โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ถ้าคนใกล้ตัวเศร้าเราควรทำอย่างไร? - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 22 ก.ค. 2563 เวลา 09.00 น. • หมอเอิ้น พิยะดา
ภาพโดย Ben White / unsplash.com
ภาพโดย Ben White / unsplash.com

“หมอครับภรรยาผมเป็นโรคซึมเศร้าและผมกำลังรู้สึกว่าผมกำลังจะเป็นตาม โรคซึมเศร้าติดต่อกันได้มั้ยครับ?”

แม่คนนึงเคยถามว่า “แม่ไม่รู้จะทำตัวกับลูกอย่างไรเวลาที่เห็นลูกเศร้าและรู้สึกกังวลมากเวลาที่จะพูดอะไร?”

“เวลาที่เพื่อนเศร้าแล้วมาระบายให้ฟัง หนูควรแนะนำหรือฟังเฉย ๆ ดีคะทำตัวไม่ถูก?”

หมอมักจะได้ยินคำถามลักษณะนี้ เวลาที่ตรวจรักษาแล้วคุยกับญาติ หรือเป็นคำถามท้ายการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหรือการจัดการความเศร้า คำถามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความใส่ใจของคนใกล้ตัวคนที่มีความเศร้า แต่ความลังเลสงสัยและความไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทำให้บ่อยครั้งที่ความใส่ใจนี้ไปไม่ถึง แถมบางคู่กลายเป็นมีปัญหาความสัมพันธ์เพราะความไม่เข้าใจ

ความเศร้าเป็นอารมณ์พื้นฐานที่เรามีด้วยกันทุกคนโดยปกติ แต่เมื่อไรที่ความเศร้านั้นอยู่นานกว่าปกติจนคนข้าง ๆ สามารถสังเกตได้ว่า ความเศร้าเริ่มส่งผลกับตัวเค้าก็อาจเป็นสัญญาณว่า ความเศร้านี้ชักจะไม่ปกติเสียแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าคนมีความเศร้าที่ไม่ปกติจะต้องเป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้นนะคะ เพราะความเศร้าอาจจะเป็นภาวะความศร้าที่เกิดจากการสูญเสียสิ่งที่รัก การไม่สามารถปรับตัวต่อความเครียดหรือปัญหาได้ หรืออาจจะเกิดจากโรคซึมเศร้าจริง ๆ

และแน่นอนว่าคนที่เศร้าก็ไม่อยากเศร้าแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ในขณะที่คนใกล้ตัวก็พลอยจะเศร้าตามเพราะไม่รู้ว่าจะต้องช่วยอย่างไรเช่นกัน

ใครกำลังเจอสถานการณ์นี้ ลองช้าลงแล้วลองตั้งหลักใหม่ด้วย :

5 สิ่งที่เราควรทำเมื่อคนใกล้ตัวมีความเศร้า

1.ทำเข้าใจตัวเรา : เริ่มต้นจากการถามตัวเองว่า “การที่คนข้างกายเปลี่ยนไปมีผลกับตัวเราอย่างไรบ้าง?”  ทั้งด้านอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของเราเอง เพื่อให้เราแยกตัวเองออกว่า ความทุกข์นี้เป็นของใคร เพราะบางครั้งเราเองจะเผลอซึมซับความเศร้ามาผสมปนเปกับเรื่องของตัวเอง การรู้จักแยกแยะจะทำให้จิตใจเรายังคงสงบและมีความสามารถในการมองเห็นปัญหาที่แท้จริงได้

2.ทำความเข้าใจความเศร้า : หากคนใกล้ตัวเศร้าเพราะเค้ากำลังรู้สึกสูญเสีย การเข้าใจภาวะสูญเสียจะทำให้เราไม่ตกใจกับอารมณ์เศร้าที่แปรปวน หากเศร้าเพราะการไม่สามารถปรับตัวกับปัญหา เราจะเริ่มรู้ว่าควรให้กำลังใจอย่างไร หากเศร้าเพราะโรคซึมเศร้า การเข้าใจกระบวนการคิดในแบบโรคซึมเศร้าจะทำให้เราเข้าใจผู้ป่วยง่ายขึ้นและรู้ว่าอะไรเราช่วยได้ อะไรที่ต้องให้หมอช่วย ทั้งหมดก็เพื่อลดความกังวลในตัวเราเอง 

3.ทำความเข้าใจกันและกัน : สื่อสารถึงความรัก ความห่วงใยที่มี อย่างตรงไปตรงมา เช่น รู้สึกเป็นห่วงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องพูดอะไรให้อีกฝ่ายรู้สึกดี ก็สื่อสารได้ว่า “เราเห็นเธอเศร้าแล้วรู้สึกเป็นห่วง อยากปลอบแต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร มีอะไรที่เราพอจะช่วยเธอได้มั้ย?” หรือแสดงออกด้วยภาษากายเช่น กอด แล้วรู้สึกว่ากำลังส่งกำลังใจไปให้ เป็นต้น

4.ทำสิ่งที่เราควรทำ : ให้เวลา ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอยู่กับคนเศร้าตลอดเวลา แต่หมายถึงการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น เวลาในการฟัง ความคิดของคนที่เศร้าแม้ว่าบางอย่างเราฟังแล้วอาจไม่เห็นด้วย แต่เราก็ได้เข้าใจกระบวนการคิดของเขาว่าการคิดแบบไหนจึงทำให้จมอยู่ในความเศร้า 

สนับสนุนให้อยู่ในการดูแลของจิตแพทย์ หากเป็นโรคซึมเศร้า

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราจะแยกว่าเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่ คือ การตอบสนองต่อยา เพราะการเป็นโรคซึมเศร้าคือการที่โครงสร้างสมองเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจนเหนือการควบคุมของคนคนนั้น   

การให้ผู้ป่วยทานยาอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก  

หากเศร้าเพียงเพราะไม่สมหวังเมื่อมีคนมาสนใจหรือทดแทนความไม่สมหวังนั้นแล้วอาการดีขึ้น  

แสดงว่าคนคนนั้นยังไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า เป็นแค่ภาวะเศร้า

ให้การรับฟัง แม้หลายอย่างฟังแล้วยังไม่เข้าใจแต่ทัศนคติที่อยากทำความเข้าใจจะทำให้เราสนุกกับการฟังสิ่งที่เราไม่เข้าใจ และคนเล่าก็สบายใจที่ได้เล่า เมื่อเข้าใจอย่างแท้จริงแล้วเราสามารถแสดงออกหรือให้คำแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ 

5.ระวังคำพูดที่ควรระวัง :  เนื่องจากคนที่กำลังจมอยู่กับความเศร้าจะมีกระบวนการคิดแบบสมองที่เศร้า

เช่น แปลความในทางลบได้ง่าย ขาดความมั่นใจและคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นคำพูดบางคำอาจส่งผลให้ยิ่งรู้สึกเศร้ามากขึ้น แม้ว่าคนพูดจะกำลังอยากให้กำลังใจ เช่น สู้ๆนะ เรื่องแค่นี้เอง อย่าร้องไห้ อย่าอ่อนแอ ปล่อยวาง คำเหล่านี้ถือเป็นคำต้องห้าม 

สุดท้าย สิ่งที่เราไม่ควรลืมคือ ตัวเราเอง เราต้องมีจังหวะกลับมาดูแลความรู้สึกตัวเองบ้าง เพื่อไม่ให้ชีวิตต้องมีความเศร้าแบบคูณสอง

Safe Zone คืออะไร?

-

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0