โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้จัก “Monkey Mind” คิดเป็นตุเป็นตะ ฟุ้งซ่านไปเรื่อย เหมือนลิงที่อยู่ไม่สุข

Mission To The Moon

เผยแพร่ 06 ต.ค. 2564 เวลา 01.30 น. • Pattraporn Hoy

 

เคยเป็นไหม? เมื่อเกิดเรื่องที่ทำให้เรากังวลใจ ในหัวจะเริ่มคิดนู่นคิดนี่ไม่หยุด พยายามหาความน่าจะเป็นต่างๆ เพื่อรับมือกับมัน 

.

เมื่อเราทะเลาะกับคนในบ้าน แล้วเขาผลุนผลันออกจากบ้านไปก่อน และระหว่างที่เราเดินทางไปทำงาน ในหัวเอาแต่คิดว่า เมื่อกลับบ้านไปเราจะพูดกับเขาอย่างไร จากนั้นความคิดที่ปักอกปักใจของเราก็จะสร้างบทสนทนาขึ้นมาในหัว เราจะวางแผนตอบโต้ในหัวอยู่คนเดียว คิดอยู่ในหัวว่าถ้าเขาตอบแบบนี้กลับมาเราจะใช้คำไหนตอบโต้กลับไป เมื่อถึงที่ทำงานเรากลับหมดแรงเพราะเสียงที่ดังไม่หยุดในหัว ความคิดในหัวที่ดังไม่หยุดเช่นนี้เรียกว่า “Monkey Mind” หรือจิตลิง

.

“Monkey Mind” คืออะไร ?

.

เป็นคำศัพท์ในเชิงพระพุทธศาสนา ใช้อธิบายจิตใจที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่มีสมาธิหรือความสับสน เป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาไม่หยุดเหมือนลิงที่กำลังห้อยโหนเถาวัลย์จากต้นไม้ต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง เมื่อเราติดอยู่ใต้ห้วงของจิตลิง ทุกความคิดที่แล่นเข้ามาในหัวเรา มันจะส่งสัญญาณบอกว่า “เรื่องนี้เรื่องใหญ่ รีบแก้ไขมันซะ” “เรื่องเร่งด่วน หาทางออกเดี๋ยวนี้” ทำให้เราคิดและมองหาความน่าจะเป็นของเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ลงมือจัดการกับมันเสียที          

มนุษย์เราจะให้ความสำคัญกับสิ่งเลวร้ายและมองข้ามสิ่งดีๆ จากวิวัฒนาการของมนุษย์ การให้ความสนใจต่อภัยคุกคามหรือสิ่งอันตราย มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และคนที่มีการเตรียมพร้อมมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้รอดชีวิต ด้วยเหตุนี้ การมองในแง่ร้ายจึงเป็นวิธีที่ทำให้สมองเรารู้สึกปลอดภัยมากกว่า

.

และเมื่อเรามองเห็นสิ่งที่คิดว่ามันเป็นภัยต่อตัว ความคิดลบๆ จะเริ่มแทรกซึมเข้ามาในหัว หลังจากนั้นเราจะถูกเจ้าจิตลิงครอบงำ ทำให้เราจินตนาการถึงผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุด พยายามทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากนี้ จิตลิงจะหมกมุ่นอยู่กับอดีต คิดว่า “ฉันไม่น่าทำแบบนี้เลย” “ฉันจะไม่ให้อภัยเขาเด็ดขาด” “ทำไมเราไม่ทำแบบนี้นะ ถ้าทำแบบนี้ผลลัพธ์จะเปลี่ยนแปลงไหมนะ”

.

สิ่งนี้ทำให้เราไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เพราะเรากำลังจมปลักอยู่กับอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และหมกมุ่นอยู่กับภาพดราม่าในหัว จินตนาการลบๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ในขณะเดียวกัน ความคิดที่ทั้งเปลืองพลังงานและเสียเวลาจะปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา ซึ่งบางที ปัญหาอาจจะแก้ไขได้ตั้งแต่แรกถ้าเราหยุดคิดเองเออเอง

.

ทำอย่างไรจึงจะหยุดความคิด “Monkey Mind” ได้ ?

Natalie Goldberg นักเขียนและนักพูดชาวอเมริกันบอกว่า Monkey Mind คือนักวิจารณ์ในใจของเรา เป็นส่วนหนึ่งของสมองที่เชื่อมโยงกับอัตตา (อีโก้) มากที่สุด ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถทำอะไรมันได้เลย มันเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มีก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ซ่อนอยู่ข้างล่าง โดยเราไม่รู้ว่ามันมีอยู่ในตัวเรา แต่ข่าวดีคือเราสามารถทำให้มันหายไปได้ โดยการ ‘เลิกคิด’ ถึงมัน

.

วิธีหยุดคิดคือ ‘เลิกคิด’? อาจจะเป็นคำตอบที่ฟังดูขวานผ่าซากไปสักหน่อย แต่มันเป็นวิธีที่ได้ผลที่ทำให้เราหยุดฟุ้งซ่าน โดยเราสามารถมุ่งสมาธิไปที่จุดๆ อื่นแทนได้ เช่น อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ทำอาหารหรือทำในสิ่งที่ต้องใช้สมาธิ ในขณะเดียวกัน เราต้องสังเกตตัวเองว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ เมื่อรู้ตัวว่าเรากำลังตกอยู่ในวังวนของความคิดที่ไม่สิ้นสุดนี้ ให้รีบหาอย่างอื่นทำทันที 

.

เราต้องมีสติกับปัจจุบันอยู่เสมอ โดยสามารถเลือกที่จะไม่ระบุเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ด้วยความคิด เรียนรู้ที่จะแยกแยะระหว่างความคิดกับความเป็นจริง สิ่งนี้จะทำให้เรามีอิสระในการตัดสินใจเลือกที่ดีกว่า

.

ทั้งนี้ หยุดหาแนวโน้มและหยุดใช้คำว่า “ถ้า” เปลี่ยนจากคำว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันโดนเจ้านายดุ” มาเป็น “การโดนเจ้านายดุจะทำให้ฉันรู้สึกแย่” หรือ “ถ้าเกิดฉันไม่สามารถทำโปรเจกต์นี้ให้ทันกำหนดจะทำอย่างไรดี” เปลี่ยนเป็น “ฉันกลัวและกังวลว่าจะทำโปรเจกต์นี้ไม่ทันกำหนด” เป็นต้น

.

การเปลี่ยนวิธีการพูดจะทำให้เรามองเห็นความจริงว่าเรากำลังกังวลอะไรอยู่กันแน่ การรู้ต้นตอของปัญหาจะทำให้เราหยุดคิดถึงแนวโน้มต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้เราได้จัดการกับมัน ก่อนที่มันจะกลับมาจัดการเรา

.

Monkey Mind ไม่ใช่สภาวะจิตที่ไม่ดี มันเป็นเพียงสภาวะจิตที่ไม่มั่นคงและไม่ได้รับการฝึกฝน การมีสติอยู่กับปัจจุบันจะทำให้เรามีจิตใจที่แข็งแรงและไม่อยู่ใต้การควบคุมของมัน แล้วอย่าลืมล่ะ ถ้าไม่อยากให้เจ้าจิตลิงมาวุ่นวายกับเรา หยุดสนใจและหยุดให้อาหารมัน 

.

.

อ้างอิง

https://bit.ly/3ooAXcF

https://ab.co/3D4tEuQ

https://bit.ly/2ZNSoJD

หนังสือ “Emotional Agility เท่าทันอารมณ์ก็เข้าใจตนเอง” โดย Susan David

.

#missiontothemoon

#missiontothemoonpodcast

#psychology

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0