โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมตตาอันล้ำลึก | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์

เผยแพร่ 06 ต.ค. 2562 เวลา 09.26 น.

สมัยที่ผมเรียนชั้นมัธยมปลาย (อัสสัมชัญสมุทรปราการ) ในช่วงเช้าก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ ที่โรงเรียนจะเปิดคำสอนของศาสนาคริสต์ให้เด็ก ๆ ฟัง มีคำสอนหนึ่งซึ่งทำให้ผมแปลกใจมาก คำสอนนั้นคือ "เขาตบแก้มขวา ให้เอียงด้านซ้ายให้ตบอีก"

ผมฟังก็อดขำไม่ได้ คิดในใจว่า ใครมันจะโง่ขนาดนั้น ถูกตบแก้มข้างขวายังเจ็บไม่พอหรือ ยังจะมีหน้าไปยื่นแก้มข้างซ้ายให้เขาตบอีก

ต่อมาเมื่อโตขึ้น หลังจากที่หันมาสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ได้มารู้จักมหาตะมะ คานธี บุคคลที่มีความแตกต่างอยู่มากกับผู้นำคนอื่น ๆ ท่านมีความยิ่งใหญ่ที่แสนจะอ่อนโยน ทราบมาว่า ท่านทำสงครามด้วยการไม่ใช้อาวุธเลย หากแต่ใช้ความเมตตา ความถูกต้อง และความยุติธรรมแทนอาวุธจนได้รับชัยชนะ ท่านพูดอยู่เสมอว่า "มนุษย์ทุกคนคือเพื่อนกัน เป็นหนึ่งเดียว นี่คือเหตุผลที่เราไม่ควรทำร้ายกัน ทั้งยังควรมีความเสียสละซึ่งกันและกัน"

ในตอนนั้น ผมยังไม่เข้าใจที่ท่านพูดมากนัก แต่รู้สึกชอบที่ท่านเป็นท่าน ชอบความอ่อนน้อมถ่อมตนของท่าน ท่านช่างเรียบง่าย สันโดษ ไม่มีนอกไม่มีใน เป็นคนแบบเดียวกันกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ช่วงเวลาที่ผมศึกษาเรื่องราวของท่าน เป็นช่วงเวลาที่ผมกำลังค้นหาตัวตนอยู่ เป็นการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็ก ไปสู่วัยรุ่น ไม่ก็จากวัยรุ่นเลือดร้อนไปสู่วัยรุ่นที่มีเหตุผลมากขึ้น 

ที่จริงผมอ่านประวัติผู้นำมามากมาย แต่เท่าที่อ่านมา มหาตะมะคานธี เป็นบุคคลแรก ๆ ที่ผมรู้สึกชื่นชมเป็นการส่วนตัว ท่านพูดเสมอว่าท่านเป็นคนจน อยู่ฝ่ายคนจน และพอใจกับความยากจน ผมคิดว่าสิ่งนี้เองที่ทำให้ท่านเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เพราะคนทั้งโลกล้วนตกอยู่ใต้ฝ่าเท้าของอำนาจแห่งวัตถุ แม้มีผู้ใดหลุดจากอำนาจนี้ได้ บุคคลผู้นั้นย่อมข้ามพ้นขีดจำกัดของความเป็นคนธรรมดา เป็นผู้มีความพิเศษอันล่องหน ล้ำลึก

ท่านมหาตะมะคานธีจะพูดย้ำกับใครต่อใครอยู่เสมอว่า มนุษย์คือเพื่อนกัน คือมิตรสหายที่ต้องช่วยเหลือมิใช่อย่างอื่น ตอนนั้นผมเริ่มเข้าใจความหมายของการทำเพื่อผู้อื่น ว่ามันหมายถึงอะไร และยิ่งใหญ่แค่ไหน การเห็นผู้อื่นเป็นเพื่อน การคิดถึงผู้อื่นโดยเท่าเทียมกับที่คิดถึงตนเอง เอาเข้าจริง ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนัก 

เพราะลึก ๆ ทุกคนล้วนมีเงื่อนไขในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อตนเอง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เห็นได้ว่า แม้แต่สงครามก็ยังอ้างความชอบธรรมจากคำว่าเสียสละ เป็นการฉาบความกรุณาไว้ภายนอกเพื่อป้องปิดความโลภโกรธเกลียดไว้อย่างแยบคาย เป็นการใช้ศิลปะอำพรางกิเลสที่เต้นเร้าอยู่ในจิตวิญญาณของสัตว์นรกในคราบคนเดินดิน

การอ่านประวัติบุคคลสำคัญทำให้ผมได้แง่มุมในด้านจิตใจ ความฉ้อฉลของกิเลส และการลุ่มหลงเข้าไปในวังวนของความชั่วแบบทื่อ ๆ ที่เป็นสีดำ และความชั่วแบบเท่ ๆ ที่เป็นสีขาว ทว่าความสนใจของผมก็ยังเป็นความสนใจแบบเด็กคนหนึ่ง ที่แปรเปลี่ยนไปตามวันเวลา ตอนนั้นผมเริ่มตั้งคำถามว่า"คนเราเกิดมาทำไม" โชคดีว่าผมมีพ่อที่สามารถอธิบายเรื่องราวต่า งๆ ได้เป็นอย่างดี 

พ่อของผมเป็นคนที่อ่านหนังสือมาก เป็นนักค้นคว้าโดยสายเลือด บ้านของผมจะเต็มไปด้วยหนังสือนับพันเล่ม ทุกๆ วัน ผมจะเห็นภาพพ่อนั่งอ่านหนังสือ ทั้งประวัติศาสตร์ ตำราบริหารจัดการ ฮาวทูประเภทต่างๆ แต่ที่มากที่สุดเห็นจะเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับธรรมะเชิงลึกของพ่อแม่ครูอาจารย์ ตลอดจนพระไตรปิฏก ซึ่งต่อมาผมก็ได้ซึมซับได้หันมาสนใจเรื่องราวของพระพุทธศาสนาไปโดยปริยาย

ศาสนาพุทธของเรานั้นมีคำสอนที่หลายหลาย สามารถเข้ากับคนได้ทุกกลุ่มของสังคม ธรรมะนั้นมีทั้งโลกียธรรม และโลกุตรธรรม มีทั้งคำสอนเพื่อการดำรงอยู่ และการหลุดพ้นไปจากการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง ส่วนตัวแล้วผมสนใจในส่วนของธรรมะเพื่อการหลุดพ้นมากกว่า เพราะถ้าเราวางเป้าหมายไว้ที่การหลุดพ้น ชีวิตที่ดำเนินอยู่ทั้งหมดก็จะเป็นชีวิตที่ถูกต้องทั้งทางโลก ทางธรรม เป็นการทำหนึ่งแต่ได้ทั้งหมด ไม่ใช่การทำทุกอย่างแต่ไม่ได้อะไรซักอย่าง 

ยิ่งไปกว่านั้น แม้เราวางเป้าหมายไว้ที่โลกนี้เพียงอย่างเดียว บางทีมันอาจจะพลาด หลุดเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งการเกิดตายแบบไม่มีสิ้นสุด เป็นการสร้างทุกข์ให้จิตวิญญาณของตนโดยใช่เหตุ แต่นี้ก็เป็นเพียงความคิดส่วนตัวของผม ซึ่งไม่สามารถไปชี้นิ้วบงการให้ใครต่อใครมาคิดเห็นเช่นตนได้ เมื่อทุกคนต่างมีชีวิตที่เป็นของตนเอง อยู่ที่ใครจะเลือกทำสิ่งใดไปตามไม้บรรทัดแห่งความเชื่อของจิตวิญญาณ

ในเรื่องของความเมตตานี้ ที่จริงศาสนาพุทธก็สอนอยู่มาก แต่สำหรับผม ผมชอบประโยคหนึ่งซึ่งเป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ผมว่ามันเป็นคำสอนมีมิติลึกซึ้งในตัวเอง เป็นคำสอนที่แสดงถึงความเมตตาได้เป็นอย่างดี ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสกับพระสารีบุตรเอาไว้ว่า…

"เรารักราหุลเยี่ยงไร เราก็รักเทวทัตเยี่ยงนั้น" หมายความว่า ท่านรักผู้ที่เคยลอบปลงพระชนม์ท่าน เท่ากับที่ท่านรักลูกของท่าน นี่เองทำให้ความคิดของผมจมดิ่ง คนเราต้องใช้ความเมตตาในปริมาณเท่าไหร่ จึงสามารถทำจิตใจให้เป็นเช่นนี้ได้ 

ประโยคนี้พูดง่ายแต่ทำยาก และหากเราไม่คิดให้ดี ไม่มองให้ลึก ก็จะผ่านเลยไป โดยหาได้เห็นความงามของแสงสว่างที่ส่องประกายออกมาจากบริบทข้อความดังกล่าว วินาทีนั้นเอง ความเข้าใจในเรื่องของความเมตตาของผม ก็มีมากขึ้นเป็นลำดับจากคำตรัสของพระพุทธเจ้า

ธรรมะนั้นไม่ใช่สิ่งตื้นเขินที่จะเข้าใจได้ทันที แค่คำว่าเมตตาเพียงคำเดียว เอาเข้าจริงอาจมีคนมากมายไม่เข้าใจความหมายจนวันสุดท้ายของชีวิต ผมเก็บความเข้าใจนี่ไว้กับใจ ใช้ชีวิตเรื่อยไป จนกระทั้งวันหนึ่งได้มีโอกาสไปทำบุญที่วัดป่าบ้านตาด ผมขึ้นไปบนศาลา ได้เห็นประโยคหนึ่งติดเอาไว้ 

เป็นคำกล่าวของหลวงตามหาบัว ท่านสอนเอาไว้ว่า…"เมตตาแปลว่า ยอมเสียเปรียบ" นี่เองทำให้ผมเชื่อมโยงความรู้ที่ผ่านมากับจิตสำนึกของตนเองทันที ผมพบว่า มหาบุรุษทุกคน ต่างมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ ท่านมีความเมตตาอันล้ำลึกที่ยากยิ่งจะเข้าใจ คนที่มีความเมตตาแบบล้ำลึกเช่นนี้ หากแม้สามารถรับบาปกรรมในนรกอเวจีแทนเพื่อนมนุษย์ได้แล้ว ผมคิดว่าท่านเหล่านั้นจะไม่รีรอเลยที่จะทำ

อันว่าปุถุชนธรรมดานั้น แม้จะทำดีให้ใคร อย่างน้อยคงมั่นหมายให้อีกฝ่ายรับรู้ในความดีของตน ไม่ก็หวังใจว่าผู้อื่นจะมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองได้กระทำ ทว่าไม่ใช่กับท่านเหล่านี้

ไม่ใช่กับท่านที่ทำ คิดและพูดออกมาว่า…

"เขาตบแก้มขวา ให้เอียงด้านซ้ายให้ตบอีก"

"มนุษย์ทุกคนคือเพื่อนกัน เป็นหนึ่งเดียว นี่คือเหตุผลที่เราไม่ควรทำร้ายกัน อีกทั้งยังควรที่จะมีความเสียสละซึ่งกัน"

"เรารักราหุลเยี่ยงไร เราก็รักเทวทัตเยี่ยงนั้น"

"เมตตาแปลว่า ยอมเสียเปรียบ"

จะมีใครกี่คนกันที่รับรู้ถึงความลึกซึ้งของถ้อยคำเหล่านี้ได้ มันเป็นวาทะแห่งจิตวิญญาณที่เขย่าโลก

เป็นคำพูดที่มาพร้อมการกระทำ ที่มีพลังถึงขั้นสามารถกระตุ้นความเมตตาของผู้ใฝ่ธรรมให้ลุกโชน ตื่นจากความเห็นแก่ตัวที่ปกปิดห่อหุ้มจิตวิญญาณให้มืดบอด

เมตตาคืออะไร ขอให้เราถามตัวเองซ้ำ ๆ และย้ำให้หนักแน่น แม้เราเกลียดท่าน ท่านยังเมตตา แม้เราทำร้ายท่าน ท่านยังรักใคร่

แม้เราแล้งน้ำใจต่อท่าน ท่านยังเอาชีวิตของท่านรับใช้เพื่อประโยชน์แห่งเรา นี่เองคือความเมตตาที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถขยับจิตวิญญาณของตนไปถึง หลายคนมักพูดว่า ก็เราเป็นคนธรรมดา ก็เราเป็นปุถุชนไม่ใช่เทวดามาจากไหน

หารู้ไม่ว่า คนธรรมดานั้นก็กลายเป็นคนไม่ธรรมดาได้ หากมีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนจิตวิญญาณของตนเพียงพอ ขอให้เราจงตระหนัก มองท่านเหล่านี้ด้วยความลึกซึ้ง แล้วลองเปรียบเทียบจิตวิญญาณของท่าน กับจิตวิญญาณของเรา มองให้เห็นถึงระยะความห่างไกลของระดับจิตใจระหว่างท่านกับเรา แล้วจงใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้น

ด้วยการความเมตตา ความดี และความงามอันบริสุทธิ์ ความดีนั้นทำยาก แต่ต้องทำ แม้ปล่อยให้จิตใจไหลลงสู่ที่ต่ำแล้ว นรกก็คงรออยู่ เกิดมาทั้งทีอย่าให้เสียชาติเกิด เวลาผ่านไป ผ่านไป และผ่านไป

จิตใจของเราเป็นอย่างไร คุณธรรมของเรามีแค่ไหน นี่เองคือสิ่งที่เราต้องตอกย้ำถามตนเองให้มาก เพื่อที่ว่า แสงสว่างแห่งชีวิตจะคงอยู่ไม่ลาลับดับหาย ไม่ว่าวันนี้ ชาตินี้ หรือชาติไหน ๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0