โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เขียนเพื่อบันทึกความสุข..คุยกับ 'คุณแม่จั่น' ผู้ปั้น 3 นักเขียนตัวน้อยประจำเพจ 'เรไรรายวัน'

INTERVIEW TODAY

เผยแพร่ 27 ม.ค. 2564 เวลา 18.45 น. • @mint.nisara

เบบี้ชาร์กและเจ้าหญิงเอลซ่าอาจเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของเด็ก ๆ ในยุคนี้ แต่สำหรับเด็ก ๆ ทั้ง 3 คนจากบ้านสุวีรานนท์ อย่างน้องต้นหลิว ก้อนเมฆ และสายลม ที่พ่วงตำแหน่งนักเขียนมือทองเจ้าของเพจ "เรไรรายวันแล้ว เพื่อนซี้ที่ต้องเจอหน้ากันทุกวันก็คือหน้ากระดาษเปล่าของสมุดจดบันทึกกับดินสอแท่งโปรด และโมเมนต์ที่สนุกสุขใจก็คือตอนที่ทั้งพี่ทั้งน้องได้นั่งล้อมวงจับดินสอลงมือเขียนบันทึกรายวันไปพร้อม ๆ กัน

เบื้องหลังของผลงานการเขียนอันเฉียบคมที่เราได้อ่านกันทางหน้าเพจ คงต้องยกเครดิตทั้งหมดให้กับ"คุณแม่จั่น ชนิดา สุวีรานนท์" ผู้เป็นคนฝึกฝนและปั้นนักเขียนทั้งสามจนฉายแววในอายุที่ยังน้อยมาก ๆ วันนี้ได้โอกาสดี LINE TODAY เลยต่อสายไปหาคุณแม่ที่เราขอเรียกในส่วนต่อจากนี้ว่า "พี่จั่น" ถามถึงเรื่องราว Behind the Scene พร้อมทั้งขอเคล็ดลับในการสอนลูกให้เขียนและ 'รักการเขียน' ไปพร้อม ๆ กัน กลายมาเป็นบทสัมภาษณ์ที่ชวนให้อมยิ้มในบทความนี้ ผู้เขียนอ่านซ้ำอีกรอบระหว่างพิสูจน์อักษรแล้วก็ยังรู้สึกอบอุ่นหัวใจไม่หายเลยล่ะ

จุดเริ่มต้นของ "เรไรรายวัน" และการจดบันทึกทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ

เราถามพี่จั่นถึงจุดเริ่มแรกที่ทำให้ "เรไรรายวัน" ถือกำเนิดขึ้น แกก็เล่าย้อนกลับไปถึงตอนปี 2558 ที่ได้รับข้อความในกลุ่มไลน์ของผู้ปกครองว่ากำลังจะมีโครงการที่เชิญชวนเด็ก ๆ มาเขียน “สมุดบันทึกวัยเยาว์” แล้วก็ตอบรับสมัครไปในทันที ภารกิจการฝึกลูกให้เขียนเลยเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น

"พี่จั่นเป็นแม่บ้านฟูลไทม์ เลี้ยงลูกเต็มเวลาซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่ต้นหลิวอายุประมาณ 6 ขวบครึ่ง แล้วพี่จั่นก็ได้ข่าวเกี่ยวกับโครงการนี้ เราก็มานั่งนึกนะว่า เอ้อ ที่ผ่านมาเนี่ย บ้านเราก็เป็นบ้านนักเขียนกันหมดเลยเนอะ ทั้งพ่อ ทั้งแม่ แต่เรายังไม่เคยสอนลูกให้เขียนเลย แล้วก็ไม่เคยชวนคิดให้ลูกลองด้วย โครงการนี้ก็เลยจุดประกายว่าเราลองดูสักตั้ง แม่ก็สมัครไปเลย ยังไม่ได้ถามลูกด้วย (หัวเราะ) เพราะเรามีความคิดว่าถ้าเราเป็นพ่อเป็นแม่ เราเห็นสิ่งที่ดี เราควรหยิบยื่นให้เขา แต่เขาจะรับได้แค่ไหนหรือจะปฏิเสธ อันนั้นก็เป็นสิทธิ์ของลูกเรา 

พอลูกกลับมาบ้าน เราก็เลยบอกกับเขาว่า “ต้นหลิว แม่สมัครโครงการนี้ให้แล้ว” ซึ่งตัวเขาเองตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร หรือแม้แต่ความหมายของคำว่า “วัยเยาว์” แปลว่าอะไร แม่ก็เตรียมอธิบายเอาไว้แล้วว่าการจดบันทึกมันจะเป็นยังไง เรารู้สึกว่าตอนเริ่มต้นมันสำคัญมาก เพราะเราจะต้องทำให้เขารู้สึกสนุกตั้งแต่แรก ถ้าเขาเกิดความลังเลใจ อาจจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ชอบและปฏิเสธไปเลย"

<i>คุณแม่จั่นและน้องต้นหลิว </i><i>/ ขอบคุณภาพจากเฟซบุคคุณแม่จั่น</i>
คุณแม่จั่นและน้องต้นหลิว / ขอบคุณภาพจากเฟซบุคคุณแม่จั่น

การเขียนเริ่มต้นด้วยความเชื่อใจว่า “อะไรที่ทำกับแม่สนุกทั้งนั้น”

"เราก็มานั่งนึกย้อนไปอีกว่า เอ๊..สมุดบันทึกสำหรับเราคืออะไร สำหรับคนในยุคพี่และคนในยุคผ่าน ๆ มา สมุดบันทึกคือความลับ คือที่ ๆ เราจะระบายความรู้สึกไม่ดี ความในใจออกมา เราจะคุ้นเคยกับมันในรูปแบบของไดอารี่ในช่วงวัยทีน ที่วันนี้ไปทำนู่นทำนี่ โดนเพื่อนแกล้ง โดนคุณครูดุ ซึ่งถ้าเขียนในแนวนั้น ความสนุกมันหมดไปเลย เราเลยมองว่าถ้าทำให้เด็กเก็บความสนุก เก็บความสุข เก็บความประทับใจผ่านการเขียน ไม่ต้องมาเล่าเรื่องว่าวันนี้ฉี่รดที่นอนนะ วันนี้โดนเพื่อนล้อ วันนี้ทะเลาะกับน้องหรือโดนแม่ดุนะ ก็คงจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี อยากให้เขาได้เก็บความทรงจำดี ๆ เอาไว้กับเผื่อว่าวันหนึ่งที่เขาโตขึ้นมาและเป็นช่วงที่กำลังเฮิร์ต จากเพื่อน จากครอบครัว จากคนรัก เขาก็ยังมีไดอารี่นี้เป็นสิ่งที่เพิ่มพลังบวกให้ได้ ส่วนความลับหรือเรื่องน่าเศร้าก็เลือกเอา ในบ้านนี้มีหลายคน จะเล่าให้ยาย หรือพ่อ หรือแม่ หรือน้องแฝดก็แล้วแต่เขา (หัวเราะ)

คำถามที่ต้นหลิวถามแม่กลับมาก็คือแม่ว่าหนูจะทำได้หรอ พี่ก็ตอบกลับไปตรง ๆ นะว่าแม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่อยากลองทำไหม มาทำไปพร้อม ๆ กัน สนุกไปกับแม่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาเราเต็มที่กับลูกอะ เขาเลยจะรู้ว่าอะไรที่ทำกับแม่สนุกทั้งนั้น ต้นหลิวเคยเขียนในไดอารี่เอาไว้ว่าทำไมแม่เลือกอะไรก็ถูกใจเขาไปซะหมด อาจจะเป็นเพราะว่าในความคิดแม่มีความคิดของเขาอยู่ในนั้นมันเริ่มต้นจากที่เขาวางใจเรา แม่ชวนทำอะไรลูกก็จะตอบตกลงเพราะเขาเชื่อว่าความสนุกรอเขาอยู่ "

<i>น้องต้นหลิวระหว่างการเขียนบันทึกประจำวัน</i>
น้องต้นหลิวระหว่างการเขียนบันทึกประจำวัน

จับคำถามเดิม ๆ คำตอบเดิม ๆ จากการพูดเป็นการเขียน

เทคนิคที่ทำให้การเขียนดูเป็นเรื่องสนุกอาจจะฟังดูเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับหลาย ๆ คนแต่พี่จั่นก็แชร์ให้เราฟังว่าที่บ้านจะไม่ได้มีการบังคับ หรือเอาของรางวัลมาล่อ แต่ทำให้การเขียนเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการสื่อสารกันในบ้านมากกว่า และพยายามหาลูกเล่นน่าสนุกเข้ามาช่วย วิธีของพี่จั่นได้ผลชะงัดเชียวแหละ

"วิธีการที่พี่ลองในตอนแรกก็คือทุกวัน เวลาลูกกลับมาจากโรงเรียน คำถามที่เราถามเดิม ๆ เวลาเจอหน้ากันว่าวันนี้เป็นยังไงบ้างลูก สนุกไหม กินอะไร เราแค่เปลี่ยนภาษาพูดนั้นให้เป็นการเขียน เพราะฉะนั้นเขาก็จะเล่าเหมือนเดิมตามประสาเด็กที่มีความอยากเล่าอยู่แล้ว นู่นนี่ ๆ ซึ่งพี่ก็บอกกับลูกว่าเยอะขนาดนี้ เขียน 10 หน้าก็ยังไม่หมด! 

พี่เลยตั้งโจทย์ให้กับเขา เปรียบเทียบเรื่องที่จะเล่ากับกล้องโพลารอยด์ที่ซื้อให้ในวันเกิด พี่ก็ถามเขาว่าถ้าฟิล์มมีเหลืออยู่แค่ใบเดียวและแม่ให้ต้นหลิวพกไปโรงเรียน ต้นหลิวจะถ่ายอะไรกลับมา เขาก็จะหลับตาแล้วเล่าให้เราฟังถึงฉากต่าง ๆ ว่าเขาไปนั่งกินข้าวกับเพื่อน ตอนเข้าห้องสมุด เราก็ต้องเป็นผู้ช่วยเขาในช่วงแรก ๆ ที่จะเลือกหัวข้อแล้วลองซักต่อไปเรื่อย ๆ ให้เขาเล่าออกมา พอจับเอามาเขียนประโยค มันเลยออกมาสั้นและง่าย เหมือนบันทึกครั้งแรกที่ต้นหลิวเขียนเกี่ยวกับการสอบเขียนศัพท์คำยากภาษาไทย เขากลับมาเล่าว่าทุกทีเขาจะได้ 10 เต็ม 10 แต่คราวนี้หนูได้แค่ 9 อะแม่ หนูเขียนคำว่าหวีผิด หนูเอาสระอีเอาไปไว้บนห.หีบ (หัวเราะ) เราก็ลองถามเขาดูว่าที่หนูเขียนมันจะต้องอ่านออกเสียงยังไง “หี๊ววว” หรอลูก เขาก็หัวเราะแล้วยกเรื่องนี้มาเขียนลงในบันทึก กลายเป็นอะไรที่สนุกให้แม่ลูกได้ทำด้วยกัน"

<i>บันทึกของน้องต้นหลิว </i><i>/ ขอบคุณภาพจากเฟซบุคเพจ เรไรรายวัน</i>
บันทึกของน้องต้นหลิว / ขอบคุณภาพจากเฟซบุคเพจ เรไรรายวัน

5 ปีกับการเขียนบันทึกทุกวันของพี่ ‘ต้นหลิว’ สู่การเดบิวต์ 2 นักเขียนใหม่

นับเวลารวม ๆ กันตามที่คุณแม่จั่นเล่าให้ฟัง เพจ “เรไรรายวัน” ก็เก็บรวบรวมบันทึกของน้องต้นหลิวได้มากกว่า 2,000 วันแล้ว ซึ่งพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของน้องก็เห็นได้อย่างชัดเจน การเขียนพาต้นหลิวออกไปท่องโลกกว้างกับพี่ ๆ ที่ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ที่ชวนเธอไปออกทริปหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ  ทำให้เธอมีหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นของตัวเองถึง 2 เล่มในอายุเพียงแค่ 12 ขวบ และพาให้เธอก้าวขาเริ่มออกเดินทางบนเส้นทางสายอาชีพในฝันเป็นที่เรียบร้อย 

จากต้นแบบภายในครอบครัวจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่สู่ลูกสาวคนโต ความรักในการเขียนนี้ก็ถูกส่งต่อไปยังน้องชายฝาแฝดทั้งสองด้วย

<i>น้องสายลม ก้อนเมฆ และต้นหลิว / ขอบคุณภาพจากเฟซบุคคุณแม่จั่น</i>
น้องสายลม ก้อนเมฆ และต้นหลิว / ขอบคุณภาพจากเฟซบุคคุณแม่จั่น

“ก้อนเมฆกับสายลมเนี่ย เขาเริ่มต้นมาจากการเห็น ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้เลยด้วยซ้ำเขาก็เห็นพี่หลิวนั่งอยู่ท่าประจำ เขียนหนังสือข้าง ๆ แม่ เดี๋ยว ๆ ก็หัวเราะ เดี๋ยว ๆ ก็กอดกัน พี่ว่าเป็นภาพจำที่เขาอยากลองทำบ้าง ความโชคดีของบ้านนี้คือพี่เล่นอะไร น้องเล่นด้วย พี่ใจดี พี่หลิวรักน้อง น้องก็อยากทำให้ได้เหมือนพี่บ้าง

เราก็เลยเริ่มต้นด้วยการเล่าให้เขาฟังก่อน ทั้งก้อนเมฆและสายลมเขานอนกับคุณยาย พี่ก็เลยฝากหนังสือนิทานอีสปไปให้กับยาย บอกให้ยายช่วยเล่าให้เด็ก ๆ ฟังวันละเรื่อง ตัวเราเองอยากจะทดลองว่าถ้ายายเล่าให้พวกเขามาเล่าต่อ จะจำได้มากสักแค่ไหน

ยายเล่าไปได้สักพักก็บอกกับเราว่าไม่อยากเล่าแล้ว เพราะไม่เห็นมันจะตั้งใจฟังเลย พอยายเล่าคนนี้ก็หยิบเลโก้มาต่อ อีกคนก็นั่งวาดรูป แต่ปรากฏว่าพอให้มาเล่าให้ฟัง เด็ก ๆ กลับเล่าได้อะ คุณยายก็เริ่มมีกำลังใจอ่านให้ฟังทุกวัน หลัง ๆ เราก็เริ่มขยับจากการที่ให้สายลมกับก้อนเมฆเล่าปากเปล่า เปลี่ยนมาเป็นการตั้งกล้องถ่ายคลิปเล่านิทานอิสป 

พอผ่านมา 2-3 อาทิตย์ เราก็เปลี่ยนอีกครั้งเป็นการให้เขาลองเล่าเรื่องราวจากที่โรงเรียน เล่าปากเปล่าไปเรื่อย ๆ เราเห็นว่าลูกพยายามจะพูด พยายามจะใช้ภาษาอธิบายเหตุการณ์นั้น บางทีก็เป็น Fact บางทีก็เป็นความรู้สึก ผ่านไปอีก 2-3 เดือน ก็ลองส่งพี่ต้นหลิวไปชวนน้อง เจ้าพี่สาวก็ไปละ “ก้อนเมฆ สายลม เขียนบันทึกกันไหม” เจ้าสองตัวก็ประสานเสียงกันกลับมาว่าเขียน รับมอบสมุดจากพี่ไปแล้วเขาก็วาดตกแต่งปกกันใหญ่

<i>บันทึกของน้องก้อนเมฆและสายลม / </i><i>ขอบคุณภาพจากเฟซบุคเพจ เรไรรายวัน</i>
บันทึกของน้องก้อนเมฆและสายลม / ขอบคุณภาพจากเฟซบุคเพจ เรไรรายวัน

ต้นหลิวเขาก็มาคุยกับเราบอกว่าแบ่งกันไปเลย แม่โค้ชก้อนเมฆ เดี๋ยวหลิวโค้ชสายลมเอง ตอนนั้นลูกน่าจะติดดูรายการ The Voice เขาเลยให้น้อง ๆ แบ่งกันว่าจะเป็นทีมแม่หรือทีมพี่ ก็จะเป็นกิจกรรมที่สนุกมาก ๆ ในบ้าน น้องก็จะมานั่งกับพี่หลิว มาเล่าให้พี่ฟัง พี่ก็จะชวนคุยแล้วก็ถามน้องว่าแต่ละวันอยากเขียนอะไร จดลงบนกระดานให้แล้วก็ช่วยสะกดคำให้น้อง"

พี่จั่นแอบบอกเคล็ดลับด้วยว่าก่อนหน้าที่จะให้เจ้าแฝดจับดินสอเขียนเอง ได้เตรียมความพร้อมกล้ามเนื้อมือให้กับเด็ก ๆ ด้วยการให้พวกเขาเล่นแป้งโดด้วย “พอเขาไม่เมื่อย จับดินสอนาน ๆ แล้วไม่เหนื่อย มันก็จะไม่มีปัจจัยอะไรที่จะมาลบใจเขา แต่พอเขียนแล้วมันสนุก เขียนแล้วได้เล่น มันก็เลยกลายเป็นความชอบของเด็ก ๆ โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว” และผ่านมา 8 เดือนเราก็ได้เห็นพัฒนาการที่เด่นชัดของทั้งสายลมและก้อนเมฆ และกลายเป็นบันทึกความรู้สึกนึกคิดประจำวันที่ไปโดนใจใคร ๆ อีกหลายคนจนยอดแชร์ของผลงานเจ้าแฝดทะลุหลักหมื่น มีแฟนคลับที่คอยติดตามการเขียนของพวกเขาอย่างถล่มทลาย

<i>บันทึกของน้องสายลม / ขอบคุณภาพจากเฟซบุคเพจ เรไรรายวัน</i>
บันทึกของน้องสายลม / ขอบคุณภาพจากเฟซบุคเพจ เรไรรายวัน

“การที่หนูเขียนได้ไม่ใช่สิทธิพิเศษอะไร”

ถึงแม้ว่าเพจจะประสบความสำเร็จและงานเขียนของเด็ก ๆ ทั้งสามจะเป็นที่โปรดปรานของชาวเน็ตเป็นอย่างมาก หนึ่งอย่างที่พี่จั่นมักจะย้ำกับลูก ๆ ก็คือการที่หนูเขียนได้มันไม่ใช่เรื่องพิเศษ..

"พี่จะบอกลูก ๆ ตลอดเวลาการเขียนได้มันไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไรเลยนะลูก มันคือสิ่งที่ทุกคนควรมีด้วยซ้ำแต่เขาแค่ไม่ได้รับการฝึกฝนเท่านั้นเอง พอมีเด็กอายุ 8 ขวบคนนึงเริ่มจับดินสอเขียนแล้วเขียนได้ จุดนี้เลยทำให้คนสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า คำลบที่เข้ามาเลยเกิดขึ้นเพราะเราทำในสิ่งที่เขาไม่เชื่อ พี่สอนลูกว่าเราไม่มีสิทธิที่จะไปเปลี่ยนความคิดของคนอื่นได้ คนไม่เชื่อยังไงก็ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือทำต่อไป มีคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนที่ส่งข้อความเข้ามาบอกว่าในวันที่ลูกเขาเขียนได้ มันคือสิ่งที่วิเศษมาก ๆ เราก็ตอบกลับไปว่านั่นแหละคือสิ่งที่เราพยายามบอกกับสังคมมาโดยตลอดว่าเด็กทุกคนทำได้แค่พวกเขาต้องได้รับโอกาสในการฝึกฝนเท่านั้น"

<i>น้องสายลมและก้อนเมฆ / ขอบคุณภาพจากเฟซบุคคุณแม่จั่น</i>
น้องสายลมและก้อนเมฆ / ขอบคุณภาพจากเฟซบุคคุณแม่จั่น

ก่อนจะวางสายจากกัน เราถามพี่จั่นถึงคำแนะนำถึงคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองที่อยากลองฝึกฝนให้ลูกเริ่มเขียนบ้าง พี่จั่นก็ยืนยันกับเราว่าถึงแม้แกจะเห็นว่าการเขียนคือรากฐานที่สำคัญ แต่การเขียนไม่ใช่ทุกอย่างสำหรับทุกคน

"สิ่งหนึ่งที่อยากให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ ก็คือ พ่อกับแม่มีความรู้ ความสามารถ หรือความชอบอะไรที่จริงจังเราลองหยิบเอาสิ่งนั้นให้ลูกก่อน เพราะเราทำสิ่งนั้นได้จริง ยกตัวอย่างเราเองว่าถ้าเราไปสอนต้นหลิวทำกับข้าว มันก็คงทำได้แค่ครั้งสองครั้งเพราะตัวเราเองทำไม่เป็น เด็กก็จะไม่ได้ฝึกทักษะอย่างต่อเนื่อง แต่กับการอ่านการเขียนที่เราชอบอยู่แล้ว เราอยู่กับมันได้เรื่อย ๆ ก็ชวนลูกมาลองทำไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าคุณจะเก่งกีฬา เก่งทำอาหาร เก่งปลูกต้นไม้ ลองเริ่มจากสิ่งที่เรามี มอบให้เขาก่อนและให้เวลากับเขา เราจะได้เห็นพัฒนาการของลูกในด้านนั้น ๆ อย่างแน่นอน"

ติดตามความน่ารักของเหล่านักเขียนตัวน้อยต่อได้บนเฟซบุคเพจ "เรไรรายวัน"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0