โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จะเป็นอย่างไรถ้าชีวิตอยู่ในโรคของความกังวล? - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 10.20 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

จะเป็นอย่างไรถ้าชีวิตอยู่ในโรคของความกังวล?

ทุกวันนี้เราทุกคนต่างลืมตาตื่นมาพร้อมสถานการณ์บางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้มากขึ้น เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ( Covid – 19), สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และไม่รู้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไร, สังคมที่เริ่มมีข่าวความรุนแรงที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเรื่อย ๆ, ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศที่แปรปวนจนกระทบปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต เช่น ฝุ่น PM 2.5 หรือภัยแล้ง เป็นต้น

การอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ถือเป็นสิ่งกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดที่สูง

เพราะความต้องการพื้นฐานโดยธรรมชาติของจิตใจเราคือ “ความรู้สึกปลอดภัย” เมื่อมีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย

ความคิดและความรู้สึกที่เกิดตามมาได้ง่ายคือ “ความกังวล” ซึ่งเกิดขึ้นจากกลไกป้องกันตัวเองจากความกลัวของเรา

เรากลัวอะไรบ้าง?

1.กลัวที่จะผิดพลาด : พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการคิดมากเกินความจริงหรือเกินความจำเป็น 

2.กลัวไม่สำเร็จ :  พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการกดดันตัวเอง กดดันคนรอบข้าง

3.กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ : พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการไม่มั่นใจในตัวเองเกินความจริงที่เป็น

4.กลัวผิดหวัง : พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการมองโลกในแง่ร้าย

5.กลัวเกิดเหตุการณ์ร้ายซ้ำ :  พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของการหวาดผวาเมื่อเจอเหตุการณ์อะไรที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่ตัวเองเคยพบเจอ

6.กลัวการเปลี่ยนแปลง :  พฤติกรรมของความกังวลจะออกมาเป็นลักษณะของความตื่นเต้น หรือร่างกายตื่นตัวกว่าปกติ

ทั้งหมดเป็นที่มาของความกังวลที่เกิดขึ้นได้กับเราทุกคน เมื่อมีเหตุของความกลัวเกิดขึ้น และหายไปเมื่อเหตุหายไปหรือเราเรียนรู้ที่จะปรับตัวและรับมือกับความกลัวนั้นได้  

แต่ถ้าเราไม่สามารถปรับตัวได้ หรือมีความกังวลมากจนเกินไปก็สามารถทำให้เราเป็นโรคของความกังวลได้

ซึ่งโรคของความกังวลมีอยู่ 5 ลักษณะด้วยกันคือ

1.โรคแพนิค (Panic disorder)

อาการสำคัญที่เป็นคือ อยู่ ๆระบบประสาทอัตโนมัติก็ทำงานผิดปกติในชั่วขณะโดยคาดการณ์ไม่ได้ เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น มึนงงเหมือนจะเป็นลม รู้สึกมวนท้องคลื่นไส้ ซึ่งในขณะที่เกิดอาการอาจมีความคิดกลัวว่าตัวเองจะตาย กลัวเป็นอะไรร้ายแรงหรือกลัวว่าตัวเองจะเป็นบ้า 

2.Specific phobia and social phobia

อาการสำคัญคือ มีความกลัวต่อคน สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์บางอย่าง หรือการอยู่ในที่ที่มีคนมาก โดยที่ตัวเองก็รู้ตัวว่าความกลัวนั้นไม่สาเหตุสมผลต่อความเป็นจริง แต่ก็ควบคุมความกลัวนั้นไม่ได้จนต้องหลีกเลี่ยงจนกระทบกับการใช้ชีวิต เป็นยาวนานติดต่อกันมากกว่า 6 เดือน

3.โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive – compulsive disorder)

อาการสำคัญคือ การมีมโนภาพหรือความคิดอัตโนมัติที่ผุดขึ้นมาอย่างควบคุมไม่ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ความคิดนั้นมักเกี่ยวกับเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ความเป็นระเบียบ ความก้าวร้าวหรือความคิดทางเพศ ไม่อยากคิดแต่ห้ามไม่ได้และยิ่งพยายามห้ามความคิดก็จะยิ่งคิด การระบายความอึดอัดของความคิดจะออกมาเป็นการทำอะไรซ้ำ ๆ เช่นล้างมือซ้ำ ๆ จนมือเปื่อย เดินไปปิดกลอนซ้ำ ๆจนไปทำงานไม่ทัน เป็นต้น

4.Posttraumatic stress disorder

อาการสำคัญคือ การเกิดความผวา กลัวจนต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เราย้อนคิดถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิต

เช่น เคยประสบอุบัติเหตุจากการขับรถจักยานยนต์จนเสียคนรัก ทุกครั้งที่เห็นข่าวอุบัติเหตุหรือเห็นรถจักรยานยนต์ภาพการเกิดอุบัติเหตุของตัวเองก็จะกลับมา แล้วเกิดความหวาดผวาจนกระทบการใช้ชีวิต

5.Generalized anxiety disorder

อาการสำคัญคือ การวิตกกังวลเกินมากกว่าเหตุ เป็นตลอด เป็นกับทุกเรื่อง แม้จะรู้ตัวว่าเป็นความกังวลที่มากเกินไปแต่ก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ยาวนานเกินกว่า 6 เดือน

เมื่อไรที่ความกังวลก้าวข้ามขอบเขตมาสู่เป็นความเป็นโรควิตกกังวลแล้ว เรามักเสียการควบคุมและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และความสัมพันธ์ได้ แต่ยังเป็นเรื่องง่ายที่เมื่อรู้ตัว ยอมรับ แล้วรีบมาพบแพทย์เพื่อดูแลรักษา

เพราะไม่มีใครไม่กังวล

ทักษะการดูแลความกังวลจึงเป็นเรื่องสำคัญในยุคที่อะไรก็เกิดขึ้นได้

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากหมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0