"ช่วงนี้ยังมีความสุขเหมือนเดิมไหม? ตอนนี้ทำอะไรแล้วยังรู้สึกว่ามีความสุขบ้าง?"
เป็นคำถามที่หมอเองมักจะใช้ประเมินภาวะของคนที่เข้ามาปรึกษาเพราะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเปลี่ยนไป แล้วกลัวว่าถ้าไม่รีบกลับมาทำความเข้าใจ สักวันเขาอาจจะป่วยได้ สะท้อนให้เห็นว่าในขณะที่เราบอกว่าโลกเปลี่ยนไปเร็วคนก็สร้างความสมดุลให้กับตัวเองโดยการหันมามองตัวเองเร็วขึ้นเช่นกัน
หญิงสาววัยกลางคนน่าตาน่ารักคนหนึ่ง เข้ามาปรึกษาด้วยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขหลังจากที่เธอทะเลาะกับเพื่อนสนิทจนถึงขึ้นประกาศเลิกคบหากันเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
สนิทกันขนาดไหน? ไปไหนมาไหนด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน คิดถึงกัน ปรับทุกข์ซึ่งกันและกันเป็นเวลาเกือบ 20 ปี แต่วันหนึ่งต้องทะเลาะกันด้วยการสื่อสารบางอย่างที่ทำให้เข้าใจว่า ต่างฝ่ายไม่ยอมรับซึ่งกันและกันเพราะความเห็นที่แตกต่างกัน เมื่อได้ฟังเรื่องราวความผูกพันธ์ระหว่างเธอกับเพื่อนแล้ว จึงไม่แปลกใจเลยที่เธอจะรู้สึกว่าความสุขหายไป แล้วมีความทุกข์จากความผิดหวัง ความโกรธ ความลังเลสงสัยเข้ามาแทนที่
เพราะช่วงเวลาที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับตัวเองและคนอื่น สมองของเรากำลังหลั่งสารแห่งความสุขอย่างมหาศาล อันประกอบไปด้วย
1.Serotonin สารสื่อประสาทที่หลั่งออกมาเมื่อเรารู้สึก “ได้รับการยอมรับ” ความรู้สึกปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ ที่จะได้เป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ถูกตัดสิน มีความทรงจำที่ดีกับอดีตหรือการมีความหวังกับอนาคต
ดังนั้นเมื่อหญิงสาวรู้สึกว่าเพื่อนรักของเธอไม่ยอมรับในตัวเธอ สาร Serotonin ในสมองของเธอจึงลดลง
2.Dopamine สารสื่อประสาทที่หลั่งเมื่อเรามีความรู้สึก “ดี” มีความรู้สึก “ภูมิใจ” เมื่อตัวเองทำอะไรสำเร็จหรือเวลาที่เราได้รับคำชื่นชมหรือรับกำลังใจจากคนรอบข้าง
ดังนั้นเมื่อหญิงสาวรู้สึกไม่ดีกับตัวเองและเพื่อนรัก การหายไปของคนที่เคยให้กำลังใจ สาร Dopamine ในสมองของเธอจึงลดลง
3.Oxytocin ฮอร์โมนที่หลั่งเมื่อเรามีความรู้สึก “ผูกพันธ์” เมื่อเรามีความรู้สึกเชื่อใจแล้วเริ่มสร้างสายใยระหว่างเรากับคนรอบข้าง ฮอร์โมนนี้หลั่งตั้งแต่ครั้งแรกที่เราได้รับอ้อมกอดของแม่
ดังนั้นเมื่อหญิงสาวรู้สึกไม่เชื่อใจเพื่อนรักอีกต่อไป การตัดสินใจที่จะเลิกคบทั้งที่ยังค้างคาใจ ฮอร์โมน Oxytocin ในสมองของเธอจึงลดลง
4. Endorphin ฮอร์โมนที่หลั่งเมื่อเรารู้สึก “มีพลัง” จากการได้ออกไปทำกิจกรรมที่ได้ใช้พลังงานและมีความสุข เช่น การออกกำลังกาย
ดังนั้นเมื่อหญิงสาวรู้สึกเบื่อหน่าย การไม่มีแรงจูงใจที่จะออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างที่เคยทำกับเพื่อน ฮอร์โมน Endorphin ในสมองของเธอจึงลดลง
นี้เป็นเพียงแค่สาร 4 ตัวหลักในกระบวนการทำงานของสมองเมื่อเวลาที่เรามีความสุขเท่านั้น ความจริงในสมองและร่างกายของเรายังมีสารอีกมากมาย แล้วถ้าเราเจอสถานการณ์เช่นหญิงสวยผู้นี้เราควรรักษาสารของความสุขของเราด้วยตัวเราเองอย่างไร?
1.ถอยกลับมาตั้งหลัก ในที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย ที่ที่เราสามารถใช้คำว่าทิ้งตัวกับตัวเองได้ ที่ที่เราจะทำอะไรก็ได้โดยไม่มีใครเดือดร้อน หรือตัดสินว่าถูกหรือผิด ที่ที่เรายอมรับทุกอย่างที่ตัวเองเป็นได้
2.ถอยกลับมาทำความเข้าใจตัวเอง ว่าเพราะอะไรความสัมพันธ์นี้จึงมีความหมายกับชีวิตของเรา เรายังมีความสัมพันธ์ที่ดีอื่นๆอยู่ไหม เช่น ความรักจากครอบครัว จากคนรัก นอกเหนือจากเพื่อน
3.ถอยกลับมาทำสิ่งที่ชอบทำ ทำแล้วเคยมีความสุข โดยไม่ต้องรอคอยใคร เช่น เคยมีความสุขกับการวาดภาพ เล่นดนตรี ออกกำลังกาย
4.ถอยกลับมาฝึกทักษะการสื่อสาร สื่อสารทั้งกับตัวเองและคนอื่น
เมื่อเราถอยกลับมาสร้างสารแห่งความสุขได้ด้วยตัวเองแล้ว เราจะมีพลังในการลุกขึ้นมาเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ด้วยการให้อภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น เริ่มต้นหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ แล้วความรักครั้งใหม่จะยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพราะเป็นความรักที่เกิดจากการรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน
--
ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY
ความเห็น 2
มาฆะ😇🙏🍻🎉✨
การจะหลั่งโฮโมนใดๆได้ต้องมีสารอาหารที่ดีเป็นส่วนประกอบ ส่วนประกอบที่ดีที่สุดคือ raw protein และวิตามินทั้งหลายแหล่ raw protein ที่ดีได้จากเนื้อสัตว์ล้วนปรุงด้วยความร้อนน้อยๆ ไฟอ่อนๆ ไม่อุ่นแล้วอุ่นอีก นะจ๊ะท่าน
26 ม.ค. 2563 เวลา 11.36 น.
ผมคิดว่าในการดำเนินชีวิตร่วมของคนเรานั้นไม่ว่าจะเป็นไปด้วยในสถาณะใดก็ตาม ต่างก็ย่อมที่จะต้องมีปัญหาเกิดขึ้นมาได้เสมอ แต่ก็มีอยู่สิ่งหนึ่งทีสามารถจะช่วยในการแก้ไขเพื่อที่จะได้รักษาความสัมพันธ์ดีๆที่ได้มีกันมาเอาไว้ได้ นั่นก็คือ การมีสติ และคิดพิจรณาด้วยเหตุผลกับในสิ่งที่เกิดขึ้นมาให้อย่างรอบครอบก่อนที่จะตัดสินใจสรุปไปตามสภาวะของอารมณ์ครับ.
22 ม.ค. 2563 เวลา 22.16 น.
ดูทั้งหมด