โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อ้วนที่ฉัน ไปหนักหัวใคร! “คนอ้วน” หล่อ/สวย ไม่ได้เหรอ? คนไทยเป็นอะไรกับหุ่นคนอื่น?

Another View

เผยแพร่ 19 ม.ค. 2562 เวลา 01.00 น.

อ้วนที่ฉัน ไปหนักหัวใคร!  “คนอ้วน” หล่อ/สวย ไม่ได้เหรอ? คนไทยเป็นอะไรกับหุ่นคนอื่น? 

“อ้วน ไอ้อ้วน!” “หมูตอน” “ช้างน้ำ” “ผีเสื้อสมุทร”

คำล้อเลียนเหล่านี้คงจะเป็นสิ่งที่เราหลาย ๆ คนเคยได้ยินตั้งแต่สมัยยังจำความได้ ในรั้วโรงเรียน หากคุณเป็นเด็กอ้วน คุณก็คงจะโดนล้อด้วยถ้อยคำเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้ว หรือหากคุณไม่ได้มีรูปร่างอ้วน ก็คงย่อมเคยได้ยินเพื่อนที่มีน้ำหนักหรือหุ่นเกินไซส์มาตรฐานไปหน่อยนั้นโดนล้อด้วยถ้อยคำเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง 

คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินคำล้อเลียนเหล่านี้?​

หลาย ๆ คนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ใคร ๆ ก็ล้อกันแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก บางคนที่เป็นผู้ที่ถูกล้อเลียนเองก็อาจยอมรับโดยดุษณี และเห็นว่า “ก็เพราะเราอ้วนแบบนี้นี่นา จะโดนเขาล้อก็ถูกต้องแล้ว” แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีคนอ้วนจำนวนมากที่รู้สึกเสียใจ ไม่พอใจ น้อยใจ จนกระทั่งลามไปสู่ภาวะความไม่พอใจในตนเอง ลดคุณค่าและความเชื่อมั่นในตัวเองเพราะโดนล้อเลียนเรื่องหุ่นมากเกินไป 

ล่าสุด ในข่าวการแต่งงานของดาราชื่อดังขวัญใจประชาชนท่านหนึ่งกับเจ้าสาวที่หุ่นออกจะเจ้าเนื้อไปสักหน่อย ก็ได้มีคอมเมนท์วิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปลักษณ์ของฝ่ายเจ้าสาว รวมไปถึงคอมเมนท์ประเภทที่ว่า “ดีจังที่เขาไม่ได้รักกันที่แค่รูปลักษณ์ภายนอก” ซึ่งดูเผิน ๆ อาจจะฟังดูเป็นคำชื่นชม ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วก็เป็นการเหยียดรูปลักษณ์ในแบบหนึ่ง เพราะเป็นการบอกว่า “ดีแล้วที่รักกัน ทั้ง ๆ ที่รูปลักษณ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ดีเลิศ” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่ได้ “สวย” หรือ “งดงาม” ตามมาตรฐานสังคม 

ที่น่าเศร้าก็คือค่านิยมแบบนี้ ทัศนคติเช่นนี้ฝังรากลึกลงในสังคมไทยเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวเลย  

 อ้วนที่ฉัน…ทำไมมันไปหนักหัวคนอื่น?​  

อันที่จริงแล้ว ความคิดที่ว่ารูปร่างที่อ้วนกลายเป็นรูปร่างที่ไม่พึงประสงค์นั้นมีต้นกำเนิดมาจากค่านิยมที่เกี่ยวกับเรื่องความห่วงใยสุขภาพ เนื่องจากคนที่รักษาสุขภาพ ทานอาหารถูกหลัก และออกกำลังกายเป็นประจำนั้นจะมีรูปร่างที่ดี ดังนั้นสังคมจึงมองว่าผู้ที่มีรูปร่างอ้วนซึ่งในหลาย ๆ ครั้งมีพฤติกรรมทางการกินและการรักษาสุขภาพตรงกันข้ามกับกลุ่มคนที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีรูปร่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อความอ้วนถูกเอาไปเชื่อมโยงกับคำว่า “โรคอ้วน” ซึ่งนำพามาซึ่งภาวะอื่น ๆ เช่น เบาหวาน,​ โรคหัวใจ ก็ยิ่งส่งผลให้การที่มีรูปร่างอ้วนหรือท้วมไปกว่าปกติแม้เพียงเล็กน้อยนั้นกลายเป็นเรื่องผิดปกติ คนในสังคมเราจึงมักจะทักกันด้วยคำว่า “อ้วนขึ้นหรือเปล่า” หรือ “ผอมลงหรือเปล่า” ทั้ง ๆ ที่ไม่ควร

ยิ่งในยุคปัจจุบันที่สื่อโทรทัศน์เต็มไปด้วยภาพของดาราหล่อสวยที่อยู่ในลักษณะ “ผอม” นางแบบบนแคทวอล์กที่ผอม สูง ขายาว กลายเป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป…คนที่มีรูปลักษณ์ที่ผิดแผกไปจากนี้ก็จะถูกจัดว่าไม่มีความงดงามตามมาตรฐานสังคม

ค่านิยมเช่นนี้เป็นอันตราย เพราะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า“คลั่งผอม” ขึ้น โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหญิง บางคนอดอาหารจนกระทั่งกลายเป็นโรคจิตชนิดที่เรียกว่า Anorexia (โรคคลั่งผอม) ซึ่งเกิดจากการกลัวอ้วนมากเกินไปและสะกดจิตตนเองไม่ให้อยากอาหารจนกลายเป็นโรคภาวะทางจิตขึ้นมาเช่นนี้และส่งผลเสียอย่างมากพอ ๆ กับคนที่เป็นโรคอ้วนเลยทีเดียว  

บางคนก็เลือกไม่ได้ที่จะอ้วน

จริงอยู่ การออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพและรูปร่างนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่บางคนก็เลือกไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นโรคไทรอยด์ชนิดอ้วน คนกลุ่มนี้มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์และทำให้พวกเขาไม่สามารถรักษารูปร่างในระดับที่คนปกติซึ่งไม่มีปัญหาทางสุขภาพเช่นนี้ จึงไม่เป็นการยุติธรรมที่จะตัดสินว่าคนอ้วนทุกคนไม่ดูแลใส่ใจสุขภาพหรือตามใจปาก 

คนอ้วนเป็นคนตลก?​

เมื่ออ้วน ก็ต้องเผชิญกับการล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ และเมื่อการล้อเลียนรูปลักษณ์ของคนอ้วนกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม คนอ้วนหลาย ๆ คนจึงถูกผลักให้เก็บกดความไม่พอใจเอาไว้ บางคนก็จำเป็นต้องทำเป็นขำ ๆ ตาม ๆ คำล้อเลียนเหล่านั้นไป เพราะไม่อยากมีปัญหาและไม่อยากทำลายบรรยากาศ  

คนอ้วนบางส่วนต้องพยายามเอาตัวรอดและรักษาสภาพจิตใจของตัวเองโดยการพยายามทำตัวขำ ๆ ไม่ยี่หระต่อคำล้อเลียน ซึ่งเป็นที่มาของความเชื่อว่า “คนอ้วนอารมณ์ดี” หรือ “คนอ้วนมักตลก” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าคุณจะมีหุ่นแบบไหนก็ไม่ควรถูกตัดสินด้วยรูปลักษณ์ภายนอกแบบนั้น 

หนำซ้ำ ในหนัง ละคร หรือสื่อต่าง ๆ จะเห็นได้ชัดว่า “นางเอก” มักจะผอม ขาว สวย ในขณะที่ “ตัวตลก” มักจะมีรูปร่างที่ท้วมหรือสมบูรณ์​ ยิ่งส่งเสริมค่านิยมที่ทำให้คนรู้สึกว่า “คนอ้วน” เป็นคนตลกทั้ง ๆ ที่บางทีพวกเขาไม่ได้เป็นเช่นนั้น และไม่ได้ต้องการจะเป็นแม้แต่น้อย 

อ้วน = น่าเกลียด/ ผอม= สวย? 

โดยสรุปแล้ว ไม่มีใครสมควรถูกตัดสินเพียงรูปลักษณ์ภายนอก อ้วนไม่จำเป็นต้องแปลว่าน่าเกลียดเสมอไป และผอมก็ไม่ได้แปลว่าสวย แน่นอนว่าคนเรามีมาตรฐานความสวยงามแตกต่างกันและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “สุขภาพที่ดี” ไม่ว่าคุณจะเป็นคนอ้วนหรือคนผอม ก็ควรรักษาสุขภาพให้ดี ความอ้วนหรือความผอมนั้นไม่เกี่ยวกับความงามหรือความมั่นใจ และไม่ว่าคุณจะหุ่นแบบไหน ก็อยากให้คุณเชื่อมั่นไว้เสมอว่า คุณก็สามารถดูดีได้ในแบบของคุณ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0