ไลฟ์สไตล์

'เบลอหน้า แปะหัวใจ' ส่องเหตุผลที่ 'คนดัง' เลิกแชร์ภาพลูกน้อย

LINE TODAY ORIGINAL
เผยแพร่ 11 พ.ย. 2565 เวลา 07.34 น. • AJ.

หากคุณเป็นแฟนคลับของเซเลปตัวน้อยๆ หรือลูกหลานดารา เราคือเพื่อนกัน

เพราะสำหรับคนรักเด็กแล้ว ความสุขของพวกเราคงหนีไม่พ้นการกดไลก์หรือส่องความน่ารักของเด็กๆ คนดังเหล่านี้ผ่านโซเชียลมีเดีย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ในระยะหลัง เราเห็นคนดังฝั่งตะวันตกเริ่มแชร์ภาพลูกน้อยในลักษณะที่ต่างออกไป หลายคนยังโพสต์รูปเจ้าตัวเล็กพร้อมข้อความน่ารักๆ เหมือนเดิม เพียงแต่บริเวณใบหน้าของเด็กๆ กลับถูกปกปิดด้วย "อีโมจิ" หรือไม่ก็ถ่ายแบบหลบมุมซ่อนไม่ให้เห็นใบหน้าของหนูน้อยแทน

'ความเป็นส่วนตัวของเด็ก' เหตุผลที่เด็กไม่ได้ขอ แต่ผู้ใหญ่ควรมีให้

เมื่อรูปแบบการ 'แชร์' โพสต์จากคนสาธารณะเปลี่ยนไป คนธรรมดาอย่างเราจึงอยากรู้ว่าทำไม? ปรากฏว่าในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและอัลกอริธึ่ม (Algorithm) 'ความเป็นส่วนตัว' ของลูกคือเหตุผลหลักที่ดาราเหล่านี้เลือกที่จะเก็บหน้าตาของทายาทตัวเองเป็นความลับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อะเดล (Adele) นักร้องชาวอังกฤษเจ้าของเพลง 'Hello' ให้เหตุผลที่ไม่เคยโพสต์รูปแองเจโล่ (Angelo) ลูกชายลงในโซเชียลมีเดียว่า "การเป็นลูกคนดังมันยากนะ หากวันนึงเขาอยากจะสูบบุหรี่ หรือเปิดเผยตัวว่าเป็น LGBTQ+ แต่ยังไม่ได้บอกฉัน แต่มีปาปารัสซี่จำเขาได้แล้วแอบถ่ายเขาไปลงข่าวจะทำยังไงล่ะ?"

ด้านจีจี้ ฮาดิด (Gigi Hadid) นางแบบชื่อดังขวัญใจวัยรุ่น ภรรยาสาวคนสวยของ เซน มาลิค (Zayn Malik) ที่แม้จะมีฟอลโลเวอร์เป็นอันดับต้นๆ ของโลกก็ยังหวงแหนความเป็นส่วนตัวของน้องไค (Khai) ลูกตัวน้อยเป็นที่สุด เธอเคยโพสต์ขอความร่วมมือเหล่านักข่าวและเหล่าปาปารัสซี่ลงอินสตาแกรม โดยแสดงขอบคุณที่เข้าใจว่าเธอไม่อยากให้ลูกของเธอต้องรับมือกับความเครียดของการถูกแอบถ่ายภาพ พร้อมขอให้ทุกคนที่ถ่ายภาพเธอช่วยเบลอใบหน้าของลูกด้วย

ฝั่งนักกีฬา ก็มีทอม ดาลีย์ (Tom Daley) นักกระโดดน้ำคนดังที่เพิ่งสร้างชื่อจากการเป็นนักกีฬา LGBTQ+ คนแรกที่คว้าเหรียญทองให้ประเทศอังกฤษ ที่แม้เจ้าตัวและสามีจะแชร์ภาพความอบอุ่นของชีวิตครอบครัวอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่เคยโพสต์หน้าตาของเจ้าหนูร็อบบี้ (Robbie) ลูกชายให้เห็นตรงๆ เลยสักครั้งเดียว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ยังมีคนดังอีกมากมายที่ 'ไม่โพสต์' หรือเปิดเผยหน้าตาของลูกตัวเองลงในโซเชียลมีเดีย ทั้ง คริสเตน เบล (KristenBell) และ แดกซ์ เชพาร์ด (Dax Shepard) แอชตัน คุชเชอร์ (Ashton Kusher) และ มิลา คูนิส (Mila Kunis) รวมถึงคนดังอีกหลายคน และดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

5 สิ่งที่อาจเกิดขึ้น หากเราแชร์เรื่องราวของเด็กลงโซเชียลมีเดียมากเกินไป

รู้แหละว่าเด็กๆ น่ารักที่สุดในโลก! แต่นอกจากเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว เมื่อเรากดแชร์ ก็แปลว่ารูปหรือข้อมูลนั้นๆ อาจถูกบันทึก ส่งต่อ จนถึงมือใครต่อใครที่เราไม่อาจควบคุมได้

  • รุกล้ำความเป็นส่วนตัว- เมื่อเด็กอายุเข้าปีที่ 5 เด็กจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง เริ่ม 'แคร์' ว่าคนรอบตัวมองตัวเองยังไง ดังนั้นหากพบว่ารูปของตัวเองที่พ่อแม่โพสต์ในโซเชียลมีเดียมีความน่าอาย อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมไปเลยก็ได้
  • กลายเป็นต้นเหตุของการ 'กลั่นแกล้ง' - ภาพตอนเด็กที่เจ้าของภาพไม่ได้ใส่ใจ อาจถูกนำมาล้อเลียนเมื่อเขาโตขึ้น เพราะเชื่อเถอะว่าไม่เคยมีใครไม่โดน 'ขุด' จริงไหม?
  • ข้อความของพ่อแม่ ส่งผลต่อลูกตอนโต- การบอกเล่าเรื่องราวของลูกจากมุมมองของพ่อแม่ตอนเขายังเด็ก อาจกระทบต่อเส้นทางชีวิตของลูกตอนโตได้
  • การสวมรอย - หลายต่อหลายครั้งที่รูปภาพเด็กๆ ถูกนำไปตัดต่อและใช้งานโดยที่เจ้าของภาพไม่รู้ตัว ทั้งการแอบอ้างและสวมรอยโดยใช้รูปเด็ก
  • ภาพของเด็กอาจดึงดูดอันตรายจากคนไม่น่าไว้ใจ - มองในแง่ร้ายที่สุด เราไม่อาจรู้ได้เลยว่ารูปของลูกหลานของเราอาจไปอยู่ในมือของคนอันตราย หรือร้ายแรงที่สุดคืออาจเป็นเหยื่อเหล่าคนใคร่เด็กที่แฝงตัวในอินเทอร์เน็ตได้

คุ้มครองเด็ก คือหน้าที่ของเรา!

ในไทยเอง เคยมีดรามาที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในอินเทอร์เน็ต ว่าด้วยคุณแม่ท่านหนึ่งที่โพสต์ภาพลูกสาวคนสวย แต่กลับมีชาวเน็ตผู้ไม่ประสงค์ดีคอมเมนต์ในเชิงชู้สาว จนชาวเน็ตต้องทักท้วงถึงคุณแม่เจ้าของภาพ ไปจนถึงเรียกร้องให้คุณแม่เคารพสิทธิในตัวลูกสาวด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เตือนภัย! ผู้ปกครอง ฝืนใจลูก ถ่ายรูปลงโซเชียล ดันเจอคุกคามออนไลน์เพียบ

ด้านกฎหมาย ประเทศไทยก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ห้ามมิให้บุคคลต่างๆ ทำร้ายร่างกายเด็ก ไม่ดูแลจนเด็กมีความประพฤติไม่เหมาะสม รวมไปถึงการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กจนส่งผลกระทบต่อเด็ก ที่เป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อีกด้วย

เมื่อโลกเปลี่ยนไป โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตผู้คนมากขึ้น ขอบเขตในการโพสต์หรือแชร์เรื่องราวจึงเป็นหัวข้อที่ต้องนำมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะความเป็นส่วนตัวของ 'เด็ก' ที่แม้เจ้าตัวจะเป็นเจ้าของ แต่ด้วยวัยแล้ว กลับแสดงความเห็นชอบหรือห้ามปรามพ่อแม่ไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องปกป้องดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของเขาให้ดีที่สุด

อ้างอิง

bustle.com

distractify.com

jelliesapp.com

insider.com

khaosod.co.th

ความเห็น 40
  • Chai
    ไทยไม่ทำหรอก หากินกับลูกหลายคนอยู่
    14 ต.ค. 2564 เวลา 01.29 น.
  • 3568💰C13♾️
    ยกเว้นเมืองไทยนี่ยังบ้าบออยู่เลยเปิดช่องยูทูปตั้งแต่อยู่ในท้องจนคลอดมาเลยจ้า พอคนเข้าไปเม้นไปแซะแล้วเจ้าตัวไม่ปลื้มก็ฟ้องเรียกค่าเสียหาย🙄🙄
    14 ต.ค. 2564 เวลา 01.27 น.
  • eka
    ยกเว้น ดาราไทยแหละ คิดคือ เดี๋ยวมีงาน คุ้มครองสิทธิเด็กอะไร สมองมันคิดไม่ถึง
    13 ต.ค. 2564 เวลา 19.17 น.
  • ต่างประเทศบางเรื่องเค้าเจริญไปไกล เน้นความเป็นส่วนตัว ไม่ใช่เอาลูกมาอ้างเพื่อเรียกยอดไลค์หรือโฆษณาขายของ? มีสิทธิคุ้มครองเด็กอย่างดี
    14 ต.ค. 2564 เวลา 05.26 น.
  • Dararatsamee🥰
    หันมาดูประเทศไทย..😏😏😏
    14 ต.ค. 2564 เวลา 01.50 น.
ดูทั้งหมด