โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ก่อนตาย! ขอให้ได้เยือนสักครั้ง “เขาคิชฌกูฏ” บทพิสูจน์แห่งศรัทธาของชาวพุทธ

Another View

เผยแพร่ 18 ก.พ. 2562 เวลา 13.00 น.

 ก่อนตาย!ขอให้ได้เยือนสักครั้ง “เขาคิชฌกูฏ” บทพิสูจน์แห่งศรัทธาของชาวพุทธ 

ตั้งจิตให้มั่น. อธิษฐานเพียงข้อเดียว. สมดั่งใจหวัง. โอกาสเพียงปีละครั้ง. กับตำนานพระพุทธบาทฝั่งตะวันออก. ศรัทธาพุ่งด้วยยอดทำบุญ200 ล้านบาทต่อปี. อย่าทิ้งเนื้อแท้ของความเชื่อ. สืบสานศาสนาด้วยการไม่เล่าโม้ถึงปาฏิหาริย์จนเกินจริง 

มาฆบูชาสนั่นจันทบุรี ผู้คนเตรียมขึ้นเขา “คิชฌกูฏ” ครึ่งแสนเพื่อขอพร ในวันเพ็ญเดือนมาฆะนี้ ฟ้าเป็นใจเปิดโล่ง แดดไม่แรง ฝุ่นพิษลด คาดว่า 60 วันที่เปิดให้ขึ้นเขา จะมีผู้คนแห่กันมาไม่น้อยกว่า 8 แสน

พุทธบาทแท้? มีรอยร่องหินที่ถูกอ้างว่าเป็นพระพุทธบาทเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย แม้จากตำนานในพระไตรปิฎก มีแค่พระพุทธบาท 2 แห่งในแดนสุวรรณภูมิ หรือประเทศไทยในปัจจุบัน ( ปุณโณวาทสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 23 ภาค 3 เล่ม 2 ) ได้แก่ พระพุทธบาทสระบุรี และ แม่ริม เชียงใหม่  แต่กระนั้น เพราะการเล่าแบบปากต่อปาก  พระพุทธบาท ที่ประดิษฐานในตำแหน่งสูงที่สุดของประเทศ อย่างพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ นำมาซึ่งเทศกาลอันยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของปี นั่นคือ  พิธีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง 

วันขึ้น1 ค่ำเดือน3 ของทุกปี กินระยะเวลา 60 วันจากนั้น เป็นช่วงเวลาที่คณะกรรมการจัดงานนมัสการรอยพระบาทเขาคิชฌกูฏ เปิดให้ผู้คนได้ขึ้นเขาไปไหว้ในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนจะปิดเพื่อทำการเปิดป่า ให้สัตว์ป่าได้ออกหากิน และเป็นการป้องกันอันตรายจากฟ้าฝนที่ไม่เหมาะแก่การขึ้นเขา  ดังนั้นผู้คนจึงแห่กันไปในช่วงเวลาดังกล่าว  โดยเฉพาะวันมาฆบูชาของทุกปี จะมีผู้คนประมาณ 50,000 คน ขึ้นไปกราบไหว้บูชาขอพรในวันพระจันทร์เต็มดวง 

เรื่องเล่าสู่ตำนาน แม้ว่าจะมีการค้นพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้มาได้ร้อยปีแล้ว แต่เขาคิชฌกูฏ เพิ่งจะเริ่มเป็นที่สนใจไม่นานมานี้ ด้วยเรื่องเล่าปากต่อปาก ถึงการไปขอสิ่งใดแล้ว สิ่งนั้นจะสมดั่งใจ  เมื่อมีการบอกต่อกันไปถึงความสำเร็จ ความสมหวังของผู้ขึ้นยอดเขา ก็ทำให้ข่าวถูกกระจายเป็นวงกว้าง จนทำให้การขึ้นไปบูชาพระพุทธบาท ไม่ใช่ไปเพื่อแสดงความเคารพรอยจารึกในตำนานศาสนาอีกต่อไป  แต่เพื่อความสมดังใจของผู้คน 

บทพิสูจน์ของคนจริง เนื่องจาก เขาคิชฌกูฏ อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ จึงไม่สามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปยังสถานที่ได้ อีกทั้งทางขึ้นเขามีความลาดชันสูง อาจเกิดอันตรายได้ เส้นทางเป็นดินลูกรังและมีหลุมบ่อ ต้องใช้รถประเภทขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น ดังนั้น จึงมีการจัดรถเพื่อไปยังยอดเขาโดยคณะกรรมการ ระหว่างทาง 9 กิโลเมตร กับ 148 โค้ง มีร้านค้า ร้านอาหาร ระหว่างทาง  เมื่อเดินทางหลายต่อจนไปถึงจุดขึ้นเขา ต้องเดินเท้าขึ้นไปอีกเป็นกิโล ซึ่งความชันของทางเท้า ไม่เอื้อต่อผู้สูงอายุและเด็ก แต่ก็มีไม่น้อยที่จะเห็นเด็กน้อยและคนแก่ยืนโพสต์ท่าถ่ายรูปด้วยความภูมิใจคู่กับ หินพระบาตร อันเป็นสัญลักษณ์คุ้นตาแสนโด่งดังบนยอดเขา 

อินเดียพม่าไทยของใครเจ๋ง แม้อินเดียจะถูกบันทึกไว้ว่าเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนา แต่เส้นทางเผยแพร่ในตอนปลายยุคพระโคตมพุทธเจ้า กลับสร้างศรัทธาแก่ดินแดนที่พระองค์เสด็จได้มากมาย ในประเทศพม่า มีพระธาตุอินทร์แขวนอันแสนโด่งดัง ซึ่งเขาคิชฌกูฏเอง ก็เดินรอยความสำเร็จอันนี้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะสถานที่และเรื่องเล่าปากต่อปาก ซึ่งก่อให้เกิดความเจริญในละแวก ตลอดจนสร้างรายได้ธุรกิจมากมาย โรงแรม รีสอร์ต ตลอดจนการคมนาคมขนส่ง ธุรกิจทัวร์ และร้านอาหาร ซึ่งในอนาคต เขาคิชฌกูฏก็น่าจะมีชื่อเสียงไปทั่วโลกได้ไม่น้อยหน้าศาสนสถานแห่งอื่น

หินพระบาตรกับการถูกท้าทาย ใกล้กับพระพุทธบาท มีหินก้อนใหญ่อยู่บริเวณหน้าผา มีตำนานเล่าว่า ถ้าลองเอาเส้นด้ายถือคนละฝั่ง สามารถสอดลอดใต้หินได้ นั่นก็หมายความว่า หินก้อนนี้กำลังลอยอยู่ ความเชื่อนี้เอง ถูกท้าทายอยู่หลายครั้งทั้งจาก เหล่ารายการโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทั้งนี้แม้จะไม่สมเหตุผลในหลักทางวิทยาศาสตร์ แต่ผู้คนก็เลือกที่จะเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์  การเกิด “หินทรงตัว” ได้เหล่านี้  ( Balancing Rock ) ก็มีเหตุผลที่อธิบายได้ในทางธรณีวิทยา ไม่ว่าจะเป็นการเกลี่ยของผิวแผ่นดิน ( Denudation ) หรือ  การผุพังอยู่กับที่ ( Weathering ) และแม้แต่การกร่อน ( Erosion ) ซึ่งท้ายที่สุด ผู้คนก็เลือกจะเชื่อว่า หินเหล่านี้ลอยได้อยู่ดี

กุศโลบายแห่งปรัชญา รอยพระบาทพระพุทธเจ้าที่แสนใหญ่โต จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือผู้คนทำขึ้น แม้กระทั่งอาจเป็นเรื่องจริงโดยแท้ กระนั้น หัวใจของ “อุบาย” ที่คนโบราณทำขึ้น ก็เพื่อให้เราได้รำลึกว่า คุณความดี หรือ ศาสนา ได้มาปรากฏตรงหน้า ในทุกแห่งหนของทวีปเรา ดังนั้น หากเรายึดมั่นในคุณความดี การไปเยือนพระพุทธบาทในแต่ละแห่ง จึงเป็นการแสดงความเคารพ และตระหนักว่าพุทธศาสนาของเรา ผ่านอะไรมาบ้าง เราควรสืบสานต่อกันอย่างไร เมื่อนั้น ปัญญาที่บังเกิดในทุกครั้งที่กราบไหว้จะไม่เสียเปล่า และการบูชาพระพุทธบาทจึงจะเป็นเรื่องที่งดงามไม่ใช่งมงาย  แต่ควรค่าแก่การสืบสานต่อไป

เสบียงบุญ200 ล้าน!ต่อปี ทำให้เกิดข้อพิพาทแก่คณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังสร้างความสลดใจแก่ชาวพุทธยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อผู้ขัดแย้งวิวาท เป็นคนในผ้าเหลือง และเกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง  ผลประโยชน์ที่ไม่เข้าใครออกใคร ถูกทำให้เขาคิชฌกูฏ กลายเป็นเรื่องดักดานและต่ำตมขึ้นมา มีคนวิพากษ์ไปในทางลบ หยิบยกความงมงาย และเรื่องเล่าปาฏิหาริย์อันเกินจริงมาทำให้ศรัทธาสั่นคลอน ทุกเหรียญที่หว่านปาเข้าไปใต้หินพระบาตร  ทุกธนบัตรที่หยอดลงไปในรอยก้นหอย สร้างความข้องใจต่อหลายฝ่าย จนบดบังเนื้อแท้ของวิถีพุทธที่พึงปฏิบัติกัน 

ไปด้วยจิตคิดถึงแต่เรื่องดี หากเราเดินขึ้นเขาไปด้วยความยากลำบาก จงนึกถึงพระอุตสาหะตลอด 45 พรรษาที่องค์พระพุทธได้ทรงสร้างมา วินาทีที่ก้มลงกราบ คิดเสมอว่าหลุมร่องนี้มีความแท้ที่ใจ เป็นเครื่องหมายแห่งคุณความดีของพระพุทธองค์ เป็นเครื่องเตือนว่า ต่อให้ดินแดนสุวรรณภูมิที่ล้าหลัง พระองค์ก็ยังคงเสด็จมาโปรดสัตว์จนถึงที่  และเมื่อมองไปยังหินพระบาตร พึงรำลึกถึงความไม่จีรังของสรรพสิ่ง เดินกลับลงจากภูเขาสูงด้วยความชื่นใจที่ได้บรรลุเป้าหมายซึ่งเราตั้งใจไว้  ออกไปทำคำอธิษฐานให้เป็นจริงด้วยตัวเราเอง 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0