งานฉลองก่อน “บวช” บวชเอาบุญหรือบวชเอาหน้า?!
ถึงแม้จะไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ศาสนาพุทธก็แทบจะแทรกตัวอยู่ในทุกอณู การใช้ชีวิตของพวกเราอย่างแนบแน่น ทั้งในกฎเกณฑ์การใช้ชีวิต และประเพณีวิถีชีวิตของทุกคน
บางอย่างก็กลายเป็น‘หน้าที่’ อย่างการบวชของชายไทย ที่ถูกผูกโยงเข้ากับการทดแทนคุณของพ่อแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้เมื่อถึงคราวต้องทำหน้าที่ของลูกผู้ชาย ก็เปรียบดั่งการเข้าถึงเส้นชัยของบิดามารดา ที่ได้อวดญาติพี่น้องว่า “ลูกชายของฉันน่ะเค้าบวชแล้ว ลูกชายบ้านเธอล่ะ บวชหรือยังจ๊ะ?”
เป็นที่มาให้ประเพณีการบวชพระของชาวไทยบางกลุ่มกลายเป็นค่านิยมด้านหน้าตา เน้นไปที่เรื่องของการเฉลิมฉลอง ตั้งเวที เปิดโต๊ะจีน จ้างโคโยตี้มาเลี้ยงกันทั้งวันทั้งคืนก่อนลูกชายจะเข้าสาบานตนต่อหน้าพระสงฆ์ในอุโบสถ เหมือนจะเป็นการ ‘เบียดก่อนบวช’ ส่งท้ายชีวิตก่อนไปทำตัวสงบเสงี่ยมในเวลาไม่เกิน 3 เดือน
ความสนุกสนานเพื่อเฉลิมฉลองกับการเบียดส่งท้าย เราคงได้เห็นผลเลวร้ายที่สุดอย่างที่จะเป็นไปได้แล้วในข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มเพื่อนนาคบุกเข้าไปทำร้ายนักเรียน ครู และพนักงานในโรงเรียนแห่งหนึ่งในวันสอบระดับชาติที่สำคัญในชีวิตของเด็กวัยรุ่น เพียงเพราะเหตุผลที่ว่าโรงเรียนไม่ให้ใช้เสียงดัง!
ระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น คงไม่เกินไปนักหากจะเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกา ที่เรามักได้ยินข่าวการเข้าไปกราดยิงเด็กนักเรียนในโรงเรียนมัธยม จนต้องมีการฝึกซ้อมรับมือเหตุร้ายประเภทนี้กันเป็นประจำ คำถามก็คือ การแห่นาค ความสนุกสนาน สุราเมรยมชฺชปมาทั้งหลายแหล่ที่อาจทำให้ความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอีกได้ จำเป็นแค่ไหนกับการบวชเป็นพระในพุทธศาสนา และสาเหตุหนึ่งของการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เป็นเพราะประโยคที่ว่า ‘เกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์’ หรือเปล่า?
เอาเข้าจริงแล้ว เมื่อย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล คำกล่าวที่ว่า ‘บุคคลผู้มีอัธยาศัยในการบวช’ ไม่ได้หมายถึงผู้ชายที่มีอายุกำหนดเอาไว้ว่าต้อง 20 ปีขึ้นไปเท่านั้นถึงจะเข้าเกณฑ์ แต่หมายถึงผู้ชายคนไหนก็ได้ ที่เลื่อมใสในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้แสดง เห็นว่ากิเลสจากการอยู่ครองเรือน (หรือใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นเพื่อเข้าสู่หนทางแห่งการหลุดพ้น อันเป็นจุดสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้อย่างไม่มีอะไรมารบกวน ‘การบวช’ จึงเป็นหนทางที่ถูกใช้เพื่อขัดเกลาตนเองให้หลุดพ้น
ประโยคที่ว่า ‘เกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์’ จึงเป็นชุดความคิดที่ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง และไม่พบในพระไตรปิฎกแต่อย่างใด แต่เป็นเหมือนสโลแกน เป็นกุศโลบายให้ชายไทยปฏิบัติตาม เพื่อทดแทนบุญคุณในเชิงจิตวิญญาณแก่ผู้ที่เลี้ยงดูมา เป็นการจับคู่กันในเชิงคอนเซ็ปต์ระหว่างพุทธศาสนา บวกกับคติความเชื่อเรื่องครอบครัวของประเทศฝั่งตะวันออกที่มีวัฒนธรรมครอบครัวแบบขยาย เน้นการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ส่งต่อประโยคความเชื่อนี้ต่อกันเป็นทอด ๆ
หากจะเป็นการเกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์จริง ๆ ก็คงเป็นแผนซ้อนแผนอีกทีหนึ่ง ที่คนรุ่นก่อนบอกต่อกันมาเพื่อให้คนแก่ (ดัดยาก) ทั้งหลาย ได้หัดเข้าวัดเข้าวา ฟังธรรมจากปากลูกชาย เพื่อจะได้หลุดพ้นจากกิเลศเท่าที่จะทำได้ในวัยของตัวเอง ดังในพระธรรมคำสอนที่มีประโยคอธิบายไว้ว่า การตอบแทนคุณบิดามารดาที่ประเสริฐที่สุด คือการทำให้พวกท่านได้เข้าใจพระธรรมจากคนที่เป็นบุตรผู้เข้าสู่เพศบรรพชิต
การบวชที่แท้จริง จึงไม่ใช่พิธีกรรมที่ลูกผู้ชายทุกคนต้องทำเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่เหมือนการใช้หนี้ที่ต้องจ่ายคืนเป็นราคาของ ‘การได้หน้า’ จากญาติพี่น้อง อันตามมาด้วยกิเลศอีกมากที่มาจากสถานะนาคเพื่อฉลองส่งท้าย เพราะหากเป็นอย่างนั้น การบวชคงไม่ต่างอะไรกับหลายพิธีการทั้งงานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ งานหมั้น และอีกหลายงาน ที่มีหน้าที่เพียงแค่สานสัมพันธ์ครอบครัว มาสนุกสนาน และหาคอนเน็กชั่นผ่านซองใส่เงินที่จ่ายเป็นค่าบุฟเฟต์อาหารให้เจ้าภาพ
และถ้างานบวชครั้งต่อไปของคุณหรือคนใกล้ตัวเป็นแบบนั้น ลองฉุกคิดสักนิด ว่าการบวชครั้งนี้ เป็นการบวชเอาหน้า หรือบวชเอาธรรมะใส่ตัวเองให้ได้เอามาเป็นหลักใช้ชีวิตหลังสึกกันแน่!?
ความเห็น 69
พินิจ อั้นทอง
บวช
@ ชวนเเขก เพื่อนๆ ไม่รับซอง ถือว่าบวชเอาบุญ
@ ขวนเเขก เพื่อนๆ รับซอง ถือว่าบวชเพื่อเงิน
28 ก.พ. 2562 เวลา 12.17 น.
พุทธศาสนิกชนไปร่วมงานบวช ต้องการบุญ
อันธพาล ไปร่วมงานบวช ต้องการ สนุก
28 ก.พ. 2562 เวลา 08.09 น.
poowadon
บวชเอาสะใจแล้วบอกตัวเองว่าการได้ดิ้นกระแด่วหน้านาคคือการทำให้ตัวเองได้ขึ้นสวรรค์เป็นเทพบุตร เทพธิดา
28 ก.พ. 2562 เวลา 05.13 น.
มันแน่อยู่แล้ว งานใหญ่บ้านรวย งานเล็กบ้านจนเรื่องจริง ผมรู้ผมบวชมาแล้ว ผ่านเรื่องแบบนี้มาแล้ว
28 ก.พ. 2562 เวลา 04.56 น.
krulex
บวชเอาซองเพราะช่วยเขาไว้เยอะแล้วบางงานย้ายจากกันเป็น10ปีอยู่คนละภาคยังตามไปแจกบอกเคารพนับถือ
28 ก.พ. 2562 เวลา 03.50 น.
ดูทั้งหมด