โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

[Excluesive] สวนสัตว์พาต้า-กอริลลาบัวน้อย ตำนานที่ยังมีชีวิต

MThai.com

เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 09.16 น.
[Excluesive] สวนสัตว์พาต้า-กอริลลาบัวน้อย ตำนานที่ยังมีชีวิต
สวนสัตว์พาต้า-กอริลลาบัวน้อย ตำนานที่ยังมีชีวิต

ตำนานที่ยังมีชีวิต

เมื่อพูดถึงชื่อ ‘คิงคองพาต้า’ ซึ่งเป็นดาวเด่นของสวนสัตว์พาต้า คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะถือเป็นตำนานที่ดังไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อย ที่เคยไปเยี่ยมชมสวนสัตว์แห่งนี้ เพื่อดูความน่ารักของเจ้า ‘บัวน้อย’ มาแล้วมากมาย

กอริลลาบัวน้อย หรือที่เรียกกันติดปากว่า คิงคองพาค้า เป็นกอริลลาเพศเมีย อาศัยอยู่ในสวนสัตว์พาต้า ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 6 และชั้น 7 ของห้างพาต้า ห้างเก่าแก่ย่านปิ่นเกล้ามานานกว่า 30 ปีแล้ว หลังจากถูกนำมาเลี้ยงที่สวนสัตว์แห่งนี้ตั้งแต่ยังแบเบาะ

แม้จะเป็นหนึ่งในตำนานที่ยังคงเป็นที่จดจำของชาวไทยหลายต่อหลายรุ่น และเป็นความทรงจำในวัยเด็กของคนมากมาย แต่น้อยคนที่จะทราบว่า ประวัติของสวนสัตว์พาต้า และกอริลล่าบัวน้อยนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจึงกลายเป็นตำนานที่คุ้นหูคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้

</a> กอริลลาบัวน้อย
กอริลลาบัวน้อย

วันนี้ทีมข่าว MThai News ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณคณิต เสริมศิริมงคล ผู้อำนวยการบริษัท สวนสัตว์พาต้า จำกัด ที่ทำหน้าที่ดูแล และบริหารงานภายในสวนสัตว์พาต้า โดยคุณคณิตได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของสวนสัตว์ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจาก คุณวินัย เสริมศิริมงคล ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสวนสัตว์ ซึ่งเป็นผู้รักสัตว์เป็นอย่างมาก

‘สมัยก่อนนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ป่า ชาวบ้านจึงสามารถจับสัตว์ป่ามาขายกันที่สนามหลวงกันโดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีประชาชนทั่วไปซื้อสัตว์ป่าเหล่านั้นมาเลี้ยง แต่ปัญหาคือชาวบ้านทั่วไปไม่มีความสามารถในการเลี้ยงสัตว์ป่า เมื่อซื้อไปเลี้ยงแล้วสัตว์ป่าเหล่านี้ก็ตายลง เพราะเลี้ยงผิดวิธี คุณวินัยมีความคิดว่าจะช่วยเหลือสัตว์ป่าเหล่านี้เพราะเกรงว่า สัตว์ป่าเหล่านี้จะสูญพันธุ์’

</a> คุณคณิต เสริมศิริมงคล ผู้อำนวยการบริษัท สวนสัตว์พาต้า จำกัด
คุณคณิต เสริมศิริมงคล ผู้อำนวยการบริษัท สวนสัตว์พาต้า จำกัด

จนกระทั่งผ่านไปหลายปีคุณวินัยประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ จนสามารถเปิดห้างสรรพสินค้าอินทรา ซึ่งมีพื้นที่เป็นอาคารพานิชย์  7  ห้องในปี 2516 ซึ่งห้างอินทราถือเป็นห้างที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกระทั่งปี2519 ได้ขยายพื้นที่เป็นห้างสรรพสินค้าพาต้าในที่สุด จากนั้นในปี 2525 ได้มีการเปิดสาขาเป็น ‘ห้างพาต้าปิ่นเกล้า’  โดยต้องการชูมิติใหม่ เป็นห้างที่มีลิฟท์แก้วตัวแรกของประเทศไทย มีจุดชมวิว  น้ำพุสายรุ้งที่ดูแบบมาจากสนามบินที่สิงคโปร์และสวนสนุกในห้องแอร์ซึ่งแตกต่างจากสวนสนุกทั่วๆไปที่ทำบนชั้นดาดฟ้า 

คุณคณิตเล่าว่า นอกเหนือจากห้างสรรพสินค้าแล้ว คุณวินัยซึ่งมีจิตใจที่รักสัตว์และต้องการช่วยเหลือสัตว์ป่า จึงอยากคืนกำไรให้สังคม หลังจากที่ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจแล้ว จึงอยากให้คนทั่วไปได้มีโอกาสมาเที่ยวดูสวนสัตว์ และอยากจะก่อตั้งสวนสัตว์ขึ้นมา จึงส่งทีมงานไปดูงานยังต่างประเทศที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญ สัตวแพทย์ สถาปนิก และประสานงานกับ สยามฟาร์ม ซึ่งเป็นฝ่ายจัดหาสัตว์มาให้ จากนั้นได้วางโครงการ โดยมองถึงขอบเขตในการทำสวนสัตว์ ว่าจะทำได้แค่ไหน บนพื้นที่ 7 ชั้นของห้าง

</a> ห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า
ห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า

ในเริ่มแรก สวนสัตว์พาต้า เริ่มจากการจัดโซน ‘สัตว์โลกพิสดาร’ ให้เป็นที่พักผ่อนของพนักงานและเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชมได้ แต่ด้วยเสียงตอบรับที่ดี เพราะสวนสัตว์แห่งนี้มีสัตว์แปลก ๆ ที่บุคคลทั่วไปไม่เคยได้เห็นมาก่อน อย่างเช่นเต่าสองหัว งูสองหัว คางคกมีหาง สร้างความฮือฮาให้กับนักท่องเที่ยวอย่างมาก จึงมีเสียงเรียกร้องให้ทางห้าง ทำเป็นสวนสัตว์แบบเต็มรูปแบบ 

กอริลลา ไฮไลท์ของสวนสัตว์พาต้า

คุณคณิตเล่าว่า สวนสัตว์พาต้า เป็นสวนสัตว์ในห้างและเป็นสวนสัตว์เอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ไม่นับรวมสวนแสดงสัตว์จำพวกฟาร์มต่าง ๆ หลังจากนั้นได้มีการนำเข้าสัตว์แปลกใหม่เข้ามา ซึ่งหนึ่งในไฮไลท์ก็คือ ‘กอริลลา’ ที่สร้างความฮือฮาให้คนทั่วไปอย่างมาก เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ไม่มีอยู่ในไทย และคนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ให้กับองค์การสวนสัตว์และสร้างความฮือฮาไปทั่วประเทศ

แต่กระนั้น การเลี้ยงกอริลลา ยังมีอุปสรรค์หลายอย่าง  เพราะในยุคนั้น ได้มีผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ออกมาแล้วว่า ดินในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าโรคมงคล่อเทียม ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้อยู่ตามพื้นดินในแทบตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้กอริลลาติดเชื้อตัวนี้ได้ง่ายมากหากอาศัยตามพื้นดินในสวนสัตว์ที่ไม่มีการชะล้าง หมุนเวียน เชื้อโรค เพราะหากกอริลลาอยู่ในสวนสัตว์ไม่ได้อยู่ในพื้นที่กว้างอย่างในธรรมชาติ เชื้อโรคที่ติดมากับมูลของกอริลลาจะสะสมอยู่ในพื้นดิน ทำให้เกิดโรคได้ไม่ยาก

ในสมัยนั้นมีประเทศหลายประเทศที่เลี้ยงกอริลลาแล้วไม่รอด สมาคมกอริลลาจึงลงความเห็นว่าไม่ควรที่จะนำเข้ากอริลลามาเลี้ยงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณคณิตกล่าว

สำหรับสวนสัตว์พาต้าได้รับความร่วมมือจากประเทศเยอรมัน ที่แนะนำให้เลี้ยงกอริลลาบนพื้นซีเมนต์ และสร้างสภาพแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติ  ซึ่งหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กอริลลาสามารถอาศัยอยู่ที่สวนสัตว์พาต้าได้โดนไม่ติดโรค อีกหนึ่งสาเหตุคือมีการเลี้ยงแบบโปร่งติดกระจก เครื่องปรับอากาศ มีระบบระบายอากาศและโดมที่สามารถเปิดรับแสงแดดได้จึงสามารถเลี้ยงเจ้าบัวน้อย กอริลลาขวัญใจเด็ก ๆ ให้รอดชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้

พูดถึงบัวน้อย

ทั้งนี้ กอริลลาบัวน้อย เป็นเพียงกอริลลา 1 ใน 2 ตัวที่อาศัยและเคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะเมื่อย้อนไปในสมัยนั้นสวนสัตว์พาต้านำบัวน่า กอริลลาเพศผู้ ซึ่งเป็นกอริลลาตัวแรกที่สวนสัตว์พาต้านำเข้ามา ก่อนจะพาบัวน้อย กอริลลาเพศเมียตามมาในปี2535  สมัยนั้นยังไม่มีอนุสัญญาไซเตส ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าในโลก โดยกอริลลาอยู่ในกลุ่มไซเตส 1 ซึ่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ และเป็นช่วงก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งการนำเข้าบัวน่ามาอยู่ที่สวนสัตว์พาต้าในยุคนั้นยังถือว่าไม่ผิดกฎหมายเพราะยังไม่มีข้อห้ามเหล่านี้

สำหรับกรณีดราม่าเกี่ยวกับ ‘บัวน้อย’ เกิดขึ้นในช่วงที่มีการรณรงค์ว่า ให้นำบัวน้อยไปปล่อยป่า ซึ่งคุณคณิตกล่าวถึงกรณีนี้ว่า ไม่ต้องห่วงกอริลลาที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ ให้ห่วงใยกอริลลาที่อยู่ในป่าตามธรรมชาติดีกว่า เพราะว่ามีอันตรายมากกว่า ในสวนสัตว์มีการดูแลกอริลลาอย่างดี มีระบบการจัดการ และคนที่คอยดูแลเป็นอย่างดี 

ที่สำคัญตอนนี้’บัวน้อย’ เป็นกอริลลาตัวสุดท้ายของประเทศ

ผ่าทุกดราม่า ‘กอริลลาบัวน้อย’

ในปี 2557 เกิดกระแสดราม่าเกี่ยวกับคิงคองพาต้า เนื่องจากมีภาพของกอริลลาบัวน้อย ที่ดูมีแววตาหมองเศร้า และมีน้ำตาคลอเบ้า ถูกเผยแพร่ออกมา รวมทั้งมีการตั้งคำถามถึงการดำเนินชีวิตของบัวน้อยภายในสวนสัตว์ ถึงขั้นมีการเรียกร้องให้ย้ายบัวน้อย ออกจากชั้นบนของห้างสรรพสินค้าพาต้า โดยอ้างว่าสถานที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสัตว์

แต่ในครั้งนั้นมีสื่อมวลชนหลายสำนัก เข้าไปตรวจดูสถานที่อยู่ของบัวน้อย และครั้งนั้นก็พบว่าทางสวนสัตว์มีการดูแลบัวน้อยอย่างดี มีงบประมาณดูแลเดือนละ 100,000 บาท ไม่มีปัญหา สภาพแวดล้อมที่จัดไว้ให้ ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

ส่วนประเด็นที่คนสงสัยว่า”บัวน้อย” ร้องไห้นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ทางสัตวแพทย์ได้ออกมาชี้แจงผ่านสื่อโซเซียลว่า “ไม่จริง” น้ำตาลิงเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเศร้า แต่เป็นน้ำหล่อลื่นรอบดวงตาตามธรรมชาติ

Fake News ที่คอยโจมตีสวนสัตว์พาต้า

สำหรับกระแสดรามาเกี่ยวกับสวนสัตว์พาต้านั้นอาทิเช่นข่าวลวงต่าง ๆ คุณคณิตเปิดเผยว่า Fake News นั้นเกิดขึ้นได้ทุกองค์การซึ่งการเสพสื่อในสมัยนี้ ต้องใช้วิจารณญาณอย่างมาก และจำเป็นที่จะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ส่วนข้อมูลข่าวเท็จที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตแม้ว่าทางสวนสัตว์จะมีการชี้แจงไปแล้วแต่เขารู้เราแต่ข่าวลวงเหล่านี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์

มีขบวนการบางกลุ่มที่ต้องการทำลายสวนสัตว์พาต้า โดยใช้ความสงสารของคนไทยมาเป็นเครื่องมือ จนกระทั่งเกิดการเรียกร้องให้นำกอริลลาบัวน้อยไปปล่อยป่าซึ่งในครั้งนั้นทางสวนสัตว์ ยินดีพิสูจน์ความจริง และให้ผู้สื่อข่าวเข้ามาทำข่าวว่ากอริลลานั้นมีชีวิตความเป็นอยู่เช่นใด

จากกรณีที่มีเสียงสะท้อนจากสังคมบางส่วนที่ระบุว่า สัตว์ป่าควรจะอยู่ในป่า คุณคณิตได้ตอบว่าสัตว์ป่าที่อยู่ในสวนสัตว์นั้นถือว่าไม่ใช่สัตว์ป่าอีกแล้ว เพราะส่วนใหญ่ได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสัตว์สวนสัตว์ด้วยกัน ไม่ได้จับมาจากป่า หากนำสัตว์ที่มาจากสวนสัตว์ไปปล่อยให้อยู่ในธรรมชาติ อาจทำให้สัตว์เหล่านั้น ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง สัตว์เหล่านี้จะไม่สามารถหากินเองได้ กลุ่มสัตว์ป่าต่าง ๆ อาจจะไม่รับเข้ากลุ่ม และอาจถูกทำร้ายซึ่งในสุดท้ายอาจตายได้

โดยทั่วไปสัตว์ป่าที่อยู่ในสวนสัตว์มีความเป็นอยู่ภายใต้ระบบการจัดการที่ดี มีการเพาะขยายพันธุ์ได้  ไม่มีสวนสัตว์ที่ไหนไม่มีดราม่า เพราะแม้แต่สวนสัตว์ที่ดีที่สุดในโลกยังถูกดราม่าได้เลย “คุณคณิต กล่าว”

ฝ่ากระแสด้านลบ ยังอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ?

สุดท้ายนี้ คุณคณิตเปิดเผยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจว่า สวนสัตว์พาต้าเป็นห้างของคนไทยที่แท้จริงซึ่งอยู่คู่กับคนไทยมานานกว่า39 ปี ส่วนสิ่งที่ธุรกิจ ยังอยู่มาได้มาจนถึงทุกวันนี้ คณะคณิตระบุว่า สำหรับสวนสัตว์พาต้า ในแง่ของธุรกิจถือว่า ‘ไม่คุ้มค่า’

‘สวนสัตว์เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่นั้น เพราะต้องการช่วยอนุรักษ์สัตว์เอาไว้และต้องการให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจเป็นแหล่งให้ความรู้แก่ครอบครัวให้พาลูกหลานมาเที่ยวหากนำพื้นที่นี้ไปทำอย่างอื่นจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าแต่ที่สวนสัตว์ยังคงทำมาตลอดเพราะต้องการให้เด็กไทยได้เห็นสวนสัตว์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยและต้องการให้เด็กมีความรักธรรมชาติและต้องการคืนประโยชน์ให้กับสังคม

ท้ายที่สุดแล้ว เป็นที่คาดเดาได้ยากว่าประเทศไทย จะมีกอริลลาอยู่ในประเทศไทยให้คนรุ่นหลังได้ดูไปอีกนานเท่าไร เพราะถ้ามองความเป็นจริงคือในตอนนี้ ก็ใกล้เวลาที่เจ้าบัวน้อยจะหมดอายุไขลงทุกที และที่สำคัญที่สุดคือบัวน้อย เป็นกอริลลาตัวสุดท้ายของประเทศไทยแล้วในขณะนี้.

เรียบเรียงเรื่องโดย แก้วตา ปานมงคล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0