โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คลอดธรรมชาติ แม่ท้องต้องรู้ให้พร้อมก่อนคลอด

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 11 ต.ค. 2562 เวลา 03.30 น. • Motherhood.co.th Blog
คลอดธรรมชาติ แม่ท้องต้องรู้ให้พร้อมก่อนคลอด

คลอดธรรมชาติ แม่ท้องต้องรู้ให้พร้อมก่อนคลอด

มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ใฝ่ฝันว่า เมื่อได้เป็นแม่คนก็อยากสัมผัสความรู้สึกของการเป็นแม่ที่สมบูรณ์จากการ "คลอดธรรมชาติ" ในขณะที่แม่ท้องอีกจำนวนไม่น้อยยังรู้สึกหวาดหวั่นกับการคลอดแบบธรรมชาติ ทั้งเรื่องของการเตรียมตัวก่อนไปคลอด และความเจ็บปวดที่จะต้องเผชิญ วันนี้ Motherhood จะมาแนะนำถึงข้อดีของการคลอดเอง รวมทั้งความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าคลอด

คลอดธรรมชาติ คือ การคลอดลูกเองโดยไม่ใช้การผ่าตัด ซึ่งอาจจะมีการใช้ยาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะคลอดหรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คุณแม่ในการคลอดด้วย เช่น การเย็บแผลตัดขยายปากช่องคลอด

ทางที่ดี คุณแม่ท้องควรวางแผนพูดคุยปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับวิธีการคลอดเสียก่อน หากมีความเสี่ยงน้อยหลาย สามารถเลือกคลอดธรรมชาติได้ แต่ในครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง การคลอดธรรมชาติก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัย แพทย์จึงอาจแนะนำให้ใช้การผ่าคลอดแทน

แม่ๆหลายคนกลัวความเจ็บปวดของการคลอดเอง
แม่ๆหลายคนกลัวความเจ็บปวดของการคลอดเอง

คลอดแบบธรรมชาติดีอย่างไร?

  • มีโอกาสเกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงจากการทำคลอดต่อทั้งแม่และเด็กได้น้อย
  • คุณแม่จะรู้สึกตัวและตื่นตัวตลอดเวลาขณะคลอด สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และสามารถขยับเปลี่ยนท่าทางที่ช่วยให้รู้สึกสบาย และยังมีส่วนร่วมในการกระบวนการคลอดเมื่อถึงเวลาต้องเบ่งลูกออกมา
  • คุณพ่ออาจเข้าไปอยู่ใกล้ๆ เพื่อเป็นกำลังใจและช่วยคุณแม่รับมือกับความเจ็บปวดจากการคลอดได้
  • คุณแม่รู้สึกมีพลังและเกิดความภูมิใจเมื่อคลอดสำเร็จ

ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการคลอดแบบธรรมชาติ

  • ร่างกายของแม่ต้องพร้อมที่สุด

ในความเป็นจริงคือ กลไกของร่างกายคุณแม่จะดำเนินไปตามขั้นตอนของการคลอดลูกโดยวิถีธรรมชาติได้เองอยู่แล้ว เหมือนกับที่มันสามารถเลี้ยงทารกในท้องให้เติบโตมาได้ตลอด 9 เดือน หากคุณแม่มีความมั่นใจในสัญชาตญาณความเป็นแม่ และเตรียมร่างกายให้พร้อม ฝึกหายใจอย่างถูกวิธี และศึกษาวิธีการคลอดมาอย่างถี่ถ้วน ก็จะทำให้การคลอดธรรมชาติสำเร็จได้ไม่ยาก

  • ห้ามใช้เครื่องมือช่วยเหลือเมื่อคลอดแบบธรรมชาติ

การใช้ยาหรือการช่วยเหลือต่างๆยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเป็นอย่างแท้จริง หากแม่ท้องที่แสดงเจตจำนงว่าต้องการคลอดเอง แพทย์อาจเลือกให้ยาหรืออุปกรณ์ในกรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น เช่น ใช้ออกซิโทซินเพื่อเร่งคลอดในกรณีสุขภาพของทารกอยู่ในอันตราย รกเสื่อมสภาพ น้ำคร่ำเดินนานเกินกว่า 48 ชั่วโมงหรือมีการติดเชื้อ หรือใช้คีมหรือเครื่องดูดสุญญากาศช่วยดูดทารกออก ที่จะใช้ในกรณีทารกอยู่ในท่าไม่เหมาะสม คุณแม่ไม่มีแรงเบ่ง

  • เจ็บท้องคลอดนานกว่า

การเจ็บครรภ์ของแม่แต่ละคนจะแตกต่างกันไป โดยทั่วไปท้องแรกจะนานที่สุด เฉลี่ยแล้ว 12-14 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังขึ้นกับปัจจัยต่างๆ อาทิ สุขภาพ การประคับประคองอารมณ์ ท่าคลอดของทารก และท่าคลอดของคุณแม่ ซึ่งวิธีการลดความเจ็บปวดแบบธรรมชาติที่ดีคือการฝึกการหายใจและอยู่ในท่าที่เหมาะสม

  • ช่องคลอดหย่อน

เป็นเรื่องจริงที่หลังคลอดช่องคลอดของคุณแม่จะไม่เหมือนเดิม แต่หากคุณแม่บริหารอุ้งเชิงกรานโดยการขมิบเป็นประจำทุกวัน วันละ 30 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน ช่องคลอดก็จะสามารถกลับมากระชับเหมือนเดิมได้โดยไม่จำเป็นต้องทำศัลยกรรม

ลองเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างคลอดธรรมชาติและแบบผ่าคลอด
ลองเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างคลอดธรรมชาติและแบบผ่าคลอด

การคลอดแบบไหนดีกว่ากัน? แบบไหนมีความเสี่ยงน้อยกว่า?

สำหรับคุณแม่มือใหม่ก็ไม่แปลกที่อาจจะมีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในใจ ซึ่งทั้งการผ่าคลอดและการคลอดเองมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัว รวมถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงก็มีทั้งคู่ สิ่งสำคัญคือ การพิจารณาว่าวิธีไหนที่เหมาะกับเราที่สุด โดยคำนึงถึงความพร้อมด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่และลูกในครรภ์เป็นอันดับหนึ่ง และต้องผ่านการปรึกษาและได้รับการยืนยันจากแพทย์ที่ดูแลอยู่ด้วย

ค่าใช้จ่าย

คลอดแบบธรรมชาติ

  • ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก และสามารถประเมินการณ์ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้

ผ่าคลอด

  • ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการผ่าตัดเพิ่มขึ้นมา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใช้เวลานานกว่า
  • ไม่สามารถประเมินการณ์ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้ชัดเจน เพราะในกรณีที่ครรภ์มีปัญหา หรือการผ่าตัดมีปัญหา อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้อีก โดยเฉพาะการผ่าคลอดกับโรงพยาบาลเอกชน

ก่อนคลอด

คลอดแบบธรรมชาติ

  • เมื่อครบกำหนดการตั้งครรภ์ สัญญาณที่บอกว่าพร้อมคลอด คือ ทารกกลับหัว ลูกบีบรัดตัวเป็นระยะ และจะบีบถี่ขึ้นเรื่อยๆ ปากมดลูกขยายตัว ถุงน้ำคร่ำแตก

ผ่าคลอด

  • สามารถนัดวันและเวลาในการผ่าตัดได้ เมื่ออายุครรภ์พร้อม และสุขภาพคุณแม่และลูกพร้อม
  • คุณแม่ต้องอดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
  • คุณแม่จะได้รับการดมยาสลบ หรือใช้วิธีฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (บล็อกหลัง) เพื่อป้องกันการเจ็บปวดขณะผ่าตัด

ขณะคลอด

คลอดแบบธรรมชาติ

  • แพทย์จะทำการตัดฝีเย็บ เพื่อขยายให้ช่องคลอดมีขนาดกว้างพอที่จะทำคลอดได้ และเมื่อคลอดเสร็จก็จะเย็บกลับคืนตามปกติ
  • ขณะคลอดอาจรู้สึกเจ็บปวดมากจากการบีบตัวของมดลูก แต่หลังคลอดอาการปวดจะหายไปทันที เหลือเพียงอาการเจ็บแผลตรงฝีเย็บ ซึ่งจะหายได้ภายในเวลาไม่กี่วัน
  • ความยากง่ายในการคลอดของแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป

ผ่าคลอด

  • เริ่มจากแพทย์กรีดมีดผ่านผนังหน้าท้องทีละชั้นจนถึงมดลูก เข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อเปิดทางนำตัวทารกออกมา
  • กระบวนการผ่าตัด ตั้งแต่ดมยาสลบ/บล็อกหลัง จนถึงนำตัวเด็กออกมา ตามปกติจะใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที
  • เมื่อนำตัวเด็ก รวมถึงรกออกมาแล้ว คุณหมอจะทำการเย็บปิดมดลูก และเย็บผนังหน้าท้อง

หลังคลอด

คลอดแบบธรรมชาติ

  • เกิดอาการอ่อนเพลียจากการเจ็บครรภ์และเบ่งคลอด การเสียเลือด เสียน้ำ
  • สามารถฟื้นตัวได้เร็วเมื่อได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ มดลูกหดตัวไว ภายในเวลาไม่กี่วัน ไม่มีแผลที่มดลูก
  • มีแนวโน้มที่จะมีน้ำนมทันทีหลังคลอด

ผ่าคลอด

  • เกิดอาการอ่อนเพลียจากการเสียเลือด เสียน้ำ
  • เมื่อยาชาหมดฤทธิ์จะเจ็บแผลผ่าตัดมาก ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานหลายเดือนจนกว่าจะหายเจ็บแผล หรือแผลหายสนิท
  • มีแนวโน้มที่จะยังไม่มีน้ำนมหลังคลอดทันที เพราะร่างกายยังปรับตัวไม่สมบูรณ์
  • มีแผลเป็นที่หน้าท้อง รวมถึงแผลเป็นในช่องท้องที่มองไม่เห็นด้วย

ความเสี่ยง

คลอดแบบธรรมชาติ

  • ความเสี่ยงมักเกิดจากภาวะฉุกเฉินไม่คาดคิด เช่น ภาวะตกเลือด ทารกไม่กลับหัวทำให้อยู่ในท่าที่คลอดยาก อุ้งเชิงกรานของแม่เล็ก หรือปากมดลูกไม่เปิดทำให้การคลอดเป็นไปอย่างลำบาก
  • กรณีที่คลอดยากจนต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น คีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศ อาจทำให้ทารกได้รับบาดเจ็บจากการใช้เครื่องมือ

ผ่าคลอด

  • ความเสี่ยงมักเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียเลือดมากระหว่างผ่าตัด หรือภาวะความดันต่ำจากการบล็อกหลัง
  • มีโอกาสเกิดการอักเสบติดเชื้อที่แผลผ่าตัด เช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป
  • มีแนวโน้มที่จะเกิดพังผืดภายในช่องท้องที่เป็นผลจากกระบวนการหายของแผลตามธรรมชาติ ซึ่งพังผืดที่เกิดขึ้นนี้ไม่เป็นผลดีต่อการผ่าตัดครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้น
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนคลอด เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจและลดความเครียดได้
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนคลอด เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจและลดความเครียดได้

เตรียมตัวอย่างไรเพื่อคลอดแบบธรรมชาติ?

หากคุณแม่ตัดสินใจคลอดธรรมชาติ ควรเตรียมพร้อมด้วยการเลือกโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญในการทำคลอดแบบธรรมชาติ จากนั้นปรึกษาและเตรียมวางแผนการคลอดกับแพทย์ โดยพูดคุยถึงความต้องการเกี่ยวกับการคลอดของตนเองอย่างชัดเจน รวมทั้งปรึกษาว่าจำเป็นต้องใช้ยาหรืออุปกรณ์ใดช่วยในการทำคลอดบ้าง

นอกจากนี้ คุณแม่ยังควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการคลอดลูก ทั้งการคลอดแบบธรรมชาติและการผ่าคลอด รวมถึงวิธีบรรเทาอาการเจ็บขณะคลอดธรรมชาติ โดยนำมาฝึกปฏิบัติด้วย การเตรียมตัวและศึกษาไว้ก่อนอาจช่วยคลายความเครียดและวิตกกังวลไปได้บ้าง ซึ่งจะเป็นผลดีกับการคลอด เพราะความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นก่อนคลอดสามารถส่งผลให้การคลอดล่าช้าลง เนื่องจากระดับฮอร์โมนความเครียดที่เพิ่มขึ้นสูงอาจจะกระทบต่อการหดรัดตัวของมดลูก

แม้จะเตรียมพร้อมและมีความมั่นใจในการคลอดธรรมชาติมากแค่ไหน แต่ก็อาจมีเหตุจำเป็นให้ไม่สามารถคลอดเอง เช่น กรณีที่ทารกไม่อยู่ในท่าเอาหัวลง ทารกตัวใหญ่เกินกว่าจะคลอดทางช่องคลอดได้ หรือเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์ เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ดีต่อคุณแม่และทารก จึงควรวางแผนทางเลือกอื่นในการคลอดไว้ให้พร้อม เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้การผ่าคลอด

ถ้าพ่อได้เข้าคอร์สก่อนคลอดด้วยจะเป็นการดี
ถ้าพ่อได้เข้าคอร์สก่อนคลอดด้วยจะเป็นการดี

คุณพ่อมีส่วนช่วยในการคลอดได้

  • ก่อนคลอด

ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องตั้งครรภ์ จะได้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจช่วงระยะใกล้คลอด รวมถึงเรื่องต่างๆ ที่จะช่วยดูแลสุขภาพกายและใจของคุณแม่ จะยิ่งดีหากได้เข้าคอร์สเตรียมตัวคลอดกับคุณแม่

  • ในห้องคลอด

เมื่อตัดสินใจจะเข้าไปอยู่ในห้องคลอดเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่แล้ว สิ่งที่สามารถทำได้เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้กับคุณ  แม่ คือ การสัมผัสลูบท้องลูบหลังเบาๆ คอยกำกับจังหวะในการหายใจเพื่อให้คุณแม่คลายความเจ็บลง หากเป็นโรงพยาบาลที่อนุญาตให้คลอดได้ในท่าที่คุณแม่ต้องการ คุณพ่ออาจนั่งประคองหลังบริเวณไหล่และชายกระเบนเหน็บ แล้วคอยนวดเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวดให้คุณแม่ได้ ทั้งนี้ ควรจะขอคำปรึกษาของแพทย์ก่อนที่จะเข้าห้องคลอด เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือได้ถูกวิธีเวลาอยู่ในห้องคลอด

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะคลายความกังวลลงไปบ้างแล้วนะคะ เมื่อได้รู้ถึงความแตกต่างในการคลอดและการเตรียมตัวก่อนคลอดอย่างเหมาะสม การปรึกษาแพทย์และดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีคือหัวใจสำคัญในการคลอดอย่างปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีกันทั้งแม่และเจ้าตัวน้อยค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0