โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มนุษย์มาจากปลา และปลามาจากต่างดาว? - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

อัพเดต 01 ก.พ. 2562 เวลา 13.12 น. • เผยแพร่ 28 ม.ค. 2562 เวลา 03.15 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เชื่อไหมว่า ‘ชาติก่อน’ ของมนุษย์เราทุกคนเป็นปลา และมือเท้าของเราวิวัฒนาการมาจากครีบปลา?

ไม่น่าเชื่อ ใช่ไหม?

จากหลักฐานฟอสซิล ราว 370 ล้านปีก่อน ป่าเริ่มรุกไล่พื้นที่น้ำ เกิดป่าชายเลนและหนองน้ำตื้นมากมาย ปลาบางส่วนเปลี่ยนจากการหายใจในน้ำมาหายใจบนบก แปลงจากครีบเป็นขาเพื่อให้คลานและเดินได้

จากขาทั้งสี่วิวัฒนาการหน้าที่ใช้สอยให้จับของได้ เริ่มมีนิ้ว

นอกจากหลักฐานทางฟอสซิล ก็ยังมีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงในอวัยวะหลายส่วนในร่างกายคนเราวันนี้ เช่น หากเราดูตัวอ่อนมนุษย์ นัยน์ตาของตัวอ่อนในครรภ์อยู่ข้างศีรษะเหมือนปลา แล้วค่อยๆ ย้ายมาอยู่ตรงกลางใบหน้า โครงสร้างหูมนุษย์ก็มีส่วนที่วิวัฒนาการมาจากเหงือกปลา

จาก ‘ชาติ’ ปลายังวิวัฒนาการมาอีกหลาย ‘ชาติ’ กินระยะเวลายาวนานหลายร้อยล้านปี จนมาอยู่ในรูปชีวิตมนุษย์วานรและมนุษย์สมัยใหม่ในที่สุด ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละนิด เหมือนก้อนกินขรุขระถูกน้ำซัดจนกลมเกลี้ยง

เราวิวัฒนาการมาไกลมากจากต้นกำเนิดจนมาอยู่ในโครงสร้างชีวิตแบบนี้ และดูไม่น่าเชื่อ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน แม้อาจสวนทางกับคำตอบทางความเชื่อด้านจิตวิญญาณบางสายที่เชื่อว่า อำนาจบางอย่างลิขิตเรามาอย่างนี้ อาจเป็นพระเจ้าหรือกรรมหรืออะไรก็แล้วแต่ความเชื่อ

ก่อนหน้าปลา ยังมีอีกหลาย ‘ชาติ’ เราสามารถย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มแรกของชีวิตบนโลก แต่มันอาจจะยังไม่ใช่จุดเริ่มแรกจริงๆ ของชีวิต!

ก็มาถึงคำถามเดิมๆ ที่มนุษย์ถามมานานหลายพันปีแล้วว่า ชีวิตคืออะไร? ความคิดคืออะไร? จิตคืออะไร? มีรูปชีวิตอื่นๆ ในจักรวาลหรือไม่? เราเป็นอะไรกันแน่? ชีวิตคืออะไร? ชีวิตมาจากไหน? ต้นกำเนิดจริงๆ เป็นรูปใด? จิตเป็นตัวตนอิสระหรือว่าเป็นเพียงผลพลอยได้ (by product) ของชีวิต?

การตั้งคำถามว่าชีวิตคืออะไรอาจเข้าข่ายอจินไตย เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด แต่ในที่นี้เราจะลองขบคิดมันในมุมของการศึกษาชีวิตในโลกและจักรวาล เพื่อประโยชน์ของการแตกหน่อความคิด

โลกมีทฤษฎีและความเชื่อมากมายเกี่ยวกับชีวิตเรา แนวคิดเก่าแก่ที่สุดที่เราคุ้นเคยที่สุดคือมนุษย์เป็นส่วนประกอบของร่างกายกับวิญญาณ วิญญาณเป็นตัวตนที่ดำรงอยู่ (entity) สิงในร่างกายที่มีชีวิต เมื่อร่างกายแตกดับ ก็หลุดออกจากร่างไปสิงในชีวิตใหม่

ตามความเชื่อของฮินดูโบราณ ‘วิญญาณ’ เป็น entity บางอย่าง เรียกว่าอาตมัน หรืออัตตา แตกตัวมาจากปรมาตมัน อาตมันนี้เป็น ‘app’ ที่คุมตัวเรา

อาตมันเป็น ‘ตัวตน’ รูปร่างเหมือนคน อาตมันอาศัยอยู่ในตัวเราในยามปกติ และหนีออกจากร่างเราในเวลาหลับ หรือเมื่อจิตสงบ เมื่อกายดับสลาย อาตมันก็จะออกจากร่าง ไปหาปรมาตมันซึ่งเป็นศูนย์รวมของอาตมัน เป็นวิญญาณสากล เป็นความจริงสูงสุด หรือ พรหมัน หรืออาจบอกว่าเป็นจักรวาล

บริบทความเชื่อของฮินดูโบราณเข้าไปในพื้นที่ของจักรวาลวิทยาด้วย

มองในความเชื่อนี้ ร่างกายของคนเราก็เป็นเพียง ‘รถยนต์’ ที่เราใช้โดยสารไปไหนมาไหนตลอดชีวิตที่อยู่ในโลกมนุษย์ โดยมีวิญญาณหรืออาตมันเป็นผู้ขับ เมื่อรถพัง ก็หารถคันใหม่

เรื่องที่น่าคิดคือ ในเมื่อมนุษย์สืบสายมาจากปลาและสัตว์อื่นๆ ก็แปลว่าปลาและสัตว์อื่นๆ น่าจะมีวิญญาณหรืออาตมันด้วย เพราะมันไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนว่าวันที่นั้นวันที่นี้ มนุษย์เกิดมาบนโลก

…………..

อีกแนวคิดหนึ่งเชื่อว่าชีวิตไม่มีวิญญาณ ไม่มีสาระหรือวัตถุประสงค์ใด แนวคิดนี้มองว่า จิตของเราเหมือนการทำงานของคอมพิวเตอร์ ทุกอย่างเป็นความจริงเสมือน (virtual) เมื่อดับเครื่อง ก็หายไป

ในสังคมเรา ความคิด ‘ตายแล้วสูญ’ นี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นมิจฉาทิฐิ รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และถูกนำไปโยงกับประโยค “งั้นเราก็ทำความชั่วได้ล่ะซี” ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ทว่าหากลองเปิดใจให้กว้าง มันก็มิใช่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันยากทั้งในการพิสูจน์ว่าตายแล้วสูญหรือตายแล้วไม่สูญ

เหล่านี้เป็นคำถามที่มนุษย์จิตไม่ว่างพยายามหาคำตอบมาหลายพันปี และก็ยังไม่รู้ เพราะยังไม่พบหลักฐานที่เป็นรูปธรรม

เหลือคำถามสุดท้ายคือ ชีวิตแรกสุดมาจากไหน?

หลักฐานจากฟอสซิลและอื่นๆ บอกว่าชีวิตแรกบนโลกเราปรากฏขึ้นเมื่อประมาณ 3.8 พันล้านปีก่อน

นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า สภาวะบนโลกเวลานั้นไม่น่าจะง่ายที่อยู่ดีๆ ชีวิตก็เกิดขึ้นมาเองเพราะโครงสร้างรหัสทางพันธุกรรมดีเอนเอในนิวเคลียสของเซลล์ของสิ่งมีชีวิตซับซ้อนจนไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นเองราว 800 ล้านปีหลังโลกถือกำเนิด นักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยเห็นว่ามันกินเวลาสั้นเกินไป

ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ง่าย

อาจจะง่ายกว่าหากชีวิตมาจากที่อื่น

ทุกๆ วันมีดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย หรืออุกกาบาตพุ่งชนโลกและดาวเคราะห์อื่นๆ วันละไม่น้อย เพียงแต่แทบทั้งหมดสลายไปตอนที่ผ่านชั้นบรรยากาศโลก

เรารู้ เคยพบ และเคยทดลองว่า จุลชีพในอุกกาบาตสามารถทนทานการเสียดสีของชั้นบรรยากาศโดยไม่ตายได้ เราเคยพบร่องรอยของชีวิตในดาวหาง คือกรดอะมิโน ฟอสฟอรัส ฯลฯ ในชั้นบรรยากาศของดาวหางบางดวง

เรารู้ว่าจุลชีพสามารถอยู่รอดในสภาพสุดขั้วในอวกาศ จึงเป็นไปได้สูงมากที่ชีวิตบนโลกอาจจะถูก ‘อิมพอร์ต’ เข้ามา

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้มากที่ชีวิตติดดาวหางหรืออุกกาบาตมาด้วย เมื่อตกบนพื้นโลก ก็ดำเนินชีวิตต่อไป วิวัฒนาการจนแตกหน่อเป็นชีวิตต่างๆ บนโลกนี้ เหมือนเมล็ดพันธุ์ของพืชติดบนขนสัตว์ที่วิ่งไปทั่วป่า เมื่อมันตกลงที่จุดไหน ก็งอกเป็นต้นใหม่ตรงนั้น

นี่คือทฤษฎีแพนสเปอร์เมีย (Panspermia)

…………..

Panspermia ในภาษากรีก แปลว่า เมล็ดพันธุ์

ทฤษฎีเมล็ดพันธุ์บอกว่า ชีวิตมีอยู่ทั่วไปในจักรวาล แพร่พันธุ์โดยอาศัยดาวหาง อุกกาบาต เป็นพาหนะ เมื่อผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามาบนโลก ก็อาจต่อรูปชีวิตขึ้นมา เหมือนการต่อตัวเลโกเป็นทรงต่างๆ

บางทีชีวิตอาจเป็น ‘เมล็ดพันธุ์’ ที่สิ่งทรงภูมิปัญญาชั้นสูงหว่านไปทั่วดาราจักร อาจจะตั้งใจหรืออาจจะไม่ตั้งใจ

เราไม่รู้ว่าเรามาอยู่ในโลกนี้เพื่ออะไร? บรรลุวัตถุประสงค์แล้วตาย? หรือว่าหายใจไปเรื่อยๆ จนทุกระบบเสื่อม ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ก็ตาย?

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ทฤษฎีนี้เป็นจริง เราก็ยังคงไม่มีคำอธิบายว่าชีวิตแรกมาจากไหน เกิดมาอย่างไร ใครสร้าง

บางทีแม้แต่สิ่งทรงภูมิปัญญาก็อาจไม่รู้!

มนุษย์วิวัฒนาการมาถึงจุดที่เราสามารถคิดและตั้งคำถามน่าปวดหัวนี้ แต่เราก็ยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ

ตั้งคำถามแล้วพูดอยู่นาน ก็กลับมาที่จุดเดิมคือ ไม่มีคำตอบ

หรือว่าบางทีมันเป็นเรื่องไม่ควรคิดจริง?

หรือว่า… มองอีกมุมหนึ่ง เป็นไปได้ไหมว่าคุณลักษณะหนึ่งของชีวิตจากเมล็ดพันธุ์นี้คือ เมื่อวิวัฒนาการถึงจุดที่เหมาะสม ก็จะเริ่มตั้งคำถามถึงต้นกำเนิด เพื่อไม่ให้ลืมว่าเรามาจากไหน?

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

มกราคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0