โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สื่อสารอย่างไรในวันที่ใจอ่อนแอ - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 01 เม.ย. 2563 เวลา 07.54 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

“หมอครับผมนอนไม่หลับสี่คืนแล้วครับ แล้วตอนกลางวันก็รู้สึกปวดตึงบ่าไหล่ ต้นคอและขมับมากๆ”

อาการสำคัญของชายคนหนึ่งที่พาตัวเองมารักษา ฟังอาการแล้วหลายคนอาจมีคนรู้สึกว่าเหมือนเราเลย

โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เราทุกคนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 กันอย่างถ้วนหน้า เพราะนี่คืออาการของความตึงเครียดที่แสดงออกทางร่างกาย

ชายคนนี้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เขามีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบหลายด้านทั้งทางการเงินการลงทุน การบริหารการก่อสร้าง การขาย และคนงาน เรียกได้ว่าเป็นแม่ทัพหน้า เขาเริ่มรู้สึกได้ถึงความไม่คล่องตัวทางธุระกิจมาประมาณ 6 เดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากเริ่มมีปัญหาการขายบ้านที่ยากขึ้น สิ่งที่เขาพยายามแก้ปัญหาคือการพยายามคงสภาพธุระกิจบอกทุกคนรวมทั้งเจ้าหนี้ว่า “ไม่เป็นไร” เพื่อรักษาเครดิต มองหาช่องทางใหม่ในการหาเงินไปเรื่อยๆโดยไม่หยุดมองรายจ่าย จนกลายเป็นคนที่หมกมุ่นทำงานตลอดเวลา สิ่งที่ตามมาคือความห่างเหินต่อภรรยาและลูกๆ

เมื่อเจอวิกฤตสถานการณ์ Covid – 19 โหมกระหน่ำในช่วงเดือนที่ผ่านมา เขาเริ่มรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในความเป็นนักสู้ของตัวเอง เหนื่อยแต่ไม่กล้าหยุด ท้อแต่ไม่กล้าถอย อยากได้กำลังใจแต่ไม่กล้าร้องขอ อ่อนแอแต่ไม่กล้าให้ใครเห็น อยากให้คนอื่นเข้าใจแต่กลัวเขาไม่เข้าใจ เมื่อหันกลับมามองตัวเลขในธุรกิจอีกทีเขาพบว่าตัวเองติดลบหลายสิบล้านโดยไม่กล้าบอกหรือขอความช่วยเหลือจากใคร สุดท้ายร่างกายจึงเรียกร้อง

ถ้านอกจากยาแก้ปวดที่เป็นการรักษาปลายทางและแผนการแก้ปัญหาทางธุรกิจ ยาที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้นั้นคือกำลังใจ โดยเฉพาะจากครอบครัวหรือคนที่เรารัก แต่คนที่เรารักอาจจะให้กำลังใจไม่ได้หรือให้ก็ไม่ใช่แบบที่เราต้องการ หากเราไม่สื่อสารสภาวะจิตใจที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วถ้าเราอยากลองสื่อสารควรเริ่มต้นอย่างไร

1. ย้ายสิ่งกีดขวางการสื่อสารออกไป สิ่งที่กีดขวางการสื่อสารคือ  

  •  1.1 การตัดสินตัวเอง เช่น ฉันล้มไม่ได้ ฉันอ่อนแอไม่ได้ ฉันร้องให้ไม่ได้ เป็นต้น 
  •  1.2 การตัดสินคนอื่น เช่น รู้ไปก็ช่วยอะไรไม่ได้ เขาคงรับไม่ได้ เขาคงไม่อยากฟัง เป็นต้น

2. ฟังเสียงภายในที่แท้จริงของตัวเองโดยไม่ตัดสินถูกผิด  เราอาจถามตัวเองว่า “ฉันรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น?” “ฉันกำลังต้องการอะไร?” “ฉันต้องการความช่วยเหลือไหม จากใคร อย่างไร?” เพื่อเป็นการฝึกสื่อสารกับตัวเองก่อน ก่อนสื่อสารกับคนอื่นอย่างเข้าใจและตรงใจมากขึ้น

3.ฝึกการเห็นอกเห็นใจ ( Empathy) ตัวเอง ปกติเรามักใช้คำนี้กับคนอื่น ในวันที่จิตใจอ่อนแอลองหันกลับมาเห็นอกเห็นใจตัวเองดู เราจะพบธรรมชาติของความเป็นคนธรรมดามากขึ้น เช่น อ่อนแอก็ธรรมดา ท้อบ้างก็ธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับไม่ได้จนต้องปฏิเสธตัวเอง

4.กล้าที่จะพูดกับคนที่ควรพูด เราลองเริ่มต้นที่ “ฉันรู้สึก/ฉันคิดว่า……” การสื่อสารที่เป็นความคิดความรู้สึกของเราจะทำให้เราได้มีโอกาสระบายสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา  

โดยคนฟังเองก็สามารถรับฟังด้วยความเต็มใจได้ เพราะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถูกต่อว่า

5.หาทางออกร่วมกัน การสื่อสารที่ดีจะทำให้เรามีการจัดระบบความคิดในสมองของเราในระหว่างการสื่อสาร หลายคนจะพบว่า เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นหลังจากได้พูดระบายความรู้สึก

คนที่ฟังก็เข้าใจเรามากขึ้น ต่างคนต่างเข้าใจกันมากขึ้น และความเข้าใจจะเป็นกระบวนการที่สำคัญในการดูแลจิตใจ ทำให้เราเห็นทางออกของปัญหาร่วมกัน 

หลังจากจบการให้คำปรึกษา หมอได้ให้ชายคนนี้ลองทบทวนดูว่า เขาได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางของผลกระทบจาก Covid – 19 ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร

เขาได้ให้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า การเป็นคนที่พิเศษกว่าใครอาจไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุขหรือความสำเร็จอย่างที่เขาเองเคยคิดว่าตัวเองเป็นมาตลอด แต่การกลับมาเป็นคนธรรมดาที่ล้มแต่ลุกได้ อ่อนแอแต่เข้มแข็งได้ เร็วได้ก็ช้าได้ อาจจะทำให้เขามีความสุขและความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

ใช้หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง
ไวรัสพ่ายแพ้ต่ออะไร

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากหมอเอิ้น พิยะดา ได้ ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0