โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ดูแลเหมือนลูกเหมือนหลาน” ในรูปแบบสำนวน-สุภาษิตไทย มีแบบไหนกันบ้างนะ

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 19 ก.ย 2563 เวลา 18.42 น. • pp.p
Photo by <a href=
esudroff | pixabay.com" data-width="1920" data-height="1080">
Photo by esudroff | pixabay.com

สัปดาห์นี้มาพูดกันถึงวลีที่กลับมาฮิตอีกครั้ง ชวนให้คิดสงสัยว่าเอ๊ะ เป็นการดูแลแบบไหนกันนะ วันนี้เราจึงได้รวมเอา สำนวน-สุภาษิตไทยที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกหลานมาให้ดูกันเล่นๆ ว่า สมัยก่อนมีการเลี้ยงดูกันยังไงบ้าง

“เลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย”

เป็นสำนวน หมายถึง เลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเป็นทารก โดยมีการเปรียบเทียบฝ่าเท้าของผู้ถูกเลี้ยงว่ายังเล็กๆ เท่ากับฝาหอย

“ไข่ในหิน” 

เป็นสำนวนหมายถึงระมัดระวังทะนุถนอมหวงแหนอย่างยิ่ง ไม่ยอมให้ไครมาทำอันตรายเด็ดขาดหรือเข้ามาเกี่ยวข้องได้โดยง่าย เรียกว่าเลี้ยงดูอย่างดีมากจนแทบไม่ต้องลำบากอะไรเลย

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”

เป็นสุภาษิต หมายถึง การอบรมสั่งสอน, ว่ากล่าวตักเตือน, หรือลงโทษลูกเมื่อลูกกระทำความผิด ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกหลาบจำและไม่ทำผิดซ้ำอีก เปรียบเทียบกับการเลี้ยงวัวที่หากกลัววัวเตลิดหายไปก็ควรผูกไว้ คล้องจองกับรักลูกที่ต้องตี

“ฤาษีเลี้ยงลิง”

เป็นสำนวนหมายถึงผู้เลี้ยงเด็กซุกซนหรือปกครองคนหมู่มากที่ไม่อยู่ในระเบียบ คำๆ นี้มีความหมายคล้ายกับ “จับปูใส่กระด้ง” ซึ่งหมายถึงการต้องเลี้ยงดูเด็กหรือบุคคลที่ไม่อยู่เป็นสุข มีความซุกชนอยู่ตลอดเวลา มีแต่ความน่าปวดหัว

“เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้”

เป็นสำนวนหมายถึง เลี้ยงลูกของศัตรูหรือคนพาลซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาให้ คนโบราณท่านเปรียบการกระทำนี้กับการเลี้ยงลูกของเสือหรือลูกของจระเข้ ซึ่งไม่สามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ ปัจจุบันสำนวนนี้มักถูกนำมาใช้กับการรับเลี้ยงหรือดูแลเด็กที่เกิดมาจากพ่อหรือแม่ที่มีประวัติความเป็นมาที่ไม่น่าไว้ใจ

“เอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอม”

เป็นสำนวน ความหมายคือการเอาลูกของคนอื่นมารับอุปการะเลี้ยงดูราวกับเป็นลูกของตนเอง เป็นภาระรับผิดชอบ ที่หวังผลตอบแทนแน่นอนไม่ได้

“เอาขี้เถ้ายัดปาก”

เป็นคำปรามาศเชิงสบประมาทที่มีความหมายค่อนข้างร้ายแรงซึ่งผู้ใหญ่มักใช้กับผู้เป็นเด็ก มีเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของคำนี้อยู่สองแบบ ที่แพร่หลายคือ สมัยโบราณเมื่อมีการคลอดลูก มารดาต้องอยู่ไฟ ซึ่งในกองไฟนั้นก็จะมีขี้เถ้า ซึ่งสำนวนนี้เปรียบเปรยในเชิงว่าหากรู้ว่าเด็กโตมาจะดื้อ เถียง หรือเนรคุณทำให้โกรธแค้น หากรู้อย่างนี้ตอนนั้นน่าจะเอาขี้เถ้าจากกองอยู่ไฟใส่ปากเด็กแรกเกิดที่ยังตัวน้อยให้สิ้นใจเสียดีกว่า ซึ่งมาสมัยนี้คงหาขี้เถ้าได้ยากเต็มที กับอีกคำบอกเล่าหนึ่งคือเป็นคำเพี้ยนมาจาก “ขี้เทา” คือ อุจจาระของเด็กแรกคลอด เด็กบางคนถ่ายขี้เทาตอนช่วงใกล้คลอดแล้วกลืนขี้เทาปนไปกับน้ำคร่ำ สำลัก และเสียชีวิตตอนคลอด แม่บางคนไม่อยากได้เด็ก จึงเอาขี้เทาของเด็กยัดใส่ปากเพื่อให้เด็กเสียชีวิต อ้างว่าเด็กสำลักขี้เทาเข้าไปเสียชีวิตเอง

“เลือดก้อนเดียวตัดทิ้งไปได้”

เป็นสำนวนที่ความหมายทำร้ายจิตใจลูกไม่แพ้สำนวนก่อนหน้านี้ มีความหมายว่า ลูกคนเดียวตัดทิ้งได้ในเมื่อมีความประพฤติไม่เป็นที่พอใจพ่อแม่.

“เลี้ยงไม่เชื่อง”

เป็นอาการของสัตว์บางชนิดเช่นที่ถึงแม้จะเอามาเลี้ยงดีอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้เป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่องได้ ถูกนำมาตีความหมายถึงคนที่แม้จะเลี้ยงดูอย่างดีเพียงใดก็ยังคิดร้าย เนรคุณผู้ให้การเลี้ยงดู

“เลี้ยงด้วยลำแข้ง”

อันที่จริงสำนวนนี้เพี้ยน(อย่างมาก) มาจาก “หากินด้วยลำแข้ง” เป็นการหาเลี้ยงชีพด้วยความมานะพยายามของตัวเอง แต่ได้ถูกนำมาดัดแปลงจนความหมายบิดเบี้ยวไปเป็นการเลี้ยงดูแบบให้ต่อสู้ชีวิตเอง ดังนั้นสำนวน “เลี้ยงด้วยลำแข้ง” นั้นยังไม่มีการใช้อย่างเป็นทางการที่ถูกต้อง 

มาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า สุภาษิต-สำนวน มันต่างกันอย่างไร เราจึงมีสรุปให้เข้าใจง่ายๆ สั้นๆ นั่นคือ

สํานวน คือ คําพูด หรือ ถ้อยคําที่ค่อนข้างกระทัดรัด ดูไพเราะสละสลวย สำนวนไทยจะมีความหมายโดยนัย เป็นลักษณะความหมายเชิงอุปมาเปรียบเทียบ จะไม่แปลความหมายตรงตามตัวอักษร

สุภาษิต คือ คำกล่าวที่มีคติสอนใจ สุภาษิตจึงมีลักษณะเดียวกับสำนวนและคำพังเพย แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสั่งสอน เตือนสติให้คิด ไม่มีการเสียดสีหรือติชมอย่างคำพังเพย เป็นถ้อยคำที่แสดงหลักความจริง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วๆ ไป ภาษิตนี้ยังมีความหมายรวมไปถึง สัจธรรม คำสั่งสอนที่เป็นความจริงอันเที่ยงแท้ทางศาสนาด้วย (ยกตัวอย่างเช่น ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว,  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน)

และยังมี คําพังเพย คือ ถ้อยคําที่เปรียบเทียบเหตุการณ์ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่พบเห็นได้ในการดํารงชีวิตของคนรุ่นก่อน โดยมากไม่เน้นการสั่งสอน แต่ ใช้ ในทํานองเสียดสีประชดประชันเพื่อให้สะท้อนความคิด ความเชื่อถือ และเป็นคติเตือนใจ หรือเป็นข้อคิดสะกิดใจให้นํามาปฏิบัติ (ยกตัวอย่างเช่น งมเข็มในมหาสมุทร, ขิงก็ราข่าก็แรง, ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ)

ข้อมูลจาก: 

https://ความหมายสํานวนไทย.blogspot.com, sanook.com, เพจ มิตรสหายท่านหนึ่ง, www.สุภาษิต.net, proverbthai.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0