โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สัญญาณไฟในเวลาที่ทั้งถนนมีคุณเพียงคนเดียว - ปราบดา หยุ่น

THINK TODAY

เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2561 เวลา 04.00 น. • ปราบดา หยุ่น

คอลัมน์ สัญญาณรบกวน 

สัญญาณไฟในเวลาที่ทั้งถนนมีคุณเพียงคนเดียว 

“โรบอต” หรือ “หุ่นยนต์” เป็นคำที่ชาวแอฟริกาใต้เรียกเครื่องให้สัญญาณไฟจราจร (ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ “robot”) ว่ากันว่าเมื่อครั้งเพิ่งมีเครื่องให้สัญญาณไฟจราจรใช้ตามท้องถนน ชาวแอฟริกาใต้เห็นความเป็นกล่องเหล็กเหลี่ยมและมีดวงตากลมโตเปล่งแสงสว่างจัดจ้านเหมือนหุ่นยนต์ในจินตนาการกระแสนิยม และมันมีสถานะเป็น “หุ่นยนต์จราจร” มาแทนที่มนุษย์ “ตำรวจจราจร”

การใช้ศัพท์ “โรบอต” ของชาวแอฟริกาใต้อาจดูใกล้เคียงกับการประดิษฐ์คำประเภท “ตู้เย็น” หรือ “ดาวเทียม” ของคนไทย นั่นคือเรียกนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่อย่างเข้าใจง่ายด้วยวิธีอ้างอิงและผสมผสานศัพท์สำหรับเรียกของเก่าที่ทำให้คิดคล้องกับของใหม่ไร้ชื่อ มันมีหน้าตาเหมือนโรบอต ทำงานเหมือนโรบอต จึงเรียกว่าโรบอต

แต่ในช่วงปีที่ชาวแอฟริกาใต้ตั้งชื่อเครื่องให้สัญญาณไฟจราจรว่า “โรบอต” (“robot” ปรากฏครั้งแรกในบทละครปี ค.ศ. 1920 ของคาเรล ชาเพ็ก นักเขียนชาวเช็ก) มันยังเป็นคำใช้เรียกนวัตกรรมจากจินตนาการ ไม่ใช่วัตถุคุ้นชินในชีวิตจริงอย่าง “ตู้” หรือ “ดาว” การเรียกเครื่องให้สัญญาณไฟจราจรว่า “โรบอต” ของชาวแอฟริกาใต้จึงมีนัยน่าคิดนอกเหนือจากมิติด้านที่มาของการใช้คำ มันสะท้อนถึงจินตภาพของสภาวะสมัยใหม่ในชุมชนมนุษย์ซึ่งเกิดจากอำนาจที่มองไม่เห็นของเทคโนโลยีในมือชนชั้นปกครอง และความประดักประเดิดของ “ชีวิตเมือง” ที่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย ไม่เพียงเฉพาะสำหรับแอฟริกาใต้แต่ในทุกเมืองบนโลก

เครื่องให้สัญญาณไฟจราจรเป็นตัวแทนของคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอำนาจและข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ได้ดี อะไรกันแน่ที่มีสถานะเป็น “หุ่นยนต์” เครื่องยนต์กลไกที่ผู้มีอำนาจสร้างขึ้นบงการผู้คน หรือผู้คนที่ยอมถูกบงการโดยเครื่องกลและอำนาจ

ระหว่างเวลาปกติของวัน ท่ามกลางกระแสธารเชี่ยวกรากของกิจกรรมเมือง เราคงเห็นพ้องต้องกันว่าการทำตามระบบสัญญาณไฟจราจรอย่างเคร่งครัดเป็นเรื่องควรปฏิบัติ แต่เมื่อเผชิญหน้ากับไฟแดงหรือไฟห้ามข้ามถนนในยามที่รอบตัวว่างเปล่า ปราศจากรถยนต์หรือคนอื่น การหยุดรออย่างว่าง่ายตามกฎระเบียบแม้เห็นอยู่ทนโท่ว่าสามารถละเมิดอย่างปลอดภัยทั้งทางร่างกายและกฎหมาย แปลว่าเราตกอยู่ภายใต้กลไกกำหนดของอำนาจ ถูกทำให้เชื่อง หรือแปลว่าเราคือพลเมืองดีเด่น ผู้ซื่อสัตย์และไว้ใจได้ ดังที่สมาชิกสังคมคนหนึ่งพึงเป็น

ด้วยสถานะความเป็นเทคโนโลยีจัดระเบียบสังคม บรรเทาความอลหม่าน รักษาความสงบ และป้องกันอุบัติเหตุ เครื่องให้สัญญาณไฟจราจรเป็นหนึ่งในผลผลิตพลอยได้ของยุคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมชีวิตคนเมือง มันไม่เพียงเป็นตัวแทนของมนุษย์ (ตำรวจจราจร) แสดงศักยภาพเหนือมนุษย์ (เสถียรโดยไม่เหน็ดล้า) แต่ยังเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ (ระเบียบและกฎหมาย) ไม่เพียงดูแลความเรียบร้อย แต่ยังสามารถลงทัณฑ์ผู้กระทำผิดแม้เป็นเพียงกระป๋องเหล็กยึดติดอยู่กับที่ (คนถูกจับหรือปรับเมื่อขับรถฝ่าไฟแดง) และในขณะเดียวกันมันก็สะท้อนถึงศักยภาพสองด้านของมนุษย์ที่ดูผิวเผินเหมือนย้อนแย้งแต่อาจเกื้อกูลกันกว่าที่คิด นั่นคือความสามารถในการใช้วิจารณญาณส่วนตนเยี่ยงเสรีชน กับความศรัทธาในข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันในความหลากหลายของชุมชนเมืองอย่างสามัคคี

ครั้งหนึ่งการจราจรในเมืองเคยดำเนินไปได้โดยไม่ต้องมี “หุ่นยนต์” ควบคุม ปัจจุบันนี้เป็นเรื่องยากจะจินตนาการถึงเมืองที่ปราศจากเครื่องให้สัญญาณไฟ พอๆ กับไม่สามารถจินตนาการถึงเมืองที่ไร้ซึ่งถนนหนทาง เครื่องให้สัญญาณไฟจราจรกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม มันเป็น “หุ่นยนต์ตำรวจ” ควบคุมการจราจรของ “ม้ายนต์” รวมทั้งการเดินเหินของผู้คน และเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมความประพฤติประชาชนโดยกระบวนการอำนาจ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะมีคนตั้งข้อกังขาว่าคนที่หยุดนิ่ง รอให้ไฟเปลี่ยนแม้ในยามอยู่เพียงลำพัง คือมนุษย์ที่ถูกล้างสมองให้กลายเป็นหุ่นยนต์โดยสังคมอุตสาหกรรมและอำนาจรัฐ (ยังไม่นับประเด็นที่ว่าระบบให้สัญญาณไฟจราจรและความหมายของสีแดง เหลือง เขียว ล้วนมีที่มาจากสังคมอุตสาหกรรมตะวันตก นั่นคืออังกฤษกับอเมริกา)

แต่ขณะเดียวกัน คนที่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบแม้ในห้วงเวลาปลอดการสอดส่อง ในความเถรตรงเกือบล้ำสู่เส้นของความซื่อบื้อ ก็อาจเรียกได้ว่ามีสำนึกเชื่อมั่นต่อวิถีอารยะอย่างลึกซึ้ง คนที่ “หยุด” หรือ “ไป” ตามสัญญาณไฟทุกครั้ง ไม่ว่าเวลาไหนและสถานการณ์รอบข้างเป็นเช่นไร หากไม่ใช่เพราะปฏิเสธจะใช้วิจารณญาณของตน ก็น่าจะเป็นผู้มีความหวังอย่างแรงกล้าที่จะเห็นความสำเร็จก้าวหน้าของสังคมผ่านการใช้วิจารณญาณแล้วว่ามนุษย์จะอยู่ร่วมกันโดยผาสุกหากเคารพต่อกติกา

พฤติกรรมที่คนของแต่ละเมืองและแต่ละประเทศมีต่อสัญญาณไฟจราจรดูจะแตกต่างกันมากจนน่าประหลาดใจ จากเคารพน้อยจนน่าวิตก ถึงเชื่องมากจนชวนให้ขนลุก เห็นได้ชัดในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเดินเท้ากับสัญญาณไฟข้ามถนน คนบางเมืองวางตนเป็นที่ตั้ง ถือคติว่าถ้าถนนปลอดรถแปลว่าโลกไร้กฎเกณฑ์ ไฟจะสีอะไร แสดงสัญลักษณ์แบบไหนไม่สำคัญ ในขณะที่คนบางเมืองหยุดยืนรอคำสั่งจากไฟอย่างว่าง่ายราวบ่าวผู้ซื่อสัตย์ แม้ในยามไม่มีกระทั่งวี่แววของผีสางอยู่ในรัศมีสายตา คงไม่อาจด่วนสรุปว่าอะไรคือสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้สำนึกหมู่ของคนในแต่ละเมืองมีเฉดความเข้มข้นหลากระดับเช่นนั้น แต่ที่แน่ๆคือพฤติกรรมทั้งสองแบบมีอยู่จริง และอาจไม่ใช่ปรปักษ์ต่อกันเสียทีเดียว

เครื่องให้สัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้าที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบันพัฒนามาจากแนวคิดและการประดิษฐ์ของอดีตตำรวจอเมริกันชื่อเลสเตอร์ ไวเออร์ (Lester Wire) ผู้สร้างกล่องให้สัญญาณไฟจราจรขึ้นในปี ค.ศ. 1912 ประวัติของเขาบอกว่าไวเออร์รู้สึกสงสารตำรวจจราจรที่ต้องทนยืนให้สภาพอากาศกัดกร่อนอยู่กลางถนนและได้แรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมของเขาจากคำสอนว่าด้วยการแบ่งปันและการมอบประโยชน์ให้ผู้คนอย่างเท่าเทียมในคัมภีร์ไบเบิล (มัทธิว 5:15 ไม่มีผู้ใดจุดเทียนแล้วนำไปวางในถัง ย่อมต้องตั้งบนเชิงเทียนเพื่อให้แสงสว่างแก่ทุกผู้คน) หากตำนานนี้มีมูลความจริงอยู่บ้าง ก็อาจกล่าวได้ว่าทั้งเครื่องให้สัญญาณไฟจราจรและหุ่นยนต์ต่างก็มีจุดกำเนิดจากศรัทธาต่อศักยภาพของมนุษย์ในความสามารถจะสรรค์สร้างสิ่งที่มีศักยภาพเหนือตัวเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ความย้อนแย้งที่สำคัญของมโนทัศน์อย่าง “หุ่นยนต์” คือมันเป็นนวัตกรรมลดทอนความเป็นคน (เพื่อประสิทธิภาพปฏิบัติงานที่ดีกว่า) ที่ทั้งปริ่มไปด้วยทัศนคติดูถูกมนุษย์และล้นนองด้วยอุดมคติมนุษยนิยม เครื่องให้สัญญาณไฟจราจรก็เป็นเช่นนั้น

คำถามยังคงอยู่: เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเครื่องให้สัญญาณไฟจราจรบนท้องถนนยามไม่มีใครอยู่ในรัศมีใกล้พอจะสร้างความแตกต่างในการตัดสินใจ จะรอหรือไปก็ไม่ส่งผลให้ใครเจ็บปวด เราควรหยุดนิ่งเหมือนหุ่นยนต์ หรือเพิกเฉยต่อกรอบกฎโดยใช้ตรรกะของเสรีชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ผู้รู้จักคิดเองทำเอง

เช่นเดียวกับความย้อนแย้งในแนวคิดดั้งเดิมของการผลิตเครื่องให้สัญญาณไฟจราจร และโดยปราศจากการเล่นคารมยียวนกวนประสาท ทั้งสองตัวเลือกดูจะเป็นคำตอบที่ถูกเท่ากัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0