทุน คือการที่คนจำนวนมากเอาเงินมารวมกัน แล้วมอบหมายให้ตัวกลาง (ในที่นี้คือบริษัทหลักทรัพย์) ช่วยบริหารจัดการนำเงินนั้น ไปลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ หากำไรสร้างรายได้กลับคืนสู่ผู้ลงเงิน

แรกเริ่ม LTF เกิดขึ้นหลังยุคต้มยำกุ้ง เป็นกองทุนหุ้นที่คนสามารถนำเงินลงทุน ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ (แต่ต้องคาเงินไว้ 5-7 ปีปฏิทิน) เพื่อให้มีกองทุนหุ้นขนาดใหญ่อัดฉีดเงินเข้าไป พลิกฟื้นตลาดหุ้นไทยที่กำลังซบเซา มันจึงมีฐานะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอันหนึ่ง

เมื่อเวลาผ่านไปสิบกว่าปี ตลาดหุ้นไทยค่อย ๆ เติบโต ฐานะของ LTF จึงค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป

มูลค่าของ LTF ทั้งหมด คิดเป็น 0.5% ของตลาดหุ้นไทยเท่านั้น

/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\

ในขณะที่ LTF ลดความสำคัญในฐานะตัวกระตุ้นเศรษฐกิจลง มันกลับสำคัญกับคนทั่วไปมากขึ้น

ปัจจุบันมนุษย์เงินเดือนในระบบ ถือเป็นกลุ่มที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด

พวกเขาส่วนหนึ่งอยู่ในวัยสร้างตัว ไม่ก็มีภาระทางครอบครัวมาก ทว่ามาตรการลดหย่อนที่มี มักเกี่ยวพันกับเงินออมหลังเกษียน (กองทุนและประกันบำนาญต่าง ๆ) ซึ่งเมื่อลงเงินไป ย่อมไถ่ถอนไม่ได้ไปอีกนาน มีเพียง LTF เท่านั้นที่ลงเพียงระยะสั้น เหมาะกับลักษณะการใช้ชีวิตมากกว่า

ปี 2559 เกิดเหตุน่าสนใจขึ้น

เดิมทีปีนี้เป็นปีสุดท้ายของนโยบาย LTF ทว่าผู้เสียภาษีทั้งหลาย โดยเฉพาะชนชั้นกลางทั่วไป ต่างรุ่มร้อนใจกับการสิ้นอายุขัยของนโยบายมาก จนเกิดเป็นประเด็นพูดคุยในวงกว้าง บางคนถึงขั้นบริพาษว่ารังแกคนชนชั้นกลางหากินทั่วไป ร้อนไปถึงนักเศรษฐศาสตร์ออกมาแสดงความห่วงใย ถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวม

ที่สุดรัฐบาลจึงต่ออายุ LTF ออกไปอีก 3 ปี และจะสิ้นสุดในปลายปี 2562 นี้เอง

แต่แท้จริงแล้ว การยกเลิก LTF เป็นผลเสียเฉพาะกับกลุ่มฐานเงินได้ระดับกลางจริงหรือไม่

/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\

ปี 2560 มีการตีพิมพ์งานวิจัยภาษีระดับชาติชิ้นหนึ่ง และต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการออกหนังสือขยายความงานชิ้นนี้ให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้

ความตอนหนึ่งของงานวิจัย กล่าวถึงมาตรการลดหย่อนภาษี ซึ่งรวมถึง LTF ไว้อย่างน่าสนใจมาก

จากการศึกษา แต่ละปีรัฐบาลจะสูญเสียเงินที่ควรได้ ไปกับมาตรการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ปีละกว่า “แสนล้านบาท” หรือเกือบเท่า “งบประมาณทั้งหมด” ของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งบรักษาพยาบาลของคนเกือบทั้งประเทศ (ที่หลายคนบ่นว่าไม่เพียงพอ)

เฉพาะ LTF สูญเสียร่วม “หมื่นล้านบาท”

พวกเขาจึงลองแยกคนเป็นกลุ่ม ๆ จากรวยที่สุดไปหาจนที่สุด ตามเงินได้พึงประเมิน แน่นอนกลุ่มที่จนที่สุดแทบไม่ซื้อ LTF การปรับเปลี่ยนใด ๆ ย่อมไม่มีผลโดยตรงกับพวกเขา ที่น่าตกใจกลับเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลาง ที่ “ดูเหมือน” ว่าได้รับผลกระทบมาก กลับมิได้ถือ LTF เป็นมูลค่าที่สูงดังที่เข้าใจ

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รวยที่สุดของประเทศ

งานวิจัยพบว่า “90% ของผลประโยชน์ที่ได้จากการลดหย่อนภาษีของ LTF” อยู่ในมือกลุ่มคนที่ “รวยที่สุด 10% แรกของประเทศ” ต่างหาก

สัดส่วนที่ชนชั้นกลางถือไว้ ซึ่งเคยเข้าใจว่ามาก แท้จริงแล้วน้อยยิ่งกว่าน้อยจริง ๆ

เพื่อให้เห็นภาพ หากยกเลิก LTF ไป กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง อาจไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเลย หรือมากที่สุดแค่ประมาณ 20,000 บาท ขณะที่กลุ่มรายได้สูงมาก อาจต้องเสียภาษีเพิ่มถึง 150,000 บาทเลยทีเดียว

ถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ และผิดไปจากที่คาดไว้ไม่น้อยจริง ๆ

/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\

อย่างไรก็ดี ด้วยระบบภาษีที่เป็นแบบก้าวหน้า ยิ่งรวยมากยิ่งเสียมากกว่า อาจทำให้มูลค่าของ LTF โน้มเอียงมาทางกลุ่มผู้มีรายได้สูงก็เป็นได้

ระบบภาษีแบบนี้ โดยพื้นฐานแล้วต้องการส่งเสริมการกระจายรายได้ ลดช่องว่างทางชนชั้นให้เท่าเทียม ทีมผู้วิจัยจึงได้ลองคำนวณด้วยวิธีทางสถิติว่าการมีหรือไม่มี LTF นั้น ส่งผลต่อความเท่าเทียมดังกล่าวอย่างไร 

ผลปรากฏว่า การมี LTF กลับยิ่ง “ถ่างช่องว่าง” ระหว่างกลุ่มรายได้ ซึ่งขัดกับเป้าหมายพื้นฐาน นำไปสู่การที่บางคนเท่าเทียมยิ่งกว่าบางคน

ในขณะที่ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้สูงมากดังแต่ก่อน

LTF คงไม่ใช่มาตรการที่ดีและเหมาะสมอีกต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์

3 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังก็เคาะผ่านนโยบาย SSF (Super Savings Fund) นั่นคือจะไม่มี LTF อีกต่อไป

SSF เป็นกองทุนที่ออกมาใหม่ เพื่อทดแทนและปลอบใจแฟน ๆ LTF

ด้วยเพราะไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้น จึงมีอิสระที่จะลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ได้ เสียแต่ต้องลงเงินไว้นานหน่อย เพราะมันมีเป้าหมายส่งเสริมการออมระยะยาว (10 ปีปฏิทิน)

แต่ SSF ก็มีเงื่อนไขที่น่าสนใจมากอันหนึ่ง นั่นคือให้ซื้อได้ถึง 30% ของรายได้ (เป็นสัดส่วนที่มากกว่า LTF เดิมที่ 15%) แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (ซึ่งน้อยกว่า LTF ที่ 500,000 บาท)

นั่นหมายความว่า มันพยายามจะจำกัดคนรวยมาก ให้ซื้อมันได้แค่ 200,000 บาท แต่เปิดโอกาสให้คนรายได้น้อยกว่า ซื้อได้มากขึ้นกว่าเดิม

ดูเหมือน SSF จะออกมายิงตรงจุด ที่เคยเป็นจุดอ่อนอันหนึ่งของระบบจัดเก็บภาษีไทย

ความเท่าเทียมจะกลับมา ช่องว่างที่ถูกถ่างไว้จะค่อย ๆ ปิดแคบลงหรือไม่

นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่น่าสนใจ ว่าจะนำพาระบบภาษีไทย มุ่งไปทางทิศไหนกันแน่

/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\/\

อ้างอิง

ผาสุข พงษ์ไพจิตร, นวลน้อย ตรีรัตน์. We the people ปฏิวัติภาษีเงินได้ฯ ให้เท่าเทียม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562.

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 10

  • ปอง
    10ปี มันนานเกินไปสำหรับคนที่ไม่มีเงินฝากนอนอยู่ในแบงตลอดเวลา ยิ่งคนที่มีภาระรายจ่าย ใครจะกล้าฟันธงว่าภายใน10ปี จะไม่ได้ต้องการใช้เงินส่วนนี้
    10 ธ.ค. 2562 เวลา 03.25 น.
  • AOF CAN DO 24/7
    ทางแก้ที่น่าจะเกิดประโยชน์กว่า คือ รัฐ ต้องสร้างสวัสดิการที่ดี คุ้มค่า และเกิดประโยชน์อย่างชัดเจนกับประชาชน ให้คนรู้สึกว่าภาษีที่จ่ายไป เกิดประโยชน์สูงสุดสุด คุ้มครอง และดูแลคนจ่าย ในอนาคต พอคนไม่เห็นคุณค่าของการจ่ายภาษี ก็หาทางที่จะลดหย่อน หลบเลี่ยง
    10 ธ.ค. 2562 เวลา 04.22 น.
  • Suchart.
    มาติดตามกันว่าจะเป็นอย่างที่ศึกษาหรือไม่? ถ้าไม่ ใครจะรับผิดชอบ
    10 ธ.ค. 2562 เวลา 22.15 น.
  • คำว่ายกเลิกคือยกเลิกเพียงการลดหย่อนภาษีแต่เงินที่เก็บไว้ยังคงดำเนินการซื้อขายตาม7 ปีปฏิทินต่อไป หรือ ยกเลิกโดยการยุติสัญญาและคืนเงินปิดบัญชีไปเลยคะ ใครรู้แน่นอนตอบหน่อย
    12 ธ.ค. 2562 เวลา 03.28 น.
  • LoopyAngie
    เมื่อไหร่จะออกกฎหมายควบคุมค่าดำเนินการของกอฃทุนบ้างหละ ดพเนินงานดีได้ค่าบริการไปก็ดี แต่ถ้าผลงาน ไม่ดีก็ไม่ควรได้
    10 ธ.ค. 2562 เวลา 23.56 น.
ดูทั้งหมด