โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ออกกำลังกาย ออกกำลังใจ - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 29 เม.ย. 2562 เวลา 09.24 น.

สมมุติว่ามนุษย์โบราณคนหนึ่งโดยสารยานเวลามาที่กลางเมืองหลวง และแวะ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ สักแห่ง คงตกใจใหญ่หลวงหากรู้ว่าลูกค้าทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อจะออกกำลังกาย

มนุษย์โบราณต้องเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ตลอดเวลา เป็นภาคบังคับ เพราะต้องหากินและหนีภัยสัตว์ป่า คนที่ชอบนอนอยู่เฉยๆ มักตายเร็ว

เมื่อเราสร้างสังคมเมือง การเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ก็ค่อยๆ ลดลง จนมาถึงจุดพีคในเวลานี้ ยุคที่หากใครจะเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ ต้องใช้ ‘สิ่งประดิษฐ์’ ที่เรียกว่า ‘การออกกำลังกาย’

การออกกำลังกายไม่เคยเป็นเรื่องสนุกสำหรับใคร เหนื่อยและน่าเบื่อ ถ้ามันเป็นเรื่องสนุก โลกก็คงไม่ต้องมีคลับออกกำลังกายหรือลูกเล่นต่างๆ เพื่อให้สนุก 

ราวสามสิบปีก่อน มีเทปออกกำลังกายเทปหนึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลก คือวิธีออกกำลังกายแบบแอโรบิคส์ของ เจน ฟอนดา ใช้สโลแกนว่า No pain, no gain

No pain no gain เป็นคำเก่า ใช้มาแต่โบราณ ความหมายก็คือไม่มีอะไรดีๆ ที่ได้มาง่ายๆ

วลีนี้ในบริบทนี้หมายถึงจะได้ร่างกายที่แข็งแรง แกร่งทั้งตัว ต้องผ่านความเจ็บปวดความทรมานในการฝึกฝน นักกีฬาชั้นยอดจึงต้องทนความทรมานจากการออกกำลังกายและความเครียดได้ เพื่อบรรลุจุดสูงสุดทางกายภาพ

คนส่วนใหญ่ไม่มีใครชอบออกกำลังกาย แต่จะได้ร่างกายแข็งแกร่ง มีแต่ต้องออกแรงเท่านั้น ไม่มีทางลัด

No pain no gain ใช้ได้กับแทบทุกเรื่องในชีวิต

เราอยู่ในโลกที่นักการตลาดพยายามทำให้เราเชื่อว่า ทุกอย่างมีทางลัด สามารถแข็งแรงโดยไม่ต้องออกแรง แต่โลกของคนประสบความสำเร็จไม่เป็นอย่างนั้น

ไม่มีใครชอบออกแรง แต่ความจริงหลายเรื่องไม่มีทางลัดจริงๆ เช่น จะเรียนภาษาต่างประเทศ ก็ต้องนั่งลง เรียนทีละตัว

จะเขียนหนังสือให้เก่ง ก็ต้องฝึกฝนทีละคำ ทีละประโยค ทีละวัน ทีละปี

…………..

กีฬาโอลิมปิกเป็นเรื่องการแข่งขัน ทว่าวันแข่งขันเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่เรามองไม่เห็นคือการฝึกฝน

วันแข่งขันเป็นเพียงวันหนึ่งในวันทั้งหมดของการมุ่งหาชัยชนะ 

ในวงการโอลิมปิก เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งที่นักกีฬาต้องลงทุนลงแรงนาน 4-8 ปี เพื่อฝึกฝน และใช้งานจริงแค่วันเดียว

โลกมองเห็นความสำเร็จของนักกีฬาโอลิมปิกแต่ละคน มองเห็นเฉพาะวันแข่งขัน แต่ไม่ค่อยเห็นเบื้องหลังการฝึกฝนอย่างหนัก

สภาพร่างกาย พันธุกรรมมีส่วน แต่เป็นเพียงครึ่งเดียวของสมการชัยชนะ

ที่สำคัญกว่าชัยชนะคือการแข่งขันกับตัวเอง

ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ การไปสู่เหรียญทองโอลิมปิกต้องทำงานหนักเงียบๆ คนเดียว

คนจำนวนมากลองและล้มเหลว เพราะทนแรงกดดันของการฝึกไม่ได้

ยกตัวอย่างการวิ่งแข่ง นักกีฬาต้องฝึกร่างกายให้ถึงระดับสูงสุด สมรรถนะของปอดต้องหายใจได้เต็มที่ ความแกร่งของหัวใจ ความแกร่งของกล้ามเนื้อ และที่สำคัญที่สุดคือ Lactate Tolerance คือความอดทนที่จะเดินหน้าต่อไปแม้กล้ามเนื้อจะเต็มไปด้วยกรดแลคติกและหมดแรง

นักกีฬายังต้องฝึกร่างกายให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ ไม่ว่าสถานที่แข่งขันจะเป็นประเทศในเขตร้อน ร้อนชื้น หรือเขตหนาว ระดับที่ตั้งเหนือน้ำทะเล สูงขนาดไหน ความชื้นสัมพัทธ์ ความเจือจางของอากาศ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังต้องคุมเรื่องอาหาร การนอน

แต่ที่สำคัญพอกับสภาพกายคือสภาพจิต ต้องรับความกดดันได้ เช่น ต้องจากครอบครัวไปไกลๆ นานๆ หรือเมื่ออยู่บนสนามแข่ง และมองเห็นว่าตนเองกำลังตามหลังคนอื่นอยู่

นักวิ่งลมกรดผู้วิ่งเร็วที่สุดในโลก ยูเซน โบลต์ ฝึกหนักอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งฝึกหนักจนอาเจียนริมสนาม แต่ก็ฝึกต่อ ไม่ว่าจะเจ็บแค่ไหน

นักว่ายน้ำที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก ไมเคิล เฟลป์ส ก็ฝึกหนักแบบที่มนุษย์ธรรมดารับไม่ได้ เขามักไปฝึกที่โคโลราโด สปริงส์ ซึ่งอยู่สูง 6,300 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล และอากาศเจือจางต่อเนื่องนับเดือน เพื่อให้ร่างกายก้าวถึงจุดสูงสุด

ยอดนักมวย ฟลอยด์ เมย์เวเธอร์ ฝึกไม่หยุด จนคนรอบตัวต้องขอให้เขาหยุด การฝึกสองชั่วโมงครึ่งโดยไม่มีพักถือว่า ‘เบามาก’

ยอดนักบาสเกตบอล ไมเคิล จอร์แดน ก็ฝึกหนักกว่าคนอื่น ยาวหลายชั่วโมงต่อวัน และเมื่อคนอื่นออกจากยิมไปแล้ว ก็ยังฝึกต่อ

หากเขายิงลูกไม่ดีพอ ก็จะฝึกๆๆ หลายร้อยครั้งต่อวัน จนกระทั่งคุมลูกได้ดั่งใจจึงจะหยุด

No pain, no gain

…………..

No pain no gain ของการออกกำลังยังใช้กับจิต 

การฝึกจิตก็คือการออกกำลังใจอย่างหนึ่ง จะบรรลุธรรมหรือเข้าใจสัจธรรมอะไร ก็ต้องฝึกฝนจิตให้พร้อม

ในทางพุทธ การเข้าใจทุกข์เป็นไปได้ก็ต้องผ่านทุกข์เสียก่อน

การประสบความทุกข์ด้วยตัวเองก็คือการทำให้เข้าใจทุกข์ โดยตรง แล้วเฝ้ามองสังเกตศึกษามัน

บางทีการนั่งสมาธิหลังขดหลังแข็ง ก็อาจเป็นอุบายหนึ่งในการพิจารณาความทุกข์!

ขณะนั่งขัดสมาธิ เมื่อยเจ็บ ตะคริวกิน ก็พิจารณาทุกข์นั้น

ดังนั้นเมื่อเราประสบสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็เผชิญหน้ากับมัน พิจารณามัน และเล่นให้จบเกม ความทุกข์ก็ทำอะไรเราไม่ได้

No pain, no gain

มีเรื่องเล่าว่าผู้ฝึกจิตอย่างดี เวลาตายจะจากโลกไปอย่างมีสติครบถ้วนและสงบอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับกีฬาโอลิมปิก คนเหล่านี้ฝึกมรณานุสติมาทั้งชีวิตเพื่อจะใช้มันแค่ครั้งเดียวในวันสุดท้ายของชีวิต

บางทีชัยชนะของจิตเป็นชัยชนะที่สูงสุด และมิอาจได้มาโดยปราศาจากการออกกำลังใจ

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0