งานวิจัยสหรัฐฯ พบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ 'เอปซีลอน' มีฤทธิ์หลบภูมิคุ้มกันที่สร้างหลังฉีดวัคซีนชนิด mRNA ส่งผลให้วัคซีนไฟเซอร์-โมเดอร์นา มีประสิทธิภาพลดลง 2-3.5 เท่าตัว วันที่ 2 ก.ค. 2564 เว็บไซต์นิตยสาร Science เผยแพร่งานวิจัยในสหรัฐฯ เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เอปซีลอน (epsilon) ซึ่งพบครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม ทำให้มีฤทธิ์หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น และส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด mRNA ได้แก่วัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) งานวิจัยชิ้นนี้ทำการทดลองโดยนำพลาสมาของอาสาสมัครที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์และโมเดอร์นาครบทั้งสองเข็มแล้ว มาทดสอบประสิทธิภาพกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เอปซีลอน ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นามีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อสายพันธุ์เอปซีลอนลดลง 2-3.5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ทีมวิจัยชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์กับโมเดอร์นาลดลง เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์เอปซีลอนมีการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม 3 จุด ได้แก่ บริเวณ S13I, W152C และ L452R
สำหรับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เอปซีลอน พบครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์นี้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตา (VOI) ผลการวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลของบรรดานักวิทยาศาสตร์ ต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ซึ่งมีประชากรจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ปัจจัยดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อแพร่กระจายและกลายพันธุ์ จนอาจติดเชื้อลุกลามไปถึงประชากรกลุ่มที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ก่อนหน้านี้บุคลากรทางการแพทย์ในนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ แนะนำประชาชนให้กลับมาสวมหน้ากากโดยไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วหรือไม่ รวมทั้งต้องสวมหน้ากากครอบคลุมทั้งพื้นที่นอกอาคารและในร่มด้วย ซึ่งคำแนะนำนี้เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่มีแนวโน้มการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น