โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ขนมสอดไส้แห่งชีวิต - วินทร์ เลียววาริณ

วินทร์ เลียววาริณ

เผยแพร่ 28 มี.ค. 2561 เวลา 11.00 น. • winbookclub.com

-1-

ตอนเด็ก ๆ ผมมีนิสัยแปลกอย่างหนึ่งคือ เวลากินขนมสอดไส้ จะกินเนื้อแป้งให้หมดก่อน แล้วจึงค่อยกินไส้มะพร้าวหวานอร่อย เพราะอยากกินของหวานทีหลังสุด

นิสัยนี้ยังติดไปถึงการเรียน เมื่อโรงเรียนปิดภาคเล็กราวหนึ่งเดือน ครูให้การบ้านนักเรียนไปทำช่วงปิดภาค แล้วให้มาส่งตอนเปิดภาคใหม่ ผมจะทำการบ้านทั้งหมดให้เสร็จในวันที่ได้การบ้านมา เพื่อจะได้ใช้เวลาปิดภาคเล่นอย่างเดียวโดยไม่มีอะไรมากวนใจ

นโยบาย ‘ทำงานก่อนเล่น’ หรือ ‘ขยันก่อนขี้เกียจ’ ติดตัวมานานหลายปี แก้ไม่หาย! กลายเป็นคนมีนิสัยไม่ชอบให้มีอะไรค้างคาใจ งานค้างเหมือนเสี้ยนเล็ก ๆ ตำอยู่ในเนื้อ ต้องเอาออกทันที

อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้นจึงค่อยเรียนรู้ว่า ชีวิตไม่ใช่เรื่องที่ต้องทนทุกข์ก่อนแล้วค่อยสุข เพราะวันสุขอาจมาไม่ถึง เราสามารถกิน ‘เนื้อแป้ง’ กับ ‘ไส้หวาน’ ไปพร้อมกัน หรือสลับกันไป ไม่ต้องแยก ‘ทุกข์’ กับ ‘สุข’ ออกจากกันโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตแบบสุดโต่งอย่างหนึ่ง

วิธีคิดแบบตะวันตกซึ่งชอบชำแหละทุกอย่างออกเป็นส่วน ๆ นั้นอาจทำให้เราติดนิสัยชอบแยกแยะว่าส่วนนี้คือทุกข์ ส่วนนั้นคือสุข ทว่าในชีวิตจริงยากนักที่จะแยกทุกข์กับสุขออกจากกันเป็นส่วน ๆ เพราะชีวิตเป็นส่วนผสมของทุกข์กับสุข ปนกันเป็นสีเทา ในความสุขมีความทุกข์ และในความทุกข์มีความสุข

พระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ ก็ทรงใช้ชีวิตแบบสุดโต่งเหมือนกัน ทางสายแรกคือ กามสุขัลลิกานุโยค หมกมุ่นอยู่ในกามสุข ทางสายที่สองคือ อัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนให้ลำบากและหมกมุ่นอยู่ในความทุกข์ จนกระทั่งทรงพบมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง

นี่เป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว เรียนและท่องจำมาแต่เด็ก แต่น้อยคนนำไปปฏิบัติ

การแบ่งขนมสอดไส้ออกเป็นสองส่วนอย่างเด็ดขาดคือลักษณะของนิสัยขีดเส้นหรือยึดติดว่า ความทุกข์คือความเจ็บปวด น้ำตา ความเศร้า ความสุขคือการเที่ยว การนอน การเล่น การดูหนังฟังเพลง วันทำงานคือวันทุกข์ ถึงเย็นวันศุกร์ก็สุข เมื่อถึงวันจันทร์ก็ทุกข์ขึ้นมาทันทีเหมือนกดปุ่ม ถึงวันอาทิตย์ก็สุขโดยพลัน

ประหลาดไหม? มันเป็นโหมดอารมณ์ที่เราสร้างขึ้นมากำหนดวิถีชีวิตของเราเอง!

.……………………………………………………..

-2-

การแบ่งแยกทุกข์-สุขออกจากกันโดยเด็ดขาดทำให้เกิดค่านิยมว่า เวลามีคนตาย ต้องตีหน้าเศร้าตลอด จะหัวเราะก็รู้สึกไม่เหมาะสม

เวลาถ่ายรูปในงานศพ หลายคนยิ้มโดยอัตโนมัติ แต่ถูกเพื่อนบอกว่า “เฮ้ย! อย่ายิ้ม นี่งานศพนะโว้ย!”

แต่ชีวิตไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ เพราะเรื่องส่วนใหญ่ในชีวิตเราเป็นอัตวิสัย ไม่สามารถจัดหมวดหมู่ขาว-ดำได้

บางคนได้ข่าวแม่ตายแล้วรู้สึกเศร้าเสียใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยินดีที่แม่ไม่ต้องทนทุกข์จากโรคร้ายที่รุมเร้าอีกต่อไป

ถูกไล่ออกจากงานเป็นความทุกข์ แต่ก็อาจมีความสุขเจืออยู่ที่ไม่ต้องทนเห็นหน้าเจ้านายมหาโหดอีกต่อไป

ชีวิตก็เหมือนการต้มไข่ ต้มสุกแค่ไหนขึ้นกับความพึงใจ ลิ้นรับความอร่อยของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนชอบแบบครึ่งสุก บางคนชอบแบบสุกเต็มที่ และถึงชอบแบบครึ่งสุกก็ยังแบ่งย่อยออกเป็นระดับอีกมากมาย สุก 52 เปอร์เซ็นต์ สุก 56.125 เปอร์เซ็นต์ สุก 57.54 เปอร์เซ็นต์

ไม่มีสูตรว่า เท่านี้คือสุข เท่านั้นคือทุกข์ มันปน ๆ กัน

ชีวิตไม่ใช่ขนมสอดไส้ที่แบ่งพื้นที่สุข-ทุกข์ออกจากกันชัดเจน ชีวิตคือข้าวสารที่มีข้าวเนื้อดีและกรวดปนมาด้วย

เคยไหมที่เราอยู่ในโมงยามแห่งความสุข แต่จิตนึกถึงเรื่องทุกข์ที่ยังไม่เกิดขึ้น? ในที่สุดมันก็กลายเป็นชั่วโมงของความทุกข์ไป เช่นกัน บางโอกาสที่เราอยู่ในห้วงยามของความทุกข์ แต่กลับรู้สึกอบอุ่นพร้อมที่จะเผชิญปัญหา เปี่ยมด้วยกำลังใจ ถึงแม้เกิดเรื่องร้าย ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกชั่วขณะนั้นอยู่ในโหมดทุกข์

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเลือกของเราเอง

ยามทุกข์ใจ ก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้งส่วนที่เป็นสุขเสียทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องหน้าบึ้งตึงเครียด ยามทุกข์ก็สามารถกินไอศกรีมหรือดูหนังได้ ยามสุขก็ไม่หลงระเริงกับรสชาติของความสบายกายสบายใจจนลืมไปว่ามันไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดไป เพราะเวลาก็คือเวลา สุขทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ว่าวันนั้นเป็นวันจันทร์หรือวันอาทิตย์ เป็นโอกาสอะไร สุขหรือทุกข์อยู่ที่เราปรุงแต่งมันขึ้นมา

.……………………………………………………..

-3-

เคธี เคิร์กแพตทริก นักศึกษาชาวอเมริกันวัยยี่สิบเอ็ด ต้องยุติการเรียนกลางคัน เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ปอดและเนื้องอกในสมอง

เคธีผ่านวันเวลาด้วยยา สารเคมี และมอร์ฟีนแก้ปวด มะเร็งร้ายที่ปอดทำให้เธอหายใจไม่สะดวก ต้องพึ่งถังออกซิเจนตลอดเวลา

นิก กูดวิน คนรักมาเยี่ยมเธอบ่อย ๆ บางวันก็เฝ้ารอเธอขณะที่กำลังทำคีโมเธอราพีจนเผลอหลับไป ทั้งสองรักกันมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม แต่ความฝันที่จะอยู่ด้วยกันตลอดชีวิตสูญสิ้น เพราะเธอกำลังจะตาย ทว่าขณะที่ร่างกายเธอกำลังจะดับ จิตใจเธอยังมองด้านสว่างของชีวิต

วันหนึ่งเธอถามเขาแบบทีเล่นทีจริงว่า “จะแต่งงานกับฉันไหม?” เขาตอบทันทีว่า “ตกลง”

พิธีแต่งงานเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2005 ในโบสถ์แห่งหนึ่ง พ่อแม่ญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายมาร่วมงาน เคธีสวมชุดเจ้าสาวสีขาวแบบเรียบ น้ำหนักเธอลดมากจนชุดเจ้าสาวหลวม ต้องปรับแก้ใหม่หลายครั้ง แต่ในวันแต่งงาน เธอก็งดงามในชุดเจ้าสาว

เป็นภาพการแต่งงานที่ประหลาดเมื่อเจ้าสาวสวมท่อออกซิเจนตลอดเวลา มีถังออกซิเจนผูกโบว์ตั้งอยู่ใกล้ ๆ เธอฟังเพลงที่เพื่อน ๆ ร้อง เสียงหัวเราะของเธอกังวานอย่างมีความสุข เมื่อเหนื่อยและปวด เธอก็นั่งพัก

ห้าวันหลังจากแต่งงานเคธีก็จากโลกไป เป็นห้าวันสุดท้ายที่ชีวิตมิได้เงียบเหงาหรือทุกข์ระทมอย่างคนไข้อื่น ๆ จำนวนมากที่ถูกกำหนดให้เดิน

นี่ไม่ใช่คู่รักคู่เดียวในโลกที่แต่งงานกันขณะที่ฝ่ายหนึ่งกำลังจะตาย โลกเป็นประจักษ์พยานการใช้ชีวิตแบบ ‘สุขขณะอยู่ในความทุกข์’ มามาก เป็นบทพิสูจน์ว่าสุขทุกข์นั้นขึ้นกับเราเอง

ในห้วงยามแห่งทุกข์ก็สามารถสุขได้ ยากจนก็ยิ้มได้ หิวข้าวก็ยิ้มได้ เป็นโรคร้ายก็ยังยิ้มได้

ความสุขไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นได้เฉพาะในโอกาสที่เหมาะสมกับความสุข ความสุขเกิดขึ้นในเวลาที่เราเปิดโอกาสให้ความทุกข์กลายเป็นความสุข

ชีวิตก็คือขนมสอดไส้ ความสุขซ่อนอยู่ภายในความทุกข์รอเราค้นหาและแตะต้องมัน แม้ยามที่ชีวิตกำลังทนทุกข์ทรมาน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0