ไลฟ์สไตล์

เจ็บกว่าโดนด่า หน้าชากว่าโดนตบ - วอนชาวเน็ตหยุด Cyberbully กันได้แล้ว! - จุดประเด็น

LINE TODAY
เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • AJ.

เราได้ยินข่าวคนมีชื่อเสียงหลายคนได้รับผลกระทบจากไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbully) หรือการกลั่นแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ตกันเป็นระยะ น่าเศร้าที่หลายคนยังคิดว่าการคอมเมนต์ในเชิงเกลียดชังนั้นเป็นสิ่งที่ "ทำได้" ตราบใดที่อีกฝ่ายเป็นคนมีชื่อเสียง 

โดยเฉพาะกับดารานักแสดงที่อยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลต์ จึงไม่แปลกที่จะตกเป็นเป้านิ่ง ให้ชาวเน็ตนักจวกทั้งหลายปาหินใส่กันจนสาแก่ใจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ชาวเน็ตเป็นใคร ทำไมชอบจวก?

ประเทศหนึ่งที่โด่งดังมากเรื่องไซเบอร์บูลลี่คือเกาหลีใต้ ชาวเน็ตเกาหลีถึงกับมีชื่อเรียกตัวเองว่าK-Netizen (Korean + Netizen) หรือKnetz เพราะความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตเกาหลีค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ อีกทั้งข่าว “ชาวเน็ตจวกไอดอล” ที่เกาหลีก็เรียกไลก์และขายได้ อย่างเคสเร็ว ๆ นี้ที่รุนแรงที่สุดเห็นจะเป็น ชเว จินรี หรือ ซอลลี่ อดีตเกิร์ลกรุ๊ปวง f(x) ไอดอลสาวที่ได้ชื่อว่าเป็น “เฟมินิสต์” ตัวจริง 

หลาย ๆ โพสต์ของเธอก่อให้เกิดการถกเถียงในอินเทอร์เน็ต รวมถึงเรียก Netizen ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเธอให้มารุมสาปเธอผ่านโซเชียล เช่น ริเริ่มไม่สวมบรา และไม่สนับสนุนกฎหมายต่อต้านการทำแท้ง แม้จะไม่มีการคอนเฟิร์มเหตุผลของการตัดสินใจจบชีวิตของซอลลี่อย่างเป็นทางการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อสันนิษฐานหลัก ๆ อาจมาจากโรคซึมเศร้าของเธอที่มีสาเหตุมาจากคอมเมนต์เกลียดชังในโซเชียลมีเดีย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อไม่นานมานี้ก็มีกรณีของชินดง วงซูเปอร์จูเนียร์ (Super Junior) ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องน้ำหนักตัว จนเจ้าตัวต้องออกมาให้เหตุผลว่ามีปัญหาทางด้านสุขภาพ หรือล่าสุดก็มี คัง แดเนียล อดีตเมมเบอร์วงวอนนาวัน (Wanna One วงบอยด์แบนด์เฉพาะกิจจากรายการ Produce 101 Season 2 รายการเซอร์ไวเวอร์เพื่อเฟ้นหาไอดอล) ที่หลังจากมีผลงานเดี่ยวและมีสังกัดเป็นของตนเอง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบมากมายจนเกิดผลกระทบทางจิตใจ ทำให้เขาเป็นโรคซึมเศร้าและมีภาวะตื่นตระหนก ล่าสุดแดเนียลเพิ่งประกาศพักงาน และเขียนบรรยายความรู้สึกบอกแฟน ๆ ของเขาว่า “เขาหวาดกลัวข่าวที่มีชื่อของเขาอยู่ในนั้น” 

คุณไข่ ถึง ไอซ์ ศรัณยู

ในไทยเองก็ไม่น้อยหน้า เคสไซเบอร์บูลลี่ดารานักแสดงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยกตัวอย่างกรณี คุณไข่ - ไข่มุก BNK48 สมาชิกรุ่นแรกที่เจอคอมเมนต์ด่าทอบ่อยจนเธอต้องออกมาโพสต์เกี่ยวกับไซเบอร์บูลลี่ ว่าเธอเลิกอ่านคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียเพราะไม่อยากเจอข้อความทำร้ายจิตใจ แต่ก็พยายามเข้าใจว่าท่ามกลางคอมเมนต์เกลียดชัง ก็ยังมีคนให้กำลังใจเธออีกมากมาย ก่อนจะปิดท้ายด้วยการให้กำลังใจคนที่กำลังเจอเรื่องแย่ ๆ เหมือนเธอ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หรือในกรณีของไอซ์ - ศรัณยู ที่เพิ่งออกมาระบายเรื่องราวที่เคยจิตตกจากข้อความเปรียบเทียบเขากับนักร้องคนอื่น ก่อนบอกว่า “ความแข็งแรงของสภาพจิตใจคนทุกคนไม่เท่ากัน และดีใจกับตัวเองที่ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้”

ทำไมไซเบอร์บูลลี่จึงเจ็บกว่า?

การกลั่นแกล้งถูกพัฒนาจากการที่เราแลบลิ้นใส่เพื่อนตอนเด็ก ๆ แกล้งบอกคนอื่นไม่ให้ยุ่งกับเพื่อนคนนี้เมื่อเราโตขึ้น รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชี้หน้าด่ากัน หรืออาจโหดกว่านั้น ในทางกลับกัน "ไซเบอร์บูลลี่" ไม่ต้องใช้อะไรดังที่กล่าวมาเลย ไม่จำเป็นต้องเจอหน้าคนที่อยากแกล้ง ไม่จำเป็นต้องให้เขารู้ว่าเราเป็นใคร และที่สำคัญ มีแค่มือถือเครื่องเดียวก็ร้ายใส่กันได้แล้ว

ไซเบอร์บูลลี่จึงเจ็บกว่า เพราะเหยื่อไม่มีโอกาสรู้เลยว่าคนที่แกล้งเป็นใคร อาจไม่มีวันรู้ว่าทำไมถึงโดนเกลียด และอาจบังเอิญไปเห็นข้อความเกลียดชังตอนไหนก็ได้ แปลว่าไม่มีที่ปลอดภัยในการหลบซ่อนจากไซเบอร์บูลลี่ ทุกคนอาจโดนคุกคามเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้

มั่นหน้า ขอ’เมนต์ด่าหน่อย!

ในขณะที่เราพยายามหนักมากที่จะดูเป็นคนคูลในไอจี ด้านมืดของบางคนอาจเรียกร้องโหยหาพื้นที่แสดงตัวตนมากกว่านั้น โดยการแสดงเป็นคน “ปากเสีย” ในโลกอินเทอร์เน็ต 

นักจิตวิทยามีคำตอบให้เรื่องนี้เพิ่มว่า ในการคอมเมนต์ด่าใครซักคน การพิมพ์ข้อความในมือถือก็ไม่ต่างอะไรจากการบ่นอยู่เงียบ ๆ คนเดียว จนลืมไปว่าสำหรับผู้รับ คอมเมนต์นั้นเปรียบเสมือนเสียงตะโกนสาปแช่ง และอาจเดินทางไปสู่อีกผ่ายได้ง่ายดายกว่าการชี้หน่าด่ากันเสียอีก

อย่าเป็น “คอมเมนต์” ที่ตัวเองไม่อยากอ่าน

ที่จริงไซเบอร์บูลลี่เกิดขึ้นได้ง่ายดายมาก ลองสำรวจตัวเองว่าคุณมีกรุ๊ปไลน์ที่แอบซ่อนจากเพื่อนคนหนึ่งไหม? เคยเผยแพร่รูป “ไม่สวย” ของเพื่อนคนหนึ่งโดยที่เขาไม่ยินยอมไหม? และก่อนจะคอมเมนต์อะไร ให้อ่านทวนทุกครั้งและคิดว่าถ้าเราเป็นผู้รับเราจะยังยิ้มออกไหม?

เพราะทั้งซอลลี, ชินดง, คัง แดเนียล, คุณไข่, และไอซ์ ศรัณยู ทุกคนมีความเหมือนกันอยู่หนึ่งอย่าง คือทุกคนมีรอยยิ้มเป็นของตัวเอง 

แล้วคุณเป็นใคร ถึงมีสิทธิ์ไปทำลายรอยยิ้มนั้นของพวกเขา?

-----

แหล่งอ้างอิง :

https://science.howstuffworks.com/life/inside-the-mind/human-brain/psychological-reason-mean-on-internet.htm

https://thematter.co/social/sulli-feminist-in-korean/87588

https://thematter.co/thinkers/netizen-in-korea/88208

https://www.the101.world/a-beginners-guide-to-cyberbullying/

https://news.thaipbs.or.th/content/285175

https://thestandard.co/kang-daniel-to-take-break-from-activities-on-his-mental-health/

ความเห็น 54
  • ต้องจัดการให้เป็นตัวอย่างให้มากขึ้น ส่วนมากคิดว่านั่งกดๆอยู่หลังแป้นพิมพ์​ที่ไหนไม่มีใครรู้ เป็นใครไม่มีใครรู้ ด่าใครเอาสะใจยังไงก็ได้ คงจะลืมคืดไปว่านี่ยุคดิจิตัลไง แค่กดส่งออกไป อะไรก็สืบต้นทางได้หมด นั่งพิมพ์​อยู่บ้านดีๆ ตำรวจไปเคาะประตูถึงบ้าน อายุแค่20กว่า ขึ้นศาลเพลินเลย 555
    05 ธ.ค. 2562 เวลา 05.42 น.
  • J
    ชาวเน็ตมันเม้นสนุกปากเพราะนึกว่าไม่มีใครรู้ไงว่าคนเม้นคือใคร
    05 ธ.ค. 2562 เวลา 05.24 น.
  • ถ้าคนเรามีจิตสำนึกที่ดีให้ต่อกันแล้ว เชื่อว่าปัญหาต่างๆก็คงจะไม่เกิดขึ้นมา.
    05 ธ.ค. 2562 เวลา 06.12 น.
  • 🇹🇭สยาม🇹🇭
    ประเทศเราเจริญแต่เน็ต แต่สังคมจิตรใจป่วย ฉิบพาย
    05 ธ.ค. 2562 เวลา 02.27 น.
  • Yong
    คนเราชอบแต่คำสรรเสริญไม่ชอบคำนินทาถูกว่าก็เพราะว่าเขายังไม่รู้เรื่องของโลกว่ามันตกอยู่ภายใต้กฎธรรมดามันเป็นเช่นนี้เองมันเป็นของคู่มีเกิดก็มีดับมีสุขก็มีทุกข์มีสรรเสริญก็มีนินทาเมื่อมีสติปัญญาสามารถที่จะปล่อยวางคือไม่ยึดติดทั้งสองฝั่งเท่ากับว่าเรากำลังอบรมจิตด้วยปัญญาทำจิตให้เป็นกลางวางใจให้เป็นหนึ่งหนึ่งนี้คือสักแต่ว่าคือมันไม่ปรุงแต่งไปตามการกระทบทางตาหูให้เกิดความยินดียินร้ายต่อสิ่งที่มากระทบเพราะมีสติขันติเมตตาอุเบกขาเป็นวิหารพระธรรม
    05 ธ.ค. 2562 เวลา 06.17 น.
ดูทั้งหมด