โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

“นพพล” เล่าเส้นทางละครของ “เศรษฐา ศิระฉายา” 

daradaily

อัพเดต 23 ก.พ. 2565 เวลา 16.17 น. • เผยแพร่ 23 ก.พ. 2565 เวลา 23.30 น.

“นพพล” เล่าเส้นทางละครของ “เศรษฐา ศิระฉายา” 
       จากที่ดาราเดลี่ได้คัดบทความเด่นเรื่องชีวิตของ “เศรษฐา ศิระฉายา” ตอนที่ 1 ไปว่าด้วยเส้นทางการเป็นนักร้อง มาบทที่สอง “นพพล โกมารชุน” ได้เล่าเส้นทางในอาชีพนักแสดงซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจดังนี้ 

อ่านต่อ:“นพพล” เขียนถึง “เศรษฐา ศิระฉายา”…พี่ชายคนโต | daradaily

ความเดิมของตอนที่แล้ว…..
พูดเล่นครับ ไม่ย้อน ไม่ย้อน ทีนี้จากเพลงมาสู่ทีวีตู้ละครับ
ละครทีวีกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของทุกครัวเรือนยุคก่อนมือถือ อาบน้ำกินข้าวเสร็จก็ต้องมาร่วมชุมนุมอยู่หน้าจอทีวี
พี่ต้อยเริ่มงานละครทีวีครั้งแรกจากเรื่อง "ตุ๊กตาเสียกะบาล" ของคุณเล็ก ภัทราวดี ทางช่อง 3 
ผมเองนั้นก็เกิดกับช่อง 3 เช่นเดียวกัน จากเรื่อง "คนเริงเมือง" ของพี่ “จิ๋ม มยุรฉัตร” 
       จากนั้นเส้นทางของพี่ต้อยกับผมก็มาบรรจบกันอีกครั้งเมื่อพี่หนก กนกวรรณ ด่านอุดม ต้องการให้ผมมาแสดงเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ทางช่อง 5 รับบท ตาอ๊อด ลูกแม่พลอย หลานลุงเพิ่ม ซึ่งแสดงโดย คุณ “เศรษฐา ศิระฉายา” 

        เห็นมั้ยครับ สิบกว่าปีที่ต่างคนต่างไปมีชีวิตโลดแล่นตามทิศทางของตัวเอง ไม่เคยพบปะเสวนา แล้ววันนึงฟ้าก็กำหนดลงมาบนแผนที่ให้ต้องมาเจอกัน มาเดินบนถนนเส้นเดียวกันอีก เส้นทางบันเทิง
แล้วในหลายปีที่ผ่าน พี่ต้อยก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองมากมาย เป็นที่นิยมชมชอบของชาวประชาทั่วราชอาณาจักร ผมเองนั้นได้ยินเสียงเล่าอ้าง เสียงร่ำลือ มาตลอดนะครับว่า พี่ต้อยคือนักแสดงฝีมือฉกาจฉกรรจ์มากในยุทธจักร ซึ่งผมก็ได้พบว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นความจริงทั้งหมดในคืนวันหนึ่งที่เราบันทึกเทปกันอยู่ที่ห้องส่งสนามเป้า
       คือฉากนั้นเป็นฉากที่พ่อเพิ่มจะต้องสาธยายรายละเอียดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยให้แม่พลอยได้ซึมซับรับทราบ น้าสุภาว์ (สุภาว์ เทวกุล ผู้เขียนบท) ส่งงานมาทางแฟกซ์ ความยาวสองหน้ากระดาษ A4 ให้พ่อเพิ่มอ่านเดี๋ยวนั้นให้ทันอัดเทปเดี๋ยวนั้น พี่ต้อยขอเวลาห้านาที อ่านรวดดียว แล้วบอกทีมงานว่า พร้อม ผมนั้นรับบทมาจากมือพี่ต้อย หลบอยู่ข้างฉากเผื่อว่าจะช่วยกระซิบบอกหากพี่ต้อยลืม (สมัยนั้นยังมีบอกบทอยู่บ้างครับ) เชื่อมั้ยครับ ผมอ่านบทไล่ตามไป พี่ต้อยไม่ตกคำพูดเลยแม้แต่คำเดียวในขณะที่จะต้องแสดงอารมณ์เศร้าในความรู้สึกที่กษัตริย์ต้องสูญเสียพระราชอำนาจแห่งการปกครอง
ทุกคนอึ้ง ผมอึ้ง รู้สึกจุกในหัวอกคล้อยตามไปกับพ่อเพิ่ม กับแม่พลอย
ป้ากัณ (กัณฑรีย์ ณ สิมะเถียร ผู้กำกับ) รำพึงเบาๆ "ต้อยนี่อัจฉริยะ" ผมจำได้ไม่มีวันลืม
นับว่าเป็นโชคดีที่หลังจากนั้น ผมก็ได้ร่วมงานกับพี่ต้อยอีกหลายครั้งหลายครา รวมทั้งการเป็นนักแสดงให้พี่ต้อยกำกับก็ไม่น้อย เริ่มจาก….
"สามหัวใจ" ช่อง 3 นางเอก รัชนู บุญชูดวง
"บุษบาเสี่ยงเทียน" รัชฟิล์ม ช่อง 5 นางเอก เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์
"ตะวันขึ้นที่อ่าวพังงา" รัชฟิล์ม ช่อง 5 นางเอก จริยา สรณคมน์
และอื่นๆที่จำชื่อไม่ได้อีกมากมาย
โดยเฉพาะเรื่องหลังนี่นะครับทำให้รู้ว่าพี่ต้อยเป็นผู้นำทางด้านกลัวผีขนาดหนัก มีอยู่คืนครับที่ผมกับแก๊งนักแสดงจะเข้าเมืองภูเก็ตไปเที่ยวดิสโก้ เราพักห้องเดียวกัน พี่ต้อยนอนไม่ได้ต้องเรียกแกมบังคับทีมงานเกือบทั้งหมดมาเล่นไพ่ที่ห้องเป็นเพื่อน พอผมกลับปุ๊บไล่ทุกคนไปนอนทันที "เลิก เลิก ไปนอน ตู่มาแล้ว พี่นอนได้แล้ว" 
เอ้า ไหนๆเอ่ยถึง ไพ่ แล้วก็ต่อเรื่องนี้ซะเลยนะครับ
ก๊วนไพ่ของพี่ต้อยนี่นับได้ว่าเป็นความสุขทางกายและทางใจอย่างยิ่ง
ยุคนึง เรารวมตัวเล่นไพ่กันแทบจะคืนเว้นคืนทีเดียว บ้านพี่ต้อยนั่นแหละเป็นหลักเพราะพี่ต้อยชอบทำอาหาร และทำทุกอย่างอร่อยมากเลี้ยงดูกันเป็นที่อิ่มหนำสำราญ นั่นคือความสุขกาย ส่วนสุขทางใจคือเสียงหัวเราะจากมุขต่างๆที่พรั่งพรูในวง ได้เสียไม่สำคัญเท่าสนุกครับ
เอางี้ ชอบมั้ยชอบคิดดู คืนที่พี่เปี๊ยกเจ็บท้องจะคลอดน้องอี๊ฟ ก๊วนเล่นไพ่กันอยู่ที่บ้านสมาชิกแถวพัฒนาการ พี่เปี๊ยกฝากท้องที่วิชัยยุทธ สามเสน ก๊วนทั้งหมดก็พร้อมใจเฮตามมากลางดึก เปิดห้องพิเศษเล่นต่อรอพี่เปี๊ยกคลอดอ้ะครับ จะว่าไปน้องอี๊ฟแทบจะเกิดกลางวงสามกอง
คืนก่อนที่วัดก่อนพระสวดเรายังคุยกันว่า ป่านนี้ขาไพ่ที่ล่วงหน้าไปก่อน เช่น แม่ ป๋า อาธรรมนูญ อาพวงเล็ก พี่โต รัชฟิล์ม พี่ทุม ปทุมวดี และอีกมากมาย คงได้เฮกันลั่นฟ้าต้อนรับหัวหน้าคณะสามกองเป็นที่ครื้นเครงแน่นอน 
พี่ต้อยครับ พี่ไม่มีวันเหงาหรอกครับ เชื่อผม
จบ episode 2

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0