โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความรักเกิดจากสารเคมีในสมอง? - วินทร์ เลียววาริณ

วินทร์ เลียววาริณ

เผยแพร่ 30 มี.ค. 2561 เวลา 11.00 น. • winbookclub.com

หนุ่มสาวจำนวนมากพยายามหาคำตอบสำเร็จรูปเกี่ยวกับความรัก จดหมายที่เขียนถึงคอลัมนิสต์แนว ‘ศิราณี’ มักถามว่า สิ่งที่เขาหรือเธอประสบเป็นความรักหรือไม่

เรามองเรื่องความรักในมุมของนามธรรม, ความเชื่อ, ค่านิยมแล้ว คราวนี้ลองมาดูความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยา และนักจิตวิทยาด้านนี้ดูบ้าง

นักวิทยาศาสตร์ทางด้านสมองและประสาทวิทยาเห็นว่า ความรักของหนุ่มสาวเป็นเพียงอารมณ์และพฤติกรรมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณทางเพศ โดยกระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นในสมอง

ใช่! ความรู้สึกทั้งมวลของมนุษย์เกิดขึ้นที่สมอง ไม่ว่าจะเป็นรัก โลภ โกรธ เกลียด ล้วนเกิดขึ้นในก้อนเนื้อเยื่อสีเทาขนาด 1,200 ซีซี. นี้ เป็นการทำงานของสารเคมีในสมอง

เรารู้จากการวิจัย ทดลอง และสแกนสมองของหนุ่มสาวในห้วงรัก เรารู้ว่าสารเคมีและฮอร์โมนมีบทบาทอย่างมาก เราจึงเรียกความรู้สึกต่อกันว่า chemistry (เคมี)

เมื่อชอบกันหรือตกหลุมรัก สมองจะสั่งการให้เกิดสารเคมีหลายชนิดมากขึ้น เช่น เทสโทสเตอโรน, เอสโทเจน, โดปามีน, โนเรพีเนฟรีน, เซโรโทนิน, ออกซีโทซิน, วาโซเพรสซิน หัวใจเต้นแรงขึ้น เหงื่อออกตามฝ่ามือ

โดปามีน, โนเรพีเนฟรีน, เซโรโทนิน พบมากยามที่เกิดอาการตกหลุมรัก ส่วนออกซีโทซินกับวาโซเพรสซินมักเกิดมากยามเมื่อมีความรักที่ผูกพันกันนานปี ในความสัมพันธ์ที่แนบแน่นอย่างยิ่ง

โดปามีนเป็นสารหรรษา ทำให้รู้สึกสุขสงบ

โนเรพีเนฟรีนทำหน้าที่คล้ายอะดรีนาลีน ทำให้ตื่นเต้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำให้นอนไม่หลับ นึกถึงใครคนนั้น

เซโรโทนินทำให้เรารู้สึกอารมณ์ดี แต่ก็ทำให้เกิดอาการ ‘เสพติด’ เช่นกัน สารนี้ทำให้ไม่นึกถึงคนอื่นเลย ใจคะนึงนึกถึงแต่คนคนนั้น นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานว่า การใช้ยาต้านความซึมเศร้านาน ๆ อาจทำให้เซโรโทนินลดลง ส่งผลให้ความรักลดลง! เมื่อลดยาต้านความซึมเศร้าบางชนิด มันก็ทำให้ความรักดีขึ้นอย่างประหลาด

ออกซีโทซินเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่มีบทบาทการทำงานของนิวรอนในสมอง มีบทบาทมากในการสืบพันธุ์ ฮอร์โมนชนิดนี้หลั่งออกมามากเมื่อคลอดลูก ทำให้สร้างความผูกพันต่อทารก

ออกซีโทซินมีบทบาทในหลายเรื่องเช่น การถึงจุดสุดยอดทางเพศ การสานความผูกพัน ความรักของแม่ที่มีต่อลูก ดังนั้นจึงมักถูกเรียกว่า ฮอร์โมนแห่งรัก (love hormone)

นักวิทยาศาสตร์พบว่า สารเคมีและโมเลกุลโปรตีนหลายชนิดในสมองเพิ่มขึ้นเมื่อตกหลุมรัก และลดลงสู่สภาวะเดิมหลังจากผ่านไปแล้วราวหนึ่งปี บ่งบอกว่า อาการตกหลุมรักเป็นการทำงานของสารเคมีในช่วงสั้น ๆ เป็น ‘ความลุ่มหลงชั่วคราว’ (crush) เป้าหมายคือสืบทอดสายพันธุ์! เป็นความรักทางกายภาพที่มีความเห็นแก่ตัวแฝงอยู่ คือเห็นตัวเราเป็นใหญ่ เป็นการทำงานของยีนเพื่อให้สายพันธุ์มนุษย์อยู่รอด

พูดสั้น ๆ คือ ความรักแบบหนุ่มสาวเป็นการทำงานของสารเคมีในร่างกายเรา

เนื่องจาก falling in love มักมาพร้อมกับความต้องการยึดครองอีกฝ่ายเป็นของตัวเองและใช้ตนเองเป็นหลักใหญ่ จึงมักมีความหึงหวงปนมาด้วย ประมาณว่าเธอรักฉันคนเดียว ห้ามนอกใจ ห้ามปันใจ เมื่อไม่ได้ดังใจก็เป็นทุกข์ เป็นความรู้สึกที่รุนแรงแต่ไม่มั่นคงและไม่ยั่งยืน หมดอารมณ์เพศ ก็อาจหมด ‘รัก’ ไปได้ง่าย ๆ

.……………………………………………………..

นักวิทยาศาสตร์ด้านวิวัฒนาการเห็นว่า ความรักของหนุ่มสาวมีความจำเป็นต้องดำรงอยู่ มันเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของทั้งคนและสัตว์ ความรู้สึกผูกพันแบบนี้ เพิ่มโอกาสรอดของสายพันธุ์

‘ความรัก’ เป็นเครื่องมือทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง เห็นชัดที่สุดในแม่ที่รักลูกอย่างไม่มีข้อแม้ ปราศจากความรักชนิดนี้ สายพันธุ์มนุษย์ก็อยู่ไม่รอด

แม่เห็นหน้าทารกที่เพิ่งคลอด ก็รักสนิทชิดเชื้อ ขนาดยอมตายเพื่อลูกที่ยังไม่รู้จักได้

นี่ย่อมเป็นรัก แต่เป็นรักที่แตกต่างจากรักของหนุ่มสาว เพราะ ‘รัก’ ของแม่ฝังสำเร็จรูปมาในยีน

นักชีววิทยาและพันธุกรรมศาสตร์เห็นว่า ความรักระหว่างหนุ่มสาวก็คือความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่งของยีน (selfish gene)

สังเกตว่าเวลาอกหัก คนอกหักส่วนมากคิดถึงตัวเองก่อนทั้งนั้น พูดแต่ความเจ็บปวดความทุกข์ของตัวเอง ไม่ค่อยมองไปที่คนที่เขาหรือเธอรัก เป็นสัญชาตญาณ ‘เห็นแก่ตัว’ อย่างนั้น

รักเขาแล้วก็ปรารถนาให้เขารักตอบ ไม่เช่นนั้นก็ผิดหวัง หัวใจสลาย นั่นเพราะเราคิดถึงเราเองก่อน หรือมองว่าความรักเป็นจุดหมายที่ต้องไปให้ถึง กลายเป็นรักที่มีข้อแม้

อกหักแบบนี้ก็หายช้าหน่อย หากลองเปลี่ยนมุมมอง คิดถึงอีกฝ่ายก่อน ใช้เมตตานำ ก็หายเร็วกว่า เพราะรักษาอกหักด้วยความเข้าใจ ความเมตตา ไม่ใช่ความรู้สึกเห็นแก่ตัว เพราะหากเราคิดว่าเรารักเขาจริง เราก็น่าจะยินดีแทนเขาที่สามารถเลือกทางของเขาเองได้

คิดง่าย ๆ คือ หากเรารักเขาหรือเธอจริง ๆ ทำไมต้องเจ็บปวดใจเมื่อไม่ได้เขาหรือเธอมาครอบครอง

เราจึงควรแยกให้ออกว่า ความรู้สึกนั้นเป็นความลุ่มหลงเสน่หาชั่วคราว (crush) หรือของจริง (love)

ร้อยละร้อยในความสัมพันธ์แรกพบ แรกสบตา ความรู้สึกดี ๆ ก็คือความลุ่มหลงเสน่หาชั่วคราวทั้งนั้น มันอธิบายว่าทำไมเราจึงไม่สามารถรักเก้าอี้ตัวหนึ่งหรือปากกาด้ามหนึ่งในระดับเดียวกับรักแฟน รักปานกลืนกิน รักจนจะขาดใจตายหากไม่สมหวัง เราไม่เกิดอาการวาบหวิวใจสั่นหวั่นไหวเมื่อเห็นรถยนต์สุดสวยสักคัน

.……………………………………………………..

แม้จะแสดงหลักฐานจนความรักกลายเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยโรแมนติก นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาด้านความรักก็ไม่ได้ปฏิเสธการดำรงอยู่ของความรักแท้ เพียงแต่มองว่า เราไม่อาจก้าวไปสู่ความรักแท้หากไม่ก้าวพ้นความใคร่ก่อน เพราะความใคร่ถูกฝังในยีน ความรักแท้ต้องพัฒนาขึ้นมา

อาการหลงใหลเสน่หาของหนุ่มสาวเมื่อเจอกันก็คือความต้องการตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นได้ง่ายดาย ฝรั่งจึงเรียกอาการนี้ว่า falling in love (ตกหลุมรัก) เพราะการตกลงไปข้างล่างง่ายกว่าปีนขึ้นมา

อาการนี้เกิดขึ้นด้วยแรงดึงดูดของมันเอง โดยอิงความหมายของแรงโน้มถ่วง นั่นคือเมื่อปล่อยสิ่งของ มันก็ตกลงไป เมื่อปล่อยใจ มันก็ตกลงไปง่าย ๆ เช่นนั้น ร่วงลงไปตามแรงดึงดูดของธรรมชาติอย่างนั้น ไม่ต้องออกแรง

จวบจนเมื่อฮอร์โมนแห่งความพิศวาสลดลง ก็อาจตาสว่างมองเห็นภาพชัดขึ้น เมื่อนั้นจึงสามารถเข้าสู่กระบวน ‘รัก’ ได้สักที! นั่นก็คือจะรู้ว่ารักแท้หรือไม่ ต้องมองเมื่อตาสว่าง ไม่ใช่ตอนที่หัวใจยังเต็มไปด้วยความหลงใหลเสน่หา ด้วยเหตุผลที่คนโบราณว่า ‘ความรักทำให้คนตาบอด’ เมื่อตาสว่าง บางคู่อาจพบว่าสิ่งที่เรียกว่ารักนั้นไม่ใช่ของจริง แต่บางคู่ก็พบว่าตนเจอรักแท้แล้ว

falling in love (ตกหลุมรัก) จึงง่ายกว่า filling in love (เติมเต็มความรัก) เคมีแห่งรักไม่อยู่ยืนตลอดกาล ผ่านไปสักระยะ ความรู้สึกวาบหวิวเมื่อสัมผัสกัน เมื่อสบตากันก็ลดลง บางคู่อาจถึงขั้นพลิกขั้ว ไม่อยากเจอหน้า ไม่อยากได้ยินเสียง ทำอะไรก็น่าหงุดหงิดน่ารำคาญไปหมด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0