โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

มอเตอร์ไซค์ไทเกอร์ ยุคเสรีพิศุทธ์ ตำรวจโกง อัยการไม่ฟ้อง

แนวหน้า

เผยแพร่ 31 ส.ค. 2563 เวลา 19.00 น.

คดีทุจริตจัดซื้อมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์ เป็นข่าวอื้อฉาวมาก

เพราะซากมอเตอร์ไซค์ได้ประจานความโสมมอยู่ตามโรงพักต่างๆ ทั่วประเทศ

เป็นที่ช้ำใจของตำรวจน้ำดี

โครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ 19,147 คัน มูลค่า 1,144 ล้านบาท เซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2550 ยุคที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เป็น ผบ.ตร. (ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ สภาผู้แทนราษฎร)

พฤติการณ์แห่งคดี มีการล็อกสเปก เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ทำให้มีผู้ยื่นซองประมูลเพียงรายเดียว และหลังใช้งานไม่นานก็ทยอยเจ๊ง ไม่มีศูนย์บริการและอะไหล่รองรับ กลายเป็นเศษขยะ กองสนิมเหล็กอยู่ตามโรงพักทั่วประเทศ

ป.ป.ช.มติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดนายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ได้ถูกชี้มูลความผิด ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง

1. ล่าสุด สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ปรากฏว่า พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำคุก พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ 10 ปี ไม่รอลงอาญา

โดย พล.ต.ต.สัจจะ ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวเพื่อฎีกาสู้ต่อ  ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วนของกลุ่มเอกชน 2 แห่ง ได้หลบหนีคดีไปตั้งแต่ช่วงนำตัวไปส่งฟ้องศาลชั้นต้น ต่อมา ป.ป.ช.ได้ขอศาลออกหมายจับ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯการหลบหนีคดีไม่มีอายุความ แม้เหตุการณ์จะเกิดมาตั้งแต่ปี 2550 แล้วก็ตาม

2. คดีนี้ นับว่าเป็นโชคดีของประเทศชาติที่ไม่ถูกทำให้จบสิ้นไปตั้งแต่ชั้นอัยการ ก่อนจะไปถึงศาล

ไม่เหมือนกับบางคดี

คดีนี้ อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง

หลังจากนั้น ป.ป.ช.ดึงสำนวนกลับมาเพื่อดำเนินการฟ้องเอง

โดยดำเนินการฟ้อง พล.ต.ต.สัจจะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ฮั้ว รวมถึงผู้แทนเอกชน 2 ราย ฐานสนับสนุนการกระทำความผิด นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังแจ้งไปยังกระทรวงการคลังเพื่อให้เรียกค่าเสียหายแก่เอกชน 2 แห่ง ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฯ มาตรา 82 ด้วย วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาทด้วย

พล.ต.ต.สัจจะ ยังมีสิทธิสู้ต่อในชั้นศาลฎีกา

3. คดีนี้ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาแก่ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญในฐานะผู้บังคับการพลาธิการและสรรพาวุธ และกรรมการประกวดราคา รวมถึงเอกชน 2 ราย ได้แก่ น.ส.รักชนก แจ๊ะซ้าย หรือ น.ส.สุพิชญา สองมณี กรรมการผู้จัดการบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด และนายปิติ มโนมัย พิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทเกอร์มอเตอร์ จำกัด ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) 

นอกจากนี้ ยังมีมติชี้มูลความผิดทางวินัย แก่ พล.ต.ท.ประชิน วารี พล.ต.ต.สมพงษ์ น้าเจริญ พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ และ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ

4. โครงการนี้ ได้จัดซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อไทเกอร์ ขนาด 200 ซีซีพร้อมอุปกรณ์ทดแทน 19,147 คัน วงเงิน 1,144,550,600 บาท ส่งไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปราบปรามฯ ตามโรงพักทั่วประเทศ 1,447 แห่ง ใช้เป็นพาหนะออกตรวจพื้นที่

ราคากลางตามงบจัดซื้อ คันละ 65,000 บาท

พฤติการณ์แห่งคดี ปรากฏว่า โครงการนี้มีการเปลี่ยนการกำหนดคุณลักษณะรถจักรยานยนต์จากขนาด 150 ซีซี มาเป็นไม่เกิน 200 ซีซี และกำหนดสเปกโรงงานผู้ผลิต

ทำให้มีแต่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อไทเกอร์ รุ่น Boxer 200 สามารถเข้าเสนอราคาได้เพียงรายเดียว

โดยที่บริษัทคาร์แทรคกิ้ง จำกัด ไม่มีศูนย์ซ่อมและตัวแทนจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ

ในที่สุด ราชการก็เสียหาย เพราะไม่สามารถนำรถจักรยานยนต์ไปซ่อมบำรุงตามสัญญาได้ แถมยังพบด้วยว่าตัวรถมีปัญหาสารพัน เช่น อัตราเร่งไม่สามารถทำความเร็วได้เท่ากับรถยี่ห้ออื่นในท้องตลาด เป็นต้น

ความเสียหายนี้ เสื่อมเสียไปถึงองค์กรตำรวจ เพราะปรากฏว่า มีการทุจริตประพฤติมิชอบโดยตำรวจ งบตำรวจ อุปกรณ์ตำรวจที่จะนำไปใช้จับโจร

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเศร้าใจ… พล.ต.ท.ประชิน วารี อดีตรองจเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดด้วย ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันที่บ้านพักย่านนนทบุรี โดยตำรวจสรุปว่า ยิงตัวตาย!!!

5. ประการสำคัญ ต้องชื่นชม ป.ป.ช.ในคดีนี้

แม้ทนายของแผ่นดินจะสั่งไม่ฟ้อง แต่ ป.ป.ช.ยังดำเนินการฟ้องร้องเอง

นั่นทำให้คดีได้ไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์กันในชั้นศาลยุติธรรม

ศาลปราบโกงชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ต่อ

กระทั่งศาลปราบโกงชั้นอุทธรณ์พิพากษาว่า นายตำรวจรายดังกล่าวมีความผิด ลงโทษจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา

สะท้อนปัญหาในกระบวนการยุติธรรมว่า คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง มีการใช้ดุลพินิจรอบคอบ รัดกุม ถูกต้องเที่ยงธรรมแค่ไหน อย่างไร

เพราะนี่ไม่ใช่คดีแรกและคดีสุดท้าย ประเภทที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่ มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องคดีได้ กระทั่งศาลยังมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในที่สุด

ปัจจุบัน ยังมีคดีบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา – คดีเจ้าสัวธรรมกาย –คดีมูลนิธิในเครือธรรมกายทำผิดกฎหมาย ดีเอสไอส่งเรื่องให้อัยการร้องต่อศาลให้เพิกถอนมูลนิธิและให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน - คดีค้ามนุษย์วิคตอเรียซีเครท – หรือแม้แต่การที่อัยการสั่งไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงินของนายพานทองแท้ ชินวัตร ฯลฯ

ทั้งหมด ล้วนเป็นปมปัญหาที่สังคมคลางแคลงใจในการทำหน้าที่ของอัยการ-ทนายของแผ่นดิน

สารส้ม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 9

  • SodaMax
    เสรีพิดูดบอกว่า เรือดำน้ำควรยกเลิกไป เพราะผมไม่ได้ส่วนแบ่ง แต่มอไซต์ตำรวจบอกว่าซื้อเลย มีเท่าไหร่เหมาหมด
    01 ก.ย 2563 เวลา 06.28 น.
  • rangdong
    อัยการเป็นอาชีพที่ถูกอวยเกินความเป็นจริง..โคตรน่าละอาย
    01 ก.ย 2563 เวลา 07.28 น.
  • รณยุทธ
    เฮ้ย!! เสรีพิศุทธ์อยู่หรือเปล่าวะ??
    01 ก.ย 2563 เวลา 08.16 น.
  • Pia
    หัวขบวนต้องรับผิดชอบด้วย เสรีบอกเองว่าต้องมีส่วนได้ส่วนเกินอยู่แล้วนิ
    01 ก.ย 2563 เวลา 07.42 น.
  • สุพธริกา
    น่ารื้อทุกคดีที่อัยกินสั่งไม่ฟ้องแบบไม่ชอบมาพากลจะได้กำจัดคนที่ทำงานไม่คุ้มค่าภาษีประชาชนและยึดทรัพย์ด้วย
    01 ก.ย 2563 เวลา 08.09 น.
ดูทั้งหมด