ขณะนี้การระบาดของ COVID-19 เรียกได้ว่าเป็นระดับ “Pandemic” หรือข้ามทวีปเป็นวงกว้างเรียบร้อยแล้ว ทั้งยังส่อแววจะน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ
ปัญหาคือ แล้วเมื่อไหร่กันที่เราจะควบคุมมันได้
เรื่องราวต่าง ๆ จะจบลงอย่างไร
อนาคตของพวกเราจะเป็นเช่นไรกันแน่
เราคงต้องย้อนกลับไป ค้นหาข้อเท็จจริงจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
อันที่จริงมนุษยชาติเผชิญหน้าการระบาดของโรคติดเชื้อต่าง ๆ มาโดยตลอด มีบันทึกแต่โบราณถึงการป่วยที่เชื่อว่าเป็นจากอากาศ แท้จริงแล้วกลับเกิดจากเชื้อมาลาเรีย หรือการป่วยท้องเสียที่เรียกกันว่าห่าลง ซึ่งเกิดจากเชื้ออหิวาต์ที่มากับน้ำ ทั้งหมดติดต่อเป็นวงกว้างและคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาล
การระบาดของเชื้อต่าง ๆ จึงมิได้เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรกในยุคของพวกเรา หากแต่วิทยาการที่ทันสมัยทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
การเดินทางยุคใหม่ทำให้โรคระบาดไปไกลและเร็วกว่าเดิมมาก วิทยาการก็ทำให้เราทราบสถานการณ์ และสามารถต่อสู้กับมันได้
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ ได้เกิดการระบาดของไข้หวัดชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า “ไข้หวัดสเปน” ไปทั่วโลก
ไข้หวัดชนิดนี้แท้จริงเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หนึ่ง หากแต่อาจเกิดกลายพันธุ์ อานุภาพการระบาดจึงเพิ่มจากตัวดั้งเดิมมาก บวกกับปัจจัยด้านสังคมขณะนั้น ที่เต็มไปด้วยสงครามและความอดอยาก ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างง่ายดาย จากเมืองสู่เมือง จากประเทศสู่ประเทศ จากทวีปสู่ทวีปอย่างไม่หยุดยั้ง
ประมาณการว่า มีผู้ติดเชื้อกว่า 500 ล้านคน คร่าชีวิตผู้คน 30-50 ล้าน ถือเป็นการระบาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาติพานพบมา และคือบทเรียนสำคัญที่นักวิชาการรุ่นหลังทำการศึกษา เพื่อรู้เท่าทันให้ได้ว่า ครั้งต่อไปที่ไวรัสเหล่านี้ระบาด จะเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ในยุคใกล้เคียงกันนั้น ได้มีการศึกษาการระบาดของโรคต่าง ๆ รวมถึงไข้หวัดสเปน โดยมีหลักคิดพื้นฐานดังนี้
สมมติว่าในชุมชนหนึ่ง ผู้คนอยู่กันอย่างผาสุขปกติดี วันหนึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อโรคใหม่หลุดเข้าไปในชุมชน เนื่องจากเป็นโรคใหม่ ผู้คนในชุมชนไม่มีใครเคยเป็นหรือสัมผัส จึงไม่มีภูมิคุ้มกัน ทุกคนจึงสามารถติดโรคได้
ณ จุดนี้ ผู้คนจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนทั่วไป ซึ่งสามารถติดโรคได้ (S), กลุ่มคนติดเชื้อ ซึ่งเป็นตัวแพร่กระจาย (I), และกลุ่มคนหายดี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันจึงไม่ติดโรคอีก ®
หากชุมชนนี้เป็นสังคมปิด (ไม่มีใครผ่านเข้าออก) เมื่อการระบาดเริ่มขึ้น กลุ่มทั่วไปก็จะกลายเป็นกลุ่มติดเชื้อ จากนั้นกลุ่มติดเชื้อหากไม่ตายก็จะกลายเป็นกลุ่มหาย เมื่อถึงจุดหนึ่งกลุ่มหายดีมีจำนวนมาก กลุ่มติดเชื้อมีจำนวนน้อย การระบาดก็จะไปต่อไม่ได้ บางโรคอาจหยุดลงและหายไป บางโรคจะเข้าสู่ภาวะสมดุล มีคนติดเชื้อบ้างแต่ไม่ระบาดใหญ่อีก โดยรวมชุมชนจะกลับสู่ความสงบ
เรื่องนี้ดูเป็นหลักคิดธรรมดาทั่วไป แต่นักวิชาการใช้หลักนี้สร้างเป็นสูตรคณิตศาสตร์ คำนวณหาอำนาจการระบาดของโรคต่าง ๆ ได้ออกมาเป็นค่าที่เรียกว่า “R0”
ค่า R0 นี้ อธิบายภาษาชาวบ้านว่า “คนติดเชื้อ 1 คน แพร่กระจายโรคให้คนได้กี่คน” เช่น ไข้หวัดสเปนที่กล่าวถึงไปตอนต้น มีค่า R0 = 2-3 นั่นคือคนติดเชื้อ 1 คนกระจายให้คนได้ 2-3 คน
ซึ่งฟังดูน้อย แต่ความจริงแล้วค่า R0 ไม่ได้หมายความตรงไปตรงมาเช่นนั้น
เพราะค่า R0 คำนวณจากโมเดลของ “ชุมชนปิด” ไม่มีคนติดเชื้อคนใหม่หลุดเข้าไป ไม่มีคนทั่วไปที่อาจติดโรคได้เข้าชุมชนไปเพิ่ม ซึ่งแตกต่างจากโลกแห่งความจริง
ปี 1918-1919 ไข้หวัดสเปนเริ่มระบาด ขณะนั้นเป็นช่วงสงคราม ทหารที่ป่วยหนักถูกส่งกลับแนวหลัง ไปอยู่ร่วมกับผู้บาดเจ็บทุพพลภาพ ที่ป่วยน้อยถูกส่งไปแนวหน้า เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ โดยรวมจึงเกิดการโยกย้ายประชากรจำนวนมาก นำไปสู่การระบาดที่รุนแรงเกินคาดเดาได้
ค่า R0 ของไข้หวัดสเปนที่ดูเหมือนไม่มาก (คือเพียง 2-3 เท่านั้น) เมื่ออยู่ในสภาพดังกล่าว กลับแพร่ระบาดไปไกลถึง 500 ล้านคนเลยทีเดียว
ในขณะที่ค่า R0 ของ COVID-19 อยู่ที่ 3.5 มากยิ่งกว่าไข้หวัดสเปน
แต่มนุษย์ไม่เคยยอมแพ้..
หลังได้บทเรียนจากไข้หวัดสเปน ระบาดวิทยาก็ค่อย ๆ ก้าวหน้า หวังใจว่าเมื่อโรคร้ายกลับมา ครั้งนี้เราจะไม่แพ้มันอีก
สงครามไวรัสเริ่มอีกครั้งในปี 2009 เมื่อเกิดการระบาดของ “ไข้หวัดหมู” หรือ Swine flu H1N1 2009 ครั้งนี้มนุษย์พร้อมที่จะต่อสู้มากขึ้นแล้ว
เมื่อมองกลับมาที่หลักคิดพื้นฐานของการระบาด การระบาดเริ่มขึ้นเมื่อกลุ่มคนทั่วไป (S) กลายเป็นกลุ่มติดเชื้อ (I) และจะหยุด(ควบคุมได้) เมื่อกลุ่มติดเชื้อ (I) กลายเป็นกลุ่มหาย (R)
นั่นจึงหมายความว่า หากเรายับยั้งหรือชะลอการเปลี่ยนจาก S เป็น I และเร่งรัดให้ I เปลี่ยนเป็น R ได้ดังใจ เมื่อนั้นการระบาดจะอยู่ในมือเราทันที
หลักคิดนี้นำไปสู่วิธีการต่าง ๆ
ทั้งการกักกันผู้ต้องสงสัยติดโรค มิให้เข้าสู่ชุมชนเพื่อแพร่เชื้อได้ หรือการคิดค้นวัคซีนป้องกัน ทั้งหมดก็เพื่อยับยั้งมิให้ S เปลี่ยนเป็น I
ถัดมามนุษย์ก็พยายามคิดค้นยาใหม่ ๆ เพื่อเร่งรัดให้กลุ่มติดเชื้อหยุดแพร่กระจาย ให้หายและกลายเป็นกลุ่มมีภูมิ ซึ่งก็คือเร่งให้ I เปลี่ยนเป็น R นั่นเอง
ในการแพร่ระบาดปี 2009 แต่ละประเทศริเริ่มการกักกันอย่างจริงจัง จึงพอจะประวิงเวลาระบาดออกไปได้ ระหว่างนั้นก็เสาะหายาฆ่าไวรัส ที่มีประสิทธิภาพพอจะเร่งให้คนติดเชื้อหาย ไปพร้อม ๆ กับการคิดค้นวัคซีนออกมา
ที่สุดยา Oseltamivir ก็ถูกนำมาใช้ แม้ไม่ใช่ทุกคนที่กินปุ๊บจะหายปั๊บทันใจ แต่ก็ช่วยร่นเวลา เร่งให้กลุ่มติดเชื้อกลายเป็นกลุ่มหาย เพิ่มจำนวนผู้มีภูมิให้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี เมื่องานวิจัยออกมา ยา Oseltamivir ก็เริ่มถูกประเทศที่ร่ำรวยกว่ากักตุนจนขาดตลาด ขณะประเทศที่ยากจน ซึ่งมีปัญหาสาธารณสุขมาก จนถึงระดับที่ไม่อาจควบคุมการระบาดได้ ก็ยิ่งพบกับหายนะมากกว่าเดิม
ที่สุดวัคซีนไข้หวัดหมูก็ถูกผลิตออกมาจนได้ แม้เกิดปัญหาผลิตได้ช้ากว่าที่คาดไว้ แต่ไม่สายเกินไป การระบาดถูกควบคุมได้ในที่สุด
แม้ประมาณการว่า อาจมีผู้ติดเชื้อมากถึง 1,400 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้ตาย อาจมากถึงครึ่งล้านก็ตามที (ตัวเลขไม่แน่นอน เพราะปัจจุบันหลายประเทศยังไม่อาจยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตได้)
โชคดีที่เรายังไม่สูญพันธุ์ไป
จากนั้นเป็นต้นมา Swine Flu ก็ถูกควบคุม แม้ยังคงมีการระบาดของไข้หวัดในวงศ์วานมันอีกหลายครั้ง แต่เป็นการระบาดที่เข้าสู่สมดุล และกลายร่างเป็นโรคประจำฤดูกาลเช่นหวัดธรรมดาทั่วไปในที่สุด
นี่คือชัยชนะที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน COVID-19 สถานการณ์ขณะนี้ เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ช่วงแรกเราใช้โมเดลเดียวกันกับตอนรับ Swine Flu กักกันผู้มาจากแหล่งระบาด แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน เร่งรักษาให้หายขาด เพิ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันกลับสู่สังคม ประวิงเวลาการระบาดใหญ่ ขณะพยายามทดลองใช้ยาสูตรต่าง ๆ พร้อมกับคิดค้นวัคซีนไปพร้อมกัน
ทว่ากลับเกิดเรื่องไม่คาดฝัน
มาตรการกักกัน 14 วัน กำหนดขึ้นด้วยหลักฐานเท่าที่มีในช่วงต้น ถึงระยะฟักตัวโดยประมาณ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เรากลับพบบางเคสที่มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น นั่นหมายความว่าผู้ต้องสงสัยที่ถูกกักตัว 14 วันแล้วปล่อยกลับ แท้จริงยังมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อนั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้น ความพยายามที่จะแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนกลับยากขึ้น ในสภาพสังคมที่ซับซ้อน และการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วเช่นปัจจุบัน เป็นการยากมากที่จะกีดกันมิให้ประชาชนเดินทาง ชายแดนบก-น้ำ กลับมีการเดินทางเข้าออก ที่บางครั้งถึงขั้นไร้การควบคุม เหล่านั้นกลับส่งเสริมให้การแพร่ระบาดควบคุมได้ยากและกระจายเร็วยิ่งขึ้น
แต่เรื่องที่น่ากลัวที่สุดกลับเป็นอีกเรื่อง
หลังเกิดการระบาด นักวิชาการเชื่อว่าหากมีผู้ป่วยหายขาด มีภูมิคุ้มกันกลับสู่สังคมมากถึงจุดหนึ่ง การระบาดก็จะจบลง ทว่า COVID-19 กลับส่อลักษณะบางอย่างที่เป็นปัญหา
รัฐบาลจีนพบว่า มีผู้ป่วยที่หายดีแล้วส่วนหนึ่ง กลับติดเชื้อซ้ำอีก นั่นมิใช่เพียงเรื่องบังเอิญ แต่บ่งถึงความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับร่างกายเราแล้วนั้น อาจสร้างภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 ได้เชื่องช้ากว่าโรคอื่นที่พวกเราเคยเจอมา
หมายความว่า หลักพื้นฐานที่สุดในการระบาด อาจไม่สามารถใช้กับโรคอย่างตรงไปตรงมาได้อีก
อย่างไรก็ดี “การระบาดกับการตาย” กลับเป็นคนละเรื่องกัน
COVID-19 แม้อานุภาพสูงด้านการระบาด แต่อัตราตายของโรคกลับต่ำ และมีลักษณะตรงไปตรงมา โดยมักรุนแรงจนเสียชีวิตเฉพาะในกลุ่มที่แก่ชรา มีโรคร่วม หรือมีปัญหาภูมิคุ้มกัน
กล่าวอย่างง่ายว่า หากคุณเป็นคนแข็งแรงนั้น แม้ติดโรคมา แต่ก็มักหายดีและใช้ชีวิตได้เช่นเดิม
สำหรับยารักษา แท้จริงแล้วแม้ไม่ได้ยา คนส่วนมากก็หายได้เอง เพราะฉะนั้นความสำคัญของยาจึงอยู่ที่ว่า มันลดเวลาป่วยได้รวดเร็วเพียงใด เพราะยิ่งเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะแพร่กระจายก็ลดลง โอกาสการรอดชีวิตของทั้งสังคมโดยรวมก็มากขึ้น
แต่ขณะนี้ยาที่อาจมีฤทธิ์ฆ่า COVID-19 ยังได้ผลไม่เป็นที่พอใจนัก จึงไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จ หรือวางใจได้
มองย้อนกลับมายังสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ขณะนี้อัตราตายจะต่ำ แต่นี่คือชั่วขณะที่การระบาดเพิ่งเริ่มขึ้น หากการระบาดมากไปถึงจุดหนึ่ง ที่ประชากรที่ติดโรคมากกว่าทรัพยากรการแพทย์จะรองรับไหว เมื่อนั้นการตายย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ยุทธศาสตร์ที่หลาย ๆ ประเทศรวมถึงจีนทำขณะนี้ นอกจากชะลอการระบาดแล้ว ยังมุ่งเน้นเสริมสร้างทรัพยากร เพื่อรอที่วันหนึ่งเมื่อการระบาดลุกลาม เราจะยังสามารถช่วยเหลือประชาชนของเราให้รอดชีวิตได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
และสำหรับตัวเรา สิ่งที่เราทำได้
คือลดการเคลื่อนย้ายประชากร รักษาสุขภาพ และซื่อสัตย์กับการให้ประวัติ อย่าปล่อยให้ความมักง่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรานั้น เป็นเหตุให้สังคมประเทศชาติเกิดความเสียหาย
ทำสิ่งที่เราพอทำได้ เพื่อหยุดการระบาดให้เร็วที่สุด ดังที่มนุษยชาติเคยทำได้ และร่วมกันผ่านมาอย่างเข้มแข็งนั่นเอง
ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร
อ้างอิง
Coburn BJ, Wagner BG, Blower S. Modeling influenza epidemics and pandemics: insights into the future of swine flu (H1N1). BMC medicine. 2009 Dec;7(1):30.
ความเห็น 33
Ariya Umruek
อ่านแล้วได้สาระดี
26 ก.พ. 2563 เวลา 09.49 น.
Bnak.
กระจายข่าวออกไปด้วย ไม่ใช่ 14 วัน
26 ก.พ. 2563 เวลา 08.12 น.
Pannaka🥝
ขอให้การระบาดผ่านไป เร็วๆมียารักษาเร็ว ๆดูแลตัวเอง และห่วงใยคนรอบข้างด้วยนะ🌝
26 ก.พ. 2563 เวลา 04.22 น.
Cake
น่ากลัว
26 ก.พ. 2563 เวลา 00.47 น.
น้องมิ้ม🦄🦄
ขอให้มีวัคซีนที่รักษาได้เร็วๆ
26 ก.พ. 2563 เวลา 00.04 น.
ดูทั้งหมด