โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รถเราเตี้ยหรือไฟเขาสูง! “ไฟรถแสบตา” ผิดที่กฎหมาย? หรือผิดที่อะไร?

Another View

เผยแพร่ 22 ม.ค. 2562 เวลา 01.00 น.

รถเราเตี้ยหรือไฟเขาสูง! “ไฟรถแสบตาผิดที่กฎหมาย? หรือผิดที่อะไร? 

หลายคนที่ใช้รถใช้ถนนในบ้านเมืองเรา ก็คงเคยประสบปัญหาการขับรถกลางคืน แล้วพบกับแสงไฟสว่างจ้าแยงตาของรถคันที่สวนมา ให้เบลอไม่ค่อยอยากจะขับไปต่อข้างหน้าเร็ว ๆ หรือไม่ก็คงต้องเคยรำคาญการถูกรถยนต์ไฟสว่างจ้า / รถยนต์คันใหญ่ที่มีตำแหน่งไฟหน้าสูง ขับตามหลังให้แสงสะท้อนแยงตา ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ทั้ง “ผู้ใช้รถ” และ “ผู้ใช้ถนน” ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เอาง่าย ๆ

โดยเฉพาะรถยนต์ที่เปลี่ยนไฟหน้าเป็น "ไฟซีนอน(Xenon)” หรือที่เรียกว่าHID (HYPER INTENSITY DISCHARGE) ซึ่งพัฒนามาจากโคมไฮโดรเจน มีความเข้มของแสงมากกว่าไฮโดรเจนถึง 2 เท่า จึงทำให้ช่วงหนึ่งที่หลาย ๆ คนอยากจะให้ไฟหน้ารถของตนเองส่องสว่าง เห็นทางข้างหน้าชัด ต่างไปสั่งซื้อมาใช้ แต่เมื่อเอาสะดวก สบายใจทางฝั่งเรา กลับทำให้ฝั่งผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกับเราเกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไปจนกระทั่งเสียชีวิตก็มี แต่ก็ยังเห็น ๆ กันอยู่ว่า ยังมีเจ้าของรถบางคันที่ยังใช้ไฟซีนอนกันอยู่ รวมทั้งรถยนต์บางคันก็มีจุดติดตั้งไฟที่ “แยงตา” จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า แท้จริงแล้วการออกแบบรถยนต์ที่ติดตั้งไฟในตำแหน่งที่สูงเป็นเพราะการออกแบบรถที่มีปัญหารวมไปทั้งการใช้ไฟซีนอนนั้นผิดกฏหมายหรือไม่สะท้อนว่ากฏหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เขาว่ากันหรือ?

สำหรับกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้ไฟหน้ารถนั้น มีอยู่ 3 ฉบับประกอบกันก็คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 / มาตรา 12 พระราชบัญญัติจราจรทางบก  พ.ศ. 2522 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2  ( พ.ศ. 2522 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย )

ลักษณะการใช้ไฟหน้ารถตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก  .. 2522 นั้น ปรากฏในมาตรา 11 ความว่า “…ในเวลามีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน  รถ  หรือสิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรผู้ขับขี่ต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามประเภท  ลักษณะ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง…”   

ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2  ( พ.ศ. 2522 ) ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 11 และมาตรา 61  แห่ง  พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้  ให้รายละเอียดลักษณะไฟหน้ารถที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้ 

โคมไฟหน้ารถมี 3 ประเภท  คือ

(ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล  ให้ติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวง  สูงจากพื้นทางราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไฟไม่น้อยกว่า  0.60  เมตร  แต่ไม่เกิน  1.35  เมตรโคมไฟทั้งสองข้างอยู่ระดับเดียวกัน  ใช้ไฟแสงสีขาวมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ  50  วัตต์  มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า100  เมตร ศูนย์รวมแสงต้องไม่สูงกว่าแนวขนานพื้นทางราบ และไม่เฉไปทางขวา

(ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ ให้ติดหน้ารถข้างข้างละหนึ่งดวง  สูงจากพื้นราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไฟไม่น้อยกว่า  0.60  เมตร  แต่ไม่เกิน  1.35  เมตร  โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน  ใช้ไฟแสงสีขาวมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ  50 วัตต์  มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า  30   เมตร ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า 2 องศา  หรือ  0.20  เมตร ในระยะ 7.50  เมตร และไม่เฉไปทางขวา 

(ค) โคมไฟเล็ก ให้ติดหน้ารถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง  โดยให้อยู่ทางริมสุด แต่จะล้ำเข้ามาได้ไม่เกิน  0.40  เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวหรือแสงเหลืองมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 10 วัตต์ และต้องมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 150  เมตร

โคมไฟแสงพุ่งไกล โคมไฟแสงพุ่งต่ำและโคมไฟเล็กจะรวมอยู่ในดวงเดียวกันก็ได้

ทั้งยังระบุไว้โดยสรุปว่าไฟหน้าของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทุกชนิดที่ใช้งานบนท้องถนน จะต้องมีแสงสีขาวหรือเหลืองอ่อน 

และสุดท้ายกฏหมายที่ระบุลักษณะการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟหน้ารถก็คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ความว่า

“…รถใดที่จดทะเบียนแล้ว หากปรากฏในภายหลังว่ารถนั้นมีส่วนควบหรือ เครื่องอุปกรณ์สําหรับรถไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กําหนดในกฎกระทรวง หรือเพิ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถนั้นจนกว่าจะจัดให้มีครบถ้วนถูกต้องหรือเอาออกแล้ว ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าเจ้าของรถไม่อาจจัดให้มีครบถ้วนถูกต้องหรือเอาออกได้ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถนั้น…”  

ซึ่งการกระทำผิดดังกล่าวนั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกิน2,000 บาท

สรุปแล้วก็คือ ไฟซีนอนนั้นสามารถติดตั้งได้หากมีค่าอุณหภูมิสีหรือค่าK (Kelvin) และค่าความสว่าง(Lumen) ของหลอดซีนอนตรงตามที่กฏหมายระบุ นั่นคือเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ซึ่งเมื่อค่าอุณหภูมิสี หรือค่า K ยิ่งสูง สีก็จะยิ่งขาวขึ้น (เราลองคิดถึงลักษณะของแสงที่ยิ่งสว่างขึ้นก็จะยิ่งเป็นแสงขาว และให้ความสว่าง เปรียบเทียบง่าย ๆ กับแสงเทียนและหลอดไฟนีออน) และเมื่อขาวที่สุดแล้ว สีที่เห็นก็จะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นฟ้า สีม่วง และชมพูตามลำดับ และเมื่อสูงจนเกินไปจะฟุ้งกระจายสร้างความรำคาญและลดทัศนะวิสัยการมองของผู้ใช้รถใช้ถนน ส่วนค่าความสว่างนั้นมีหน่วยเป็น Lumen ค่ายิ่งสูงยิ่งสว่างยิ่งมองเห็นชัดเจน

ดังนั้นการติดตั้งไฟซีนอนควรติดตั้งไฟซีนอนในโคมโปรเจคเตอร์หรือเลนส์รวมแสงที่คุมลำแสงไม่ให้ฟุ้งกระจายไม่รบกวนสายตาแก่ผู้ขับขี่รถร่วมเส้นทางต้องติดตั้งหลอดที่มีระดับของสีระหว่าง3,800 - 6,000 K ซึ่งจะทำให้ได้ค่าสีที่อยู่ในโทนสีขาวตามที่กฎหมายกำหนดและมีค่าสีและแสงใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานที่ติดตั้งจากโรงงานมากที่สุด (ค่าจากโรงงานคือ 4,300 K มีค่าความสว่างที่ 3,800 Lumen) *และต้องนำเข้าตรวจสภาพเพื่อขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก *

ถึงแม้จะไม่ผิดกฏหมาย แต่ด้วยค่าอุณหภูมิสีและค่าความสว่างที่มากกว่าปกติ ถ้าจอดรถต่อท้ายรถยนต์คันอื่น ๆเป็นเวลานานการหรี่ไฟลงบ้างก็เป็นการแสดงน้ำใจได้ดีทีเดียว

**************

ข้อมูลเพิ่มเติม

http://www.nationtv.tv/main/content/378491512/

https://news.thaipbs.or.th/content/250584

https://www.dailynews.co.th/article/305418

http://www.highway.police.go.th/highway4-20-9999-update.pdf

http://www.highway.police.go.th/highway2-20-9999-update.pdf

http://law.longdo.com/law/288/sub16401

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0