โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มนัส ปิติสานต์ : กว่าจะเป็น 'เสน่หา' และเบื้องหลังเพลงผี-เพลงละคร - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 25 ก.ค. 2563 เวลา 17.31 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

‘ความรักเอย เจ้าลอยลมมาหรือไร..มาดลจิตมาดลใจเสน่หา’

นี่คือ ‘เสน่หา’บทเพลงอมตะที่โด่งดังข้ามเวลา จากปลายปากกาของ ครูมนัส ปิติสานต์ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2555

เพราะนับตั้งแต่ 50 กว่าปีก่อนที่บทเพลงนี้ถูกบันทึกเสียง โดยนักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์ สุเทพ วงศ์กำแหงเรื่องราวชวนสงสัยในความรักนี้ก็เข้าไปประทับอยู่ในใจใครหลายคน

ยืนยันได้จากการที่ ‘เสน่หา’ ถูกนำมาคัฟเวอร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีนักร้องฝีมือดีมาร่วมกันขับกล่อมร่วมร้อยคน ตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่าง นัดดา วิยกาญจน์, ศรีไศล สุชาตวุฒิ, สุภัทรา โกราษฎร์, นันทิดา แก้วบัวสาย, ฝน ธนสุนทร จนถึงศิลปินขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่าง โมเดิร์นด็อก, เบน ชลาทิศ รวมถึงพรีน The Star ซึ่งเพิ่งนำมาเพลงนี้มาใช้ประกอบละครเรื่องเสน่หา Diary เมื่อไม่กี่ปีก่อน

หากถามว่า อะไรทำให้เสน่หายังถูกส่งต่อความคลาสสิกจากรุ่นสู่รุ่น แน่นอนความไพเราะก็คงเป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญกว่า คือเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดลงไปนั้น ซึ่งเกิดจากการตกผลึกประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา และกลั่นกรองจนกลายเป็นเนื้อเพลงสุดแสนกินใจที่ใครฟังก็ยากจะลืมเลือน

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือชั้นดีให้เขาเนรมิตบทเพลงได้หลากหลาย โดยเฉพาะเพลงละครซึ่งครูรังสรรค์ขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ ดาวพระศุกร์, พิภพมัจจุราช, ปอบผีฟ้า, หุ่นไล่กา, แม่นาคพระโขนง, ขวานฟ้าหน้าดำ, หุ่นไล่กา, กระสือ หรือสี่ยอดกุมาร จนสามารถยกระดับเพลงละคร จากเพลงชั้นรองที่ไม่ได้มีคุณค่า ขายไม่ได้ ให้ฮิตติดตลาด ให้กลายเป็นอมตะไม่แพ้เพลงรักทั่วไปเลย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดาอยากพาทุกคนไปรู้จักเรื่องราวชีวิต และความคิดของนักแต่งเพลงระดับตำนาน ชายผู้อยู่เบื้องหลังผลงานแห่งความทรงจำที่คุณจะไม่มีวันลืม

01

เสน่หาที่ไม่จางจากใจ

“เพลงนี้ลอยลมมาจริงๆ เหมือนอย่างเนื้อเพลงที่ว่า ‘ความรักเอยเจ้าลอยลมมาหรือไร’ เป็นความรู้สึกนั้นจริงๆ ความรักลอยลมมากระทบใจ แล้วไหลออกมาเป็นบทเพลงนี้ เพียงไม่กี่บรรทัด แต่คำจำกัดความของความรักนั้นมันคือความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ…ผมขอยืนยัน"

ครูมนัสเขียนเพลงเสน่หาขึ้นเมื่อปี 2507

ครั้งนั้นเขาได้รับคำสั่งให้ไปสอนวิชาดนตรีให้ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลา 15 วัน และทุกวันหลังเสร็จงาน ครูก็จะมานั่งกินอาหารกินที่ร้านแห่งหนึ่ง โดยระหว่างนั้นก็จะมีหญิงสาวสองคน คนหนึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของร้าน อีกคนหนึ่งเป็นข้าราชการครู มานั่งพูดคุย คอยเสิร์ฟอาหาร หากับแกล้ม รินเหล้า เติมโซดา และบ่อยครั้งที่คุยเพลินๆ ก็ห้ามครูดื่มเหล้า แต่มือกลับรินอยู่ตลอด

กระทั่งวันสุดท้าย ก่อนกลับกรุงเทพฯ ระหว่างที่ครูกำลังเดินเข้าบ้านพัก ก็ผ่านบึงแก่นนคร เห็นพระจันทร์สวยมาก เงาสะท้อนไปกับผิวน้ำดูงดงามเสียเหลือเกิน เมื่อถึงห้องก็หลับไม่ลง จึงลุกขึ้นมาเขียนเพลง แต่ใจก็ไม่อยากเขียนถึงคนรักเก่า เลยนึกถึงสองสาว แล้วจินตนาการต่อไปว่า การที่ทั้งคู่มาทำดีด้วย แท้จริงคือความรัก หรือความชื่นชอบกันแน่

นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทเพลงอมตะที่ครองใจคนมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

“เรารู้ว่าทั้งสองคนนั้นสนใจในตัวเรา แต่ไม่อยากพูด เพราะประเมินตัวเองแล้วว่า เราไม่มีค่าสำหรับใครหรอก เราเป็นแค่วณิพกที่ต้องเต้นกินรำกิน คือเขาชื่นชอบฝีมือเรา แต่ถ้าเราอยู่ในสังคมกับใคร เขาจะมองเราไม่มีค่า”ครูพูดถึงความรู้สึกในห้วงนั้น

หากจะว่าไปแล้ว เส้นทางการเป็นนักแต่งเพลงของครูมนัสนั้นมีความผิดหวังเป็นเครื่องนำทาง

สมัยยังหนุ่มๆ ครูเป็นเพียงนักไวโอลินธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น แต่ด้วยฝีมืออันโดดเด่นจึงสร้างความประทับใจแก่สาวจุฬาฯ คนหนึ่ง หญิงสาวผู้นั้นเดินมาบอกครูสง่า อารัมภีร มือเปียโนและเพื่อนสนิทของครูมนัสว่า อยากรู้จักกับนักไวโอลิน

ด้วยความไม่อยากเด็ดดอกฟ้า ครูจึงปฏิเสธที่จะสานสัมพันธ์ แต่เธอผู้นั้นกลับบอกว่า ตัวเองก็เป็นเพียงคนจนๆ เหมือนกัน ทั้งคู่จึงคบกัน โดยมีพี่สาวของแฟนตามประกบเวลาไปไหนมาไหน

แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่งมีคนมาส่งข่าวว่า ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองคนหนึ่งต้องการพบตัว ตอนแรกครูนึกดีใจว่า จะได้รับความเมตตาให้ไปแสดงดนตรี แต่กลายเป็นว่า คำพูดแรกผู้ใหญ่ท่านนั้นเอ่ยคือ “เธอต้องเลิกกับลูกสาวฉัน”

เมื่อรู้ว่าสถานภาพที่แท้จริงของแฟนสาวที่คบกันมา 4 ปีว่าเป็นอย่างไร ครูจึงตัดใจเด็ดขาด แม้เธอจะบอกให้รออีกสักปีจนกว่าบรรลุนิติภาวะ แต่ก็รู้อยู่ว่าเป็นไปไม่ได้ ครูจึงกลายเป็นคนสำมะเรเทเมาไปพักใหญ่ กระทั่งครูสง่าเรียกไปเตือนสติ

“ตอนนั้นกินแต่เหล้าเริ่มเกเรไม่ยอมไปเล่นดนตรี จนพี่แจ๋วเรียกไปว่า ‘ชีวิตเราไม่มีใครเขาทำลายหรอก มีแต่เราที่ทำลายตัวเอง นัสต้องนึกใหม่ นึกว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นคนสอนให้รู้จักกับชีวิต นัสลองแต่งเพลง’ เราก็เอาความหลังที่มีต่อกันเขียนเป็นเพลง เลยแต่งไปให้ 4 เพลง เพลงแรกคือ คืนคำรัก ร้องโดยธานินทร์ อินทรเทพ ปรากฏว่า เพลงเกิดติดหูคนฟัง พอได้มาเราก็เริ่มเอาความหลังที่มีต่อกันเขียนเป็นเพลง ก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟัง”

ครูมนัสเขียนเพลงถึงหญิงสาวผู้นี้ร่วม 40 เพลง หลายเพลงยังเป็นที่รู้จักถึงทุกวันนี้ เช่น ระฆังใจ  จนวันหนึ่งจึงรู้สึกว่า ควรพอได้แล้ว แต่หญิงสาวผู้นั้นซึ่งยังแวะเวียนมาพบอยู่เรื่อยๆ บอกว่า อย่าเพิ่งเลิกเขียนเพลงเลย เพราะเธอยังรักและอยากฟังอยู่ จึงตัดสินใจนำเนื้อเพลงที่ อิศรา บรรจงสวัสดิ์ แต่งไว้มาปรับแก้ และใส่ทำนอง กลายเป็นเพลง 'เพื่อเธอที่รัก' เสมือนเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่เกิดขึ้น

หลังจากนั้น ครูพยายามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ มาช่วยแต่งเพลง จนได้เพลงใหม่ๆ ตามมาราวสิบกว่าเพลง หนึ่งในนั้นคือ ‘เสน่หา’ ซึ่งเริ่มเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2507 แต่มาได้บันทึกเสียงจริงจังในปี 2509 ทันทีที่เพลงออกอากาศ ก็ได้เสียงตอบรับจากแฟนเพลงอย่างล้นหลาม และกลายเป็นหนึ่งเพลงดังของสุเทพ วงศ์กำแหง และเป็นโลโก้ประจำตัวมนัส ปิติสานต์เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

“เพลงนี้เขียน 3 ชั่วโมง ไม่คิดว่าจะฮิตอะไรเลย มันเป็นภาษาง่ายๆ แล้วตอนเทพร้อง เทพบอกว่าเพลงก็ดีนะแต่สู้ ‘รักเอย’ ไม่ได้ ตอนนั้นรักเอยดังมาก ผมก็บอกว่าร้องไปเถอะ ร้องไปปีกว่าๆ รักเอยหายไปเลย เสน่หามาลิ่วแทน ไปที่ไหนๆ ก็เสน่หา” 

แต่ถึงจะประสบความสำเร็จในฐานะครูเพลงลูกกรุง และทุกเพลงได้รับการยอมรับว่าลึกซึ้ง กินใจ แต่ครูมนัสกลับตัดสินใจหยุดเส้นทางนี้ และเริ่มต้นทางสายใหม่อย่าง เพลงละครโทรทัศน์ ซึ่งยุคนั้นถูกมองว่าเป็นเพลงชั้นรอง เนื่องจากพอละครจบเพลงก็หายไปตามกาลเวลา แต่ครูไม่สนใจ

เพราะนี่คือทางที่เลือกแล้ว

02

พรหมลิขิตบอกให้ทำเพลง

แม้ได้ชื่อว่าเป็นนักแต่งเพลงชั้นเยี่ยม แต่กลับไม่เคยคิดที่จะทำงานสายนี้มาก่อนเลย

ครูมนัสเป็นศิษย์ก้นกุฏิรุ่นท้ายๆ ของพระเจนดุริยางค์ ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติไทย

ครูก้าวสู่วงการนี้ด้วยความบังเอิญสุดๆ เพราะช่วงเรียบจบ ม.ศ.3 ตรงกับสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี โรงเรียนปิดกันหมด พี่ชายเลยแนะนำว่า กองแตรวงทหารอากาศ เปิดรับสมัคร เลยไปเรียนขำๆ และคิดว่าถ้าหมดสงครามก็จะกลับไปเรียนสายมหาดไทย เพราะอยากเป็นนักกฎหมายแบบพ่อ แต่สุดท้ายทุกอย่างที่วางไว้ก็พลิกผันหมด

“ผมไม่อยากเรียนวิชาดนตรี เพราะสมัยโน้นมันต่ำต้อย เขาดูถูกทั้งนั้น เลยคิดว่าจะออก แต่ปัญหาคือ 3 ปีที่เรียนนั้นเขาเอาเราไปสักหมายเป็นพลสำรอง เราเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นทหารแล้ว พอสงครามเลิก ก็หนีไม่มาเรียนต่อ กลับไปอยู่กับพ่อที่สระบุรี เพื่อนก็เลยมาตามบอกว่า มึงหนีราชการทหาร ถ้าไม่กลับจะผิดกฎอัยการศึก พอชีวิตมาทางนี้ ผมก็เริ่มเอาจริงเอาจัง

“อย่างเวลาเห็นพวกครูๆ เขาไปเล่นดนตรีข้างนอก ได้เงินพิเศษ ก็อยากทำอยากได้ก็เลยฝึกไวโอลิน ฝึกเครื่องดนตรีต่างๆ จนได้อย่างครู และเมื่อโดดเป็นนักดนตรี ใจเราก็ไม่หยุดแล้ว ไปเห็นครูไปเล่นดนตรีประกอบละครวิทยุ มีประกาศชื่อว่าใครเล่นดนตรี ก็อยากมีชื่อเสียงก็เอาบ้างก็ตามไป”

โชคดีที่ครูมนัสมีทั้งพรสวรรค์ และพรแสวง

อย่างสมัยเรียนดนตรี แม้จะโดดเรียนตลอด แต่กลับได้ที่ 1 อยู่เสมอ ตอนนั้นครูรู้สึกว่า ดนตรีไม่มีอะไรยากเลย ก็แค่โน้ต 7 ตัว ภาษาไทยยังยากกว่าอีก กระทั่งพระเจนฯ เรียกพบ และเปิดคลาสพิเศษเพื่อสอนดนตรีขั้นสูง ซึ่งครูเห็นว่าเป็นโอกาสดี จึงตามไปเรียน

พระเจนฯ บอกว่า สิ่งที่สอนเป็นทฤษฎีเท่านั้น แต่สิ่งที่สูงกว่า คือการนำโน้ตไปใช้สร้างเพลง ทำให้แต่เพลงมีชีวิต แม้จะไม่มีเนื้อร้องก็ตาม แล้วท่านก็สอนว่า หากต้องการจะแต่งเพลงโศก เพลงรัก เพลงน่ากลัวต้องทำยังไง และกลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการแต่งทำนองเพลงเรื่อยมา

เช่นเดียวกับเนื้อร้อง ซึ่งครูมนัสได้อาจารย์ดีอย่างม.ล.ทรงสอางค์ ทิฆัมพรแห่งคณะละครศิวารมย์ โดยหลังเรียนจบ ก็มาทำงานอัดแผ่นเสียง เล่นดนตรีประกอบละครเวที ระหว่างนั้นก็ใช้วิธีครูพักลักจำ สังเกตถ้อยคำต่างๆ ในละคร จนกลายเป็นคลังให้นำไปต่อยอดสร้างผลงานที่น่าประทับใจ

ตลอดเส้นทางการเป็นคนเขียนเพลง ครูบอกว่า สิ่งหนึ่งที่คิดไว้เสมอคือ อย่าทับรอยตัวเอง หากสังเกตดู ทุกเพลงที่ครูแต่งล้วนแต่มีทำนองที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

“คิดทำนองยากนะ บางทีเดินอยู่ 3 อาทิตย์ยังคิดไม่ออก อย่างเพลงเปลวไฟรัก 5 ปีเขียนได้ 3 ท่อน แล้วท่อนสุดท้ายจบไม่ได้ ก็เลยกลับเอาไว้เฉยๆ จนจินตนา สุขสถิตย์ บอกว่าไม่เคยร้องเพลงครูเลย จึงนึกถึงเพลงนี้บอกว่าจะให้เพลงหนึ่ง กลับมาก็มานั่งดู สมัยนั้นเป็นยุคที่ไฟดับบ่อยๆ เราก็เขียนไม่ออก จนไฟดับ ความคิดก็มาเลย”

ไม่แปลกว่าทำไมผลงานแต่ละชิ้นจึงมีเสน่ห์ และเอกลักษณ์ และส่งให้ครูมนัสกลายเป็นนักแต่งเพลงที่ใครๆ ต่างให้การให้ยอมรับ ตามที่ตั้งใจไว้เมื่อย่างก้าวสู่โลกของเสียงดนตรี

03

พลิกโฉมเพลงละครสู่อมตะ

“..เลือด..ข้าอยากได้เลือด..”

เสียงร้องโหยหวนของปอบผีฟ้า ยังคงติดตรึงในความทรงจำและสร้างความสะพรึงกลัวทุกครั้งที่ได้ฟัง และนี่คงเป็นสาเหตุว่า ทำไม ป๋อง-กพล ทองพลับจึงเลือกใช้เพลงนี้เปิดรายการ The Shock ยุคแรกๆ เป็นประจำทุกคืน 

ความน่าสนใจของเพลงละครสไตล์ครูมนัส คือ โดดเด่น ตีคู่มากับละคร ถึงขั้นบางครั้งคนก็ลืมไปแล้วว่า เนื้อหาละครเป็นอย่างไร แต่กลับจดจำเพลงได้เป็นอย่างดี เวลามีการรีเมกละครเมื่อไหร่ เพลงของครูก็มักถูกนำมาใช้อยู่เสมอ ทั้งกระสือ ดาวพระศุกร์ ปอบผีฟ้า แม่นาคพระโขนง ฯลฯ

แต่กว่าที่ครูจะกลายเป็นตำนานเจ้าพ่อเพลงละครเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ครูให้เหตุผลที่ทิ้งเพลงลูกกรุงที่รุ่งโรจน์ มาสู่เพลงละครเต็มตัว เป็นเพราะเขียนเพลงไทยสากลมันเหนื่อย เพราะต้องสร้างทุกอย่างตั้งแต่โครงเรื่อง ทำนอง เนื้อหาใหม่หมด แถมคู่แข่งก็เยอะ ต่างจากเพลงละครที่ทั้งวงการมีแค่ ครูแจ๋ว-สง่า อารัมภีรคนเดียว และอย่างน้อยก็มีวัตถุดิบมาให้บ้าง ต่อให้บางครั้งจะมีเพียงชื่อละครก็ตาม

เพลงละครเรื่องแรกที่ครูเขียนคือ ‘พิภพมัจจุราช’ ทางช่อง 5 เมื่อปี 2511 โดยตอนนั้นได้รับชักชวนจากเพื่อน ชื่อ ‘พยุง พึ่งศิลป์’ผู้ก่อตั้งรัชฟิล์มและรายการมาตามนัด

“ปกติเพลงไทยเดิมเขาจะให้พี่แจ๋วแต่ง แต่เรื่องนี้เขาต้องการเป็นเพลงสากล วันหนึ่งคุณพยุงเขาก็มาหาผม ตอนนั้นผมนั่งอยู่ใต้ต้นไทรหน้าช่อง 5 แกบอกว่า นัสเขียนเพลงให้ผมหน่อย.. ผมก็บอกไม่เอาผมไม่เขียน พี่แจ๋วเขียนอยู่แล้ว เขาบอก คนละแบบ นัสถนัดสากลแบบสากลใหม่ๆ ละครพิภพมัจจุราช แล้วพิภพมัจจุราชเป็นยังไง  มีอะไรบ้าง เขาบอกไม่รู้..ไม่รู้แล้วจะเขียนยังไง..ไม่รู้ล่ะนัสนึกถึงพญายมแล้วกัน แล้วก็เอาเงินยัดให้ผม 6,000 บอกอีก 7 วันเจอกัน”

ตอนบ่าย 2 โมง ครูก็พกไวโอลินเรียกแท็กซี่ไปนครปฐม พาถึงก็เดินขึ้นองค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็นำเค้าโครงเรื่องเล่าสมัยเด็กๆ เกี่ยวกับนรกที่แม่เคยเล่าให้ฟังมาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ พอ 5 โมงเขียนเสร็จ พอเขียนเสร็จก็เรียกเพื่อนที่อยู่แถวนั้นมานั่งดื่มเหล้า 2 ทุ่มก็กลับบ้าน หลังจากนั้นอีก 7 วัน พยุงก็มารับเพลง พร้อมเงินอีก 5,000 บาท รวมกันเกินหมื่นบาท ตั้งแต่นั้นครูก็จับงานเพลงละครเรื่อยมา

เพลงละครเด่นๆ ของครูมนัสมีมากมาย แต่ที่ถูกกล่าวขานมากที่สุด คือ เพลงเกี่ยวกับผี โดยมีนักร้องเจ้าประจำคือ ประภาศรี ศรีคำภานักร้องประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ

ครูบอกว่า หลักการสร้างเพลงผี อย่างแรกคือต้องสร้างทำนองให้น่ากลัวก่อน ซึ่งพระเจนฯ เคยสอนว่า คั่นคู่เสียงสำคัญสุด ถ้าใช้คั่นคู่เสียงที่หนักแน่นมันจะไม่โหยหวนเท่าไหร่ ต้องใช้คั่นคู่เสียงที่เป็นไมเนอร์ จะทำให้เกิดความวังเวง น่ากลัว อีกตัวช่วยหนึ่งที่ครูใช้บ่อยๆ คือ เรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ

อย่างเมื่อปี 2518 ครูได้รับการไหว้วานจาก ไพรัช สังวริบุตรแห่งดาราวีดิโอ ให้ช่วยแต่งเพลง ‘ปอบผีฟ้า’ ครูยอมรับเลยว่า นึกไม่ออก ก็เลยนั่งรถไฟไปหาข้อมูลถึงสุรินทร์ ไปดูหมู่บ้านผีฟ้า คนที่นั่นพูดภาษาส่วย มีการร้องรำทำเพลง พอไปเห็นก็รู้สึกไม่ได้อะไร จึงนั่งรถไฟกลับ ระหว่างนั้นก็ดื่มเหล้าไปด้วย พอรถเคลื่อนไปสัก 3-4 สถานี ก็ได้ยินเสียงร้อง ‘ผีฟ้าเอย..’ ดังขึ้นมา

“ตอนนั้นเราก็งง คิดว่าเมาหรือเปล่า แต่ก็นึกอยู่ในใจว่าถ้าผีฟ้ามีจริง อยากได้อะไร ก็ได้ยินว่า ชอบรักษาคน ชอบสนุก ชอบเสื้อผ้าอาภรณ์ ผมก็ลุกขึ้นมาเขียนตามที่ได้ยินมา จนมาถึงที่อยุธยาก็คิดในใจว่าผีฟ้าอยากอะไร คำตอบคือผีฟ้าอยากได้เลือด ผมก็เลยเอาคำว่า อยากได้เลือด มาใส่ตอนปลายเพลง แล้วก็คิดว่าผู้ฟังจะโกรธ แต่กลายว่าเป็นดี” 

เพลงแม่นาคพระโขนงก็เหมือนกัน ครูไปเขียนไกลถึงบังกะโลของสถานที่พักฟื้นตากอากาศของกรมตำรวจที่บางละมุง ชลบุรี หวังสร้างอารมณ์ร่วม ครูเขียนเพลงออกมาได้ 2 เวอร์ชัน เนื้อหาประมาณว่า แม่นาครักพ่อมาก แต่ตอนหลังพ่อมากก็ทอดทิ้งไปไม่ใยดี และระหว่างที่กำลังพักผ่อนก็มีลมพัดผ่านใบหูไปมาอยู่หลายรอบ ในสมองเหมือนได้ยินเสียงใครมาบอกว่า เพลงที่เขียนนั้นยังไม่ใช่

“ตอนนั้นเกือบตี 3 แล้ว ผมก็เลยมานั่งถึงเรื่องแม่นาค จำได้ว่าเคยไปไหว้ที่วัดมหาบุศย์ แล้วเห็นภาพแม่นาคอุ้มลูก เลยตัดสินใจเปลี่ยนไปเขียนถึงความรักของแม่นาคแท้จริงว่าอยู่ที่ลูก แล้วก็เอาทำนองเพลงไทยเดิมมาใส่เนื้อ พอเขียนเสร็จก็นอน มันเหมือนมีใครมาบอกว่าเพลงนี้ใช่ พอวันเสาร์เราก็นัดนักดนตรีไทยมาอัด คุณหรั่ง-ไพรัชบอก เพลงนี้ใช่เลย แล้วตอนให้นักร้องร้อง แต่เขาไม่ยอมร้องบอกว่ากลัว เพราะเพิ่งไปดูหนังแม่นาคพระโขนงที่ชุมแพ ปรากฏว่าพอจะฉายไฟไหม้จอเลย กลัวอาถรรพ์จะเกิด ผมก็บอกไม่เป็นไร ไปจุดธูป 2 ดอก ขออนุญาตร้อง และไม่น่าเชื่อเขาร้องแค่ 2 รอบใช้ได้เลย” 

แม้เพลงละครจะเกิดขึ้นจากการสมมติ แต่ครูก็นึกเสมอว่า การเขียนเพลงก็เหมือนทำอาหาร ออกมาแล้วต้องอยากให้คนฟังไปเรื่อยๆ อย่างเพลงผีก็ต้องเน้นที่ทำนองน่ากลัว ส่วนเพลงเด็กเน้นความสนุกเป็นหลัก ขึ้นมาต้องสะกิดหูเลย เวลาแต่งเพลงละครจึงรู้สึกท้าทายมาก ที่สำคัญครูคิดตลอดว่า ต้องทำให้ดีกว่าเก่า และเพลงก็ต้องเข้ากับเนื้อหา ไม่ใช่ละครเดินอย่าง เพลงเดินอีกอย่าง

ด้วยลายเซ็นที่น่าจดจำ ทำให้เพลงของครูได้รับการกล่าวขาน และยกระดับเพลงละครจากเพลงชั้นสองให้กลายเป็นเพลงฮิตไม่แพ้ตัวละคร หรือแม้แต่เพลงรักทั่วไป

“ผมมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ เล้ง เป็นเจ้าของบริษัททำเทป วันหนึ่งขณะที่กินเหล้ากันอยู่ ผมก็บอกเล้งว่า เพลงดาวพระศุกร์มันดังมาก เราเอาเพลงมาขายกันดีกว่า แต่เล้งก็บอกว่ามันเสี่ยงนะ เราก็บอกว่าอย่าคิดมาก ออกสักนิดแล้วเอากำไรมากินเหล้ากัน เล้งก็เลยรวมเพลงของผมมาชุดหนึ่ง หน้าปกครั้งแรกเป็นเจ้าหญิงแตงอ่อน ออกไป 500 ม้วน ครบ 30 วัน ขายได้ 250 ม้วน ซึ่งถือว่าน้อยมาก

“แต่ขณะที่กินอยู่ เมียเล้งก็กระหืดกระหอบมาเลย แล้วก็บอกว่า เฮียๆ กลับบริษัทด่วนมีออเดอร์เพลงดาวพระศุกร์มาเป็นหมื่นๆ ม้วนเลย เล้งก็เลยบอกว่าเลิกกินเหล้าวันนี้ ก่อนออกก็บอกว่า เมื่อคนอยากได้ดาวพระศุกร์ก็ต้องเปลี่ยนปก ผมก็เลยต้องไปหาคุณหรั่งขอรูปมนฤดี ยมาภัย เชื่อไหมขายดิบขายดี เล้งยิ้มแป้นเลย และตั้งแต่นั้นมาหลายๆ บริษัทถึงจะเริ่มทำเพลงละครออกขายเหมือนกัน”

ตลอดชีวิตครูเขียนเพลงละครกว่า 70 เพลง มีผลงานเทปขึ้นปกว่า ‘มนัส ปิติสานต์’ หลายสิบม้วน แต่นั่นไม่ได้ทำให้ครูหลงใหลไปกับชื่อเสียง ยังคงมุ่งมั่นสร้างงานคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

04

ลิขสิทธิ์แห่งปัญญา

แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุให้ครูตัดสินใจวางมือ และหันหลังให้วงการประพันธ์เพลงโดยสิ้นเชิง เมื่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฉบับหนึ่งประกาศใช้

“ผมรับไม่ได้กับข้อความที่ให้ผู้จ้างเป็นผู้ครองลิขสิทธิ์ เราคิดทำนอง คำร้องออกมา เขาให้เงินเราก้อนหนึ่งแล้วเอาเพลงไป หลังจากเขาจะทำอะไรก็ได้ อัดซ้ำอัดซ้ำซากเป็นร้อยครั้ง เราไม่ได้แม้แต่บาทเดียว ถ้าแบบนั้นไม่ทำดีกว่า ผมก็เลิกเลย”

แม้เป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ความคิดเรื่องลิขสิทธิ์นั้นไม่ผิดเลย เพราะทุกวันนี้มีครูเพลงอีกมากที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากงานที่ตัวเองรังสรรค์ขึ้น ต่างจากครูมนัสที่ยังได้รับค่าลิขสิทธิ์มาจนถึงทุกวันนี้ ถึงไม่ได้เขียนเพลงนานหลายสิบปีแล้วก็ตาม

“เราอยู่ตรงนี้ เรารู้ใครทำอะไร ใครจะเอาเพลงไปทำก็ต้องมาบอกมาจ่าย ยังไม่เคยฟ้องร้องใคร พูดคุยกันได้ บางทีทำเพลงอัดไปแล้วไม่มาบอก เราไปหาเขาก็บอก แหมหาตัวครูยาก หาตัวไม่เจอ อย่าฟ้องผมนะ ผมขอเพลงอื่นไปทำเพิ่มอีกนะ ก็จ่ายเงินกันมา ไม่มีปัญหา”

ในวัย 90 กว่า ครูยังคงแข็งแรง แต่สำหรับเรื่องเพลง ถือว่าจบแล้ว เพราะแม้แต่ไวโอลินสักเครื่องก็ยกให้คนอื่นหมด เหลือเพียงแค่เทป 4-5 ม้วน โน้ตเพลงที่ลูกศิษย์ทำให้ 2 เล่ม กับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงผลงานในอดีตเท่านั้น

สิ่งเดียวที่ยังทำอยู่บ้างคือ การสอนดนตรีให้แก่ผู้สนใจ

ครูบอกว่า ถึงเวลาจะผ่านไปแต่ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียงวณิพกก็ยังมีอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่น่าภูมิใจคือ คือโอกาสและความเมตตาที่ได้รับตลอดมา 

“อาชีพของเรามันหากินได้เฉพาะค่านิยมเท่านั้น ถ้าทำให้เกิดค่านิยมไม่ได้ รับรองว่าไม่มีอะไร ผมจบการศึกษามาไม่มีประกาศนียบัตร ผมพูดได้ตลอดเวลาว่า ผมเป็นศิษย์พระเจนดุริยางค์ ผมเล่นดนตรี อัดแผ่นเสียง อัดละคร แต่งเพลงสารพัด แต่มีอะไรรับรอง ผู้ที่ให้ประกาศนียบัตรผมคือ ท่านผู้ชมกับท่านผู้ฟัง ผมจึงไม่เคยอวดว่าตัวเองเป็นศิลปินแห่งชาติ ผมถือว่านั่นเป็นเกียรติที่ได้จากการทำงานที่เราตั้งใจทำ ทำให้เราได้รับการตอบแทนที่ดี และได้เกียรติที่สูงที่สุดซึ่งทุกคนใฝ่ฝัน”

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบจาก

  • บทสัมภาษณ์ครูมนัส ปิติสานต์ เดือนกุมภาพันธ์ 2557
  • นิตยสาร ฅ.คน ปี 9 ฉบับที่ 9 เดือนมีนาคม 2557
  • หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2-9 ตุลาคม 2549
  • บทความเรื่อง พันจ่าอากาศเอก มนัส ปิติสานต์ ศิลปินแห่งชาติประจำปี ๒๕๕๕ โดย น.อ.อภิชัย ศักดิ์สุภา
  • หนังสือศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
  • หนังสือตำนานครูเพลง : เพลงไทยสากลลูกกรุง โดย คีตา พญาไท
  • บทสัมภาษณ์ครูมนัส ปิติสานต์ เล่าเรื่องเบื้องหลังการแต่งเพลง วันที่ 16 มีนาคม 22563 โดยอนันต์ นาคคง

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 15

  • VJ Chen
    กฎแห่งกรรม "มวลมนุษย์​ในโลกนี้ เกิดมาต่างมีบุญ​ กรรม ประจำตน ไพร่ ผู้ดี มีหรือจน มนุษย์​ปุถุชน​ไม่อาจหลีกพ้นปัญหา​ คอยเบียดเบียน​ต่อกันเรื่อย​มา​ ใช้เล่ห์ต่างต่างนานา ไม่นำพาผลกรรมความดี (พูด)​มนุษย์​เอย อย่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว" ละครดี ที่สอนคนให้เกรงต่อการทำบาป
    25 ก.ค. 2563 เวลา 21.31 น.
  • Kiatomega
    สุดยอดจริงจริงครับ ประวัติน่าสนใจ เป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก
    25 ก.ค. 2563 เวลา 19.48 น.
  • ในผลงานแต่ล่ะชิ้นที่ท่านได้สื่อออกมานั้น ก็คงจะเป็นเพราะด้วยจากประสบการณ์ในชีวิตส่วนหนึ่งด้วยอย่างนั้นหรือปล่าวครับ.
    27 ก.ค. 2563 เวลา 04.55 น.
  • Saowanee
    คนจริง
    26 ก.ค. 2563 เวลา 12.12 น.
  • pisit5924
    อ่านประวท่านแล้ว เห็นได้เลยว่ากว่าจะได้สักเพลง ไม่ง่ายเลย ...
    30 ก.ค. 2563 เวลา 22.24 น.
ดูทั้งหมด