ว่าด้วยเรื่องเครื่องแบบ ที่มีเบื้องหลังมากกว่าความสวยงาม
หมอ ทหาร พยาบาล เราแยกคนจากหลายๆอาชีพได้ด้วยเครื่องแบบที่พวกเขาสวมใส่ ว่าแต่ เราเคยคิดกันมั้ยว่าทำไมเครื่องแบบเหล่านี้ถึงมีหน้าตาแบบที่เห็น จริงๆแล้วหลายชุดไม่ได้ออกแบบเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังแผงไปด้วยที่มา บ้างก็จากตำนาน บ้างก็จากประโยชน์ในการใช้งาน ว่าแล้วเราไปดูกันเถอะ ว่ามีชุดไหนกันบ้าง
1. หมวก และ ชุดของเชฟ
สีขาวของชุดเชฟทำให้ดูสะอาด ในขณะเดียวกันถ้าเลอะก็นำไปฟอกขาวได้ แถมสีขาวไม่ดูดความร้อนอีกด้วย เสื้อของเชฟจะใช้กระดุมเชือก เผื่อในกรณีที่ชุดติดไฟจะได้ถอดได้ทันที ส่วนหมวกทรงสูงมีที่มาที่หลากหลาย ตำนานนึงเล่าว่า ช่วงศตวรรษที่ 15 เกิดการล้มล้างจักรวรรดิไบแซนไทน์ เชฟโดนกวาดล้าง จนหนีไปซ่อนในโบสถ์ และเพื่อพรางตัวจึงแต่งกายเหมือนพระ แต่งต่างกันตรงที่หมวกเชฟเป็นสีขาวขณะที่พระใช้สีดำ
หลังการล้มล้าง เชฟทั้งหลายยังคงนำดีไซน์ทรงสูงมาใช้ถึงปัจจุบัน แต่ไม่ว่าที่มาจะเป็นอย่างไรหมวกเชฟมีหน้าที่ช่วยเก็บผมของเซฟให้ดูสะอาดแน่นอน
2. คอกะลาสี กางเกงขาบานของทหารเรือ
เหตุผลของกางเกงขาบานเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะมันทำให้พับขากางเกงได้ง่ายกว่าเวลาหนีน้ำ แถมถ้าตกน้ำก็ถอดง่าย ส่วนคอกะลาสี ต้องบอกก่อนว่าในสมัยก่อนเค้าไม่ได้สระผมกันบ่อยๆ แถมยังใช้จาระบีในการจัดทรงผม คอกะลาสีเลยออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ผมไปเลอะเสื้อจนสกปรกนั้นเอง
3. ชุดสีเขียวของหมอผ่าตัด
จริงอยู่ที่ในห้องตรวจหมอใส่เสื้อกาวน์สีขาว แต่ในห้องผ่าตัด ชุดสีขาวรบกวนการมองเห็นของหมอไม่น้อย
สาเหตุเพราะเมื่อหมอจ้องเลือดสีแดงอยู่นานๆ เวลาพักตาออกมาเจอเสื้อสีขาว จะเกิดภาพติดตาซึ่งปกติจะเห็นเป็นสีที่ตรงข้ามกับสีนั้น ในกรณีนี้คือสีฟ้า สีเขียว ซึ่งทำให้เสียสมาธิได้ ชุดผ่าตัดเลยออกแบบให้มีสีที่ใกล้เคียงกับสีของภาพติดตาจากสีแดง อย่างสีเขียวเข้ม หรือสีฟ้าแทนนั้นเอง
4. เครื่องแบบสีกากีของข้าราชการไทย
ในยุคล่าอาณานิคมทหารอังกฤษที่ประจำการณ์ที่อินเดียได้ศึกษามาว่า สีกากีเป็นสีที่ดูดความร้อนน้อยที่สุด เหมาะกับเครื่องแบบในประเทศเขตร้อน ซึ่งไทยเราก็ได้รับอิทธิพลมาอีกที แถมเค้าว่ากันว่าสีกากีเหมือนสีดินสีฝุ่น เวลาข้าราชการออกไปช่วยชาวบ้านในที่ต่างๆ จะได้ไม่ต้องกลัวเปรอะเปื้อนอีกด้วย
5. จีวรสีเหลือง ส้ม
สมัยพุทธกาล ผ้าที่พระภิกษุนำมาห่มจะนำมาจากผ้าที่ทิ้งไว้ หรือผ้าห่อศพ ซึ่งผ้าเหล่านี้แม้จะนำมาซัก รอยเปื้อนจากเลือดหรือน้ำเหลืองจะยังคงติดอยู่ เลยนำไปย้อมกับเปลือก แก่น ใบไม้เพื่อกลบรอยเหล่านั้น ซึ่งทำให้ได้สีจากธรรมชาติ ออกมาเป็นเฉดสีตั้งแต่เหลืองหม่นไปถึงสีแดง ปัจจุบันด้วยความคุ้นเคย เราเลยนำจีวรมาย้อมสีให้ออกมาในโทนดั่งกล่าว ซึ่งอาจจะมีสีที่สดขึ้นบ้างตามสังคมที่เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น
6. หมวก bearskin ทรงสูงปรี๊ดของเครื่องแบบทหารพระราชพิธี
จุดกำเนิดของหมวก bearskin เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งทำมาจากหนังหมีตามชื่อเรียกเลย จุดประสงค์ของหมวกนี้คือช่วยเพิ่มความสูงให้ผู้สวม ทำให้ดูสง่า แถมเพิ่มขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจในการรบและการเดินขบวน ต่อมาหมวกนี้มีค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงขึ้นแถมเก็บรักษาลำบาก เลยจำกัดให้ใช้เฉพาะหน่วยทหารองค์รักษ์ ทหารในวงดนตรี และเฉพาะในพระราชพิธี ซึ่งไทยเราก็รับอิทธิพลมา ปัจจุบันหมวกนี้ทำจากวัสดุสังเคราะห์อื่นๆแทนทำให้มีราคาที่ถูกลง
7. ชุดนักโทษลายทางขาวดำ ชุดนักโทษสีส้ม
ชุดนักโทษจริงๆมีหน้าที่หลักเพียงอยากเดียวเลยคือทำให้สังเกตได้ง่ายว่าคนๆนี้คือนักโทษ แต่ก่อนชุดนักโทษจะเป็นลายสลับขาวดำในแนวตั้ง เหมือนเป็นสัญลักษ์ของกรงขัง ซึ่งต่อมาก็ถูกเปลี่ยนเป็นแนวนอนอย่างที่เราคุ้นตาจากการ์ตูน ปัจจุบันชุดนักโทษถูกเปลี่ยนมาให้ดูคล้ายชุดของกรรมกร เพื่อให้ดูซอฟต์ขึ้น ไม่ให้ดูเป็นตราบาป โดยหวังว่าจะทำให้นักโทษกลับใจ ปรับปรุงตัวได้ดีขึ้น ส่วนที่เป็นสีส้มนั้น เพราะเป็นสีที่สะดุดตา เห็นได้เด่นชัดถ้าเกิดมีการหลบหนีหรือปะปนกับกลุ่มคนธรรมดา แต่จริงๆแล้วชุดนักโทษไม่ได้ต้องเป็นสีส้มเสมอไป บางที่ก็แบ่งสีตามระดับความรุนแรงของโทษแทน
ไม่น่าเชื่อว่าเบื้องหลังจากออกแบบเครื่องแบบหลายชิ้น ได้ผ่านกระบวนการการคิดมาหลายขั้นตอน ต้องยอมรับเลยว่าคนต้นคิดงานเหล่านี้เก่งกันจริงๆ ไม่เฉพาะสวยงามในแง่สวมใส่ แต่ยังมีประโยชน์อื่นๆซ่อนไว้อีกมากมาย
ติดตามบทความของเพจฉันเรียนแฟชั่นที่มิลาน บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน
ความเห็น 5
chuanchom
BEST
สีเขียวของชุดหมอผ่าตัดนี่สิ สุดยอดในการวิเคราะห์จริงๆ เป็นประโยชน์และป้องกันดวงตาได้จริงทุกครั้งคราลยจริงๆ
03 พ.ย. 2562 เวลา 04.39 น.
Karl_Yuti🐯🐯
เคยอ่านบทความต่างประเทศ สีเขียวของชุดผ่าตัดยังช่วยไม่ให้เห็นเลือดสีแดงสดบนเสื้อด้วยจ้า เพราะสีเลือดเมื่ออยู่บนเสื้อเขียว จะเป็นสีเข้มๆ อมน้ำตาล ช่วยลดความรู้สึกรุนแรงจากสีเลือด
03 พ.ย. 2562 เวลา 05.18 น.
หูยาว
เป็นความรู้ที่มีประโยชน์
04 พ.ย. 2562 เวลา 01.56 น.
ปล้องไผ่
คอกะลาสีออกแบบมาไว้คุยกับลูกเรือที่อยู่ห่างออกไป เนื่องจากลมในทะเลมันแรงพูดกันจะไม่ค่อยได้ยิน เหมือนตอนเราตะโกนเอาใช้มือป้องปากเพื่อให้เสียงดัง คอกะลาสีก็ใช้แบบเดียวกัน
04 พ.ย. 2562 เวลา 00.52 น.
ดูทั้งหมด