ทุกคนคงรู้จัก มิกกี้เมาส์, โดนัลดักส์, กูฟฟี่
เคยดูสโนไวท์, ซินเดอเรลลาร์, ไลออนคิงส์, แฟนตาเซีย ฯลฯ รวมทั้งคุ้นเคยกับชื่อบริษัทดิสนีย์เป็นอย่างดี แต่อาจไม่รู้ว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ วอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ (Walter Elias Disney) หรือ วอลต์ ดิสนีย์ ผ่านอะไรมาบ้าง
จากเด็กชายยากจน ผู้ล้มเหลวกับการทำภาพยนตร์การ์ตูนที่ตัวเองรัก เขาหอบความฝันเข้ามายังฮอลลีวูด เผชิญกับอุปสรรคนานัปการ แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งเขาจากการทำภาพยนตร์การ์ตูนที่สร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับผู้ชมทุกคน
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับวอลต์และผลงานของเขาให้มากยิ่งขึ้น และหาคำตอบว่าอะไรทำให้ วอลต์ ดิสนีย์ ก้าวขึ้นมาเป็นราชาการ์ตูนของโลก
01
นักทำการ์ตูนผู้ล้มเหลว
ฉากหนึ่งในชีวิต ที่วอลต์ จำได้ไม่ลืม..
เขาหิ้วกระเป๋าเดินทางจากเมืองแคนซัสเพื่อมาฮอลลีวูด พอลงรถไฟ ชายแปลกคนหนึ่งก็มาชวนคุยถามว่าเขาทำอาชีพอะไร
“ทำหนังการ์ตูนครับ” วอลต์ตอบ
ชายคนนั้นมองดูเสื้อผ้าปอนๆ ที่ไม่เข้าชุดของเขา แล้วหน้าตาท่าทางก็เปลี่ยนเป็นดูแคลน
“อ๋อ อย่างนี้เองสินะ คุณถึงตกอับ”
เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ทีไร เขาจะมีแรงใจทำงานให้ดียิ่งขึ้น
วอลต์รักการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยฐานะครอบครัวที่ยากจน เขาแทบไม่มีเวลาทุ่มเทให้กับสิ่งที่รักเลย ตอนอายุ 10 ขวบ วอลต์และพี่ชาย ต้องตื่นนอนเวลาตีสามครึ่งทุกวันไปช่วยพ่อส่งหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าอากาศจะหนาวหรือฝนตก ก็ต้องออกไปส่งตามบ้านประมาณ 50 หลังให้ครบ ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษ
ด้วยความขยัน เขาใช้เวลาช่วงพักกลางวันไปทำงานที่โรงงานลูกอม เก็บเงินได้ก็สมัครเรียนวาดเขียนทางไปรษณีย์ พออายุ 14 ปี จึงเข้าโรงเรียนวาดเขียนในวันเสาร์
ในช่วงสงคราม วอลต์ไปรับจ้างขับรถให้กองทัพอเมริกันที่ประเทศฝรั่งเศส และเริ่มต้นรับจ้างเขียนภาพโฆษณาชวนให้คนแวะมาซื้อชอกโกแลต เขียนรูปเหรียญกล้าหาญติดบนเสื้อแจ็กเก็ตทหาร
เมื่อกลับบ้านเกิด พ่อจะให้ทำงานในโรงงานวุ้น แต่วอลต์หนีไปสมัครบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ นายจ้างจึงให้ฝึกงานไปก่อน แต่เมื่อเห็นเด็กหนุ่มตั้งใจชนิดแทบไม่ลุกจากโต๊ะ เขาก็ให้เงินเดือน 50 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าค่าแรงโรงงานวุ้นถึงเท่าตัว
วอลต์รับหน้าที่ร่างแบบด้วยดินสอดำ เขาได้เรียนรู้วิธีการเขียนหลายอย่างมากกว่าที่เคยเรียนจากโรงเรียน ต่อมาก็สมัครงานเป็นนักเขียนการ์ตูนที่บริษัทภาพยนตร์โฆษณาแคนซัสซิตี้ ในปี 2463 ที่นี่เองคือจุดเริ่มต้นของการทำภาพยนตร์การ์ตูน
การทำภาพเคลื่อนไหวครั้งแรกของวอลต์ คือการตัดกระดาษให้เป็นรูปต่างๆ แล้วต่อเข้ากับหมุดเพื่อให้ขยับได้ นำมาใช้ในหนังโฆษณา วอลต์กับเพื่อนชื่อ อับ ไอเวิร์ค ตะลุยเปิดอ่านหนังสือด้านการทำเทคนิกภาพเคลื่อนไหวแบบนี้ด้วยความลุ่มหลง
ทั้งสองคนช่วยกันคิดประดิษฐ์กลวิธีแปลกๆ ขึ้นอีกหลายอย่าง ด้วยความที่อยากจะทดลองหลายแบบ เขาจึงขอยืมกล้องถ่ายหนังจากนายจ้างแล้วเอาไปลองทำตอนกลางคืนที่โรงรถว่างๆ แห่งหนึ่ง โดยตั้งใจว่าจะทำภาพยนตร์การ์ตูนไปขายให้กับโรงหนังในเมือง
วอลต์เรียกงานชิ้นนี้ว่า นิวแมน-ลาฟ-โอ-แกรม นำเรื่องราวขำขันที่โด่งดังมาทำเป็นหนัง ทั้งคู่ทำหนังตัวอย่างแล้วลองนำไปคุยกับผู้จัดการโรงหนัง เขาชอบใจผลงาน ต่อมาจึงว่าจ้างให้ทำการ์ตูนครบรอบปีของโรงภาพยนตร์ วอลต์ก็ทำเป็นเค้กแล้วมีดาราชื่อดังหลายคน ปะทุออกมาจากเค้กก้อนนั้น เมื่อเจ้าของโรงหนังอยากทำการ์ตูนเพื่อห้ามคนดูหนังที่ชอบอ่านชื่อหนังดังๆ รบกวนคนอื่น วอลต์ก็ทำเป็นตัวการ์ตูนศาตราจารย์ออกมาขันแม่แรงยกที่นั่งของชายชอบอ่านชื่อหนังให้ไหลตามกระดานเลื่อนออกจากโรงไปกลิ้งอยู่ที่ถนน
ในที่สุดวอลต์ก็เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งมาซื้อกล้องใหม่ พร้อมทั้งขยับขยายไปเช่าที่ทำงาน เปิดรับเด็กๆ ที่อยากเรียนรู้การทำการ์ตูนมาช่วย แล้วก็เริ่มสร้างหนังการ์ตูนเกี่ยวกับเทพนิยาย ตั้งชื่อกิจการว่า ลาฟโอแกรม ทำหนังการ์ตูนสั้นเป็นชุดส่งไปฉายที่นิวยอร์ก เมื่อได้เงินก็นำมาจ่ายให้กับเด็กๆ ตัวเขาเองก็ลาออกมาทำบริษัทแห่งใหม่เต็มตัว
แต่แล้วผู้ซื้อหนังไปฉายเกิดมีปัญหา ไม่ยอมนำเงินมาชำระให้ คนทำงานจึงทยอยลาออกกันหมด เขาดิ้นเฮือกใหญ่ด้วยการนำคนมาแสดงประกอบกับการ์ตูน ในเรื่อง‘อลิซในดินแดนการ์ตูน’ แต่หนังไม่ประสบความสำเร็จ
ตอนอายุ 19 วอล์ตหมดตัว ต้องทำงานเล็กๆ น้อยๆ หาเงินประทังชีวิตไปวันๆ เขาขายรูปเขียนขำขันให้กับช่างแทนค่าตัดผม บางวันไปกินข้าวแล้วไม่มีเงินจ่ายก็ต้องเซ็นเอาไว้ บางวันเขาไปเก็บถั่วกระป๋องกับขนมปังแห้งๆ ที่ทิ้งแล้วมากินแก้หิว
ในที่สุดชายหนุ่มอายุ 20 ก็ขายกล้องถ่ายหนัง แล้วตัดสินใจมุ่งหน้ามาเผชิญโชคที่ฮอลลีวูด
ตอนนั้น เขาคิดจะเลิกเขียนการ์ตูนอย่างเด็ดขาด
02
กำเนิดมิกกี้เมาส์
วอลต์เดินไปรอบฮอลลีวูดเพื่อขอสมัครงานในตำแหน่งผู้กำกับภาพยนตร์ ผ่านไป 2 สัปดาห์ยังเตะฝุ่นอยู่ จึงเปลี่ยนความคิด เขาขอทำงานอะไรก็ได้ แค่เพียงได้เข้าไปทำงานในโรงถ่าย
“คนเรามีสองประเภท ประเภทหนึ่งจะหมดอาลัยตายอยากเมื่อหางานทำไม่ได้ กับอีกพวกหนึ่งคือลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง” วอลต์กล่าวถึงประสบการณ์ในตอนนั้น
แน่นอนว่า เขาเป็นประเภทหลัง จึงไปเช่ากล้องถ่ายหนังเก่าๆ สร้างขาตั้งกล้องด้วยเศษไม้ทิ้ง และไปยืมโรงรถของพี่ชายที่รู้จักกันเป็นที่ทำงาน
เจ้าของโรงหนังชอบไอเดียหนังตลกที่เขานำไปขาย และให้ลองทำตอนตัวอย่าง แต่ยังไม่ทันไร ก็มีข่าวดีว่า หนัง ‘อลิซในดินแดนการ์ตูน’ ของเขาขายได้แล้ว มีผู้ลงทุนให้ทำเป็นซีรีย์ยาวจำนวน 12 ตอน ให้ราคาถึงม้วนละ 1,500 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าราคาสูง
ต่อมา วอลท์และรอย ดิสนีย์ พี่ชายที่มาร่วมลงทุน ทำหนังการ์ตูนเรื่องเจ้ากระต่ายหูยาวชื่อออสวัลด์ ทุกอย่างเหมือนจะไปได้ดี แต่ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อน้องเขยของเขาไปแอบไปซื้อตัวบรรดานักวาดการ์ตูนของวอลต์ โดยให้ค่าจ้างสูงกว่า แถมยังฮั้วกับบริษัทที่จ้างทำหนังให้ลดราคาค่าผลิตแต่ละตอนลงด้วย
วอลต์ตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง แล้วหันมาตั้งบริษัทใหม่ แม้ว่าจะเจ็บใจมาก แต่เขาก็ต้องก้าวต่อไป
ระหว่างทางเดินทางกลับจากอเมริกาฝั่งตะวันตกกับภรรยา ช่วงเวลาที่รถไฟวิ่งข้ามทวีปมานั้น วอล์เฝ้าแต่ครุ่นคิดถึงการ์ตูนชุดใหม่ เมื่อรถมาถึงมิสซิสซิปปี้เขาก็คิดได้ว่าจะสร้างตัวการ์ตูนที่เป็นหนู
“มีเรื่องที่เขียนถึงอยู่หลายเรื่อง มักจะเล่ากันว่ามีหนูตัวหนึ่งอาศัยอยู่บนโต๊ะทำงานของผมที่แคนซัส และผมชอบมันมาก แต่ความจริงก็คือตอนดึกๆ มักมีบรรดาหนูมาชุมนุมในตะกร้าทิ้งกระดาษ ผมจึงนำหนูมาใส่กรงตั้งไว้บนโต๊ะ หนูตัวหนึ่งมันเชื่องและช่างขี้เล่น อาจทำให้ผมมีความรู้สึกพิเศษต่อเจ้าหนูมาตั้งแต่ตอนนั้น”
ตอนแรก วอลต์ตั้งชื่อตัวการ์ตูนนี้ว่า มอร์ติเมอร์เมาส์ แต่พอบอกภรรยา เธอบอกว่ามันฟังดูไม่เข้าท่า เขาจึงคิดชื่อใหม่เป็น มิกกี้เมาส์ และตกลงใช้ชื่อนี้
ในช่วงที่มิกกี้เมาส์ เริ่มผลิตไปแล้วสามตอน วงการภาพยนตร์ทั่วโลกก็ตกตะลึงเมื่อมีภาพยนตร์มีเสียงฉายเป็นครั้งแรกในอเมริกา เรื่องราวเกี่ยวกับนักร้องเพลงแจ๊ส ทำให้บรรดาหนังเงียบทั้งหลายแทบจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย
วอลต์คิดในทันทีว่า ต้องทำให้มิกกี้เมาส์มีเสียงให้ได้ ช่วงแรกเขาทดลองทำเสียงเอง โดยให้ลูกน้องเล่นดนตรี เขาไปเลือกซื้อข้าวของ เช่น กระป๋อง กระดิ่งผูกวัว กระดานซักผ้า นกหวีด ขลุ่ยเด็กเล่น จากนั้นเอามาทำเสียงร่วมกับเครื่องดนตรีคือหีบเพลงปากเป่าและไวโอลิน แต่เมื่อเรียกบรรดาภรรยาของทีมงานมาชม ทุกคนก็ดูแล้วบอกว่า เฉยๆ ออกไปทางหนวกหูเสียมากกว่า
ชายหนุ่มไม่ยอมแพ้ เขารวบรวมโน้ตเพลงและฟิล์มหนังเดินทางไปนิวยอร์ก ในที่สุดก็ได้เจอกับชายคนหนึ่งซึ่งมีเครื่องบันทึกเสียงและวงดนตรี แต่ต้องใช้ความพยายามอยู่พักใหญ่กว่าที่ระบบเสียงจะสอดรับกับภาพการ์ตูนจนเป็นที่น่าพอใจ
หนังการ์ตูนมิกกี้เมาส์ ตอนนั้นคือ เรือกลไฟวิลลี (Steamboat Willie) วอลต์ร่วมทำเสียงหนูจี๊ดๆจ๊าด แล้วยังทำเสียงนกแก้วที่ตะโกนว่า “คนตกเรือ” ปรากฎว่าเมื่อนำไปฉาย ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชม หนังสือพิมพ์พากันลงข่าวว่า “หนังการ์ตูนมีเสียง?” ทุกคนพยายามติดต่อซื้อหนังมิกกี้เมาส์ไปเป็นของตัวเอง แต่วอลต์ยืนกรานว่าไม่ขาย เขาต้องเป็นเจ้าของหนังของตัวเอง เพราะมีบทเรียนมาแล้วจากตอนที่โดนบริษัทหนังยึดผลงานทั้งหมด
ความสำเร็จของตอนเรือกลไฟวิลลี ทำให้วอลต์นำมิกกี้เมาส์ 3 ตอนก่อนหน้า มาทำเสียงเพิ่มเข้าไปแล้วขายเป็นชุด เมื่อออกฉายก็ดังระเบิดไปทั่วประเทศ เจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์ต่างติดต่อมาสั่งว่า เอาเรื่องหนูมาอีก! เอามิกกี้เมาส์อีก! แต่วอลต์คิดไปไกลกว่านั้น เขาเริ่มพัฒนาหนังชุดใหม่ขึ้นมาเรียกว่า Silly Symphony เน้นทำหนังการ์ตูนประกอบกับเสียงดนตรี
แม้ในช่วงแรกหนังเรื่อง The Skeleton Dance จะขายยาก เพราะทุกคนอยากได้มิกกี้เมาส์ มากกว่า แต่เมื่อเจ้าของโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองลอส แองเจลีส ตัดสินใจซื้อไปฉายประกอบกับภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ หนังก็วิ่งฉิวเหมือนเรือใบที่ได้ลมดี
แม้หนังมิกกี้เมาส์จะประสบความสำเร็จ แต่โรงถ่ายหนังของดิสนีย์ก็ยังมีปัญหาเงินฝืดเคือง ส่วนหนึ่งก็เพราะบริษัทที่รับหนังไปจัดจำหน่ายกลับหมกเม็ดไม่ยอมให้ดูบัญชีทั้งหมด แถมยังนอนกินเงินจากการ์ตูนชุดมิกกี้เมาส์ อย่างสบาย แต่วอลต์ก็ไม่สามารถแตกหักกับบริษัทนี้ได้ เพราะรายได้ของเขายังไม่แน่นอน จึงต้องยอมกล้ำกลืนฝืนทนทำงานหนักต่อไป
บางวันเขาพาภรรยาและลูกไปกินอาหารนอกบ้าน พอขับรถกลับมาทางกองถ่ายก็บอกว่าขอแวะเข้าไปสักประเดี๋ยวเพื่อเคลียร์งานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ เมื่อภรรยาและลูกๆ นอนรอจนหลับไป เขาก็วุ่นกับงานจนถึงตีหนึ่ง พอภรรยาตื่นขึ้นมาถามเวลาเขาก็แกล้งบอกไปว่า สี่ทุ่มครึ่ง เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง
ในปี 2474 เขาทำงานหนักมากทั้งร่างกายและจิตใจจนเป็นคนประสาทเสีย หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย เมื่อหาหมอ หมอก็สั่งให้เขาไปให้ไกลจากโรงถ่าย ไปพักผ่อน ออกกำลังกาย และหางานอดิเรกทำ วอลต์จึงออกเดินทางไปเที่ยวที่วอชิงตัน พอกลับมาเขาก็เลิกชีวิตแบบเดิมทั้งหมด หันมาดูแลร่างกาย และให้เวลากับครอบครัว
03
การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ขณะนั้นเริ่มมีภาพยนตร์สีเกิดขึ้นแล้ว แต่คุณภาพยังต่ำอยู่ จนกระทั่งบริษัท เทคนิคคัลลเลอร์สามารถทำสีออกมาได้อย่างสมบูรณ์สวยงาม วอลต์ไม่รอช้า เขาไปเจรจาด้วยทันที แม้ว่าจะสิ้นเปลืองงบในการสร้าง แต่เขาก็อยากทำให้ออกมาดี ตอนนั้นดิสนีย์ทำหนังการ์ตูน Flowers and Trees ในชุด ชุด Silly Symphony ไปเกือบเครื่องเรื่องแล้ว แต่ก็ตัดสินใจรื้อทำใหม่ให้เป็นหนังสี
ความคิดของเขาไม่ตรงกับรอย พี่ชายที่คอยดูเรื่องการเงินให้ดิสนีย์ เพราะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่วอลต์มองเห็นว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ในอนาคต การ์ตูนจะมีคุณค่าสูงขึ้น ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจลุยต่อโดยไม่เชื่อคำคัดค้าน
เรื่อง Flowers and Trees เหมาะกับการทำการ์ตูนสีมาก เพราะเกี่ยวกับธรรมชาติ มีฉากต้นไม้เต้นรำ นกร้องเพลง ดอกไม้นานาพันธุ์บานสะพรั่งในทุ่งหญ้าเขียวขจี เมื่อออกฉายก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีการสั่งจองล้นหลาม และเป็นการ์ตูนเรื่องแรกของดิสนีย์ที่ได้รับรางวัลออสการ์
การ์ตูนชุด Silly Symphony ทำให้วอลต์ เริ่มคิดถึงการพัฒนาแผนกต่างๆ ของดิสนีย์ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อยกระดับภาพยนตร์การ์ตูนของเขามีคุณภาพสูงขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่วาดมิกกี้เมาส์ได้อย่างเดียว แต่จะต้องวาดภาพอย่างอื่นได้สวยงามด้วย เช่น ใบไม้ที่มีหยดน้ำค้าง บรรยากาศธรรมชาติ วอลต์จึงจ้างครูจากโรงเรียนวาดเขียนมาสอนพนักงานอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ยังให้ทีมงานศึกษาลักษณะการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ เพื่อให้วาดออกมาถูกต้องและเหมือนจริงที่สุด เช่น ให้นางแบบเปลี่ยนอิริยาบทจากนั่งนิ่งเป็นเคลื่อนไหว ดูท่าทางของสัตว์ต่างๆ เมื่อเคี้ยวอาหาร ดีใจ ตกใจ รวมทั้งบันทึกภาพกระจกที่แตกกระจาย ลูกบอลที่ตกลงพื้น หยดน้ำที่ตกลงในถัง ฯลฯ แล้วนำมาย้อนดูแบบสโลว์โมชันเพื่อที่จะวาดตาม
ในด้านการทำมุกตลกต่างๆ ก็ตั้งทีมขึ้นมาสำหรับคิดเรื่องและคิดมุกโดยเฉพาะ เพื่อทำให้ผลงานสนุกสนานและกลมกลืนยิ่งขึ้น
“สมัยก่อนเป็นการทำงานเพื่อเลี้ยงปากท้อง พ่อต้องทำการ์ตูนสั้นๆ ออกมาให้ได้ทุกสองอาทิตย์ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเวลาคิดมุกตลกให้มันเข้าท่าได้เลย ตอนนี้เรามีเวลามากขึ้น จึงต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม” ไดแอน ดิสนีย์ เล่าไว้ในหนังสือชีวประวัติของวอลต์
วอลต์ยังรวมเอาคนเก่งๆ อีกหลายสาขามาทำงานด้วยกัน บทบาทของเขาเหมือนกับวาทยากร ผู้ทำให้เครื่องดนตรีหลากหลายชนิดในวง บรรเลงร่วมกันอย่างไพเราะมีพลัง
ผลลัพธ์ของการทุ่มเทพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้การ์ตูนเรื่องต่อมาอย่าง ลูกหมูสามตัว (Three Little Pigs) ที่ฉายในปี 2476 ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ คนดูที่เดินออกจากโรงหนังต่างร้องฮัมเพลง “Who's Afraid of the Big Bad Wolf” แทบทุกคน การ์ตูนเรื่องนี้ก็ทำให้เขาได้รางวัลออสการ์อีกครั้ง และทำให้เจ้าของโรงหนังที่เคยบอกว่า “เอาหนูมาอีก” เปลี่ยนเป็น “เอาหมูมาอีก”
การ์ตูนเรื่อง ลูกหมูสามตัว ยังทำให้ดิสนีย์ขายตุ๊กตารูปหมูออกไปได้นับล้านตัวอีกด้วย เป็นรายได้อีกทางที่เข้ามาช่วยบริษัท
แน่นอนว่าวอลต์ไม่หยุดความพึงพอใจไว้แค่นั้น เขาตั้งใจจะทำสิ่งที่ยากยิ่งกว่า และแทบไม่มีใครทำมาก่อน นั่นคือการทำภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาว
04
ความท้าทายของสโนไวท์
การทำการ์ตูนสั้น อย่างมากก็เป็นได้แค่เพียงหนังฉายประกอบภาพยนตร์เรื่องหลัก ชื่อเสียงและรายได้ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หนำซ้ำแต่ละเรื่องก็ลงทุนสูง วอลต์จึงตั้งใจทำหนังเรื่องยาวให้สำเร็จ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเขาต้องเจอกับความท้าทายทั้งในด้านเทคนิคการสร้าง และเงินก้อนใหญ่ที่ต้องหามาลงทุน
สโนไวท์และคนแคระทั้งเจ็ด คือหนังเรื่องที่เขาพร้อมเดิมพัน ด้วยความที่เป็นทั้งหนังเรื่องยาวและเนื้อเรื่องก็ใกล้เคียงกับชีวิตจริง ซึ่งดิสนีย์ไม่เคยทำมาก่อน ทีมงานจึงต้องเตรียมการหลายด้าน
อย่างแรกคือ การพัฒนาด้านภาพให้ดูสวยงาม มีมิติ มากกว่าเดิม เพราะหนังยาวถึง 80 นาที ถ้าภาพแบนๆ คนดูอาจเบื่อได้ วอลต์จึงสร้างหนังเรื่อง โรงสีร้าง (The Old Mill) ขึ้นมาก่อน โดยทดลองใช้กล้องแบบมัลติเพลน คือจากเดิมที่ถ่ายทีละภาพ ก็จะใช้วิธีเลื่อนกล้องถ่ายผ่านหลายๆ ภาพไปในทีเดียว ทำให้ภาพออกมามีระยะลึกมากกว่าเดิม แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะทำขึ้นเพื่อทดสอบกล้อง แต่ก็มีความสมบูรณ์จนคว้ารางวัลออสการ์มาอีกตัว
ต่อมาคือการหาเด็กสาวที่จะมาพากย์เสียงเป็นสโนไวท์ วอลต์ไม่อยากให้หน้าตาของคนที่มาคัดเลือกมีอิทธิพลต่อความคิด เขาจึงให้ต่อไมโครโฟนพ่วงเข้าไปฟังที่ห้องทำงาน ในที่สุดก็ได้พบเสียงของ เอเดรีอานา เคเซอลอตตี ซึ่งมาจากครอบครัวนักร้องโอเปรา
สิ่งที่ยากอีกอย่างคือ การสร้างตัวการ์ตูนสโนไวท์ขึ้นมา เธอต้องสวย มีอิริยาบทงดงามชดช้อย ขณะเดียวกันก็ต้องแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้าที่สมจริง ทีมงานจึงต้องไปคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นต้นแบบ ในที่สุดก็ไปเจอเด็กสาวลูกเจ้าของโรงเรียนเต้นรำ ที่รูปร่างเล็กและมีท่าทางสง่างาม
แต่สิ่งที่ยากที่สุด คือการหาแหล่งเงินทุน เพราะหนังเรื่องนี้ใช้เงินถึงเกือบ 2 ล้านดอลลาร์ซึ่งสูงมากในตอนนั้น จนมีคำกล่าวกันในวงการว่าคือ ‘ความโง่ของดิสนีย์’ วอลต์เร่ไปพบเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารต่างๆ ในที่สุดธนาคารแห่งอเมริกาก็ยอมลงทุนด้วย
หนังเรื่องสโนไวท์และคนแคระทั้งเจ็ด ใช้เวลาสร้างถึง 2 ปี มีส่วนผสมทั้งความสวยงามด้านภาพ ความตลกขบขัน และเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ เมื่อออกฉายก็กลายเป็นปรากฎการณ์ของโลกภาพยนตร์ หนังกอบโกยรายได้ทั้งในอเมริกาและต่างประเทศ เพลงประกอบก็ฮิตไปทั่ว และทำให้ชื่อเสียงของบริษัทวอลต์ ดิสนีย์ เป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนชั้นนำของโลก
และอย่างที่เรารู้กัน หลังจากนั้นภาพยนตร์การ์ตูนยาวเรื่องอื่นๆ ของดิสนีย์ ก็ประสบความสำเร็จตามมาอีกเรื่อยๆ ทั้งพิน็อกคิโอ ซินเดอร์เลลา แฟนตาเซีย เจ้าหญิงนิทรา ทาร์ซาน เดอะ ไลออนคิง ฯลฯ ตอนหลังวอลต์ไปทำภาพยนตร์ที่มีคนแสดง รวมถึงสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ ก็สามารถครองใจเด็กๆ และครอบครัวได้ทั่วโลก ส่วนตัวเขาเองนั้นก็กวาดรางวัลออสการ์ไปครองได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์เป็นสถิติมาจนถึงทุกวันนี้
หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้วอลต์ ดิสนีย์ ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ทั้งที่ชีวิตของเขาแทบไม่มีแต้มต่ออะไรเลย บางทีคำตอบอาจเป็นการที่เขาพัฒนางานของตัวเองอยู่ตลอด โดยไม่ย่ำอยู่กับความสำเร็จเดิม และไม่กลัวที่จะเริ่มสิ่งใหม่ แม้มันจะยากหรือไม่เคยมีใครทำมาก่อน
ถ้าหากมีสิ่งใดที่ล้มเหลว เขาก็จะไม่ยอมเสียเวลานั่งเสียใจอยู่กับมันนาน
ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
เรียบเรียงและภาพประกอบจาก
- หนังสือ วอล์ท ดิสนีย์ ราชาการ์ตูน The Story of Walt Disney โดย Diane Disney Miller
- หนังสือ Remembering Walt โดย Amy Boothe Green และ Howard E.Green
- หนังสือ The Art of Walt Disney โดย Christopher Finch
ความเห็น 10
₪isn☀️i
ฉันชอบการ์ตูนของวอลท์ดิสนีย์ตรง มันไม่มีภาพของความรุนแรง ต่างจากอีกค่าย ที่ตบหัวตีกันตกตึกโดนรถทับแล้วยังไม่ตาย
26 ก.พ. 2563 เวลา 02.20 น.
Nui
ชอบมาตั้งแต่เด็กๆๆ
25 ก.พ. 2563 เวลา 04.58 น.
PANADDA S.🖤
👍ดี
25 ก.พ. 2563 เวลา 03.12 น.
hi Hi
✨💖
24 ก.พ. 2563 เวลา 15.51 น.
OIL159
I love you Disney.
23 ก.พ. 2563 เวลา 16.09 น.
ดูทั้งหมด