ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ยุคที่การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสประสบการณ์สุดท้าทายยังไม่แพร่หลายเช่นทุกวันนี้ นักเดินทางคนหนึ่งตัดสินใจแบกกล้อง บุกป่าฝ่าดงไปยังประเทศต่างๆ นับร้อย เพื่อนำเรื่องราวแปลกๆ ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตจากทั่วมุมโลกมานำเสนอกับผู้ชมชาวไทยนับล้าน
เขาสร้างปรากฏการณ์ที่น้อยคนนักจะทำได้ ทั้งเป็นคนไทยคนแรกที่พิชิตขั้วโลก ณ ตำแหน่ง 90 องศาเหนือ ตะลุยแดนสงคราม สำรวจชีวิตสัตว์ป่าซาฟารีแบบประชิด รวมถึงกระโจนแม่น้ำอเมซอนเพื่อใกล้ชิดกับปลาปิรันยา
แม้เวลาจะผ่านมานาน แต่เรื่องราวของเขาก็ไม่เคยจางหายจากความทรงจำ
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชักชวนทุกคนกลับไปนึกถึง ‘วีระ นุตยกุล’ สุดยอดตำนานนักเดินทาง และเจ้าของรายการ ‘ผจญภัยไร้พรมแดน’ ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนกล้าลุกขึ้นออกมาผจญโลกกว้าง
-1-
ตำนานนักบุกเบิก รายการผจญภัย
คืนวันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน 2540 เป็นครั้งแรกที่คนไทยได้รู้จักกับ วีระ นุตยกุล หนุ่มใหญ่เจ้าของธุรกิจข้ามชาติ ที่มาเป็นแขกรับเชิญในรายการวาไรตี้ทอล์กโชว์แห่งยุค ‘ตีสิบ’
ความพิเศษของชายผู้นี้ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้าน แต่เขายังเป็นนักผจญภัยที่บุกตะลุยไปยังดินแดนที่คนโลกแทบไม่เคยเข้าไปถึง หนึ่งในนั้นคือ ขั้วโลกเหนือ ซึ่งเขานำธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ติดตัวไปด้วย เพื่อประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า คนจากชาติเล็กๆ ก็ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
“บางคนบอกว่าเคยไปขั้วโลกเหนือ เขาหมายถึงที่เอสกิโมอยู่ นั่นไม่ใช่ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกเหนือคือ 90 องศาเหนือ คือแกนของโลก ที่เขาไปคืออลาสกา นอร์เวย์ ไซบีเรีย หรือแคนาดา ในจำนวน 6,000 ล้านคน มีไม่กี่พันคนที่เดินทางไปถึง.. เรือที่ผมไปเป็นเรือนิวเคลียร์ของรัสเซีย ปีหนึ่งไปได้ครั้งเดียว เฉพาะช่วงที่น้ำแข็งน้อยที่สุด คือเดือนกรกฎาคม
“แล้วคราวที่ผมไปมีคนทั้งหมด 18 ประเทศ แต่ละคนมีธงชาติของตัวเองหมด เราต้องเดินทางฝ่าน้ำแข็งทั้งวันทั้งคืน แล้วสมมติวันนี้เราอยู่ขั้วโลกเหนือ ถ้าอยู่ที่นั่นอีก 6 ชั่วโมง เราจะเลื่อนจาก 90 องศาเหนือไป เพราะน้ำแข็งมันจะเลื่อนไปเรื่อยๆ ที่นั่นจะมีสัตว์คือ แมวน้ำ หมีขาว แต่คนอยู่ไม่ได้ เพราะขั้วโลกเหนือเป็นน้ำ ล้อมรอบด้วยแผ่นดิน ผิดกับขั้วโลกใต้ เป็นเกาะแอนตาร์กติกา ล้อมรอบด้วยน้ำ”
หลังเทปรายการออกอากาศก็กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ทันที หลายคนเรียกร้องให้วิทวัส สุนทรวิเนตร์ เชิญวีระมาร่วมสนทนาบ่อยๆ กระทั่งหนุ่มใหญ่ผู้นี้กลายเป็นแขกคุ้นเคยประจำรายการตีสิบ ระหว่างนั้นเขาก็หยิบเรื่องราวต่างๆ มาถ่ายทอด ทั้งการตามรอยกอริลลาที่ป่าบวินดิ การท่องโลกเพื่อค้นหาเมืองมาชู ปิกชู ดินแดนลับแลแห่งอาณาจักรอินคา รวมถึงการเดินทางไปคลุกคลีชนเผ่าไอเรียนจายา ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นมนุษย์กินคน
หลังถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตอยู่พักใหญ่ บวกกับบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจส่งไปยังนิตยสารมากมาย ทั้ง สารคดี เที่ยวรอบโลก และ Advanced Thailand Geographic
วีระก็เริ่มคิดจะทำรายการของตัวเอง
“ผมอยากถ่ายทอดความรู้ที่เคยเห็นในรอบ 10-20 ปีให้คนไทยได้เห็นบ้าง อยากให้เขาได้เห็นโลกภายนอกว่ามันมีอะไรที่น่าตื่นเต้น ที่น่าสนใจ และจะทำอย่างไรให้คนไทยได้ไปเห็นเหมือนผมเห็นบ้าง”
แต่การทำรายการโทรทัศน์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากวีระไม่มีทั้งประสบการณ์ ไม่มีทั้งพรรคพวกในวงการเลย เขาใช้เวลาอยู่ร่วมปี ค่อยๆ วางรูปแบบรายการ เขียนบท ถ่ายสต็อก จนได้มา 25 ตอนแรก จากนั้นก็ตัดต่อ ลงมือหาผู้สนับสนุนรายการเอง หลังจากเคยฝากคนอื่นให้ช่วย แต่สุดท้ายกลับไม่ได้อะไรกลับมา กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม 2543‘ผจญภัยไร้พรมแดน’ ก็ได้ออกอากาศเทปแรก ตอนอียิปต์ ไคโร อาหรับราตรี เวลาทุ่มตรง ทาง ททบ.5
แม้จะออกอากาศเพียงครึ่งชั่วโมง แต่ด้วยรูปแบบรายการที่แหวกแนว ตามสไตล์ที่เรียกว่า Documentary Drama หรือสารคดีผจญภัยบุกเบิก ทำให้รายการได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว กระทั่งผู้บริหารสถานีต้องติดต่อวีระ ขอเลื่อนเวลาออกอากาศไปในช่วง Prime Time คือทุกวันเสาร์ เวลา 3 ทุ่มครึ่งแทน
“คนดูรายการเราเยอะ มีจดหมายเป็นพันๆ ฉบับ บอกว่าให้ทำรายการสักชั่วโมงได้ไหม ครึ่งชั่วโมงมันน้อยไป แต่เขาไม่รู้ว่าครึ่งชั่วโมงนี่ตั้ง 200,000 แล้วนะ คือถ้าดูรายการจะเห็นว่าของผมไม่เหมือนของคนอื่น มันไม่ใช่สารคดี รายการอื่นในสายตาผม เขาทำได้ดีก็จริงแต่สาระมันน้อยไป บางรายการลงทุนเยอะ แต่เนื้อเรื่องไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร พอจบก็ขอบคุณโรงแรมนั้นเพราะเขาให้สปอนเซอร์ แต่ของผมมันคนละอย่าง”
หากว่าอะไรปัจจัยที่ทำให้ผจญภัยไร้พรมแดน ขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 ก็คงหนีไม่พ้นตัวพิธีกรอย่างวีระนั่นเอง
เพราะปกติรายการสารคดียุคนั้นมักไม่มีพิธีกร หรือต่อให้มีก็ทำหน้าที่เป็นเพียงคนนำทางเฉยๆ แต่วีระกลับบุกตะลุยไปยังทุกที่ชนิดไม่เกรงกลัวอันตราย โดยทุกครั้งก่อนเดินทาง เขาจะพยายามศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อเรียนรู้ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานที่มากที่สุด
“ทุกครั้งผมจะเข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้าน เขากินอะไร นอนอย่างไร ไปตั้งเต็นท์อยู่กับเขา เขาอยู่บ้านผมก็อยู่เต็นท์ข้างๆ เช้ามาเขาจุดไฟ หรือชาวป่าไปหากินตามป่า ไปขุดเผือกขุดมันผมก็ตามเข้าไป เช่นเดียวกับ สัตว์ป่าเราก็ไปอยู่กับสัตว์ป่า ครั้งหนึ่งเราเดินกับแรดห่างกันแค่ไม่กี่เมตร หรือไปนั่งอยู่กับกอริลลาที่กำลังกินอะไรเราก็ไปกินกับมัน เหมือนหนังเรื่อง Gorillas in the Mist คือเข้าไปอยู่จริงๆ อย่างนั้น เห็นเสือดาว สิงโตกำลังฆ่าสัตว์ เราก็ตามมันไป
“ผิดกับ Discovery และ National Geographic ที่เขาบรรยายอย่างเดียว เห็นกันเกลื่อน แต่ผมอยู่ในนั้น ผมหันมาพูดกับกล้อง ผมอยู่กับเหตุการณ์และจะต้องได้รับสาระความรู้มีเรื่องผจญภัย มันเหมือนกับรายการ Lonely Planet ของเมืองนอก แต่ของเขาก็ทำง่ายๆ คือเดินทางคนเดียว มีคนตามไปถ่าย ของเราดีกว่าเยอะ”
อีกจุดเด่นของผจญภัยไร้พรมแดน คือการเลือกสถานที่ ซึ่งพิธีกรขาลุยมักพาผู้ชมไปยังที่แปลกๆ หลายแห่งเพียงแค่ฟังชื่อก็รู้สึกน่ากลัวแล้ว แต่เขากลับบุกตะลุยชนิดไม่หวั่นอันตรายแม้แต่น้อย
“ประเทศที่เจริญแล้วใครๆ เขาก็ทำได้ ใครๆ ก็เดินทางไปได้ ถ้าเราไปทำ มันจะต้องมีเรื่องติ ฉะนั้นผมจึงพยายามทำในสิ่งที่คนอื่นเขายังไม่เห็น เช่นไปนิวซีแลนด์ ผมก็ไม่ไปในที่เขาไปๆ กัน ผมเอาไข่ไปต้มที่น้ำพุร้อน ไปตัดขนแกะกับเขา หรือไปตกปลาเทร้าท์ จะได้บอกว่ามันยากแค่ไหน
“แอฟริกาก็เหมือนกัน ผู้คนอาจติดภาพคนเอธิโอเปียกำลังจะตาย แต่ความจริงมันมีมนต์โรแมนติกนะ แต่ละประเทศล้วนมีเรื่องราวหลายแง่มุมให้ค้นหา ทั้งวิถีชีวิตและธรรมชาติ อย่างเรื่องหนึ่งที่หลายคนคิดคือ แอฟริกาต้องร้อน ต้องแห้งแล้ง แต่ความจริงไม่ใช่เลย ถ้าเป็นฤดูฝน ที่นี่จะเขียวชอุ่ม สวยงามมาก แล้วแต่ฤดูกาล สัตว์ป่าก็ต่างกัน เพราะสัตว์บางชนิดจะอพยพจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่ง บางครั้งเราอาจเห็นวัววิลเดอบีสต์และม้าลายเป็นล้าน เนื่องจากทุกปีมันจะอพยพจากแทนซิเนียไปเคนยา นี่คือสัญชาตญาณของสัตว์ที่รู้ว่าฝนจะตกแล้ว มันเลยตามไป”
ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งบวกกับความบ้าบิ่นที่ไม่เหมือนใคร ไม่แปลกเลยที่แม้เวลาจะผ่านไป แต่ผลงานของเขาก็ยังคงความร่วมสมัย และกลายเป็นบันทึกการเดินทางที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมายได้เดินตาม
-2-
นักผจญภัยตั้งแต่เกิด!!
ชีวิตของวีระคือการผจญภัย เขาหลงใหลเสน่ห์ของการท่องโลกตั้งแต่เด็ก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังฝรั่งเรื่อง HATARI ซึ่งเล่าเรื่องการผจญภัยในแอฟริกา และมีฉากพระเอกใช้บ่วงคล้องคอสัตว์ ทั้งแรด ม้าลาย ช้างป่า ซึ่งยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกท้าทาย อยากออกเดินทางแบบนี้บ้าง
แล้ววันหนึ่งโอกาสของเขาก็มาถึง หลังได้เป็นลูกเสือ เขาเริ่มการผจญภัยเล็กๆ ด้วยการเดินทางต่างจังหวัด ไปดูดาว ตั้งแคมป์ พอโตขึ้นก็กลายเป็นนายหมู่ พารุ่นน้อง 7-50 คนไปเที่ยวเข้าป่า สอนวิธีจุดไฟโดยไม่ใช่ไม้ขีด วีระบอกว่าคลั่งไคล้กิจกรรมนี้ถึงขั้นแต่งชุดมาเรียนกับรุ่นน้อง ทั้งที่ช่วงมัธยมปลายไม่ต้องเรียนลูกเสือแล้ว
“ผมเป็นคนเดียวที่แต่งชุดลูกเสือแทบทุกวัน เด็กทั้งโรงเรียนสันติราษฎร์ฯ มี 700-800 คน ไม่ว่าจะเดินไปไหนเด็กก็จะบอกว่านั่นไงพี่หมู่วีระ ทำให้เราภูมิใจ เป็นคนดังในโรงเรียน ครูก็เอาใจ เด็กก็เอาใจ เรียนหนังสือไม่เก่งครูก็ให้ผ่าน
“พอเรียนจบ ม.8 อายุได้ 18 ปี ผมก็ไปขออนุญาตอาจารย์เพทาย อมาตยกุล ผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นนายกสโมสรลูกเสือกรุงเทพฯ ว่าอยากเดินทางไปต่างประเทศ ไปคนเดียวด้วย เส้นทางคือแอฟริกา ยุโรป เอเชีย อาจารย์ก็บอกว่าอย่าไปเลย ผมก็บอกไม่รู้ล่ะ ถ้าไม่ให้ ผมไปเองนะ แกก็เลยพาไปหาอธิบดีกรมพลศึกษา เขาก็ออกหนังสือฉบับหนึ่งว่าให้นายคนนี้เดินทางไปพักผ่อนตามสโมสรลูกเสือทุกประเทศได้”
วีระแบกเป้พร้อมเงินไม่กี่พันบาท ค่อยๆ โบกรถบ้าง เดินเท้าบ้าง ลงมาทางนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พอถึงจังหวัดไหนก็ไปพบอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแถวนั้น เพื่อให้ช่วยพาไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด หรือศึกษาธิการจังหวัด แล้วท่านเหล่านั้นก็จะพาเขาไปเลี้ยงบ้าง ไปพูดตามรายการวิทยุ ตามโรงเรียน เพื่ออธิบายว่าเขาเป็นใคร กำลังจะไปไหน พอตกดึกก็ไปสอนกิจกรรมลูกเสือ และตอนเช้าก่อนออกเดินทาง นักเรียนก็จะเรี่ยไรเงินคนละ 1-2 บาทช่วยเป็นค่าเดินทาง วีระใช้เวลาอยู่ 2 เดือนเต็มจึงเดินทางไปถึงปีนัง
ทว่าการเดินทางข้ามประเทศครั้งนั้น ทำให้เขาเริ่มรู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เพราะถึงจะอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่การพูดนั้นเป็นอีกเรื่องเลย แถมเขายังไม่สามารถข้ามจากมาเลเซียไปยังอินเดียและปากีสถานได้ เนื่องจากมีเหตุสู้รบของสองประเทศจากกรณีการแย่งชิงแคว้นแคชเมียร์
พอดีเขารู้จักกับอาแป๊ะขายถ่านที่ปีนัง ก็เลยไปช่วยทำงาน พร้อมลงทะเบียนเรียนด้านบริหารธุรกิจ เรียนได้ 2 ปีก็กลับกรุงเทพฯ มาทำงานอยู่สยามกลการ บุกเบิกเรื่องแท็กซี่มิเตอร์ พออายุได้ 22 ทำงานครบปี เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็ตัดสินใจเก็บกระเป๋าแบกเป้ไปผจญภัยรอบใหม่ ด้วยความตั้งใจว่าจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา
“ผมแบกเป้แบกเต็นท์โบกรถไปตามทางเดิม แต่คราวนี้ไม่ได้พักที่โรงเรียนแล้ว พอถึงปีนังก็จับเรือไปมัทราส ใช้เวลาเดินทาง 5 วัน เป็นเรือสินค้าผสมโดยสาร คนแน่น นอนกันตามดาดฟ้าเต็มไปหมด พอถึงมัทราสก็เดินทางต่อ โบกรถบ้าง นั่งรถไฟบ้าง อะไรก็แล้วแต่ที่ประหยัด ถูก หรือไม่เสียเงิน เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่ทีนี้ด้วยความที่ของมันเยอะ ผมก็ฝากของกับเรือจากมัทราสไปขึ้นที่เซาแธมป์ตัน อังกฤษ ส่วนตัวเองก็เดินทางจากอินเดียไปปากีสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน ตุรกี กรีซ ยูโกสลาเวีย อิตาลี ฝรั่งเศส จนมาถึงอังกฤษ ใช้เวลาทั้งหมด 6 เดือน”
ระหว่างทางเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย ทั้งอุบัติเหตุนับครั้งไม่ถ้วน ถูกเจ้าถิ่นข่มขู่ ต้องอดมื้อกินมื้อ อย่างช่วงที่ถึงตุรกี อิหร่าน เขาต้องเอาเชือกรัดบนหลังคารถบรรทุกแล้วก็เอามาผูกตัวเอง จับไว้ทั้งวันทั้งคืน เพื่อไม่ให้ตกลงมา จนกระทั่งถึงอังกฤษก็เริ่มรู้สึกไม่ไหวแล้ว เรี่ยวแรงที่เคยมีแทบไม่เหลือ เสื้อผ้ารองเท้าที่หนักๆ ก็ถูกเขวี้ยงทิ้งระหว่างทางจนเกือบหมด ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจลงปักฐานที่นี่แทน
“คืนแรกที่ผมไปถึงอังกฤษ ผมโบกรถจากท่าเรือโดเวอร์เข้าลอนดอน ปรากฏว่าโบกได้บ้างไม่ได้บ้างจนกระทั่งถึงตีสอง แต่ถึงแค่ชานเมืองลอนดอน ผมก็นอนที่ข้างปั๊มน้ำมัน แล้วตำรวจก็เข้ามาสะกิด ตอนนั้นมอมแมมมาก ทีนี่พอถึงอังกฤษ มันไม่มีเงินทองเหลือเลย ด้วยความเป็นเด็กไม่มีความรู้สักเท่าไหร่ ความรู้ภาษาอังกฤษก็งูๆ ปลาๆ ช่วงปี 5 ปีแรกลำบากมาก ไม่มีที่นอนที่กิน ต้องแอบเข้าไปนอนสถานทูตทุกคืน เช้าตื่นมาก็รีบไปทำงาน เลิกงานก็ไปเรียน”
เริ่มแรกวีระทำงานร้านฟาสต์ฟูดส์ คอยเก็บถ้วยชาม จนกระทั่งมีคนให้มาช่วยเป็นเสมียนที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง จนภาษาเริ่มดีขึ้น แต่เงินเก็บยังไม่มีก็ต้องทำงานพิเศษในโรงหนัง พอตกดึกก็ไปเรียนการตลาด ทำงานหนักจนถึงขั้นเป็นวัณโรค รักษาอยู่ 6 เดือนเต็ม
พอหายป่วย เขาก็เริ่มตกผลึกว่า หากใช้ชีวิตแบบนี้ก็คงไม่ไปไหน โชคดีที่เขาทราบมาว่าบริษัทที่ทำอยู่ใกล้ปิดกิจการ ก็เลยเดินไปขอความรู้กับผู้อำนวยการ ซึ่งใจดีมาก สอนเขาตั้งแต่เริ่มต้น เช่น เมื่อสินค้าเข้ามาต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง แผนกบัญชี แผนกซื้อ แผนกขายต้องทำอะไร กระทั่งเขาสามารถตั้งต้นธุรกิจของตัวเองได้
จากนั้นวีระก็เริ่มสั่งสินค้าจากเมืองไทยเข้ามาขาย ทั้งผ้าไหม เฟอร์นิเจอร์ไม้ เครื่องเงิน เครื่องถม อัญมณี โดยวิธีขายของไม่ใช่เปิดร้าน หรือฝากขายที่ไหน แต่เขานำสินค้าไปออกงานแสดงสินค้า ถ้าใครสนใจก็สั่งเข้ามา ปรากฏว่าขายดีมาก เพียง 10 ปี เขาสามารถขยับขยายกิจการ และกลายเป็นเจ้าของและผู้จัดแสดงสินค้าเอง พวกโรงงาน บริษัทขายส่ง ที่เคยดูถูกเขาในช่วงแรกๆ ต่างกลายเป็นคนที่ต้องมาเช่าพื้นที่ เช่าบูทแทน
วีระทำงานมาได้ 25 ปีเต็ม มีพนักงานกว่า 400 ชีวิต เปิดบริษัทในเครือถึง 12 แห่ง และมีลูกค้ากระจายอยู่ใน 20 ประเทศทั่วโลก แม้ที่ผ่านมาโอกาสได้ไปเที่ยวอยู่บ้างในช่วงที่เดินสายติดต่องาน แต่ก็รู้สึกเต็มอิ่ม กระทั่งวันหนึ่งที่เขารู้สึกพอแล้ว เลยตัดสินใจปิดบริษัทที่ไม่สำคัญ จนเหลือ 2 บริษัท แล้วบอกภรรยาว่า ขอเวลาให้ได้ทำอะไรตามความฝันบ้าง
ตลอด 10 กว่าปีของการเดินทาง วีระเดินย่ำไปในดินแดนต่างๆ ร่วมร้อยประเทศ บางประเทศเข้าออกหลายสิบหน หลักสำคัญอย่างหนึ่งที่วีระยึดมาตลอด คือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่นเวลาเข้าป่า ก็ต้องรู้จักกฎของป่า หรือเวลาไปอยู่กับชนเผ่าก็ต้องรู้จักวิถีชีวิต ประเพณีของเขา
“ถ้าเขาห้ามลงจากรถก็อย่าไปอวดเก่งลงจากรถ เราต้องเรียนรู้กฎ ของอย่างนี้สอนกันไม่ได้ นอกจากว่าเราไปมาแล้วเป็นสิบๆ ครั้ง แต่ถึงเราจะรู้อะไรมาก เราก็จะไม่รู้เหมือนกับคนท้องถิ่น เราต้องเรียนรู้ ต้องทำตัวถ่อมตน อย่างบางครั้งเราก็ต้องไปกินอยู่เขา บ้านเขาสกปรก ฝุ่นดำมืดเราก็จำเป็น เพราะตามมารยาทเราจะไปรังเกียจเขาไม่ได้
“อย่างครั้งหนึ่ง ผมเคยเข้าไปทำเรื่องของคนป่าเผ่าหนึ่งในไอเรียนจายาในอินโดนีเซีย เขาตัดนิ้วของเขา ทุกๆ ครั้งที่คนรักของเขาตายไปเขาจะตัดนิ้วข้อหนึ่ง เราฟังแล้วอาจจะแปลก แต่ทุกชาติทุกภาษาก็มีวัฒนธรรมของเขา มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เขายึดถือกันมา เพราะฉะนั้นทุกประเทศที่ผมไป ผมจะไม่ดูถูกวัฒนธรรมของเขา”
สำหรับเทคนิคในการผูกมิตรของวีระ คือเขาจะมีของไปแจกชาวบ้าน เช่น สร้อยลูกปัดจากเชียงใหม่ ยาสูบ เบ็ดตกปลา เสื้อผ้า แต่ที่ได้ใจเด็กๆ ที่สุดก็คือ ปากกาลูกลื่น ซึ่งเขาซื้อเป็นแพ็คใหญ่ๆ ไปเลย แล้วเวลาไปก็จะเอาภาพเมืองไทย ภาพวัด ภาพวัง ไปให้เขาดูว่าประเทศเรามีอะไรบ้าง
“เราไม่ต้องพูดกันก็ได้ พูดไม่รู้เรื่อง ผมก็ไปเซย์ฮัลโหล บางทีก็เอากำไลไปผูกให้เขาแล้วบอกว่านี่ฉันขอยูแต่งงานนะ ฉันหมั้นยูไว้นะ พูดเป็นเล่น ให้ไกด์แปลให้ฟัง เขาก็ชอบ เราต้องปรับตัวเองให้เข้ากับเขาได้ เราต้องทำตัวสุภาพอ่อนน้อมกับเขา ไม่ถือตัว ผมว่าไม่ยากไม่ว่าจะไปประเทศไหน แล้วผมก็มีจะกล้องโพลารอยด์ก็ถ่ายให้เขาเก็บไว้ เขาก็ชอบอกชอบใจ เพราะเขาไม่เคยมีภาพของตัวเอง เราก็ถ่ายภาพลูกเขา นี่เป็นการผูกมิตรโดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ ทั้งสิ้น”
-3-
ปิดฉากตำนานนักเดินทาง
คำถามหนึ่งที่หลายคนมักถามวีระ คือเขากลัวตายหรือไม่ ซึ่งนักเดินทางหนุ่มใหญ่มักตอบกลับเสมอว่า ที่ผ่านมา เขารู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างในโลกที่เขาอยากไปให้ถึง เช่น เขาอยากนำธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.9 ไปยังแกนขั้วโลกใต้ เหมือนที่เคยทำมาแล้วที่ขั้วโลกเหนือ
แต่แน่นอนหากต้องตายขึ้นมา เขาก็คงรู้สึกเสียใจและเสียดายบ้าง แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังภูมิใจว่า ได้เห็นโลกมาเยอะกว่าใครหลายคน และยังมีเทปรายการให้คนอื่นได้เห็นว่า เขาเคยทำอะไรมาแล้วบ้าง
ตลอดระยะเวลาร่วมสิบปีที่กลับมาเป็นนักเดินทาง เขาผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาแล้วหลายหน ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ อย่างโดนยุงท้องถิ่นกัดจนต้องนอนซมพักใหญ่ รวมถึงอุบัติเหตุที่รุนแรงถึงขั้นผ่าตัด ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เดินทางไปเกาะในอินโดนีเซีย เพื่อเผชิญหน้ากับมังกรโคโมโด ตะกวดยักษ์ที่ดุร้ายและน้ำลายมีพิษอันตรายถึงเสียชีวิต
แน่นอนว่าเขาไม่โดนกัด แต่มีจังหวะหนึ่งที่ต้องกระโดดหลบสัตว์เลื้อยคลานยักษ์ จนเข่าปวด เป็นแผลต้องใช้ไม้ช่วย ชาวบ้านละแวกนั้นก็มาช่วยรักษาด้วยการเด็ดใบไม้มา แล้วเอายางมาทา สองชั่วโมงผ่านไปแผลปิดสนิท สามารถกลับไปถ่ายทำรายการได้ ทว่า 3-4 วัน สิ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้ก็เริ่มแสดงอาการ
“ผมต้องไปปืนภูเขาไฟที่มีทะเลสาบสามสี หลังผมก็เริ่มปวดๆ เมื่อกลับมาเมืองไทยผมก็ทนไม่ไหว ไปหาหมอ หมอเอ็กซเรย์ก็ไม่เป็นอะไร ก็ไปยึดหลังดูว่ากระดูกเป็นอะไร ก็ไม่พบ เอาน้ำร้อนน้ำแข็งประคบก็ไม่หาย สุดท้ายไปเข้าเครื่องสแกน ปรากฏว่าหมอนรองกระดูกผมแตกตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ ก็อยู่ไปอย่างนั้น ผมแทบเดินไม่ได้ ขาผมชาไปแล้ว ต้องเดินลากขา หมอบอกว่าคุณต้องผ่าตัด ผมเลยผ่าตัดคืนนั้นเลย”
แม้สุดท้ายอาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังต้องไปพบแพทย์อีกพักใหญ่ ระหว่างนั้นที่เขาได้รับข่าวร้ายครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้ายที่ลำไส้ใหญ่ แต่ถึงจะตัดสินใจผ่าตัดทันที ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว เพราะเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังปอดและตับแล้ว และในที่สุดนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ก็ได้จากไปอย่างสงบ ช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2546 ด้วยวัย 58 ปี ทิ้งตำนานการบุกตะลุยผจญภัยไว้เบื้องหลัง ให้โลกได้จดจำไว้ตลอดกาล
ติดตามบทความของ เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
ข้อมูลประกอบการเขียน
• นิตยสารดิฉัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 576 ปักษ์หลัง เดือนกุมภาพันธ์ 2544
• นิตยสารขวัญเรือน ปีที่ 32 ฉบับที่ 688 ปักษ์หลัง เดือนกรกฎาคม 2543
• นิตยสารเที่ยวรอบโลก ปีที่ 18 ฉบับที่ 208 เดือนธันวาคม 2542
• นิตยสารสารคดี ปีที่ 19 ฉบับที่ 219 เดือนพฤษภาคม 2546
• หนังสืออำลา อาลัย วีระ นุตยกุล
• เว็บไซต์ Panorama-discovery.com
*ภาพประกอบ *
• หนังสืออำลา อาลัย วีระ นุตยกุล
• หนังสือพิชิตสุดขอบโลก โดย วีระ นุตยกุล
• นิตยสารดิฉัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 576 ปักษ์หลัง เดือนกุมภาพันธ์ 2544
• นิตยสารขวัญเรือน ปีที่ 32 ฉบับที่ 688 ปักษ์หลัง เดือนกรกฎาคม 2543
ความเห็น 52
BEST
ชอบรายการของคุณวีระมาก ติดตามเสมอค่ะ เสียดายที่จากไปเร็วจ
15 ก.ย 2562 เวลา 03.36 น.
น้องเม้ง
BEST
เป็นแฟนรายการค่ะ ดูทุกตอน ได้ความรู้ สนุกมาก ..ยังคิดถึงท่านเสมอ
15 ก.ย 2562 เวลา 03.46 น.
😝🐒🌺Khun Nui 🌸🙊🐑😋
BEST
จำได้เลยคุณวีระเป็นรายการท่องเที่ยวรายการแรกที่เราติดตามทุกเทปคุณเวลาเป็นคนที่สุภาพเสียดายที่คุณวีระจากไปเร็วกว่ากำหนดแต่ถึงยังไงก็ยังติดตามรายการคุณติ๊กอยู่นะคะ
15 ก.ย 2562 เวลา 05.57 น.
โอชองจุน
รายการดีมากๆเสียงพูดก็ไพเราะ
15 ก.ย 2562 เวลา 05.44 น.
porpor ^^
ติดตามผลงานมาตลอด ขอบคุณ คุณวีระ ฯ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้โลกกว้าง
15 ก.ย 2562 เวลา 04.32 น.
ดูทั้งหมด