โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กังหันแห่งความตาย - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 15 ต.ค. 2561 เวลา 07.20 น. • วินทร์ เลียววาริณ

โลกนี้มีมดราวสองร้อยสายพันธุ์ ในสังคมมดแบ่งหน้าที่กันทำ ทหารมีหน้าที่ป้องกันภัยและฆ่าศัตรู รวมตัวเป็นกลุ่มเรียกว่า กองทัพมด

กองทหารเหล่านี้ตาบอด พวกมันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างเป็นขบวนระเบียบเรียบร้อย โดยตามกลิ่นของตัวที่นำทางอยู่

แต่ในโลกนี้มีอะไรที่ไม่ผิดพลาด หรือผิดพลาดไม่ได้?

นานๆ ทีมดทหารสักฝูงอาจพลัดหลุดจากฝูงใหญ่ ตามกลิ่นไปผิดจุด แต่ละตัวเดินตามตัวข้างหน้าเหมือนเดิม แต่เนื่องจากจุดตั้งต้นผิดพลาด ทั้งฝูงนั้นก็เดินเป็นวงกลม หมุนเหมือนกังหัน ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Ant mill หรือกังหันมด

พวกมันเดินไปเรื่อยๆ อย่างนี้โดยไม่หยุดจนเหนื่อยตายทั้งฝูง ทุกตัวเชื่อว่ากำลังเดินไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง แต่เมื่อจุดเริ่มต้นผิดพลาด ทั้งฝูงก็เดินผิดใน ‘วงจรอุบาทว์’ นั้นจนตายไปทั้งหมด

สังคมคนก็ไม่ต่างจากสังคมมดทหาร เราถูกสอนให้เดินหน้า เดินตามคนอื่นที่เราเชื่อว่าเขารู้ทางดี แต่บ่อยครั้งเมื่อสงสัย ก็ไม่ตรวจสอบ ไม่ดูเข็มทิศว่าไปถูกทางหรือไม่ ด้วยค่านิยมว่า ผู้นำไม่น่าผิด หรือน่าจะมีประสบการณ์มากกว่าเรา จึงรู้จริง

การเดินไปข้างหน้าเป็นเรื่องดี แต่หากเดินไปโดยไม่รู้จุดหมายและทิศทาง หรือเดินตามผู้นำเลวร้าย ก็ตายได้ทั้งฝูง

การเดินตามผู้นำจึงมิเพียงต้องดูทิศทางที่ผู้นำพาไป ยังต้องเข้าใจเจตนาจริงและเจตนาแฝงของคนนำทาง

ทำไม ‘ฝูงมด’ อย่างเราๆ จึงเชื่อผู้นำที่พาเดินเป็นวงกลมจนชาติล่มจม อาจเพราะประชาชนเชื่อง่ายเกินไป

…………..

ในการตลาด การเดินตามผู้นำเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง เรียกว่า peer review คือการประเมินผล ให้คะแนนสินค้าหรือบริการโดยผู้รู้ในวงการในสายนั้น (peers) ปกติคนที่ให้คะแนนมักมีความรู้ด้านนั้นดี แต่ในทางการตลาด มักใช้หลักการเดียวกันกระทำโดยคนมีชื่อเสียงหรือคนที่ประชาชนนิยม เช่น นักแสดง ดารา นักร้อง ก็คือพรีเซนเตอร์นั่นเอง ทำหน้าที่ ‘รีวิวสินค้า’

การนำเสนอสินค้าโดยคนมีชื่อเสียงหรือดาราที่คนนิยมสามารถโน้มน้าวใจคนให้เดินตาม ผู้บริโภคจึงต้องวิเคราะห์ให้ออกว่ามันเป็นคำแนะนำที่หวังดีจริงๆ หรือโฆษณาชวนเชื่อ

และต่อให้เป็นคำแนะนำที่หวังดี พรีเซนเตอร์เตอร์คนนั้นใช้สินค้าจริงๆ ก็ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าเป็นจริงหรือไม่ ผู้นำหลงผิดหรือเชื่อผิด หรือรับข้อมูลมาผิดหรือไม่ เราจึงได้ยินได้เห็นบ่อยๆ ว่า พรีเซนเตอร์บางคนโฆษณารถยนต์ยี่ห้อ ก. แต่ใช้รถยนต์ยี่ห้อ ข.

เพราะความเชื่อเป็นคนละเรื่องกับความรู้

ครูบาอาจารย์มีภาพลักษณ์ของผู้รู้ แต่มันเป็นคนละประเด็นกับการรู้จริง เพราะบ่อยครั้งครูบาอาจารย์ก็รู้มาผิด เมื่อสอนศิษย์ ก็ส่งต่อความรู้ผิดไปด้วย หากไม่มีการตั้งคำถามหรือถามแย้ง ก็จะรับความรู้ผิดๆ ไป เพียงเพราะเชื่อว่าครูไม่น่าผิด

แม้แต่มืออาชีพก็ผิดพลาดได้ และผิดพลาดเสมอ หมอ อัยการ ทนายความ ตำรวจ ฯลฯ ดังนั้นจึงควรกล้าทักท้วงและเห็นต่าง

นี่ก็คือกาลามสูตร

ปัญหาบ้านเมืองบ่อยครั้งเกิดจากการหลงเชื่อว่า คนคนหนึ่งสามารถนำพาพวกเขาไปสู่โลกที่ดีกว่า แล้วจึงเดินตาม

บ่อยครั้งกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่ ก็อยู่ที่ก้นเหวแล้ว

โลกไม่เคยขาดผู้นำแบบนี้ บ้างเป็นผู้นำบ้า บ้างเป็นผู้นำที่ไม่รู้จริง พาเดินวนในกังหันมด

บางทีเหตุหนึ่งที่ผู้นำพาหลงทางก็เพราะเมื่อพบอุปสรรค ผู้นำเก๊จะเดินเลี่ยงเสมอ และไม่ช้าก็เร็วหลงทาง ส่วนผู้นำตัวจริงจะเดินฝ่าอุปสรรค

ที่ประหลาดคือแทบทุกกรณีเหมือนกันคือ หนึ่ง ประชาชนเชื่อว่าผู้นำคนนั้นสามารถพาพวกเขาไปสู่โลกอุดมคติ สอง ประชาชนออกเสียงเลือกใครคนนั้นท่วมท้น

ดังนั้นอาจไม่ผิดนักที่บอกว่าบางทีชาวมดต่างหากที่พาตัวเองไปสู่วังวนของกังหันมด เมื่อเลือกเชื่อสัญชาตญาณมากกว่าความรู้

ครั้งหนึ่งชาวเยอรมนีออกเสียงเลือกชายคนหนึ่งเป็นผู้นำ เพราะเชื่อว่าเขาจะนำพาชาติไปสู่ความยิ่งใหญ่ ภาพลักษณ์ของเขาบอกความมั่นใจ มีเสน่ห์ และดูเหมือนเขารู้ว่าจะต้องทำอะไรเพื่อให้เยอรมนียิ่งใหญ่

ผู้นำคนนั้นชื่อฮิตเลอร์ ผลงานของเขาคือสงครามโลกครั้งที่สอง พังไปค่อนโลก

ผ่านยุคของฮิตเลอร์ โลกไม่เคยขาดผู้นำที่ประชาชนให้การสนับสนุนอย่างท่วมท้น และพาชาติลงเหว

อัลแบร์โต ฟูจิโมริ เป็นประธานาธิบดีเปรู ก้าวขึ้นมาด้วยคะแนนเสียงสองในสามของประเทศ ข้อหาคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจมิชอบทำให้เขาหนีออกจากประเทศ และส่งแฟกซ์ของลาออกจากตำแหน่ง เขาถูกส่งตัวกลับในที่สุด และรับโทษ เมื่อฝูงมดตาสว่างขึ้น

และอีกมากมายนับไม่ถ้วน

บางครั้งผู้นำเข้าสู่อำนาจด้วยเจตนาและจุดมุ่งหมายที่ดี แต่สะดุดตกในหล่มอำนาจถอนตัวไม่ขึ้น เพราะเป็นเรื่องยากมากที่เมื่ออยู่ในตำแหน่งที่สามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ จะไม่หลงใหลสภาวะนั้น คนดีที่สุดก็อาจเปลี่ยนได้ อำนาจเป็นเฮโรอีนชนิดหนึ่ง

นานๆ ทีโลกจะมีผู้นำที่มองการณ์ไกล และกล้าพาฝูงมดข้ามพ้นวงจรอุบาทว์

หลังจากผู้นำโซเวียต เลโอนิด เบรซเนฟ ตาย คณะโพลิตบูโรเลือก มิคาอิล กอร์บาชอฟ เป็นผู้นำคนใหม่ในปี 1985 โดยไม่รู้ว่ากอร์บาชอฟคิดไม่เหมือนผู้นำโซเวียตคนอื่นๆ สิ่งที่กอร์บาชอฟทำหลังขึ้นสู่อำนาจคือปฏิรูปประเทศและแผ้วทางสู่ระบอบประชาธิปไตย เดินออกห่างจากระบอบคอมมิวนิสต์

กอร์บาชอฟรู้ชัดว่าระบอบที่ครองโซเวียตมาร่วมร้อยปีล้มเหลวโดยสิ้นเชิง โซเวียตยุคคอมมิวนิสต์ก็เช่นฝูงมดที่เดินหลงทาง เพราะระบบไม่ทำงาน

กอร์บาชอฟตัดสินใจตัดวงจรนี้

การเปลี่ยนแปลงหมายถึงการยอมเสียอำนาจของโซเวียต ลดความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโซเวียตที่พวกเขาภูมิใจ รวมทั้งลดอำนาจตัวเอง

ผลของแนวทางที่เขากำหนดทำให้กำแพงเบอร์ลินล่มสลายในชั่วข้ามคืน ปลดปล่อยยุโรปตะวันออกจากคอมมิวนิสต์ และยุติสงครามเย็น

ในวันที่ 25 ธันวาคม 1991 กอร์บาชอฟลาออกจากตำแหน่งทรงอำนาจ ธงค้อนกับเคียวของโซเวียตลดลงจากเสาเหนือเครมลิน ปลดปล่อยประเทศใหม่ 15 ประเทศที่ยึดครองมานานหลายสิบปี

ต้องใช้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และกล้าหาญ จึงจะสามารถเปลี่ยนโลกในทางที่ดีขึ้น

ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำรัฐและองค์กรธุกิจต้องรู้ปรากฏการณ์ Ant Mill และในโลกทุกวันนี้ กังหันมดหมุนเร็ว แรงเหวี่ยงสูง และสามารถปรากฏตัวได้อย่างไม่คาดหมาย

ผู้นำที่คิดแบบเดิม ไม่กล้าหาญพอ ก็พาฝูงมดหลงทางจนตาย

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ตุลาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0