โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ธรณีนี่นี้ห้างครอง! ทุนนิยมโต พื้นที่ชุมชนตาย

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 21 พ.ย. 2561 เวลา 05.00 น.

ธรณีนี่นี้ห้างครอง! ทุนนิยมโตพื้นที่ชุมชนตาย

เคยถามตัวเองกันไหมว่าทุกวันนี้เวลามีเวลาว่าง คุณชวนคนข้างๆ ไปใช้เวลาด้วยกันที่ไหน คำตอบของหลายคนคงหนีไม่พ้น “ไปเดินห้างกัน”

ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคำตอบแบบนี้ เพราะในบ้านเมืองที่สภาพอากาศร้อนทะลุขีดสุดไม่ว่าจะเข้าสู่ฤดูไหน การพาตัวเองออกไปเดินท้ารังสียูวีคงไม่สบายตัวเท่าเข้าไปเดินตากแอร์แบบฟรีๆ กันในห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่ผุดขึ้นมาโชว์ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เต็มไปด้วยร้านค้าหรูหราพร้อมดูดเงินในกระเป๋า แม้ความตั้งใจครั้งแรกจะอยากเพียงแค่ไป “เดินเล่น”

แต่คำตอบว่า “ไปเดินห้างกัน” ที่จริงแล้วมันกำลังสะท้อนปัญหาอย่างหนึ่งของเมืองใหญ่  นั่นคือปัญหาที่ว่า "พื้นที่สาธารณะ" สำหรับทุกคนกำลังหดหายไปทุกทีๆด้วยขนาดพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดและคงไม่สามารถถมทะเลออกไปเพื่อขยายเมืองได้ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่อย่างคอนโดมิเนียมหรือห้างสรรพสินค้าจากกลุ่มทุนใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้วิธี “กว้านซื้อ” พื้นที่ที่มีศักยภาพ ซึ่งมักกระจุกอยู่ในตัวเมือง ที่แต่เดิมอาจเต็มไปด้วยเอกลักษณ์และความอุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรม

หากย้อนกลับไปเกือบยี่สิบปีก่อนที่จะมีพื้นที่สาธารณะอย่าง "หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร"ใจกลางแยกปทุมวัน รู้หรือเปล่าว่าเราเกือบจะได้มีศูนย์การค้าอีกหนึ่งแห่งสร้างทับพื้นที่หอศิลปฯ ในปัจจุบันแล้ว หากไม่ถูกกลุ่มนักศึกษาและศิลปินประท้วงกันเสียก่อน

นั่นเป็นเพราะกรุงเทพมหานครซึ่งควรเป็นผู้ผลักดันจำนวนพื้นที่สาธารณะให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อทุกคนในเมือง กลับมองว่าการสร้างพื้นที่เพื่อเอื้อต่อกลุ่มทุน จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากกว่า

หรือถ้าคุณเคยไปเดินเลียบๆ เคียงๆ แถวถนนเจริญกรุง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาจเคยเห็นอาคารเก่าที่มีชื่อว่า "ศุลกสถาน"ที่ปัจจุบันเป็นที่ทำการของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก ที่นี่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอาคารมากมายที่อาจเรียกได้ว่าควรอนุรักษ์ หรือปรับปรุงเพื่อคงสภาพเดิมไว้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนรุ่นหลัง หรืออย่างน้อยๆ ก็อาจเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติที่นิยมการเดินชมเมืองเก่า

แต่เจ้าของพื้นที่อย่างกรมธนารักษ์ เลือกที่จะเปิดพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ซึ่งเป็นที่หมายปองของกลุ่มทุน) ให้กับเอกชนรายหนึ่ง เพื่อจะสร้างอาคารใหม่ในพื้นที่ขนาด 5 ไร่เป็นโรงแรมหรูริมน้ำ มากกว่าจะเลือกรักษาไว้และทำเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือพื้นที่สาธารณะแบบอื่นที่ทุกคนสามารถเข้ามาชื่นชมความสวยงามของแม่น้ำเจ้าพระยาได้

คำถามที่น่าสนใจคือ ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ให้คุณค่ากับการเก็บรักษาพื้นที่ของตัวเอง (หรือหน่วยงานพันธมิตร) กันมากแค่ไหน เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ให้ทุกคนสามารถเข้าใช้ได้  โดยที่ไม่ต้องเสียเงินให้กับกลุ่มทุนเพื่อเข้าถึงพื้นที่นั้น

ทุกวันนี้เวลาพูดถึงคำว่า “พื้นที่สาธารณะ” เราได้แต่นึกรวมไปกับคำว่า “สวนสาธารณะ”  ซึ่งถ้ามองในเชิงตัวเลข จำนวนสวนสาธารณะเองก็ยังไม่ได้มีมากพอกับอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน เพราะในกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.42 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น

ประเด็นของการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้หมายถึงการสร้างสวนสาธารณะ การเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนในเมืองเท่านั้น

แต่พื้นที่สาธารณะ มีความหมายมากไปกว่านั้น มันอาจเป็นพิพิธภัณฑ์ในชุมชน หอศิลป์ขนาดเล็กๆ ลานว่างให้คนได้มาทำกิจกรรมอย่างที่ใจอยาก หรือแม้แต่ทางเดินริมแม่น้ำที่ไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นคนฐานะทางเศรษฐกิจแบบไหนก็สามารถเข้ามาใช้ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องถูกสายตามคนอื่นมองว่ามาทำอะไรที่นี่ เหมือนที่เราเห็นทั้งหนุ่มสาวออฟฟิศมาวิ่งออกกำลังกาย ลุงป้าคนงานก่อสร้างมาเดินเล่นในสวนสาธารณะที่เดียวกัน

การที่รัฐพยายามเปลี่ยนพื้นทำเลทองที่ให้กลายเป็นแหล่งทำกำไร ทำให้เกิดการปิดกั้นการเข้าถึงอย่างสิ้นเชิงจากการเอกชนที่จ่ายเงินมาซื้อหรือเช่าพื้นที่ จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข  ไม่ใช่แค่ทางกฎหมายหรือความเหมาะสม แต่เป็น “หลักคิด” การให้คุณค่ากับพื้นที่สาธารณะ และมองว่าทุกคนในเมืองควรมีส่วนร่วม และมีสิทธิในการใช้พื้นที่ของเมืองอย่างเท่าเทียม

หากรัฐยังคงปล่อยให้เอกชนเข้ามาเปลี่ยนพื้นที่ แทนที่จะมอบคืนให้ประชาชน น่าสนใจว่าหน้าตาของเมืองในอนาคต จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน  เราอาจจะมีห้างสรรพสินค้าที่เต็มไปด้วยแบรนด์เนมชื่อซ้ำทุกๆ ระยะ 200 เมตร  คนที่ยอมแพ้กับการเข้ามาของทุนต้องกระเถิบออกไปอาศัยอยู่รอบนอกของเมืองที่ควรสร้างโอกาสให้กับทุกคน และกลายเป็นปัญหาจราจรที่เกิดต่อกันเป็นลูกโซ่

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในอาคารสถานที่ที่ควรรักษา อาจถูกทุบสร้างใหม่เป็นอาคารหรูที่เข้าใช้ได้เมื่อมีเงินมากพอจะเป็นลูกค้าของพวกเขา

และเมืองในอนาคต คงเป็นเมืองที่เวลาว่างถูกใช้ไปกับคำตอบซ้ำซากที่ว่า “ไปเดินห้าง (ให้เจ้าของรวย) กันเหอะ” มากกว่าจะมีคำตอบอื่นที่สร้างความเพลิดเพลิน ความรู้ และแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับตัวเอง

คำถามคือเราอยากอยู่กับเมืองแบบนั้นจริงๆใช่ไหม?

 

ข้อมูลอ้างอิง

ภาพประกอบ

http://www.remy-marciano.com/projets/lot-a4eb/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0