โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การอยู่กับความเหงาในวันที่เราต้องห่างกันสักพัก - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 24 มี.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

ต้องบอกว่าบทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาการที่ได้มีโอกาสดูคลิปที่คุณแมทธิว ดีน ได้ถ่ายลงใน IG ส่วนตัว เพื่อบอกเล่าความรู้สึกในการเป็นผู้ป่วยโควิด 19 ที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ต้องแยกจากครอบครัวและคนรัก ภายในไม่กี่ชั่วโมงคลิปนี้ก็ถูกเปิดชมนับแสนครั้ง ไม่ใช่เพียงเพราะคุณแมทธิวเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง หรือกระแสของCovid-19 ที่กำลังมาแรงเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญเป็นเพราะการถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ตรงทั้งด้านร่างกาย และจิตใจที่กำลังเผชิญอย่างมีประเด็นที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ได้ประโยชน์ต่อผู้คนที่ยังไม่เป็นและยังไม่ได้อยู่ในสภาวะแบบเขา

 ประเด็นสำคัญในการเป็นผู้ป่วย Covid-19 แมทธิว ทางด้านร่างกายนั้นไม่ได้สร้างความทุกข์ทรมานให้กับตัวเขามากนัก มีเพียงอาการไข้ที่ยังเป็น ๆหาย ๆ และผลข้างเคียงจากการเริ่มได้ยาเพื่อรักษา แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากสีหน้าแววตา ท่าทาง และคำพูดของเขาคือ 

“การรอคอย เจ็บปวดที่สุด” รอคอยตั้งแต่ผลการตรวจของตัวเอง ผลการตรวจของคนรอบข้าง รอคอยการจะได้กลับไปหาคนที่รัก รอคอยการได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ รอคอยการที่จะไม่ได้อยู่คนเดียวเช่นในตอนนี้

 ต่อไปเรื่องของการต้องแยกตัวเพื่ออยู่คนเดียวคงไม่ใช่เรื่องของแมทธิว หรือคนที่ติดเชื้อโควิดเท่านั้น

เพราะจากยอดของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน แสดงให้เห็นว่าเราทุกคนต้องเริ่มตระหนักว่าเราทุกคนคือความเสี่ยง การรักษาระยะห่างทางสังคม (social distance) หรือการกักตัวเอง (self quarantine) เมื่อตัวเองกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือเพื่อสังเกตตัวเองเมื่อเริ่มมีอาการหวัด โดยไม่ต้องรีบร้อนไปโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนมากขึ้น แทนการวิ่งเข้าหาโรงพยาบาลเพื่อขอรับการตรวจ Covid-19

 เมื่อการที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (social distance) และการกักตัวเอง ( self quarantine) เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่ตามมาได้นั่นคือความรู้สึกเหงาเพราะเราทุกคนต้องห่างกัน

ความรู้สึกเหงาจะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกขาดการเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับคนอื่นเพราะเราต้องห่างจากคนรอบข้าง หรือระหว่างตัวเราเองเพราะเกิดอารมณ์ด้านลบมากมาย เช่น โกรธโชคชะตา โกรธผู้นำ โกรธตัวเอง โกรธคนที่นำพาเชื้อเป็นต้น. 

ไม่มีใครห้ามความรู้สึกได้ เราทำได้ดีที่สุดเพียงการรับรู้ ยอมรับ แล้วค่อยมองหาประโยชน์จากประสบการณ์ความเหงาที่เกิดขึ้นอย่างเช่น

  • 1.เป็นโอกาสในการพัฒนาสมาธิและความจำ  

เพราะเรามักมีเสียงความต้องการของคนอื่นมาดึงความสนใจในตัวเราเอง

  • 2.เป็นโอกาสในการมีเวลาคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ 

เพราะเรามีเวลามากขึ้น มีอิสระกับความคิดของตัวเองมากขึ้น

  • 3.เป็นโอกาสในการได้จัดลำดับชีวิต  

เพราะเมื่อเราจำกัดสิ่งที่ต้องจัดการเราจะเริ่มเห็นว่าควรจัดการอะไรก่อนหลัง

  • 4.เป็นโอกาสในการลงมือทำสิ่งที่อยากทำ  

เพราะก่อนหน้านี้อาจมีสิ่งที่ต้องทำเยอะเต็มไปหมด

  • 5.เป็นโอกาสในการทบทวนและพัฒนาความสัมพันธ์  

เพราะเมื่อเรามีโอกาสได้อยู่คนเดียวเราเริ่มรู้ว่าใครบ้างที่เราคิดถึง คิดถึงมากแค่ไหน เมื่อได้เจอกันควรปรับตัวเองอย่างไรให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น

  • 6.เป็นโอกาสที่จะได้ฝึกการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  

เพราะความอ่อนแอ ความเหงามักทำให้ใจเราเริ่มอ่อนโยนและเข้าใจคนที่มีประสบการณ์เดียวกันได้ดีขึ้น

เมื่อมองเห็นประโยชน์ของความเหงาแล้วเราเริ่มต้นอย่างไรดี

  • 1.ลองวางแผนรายสัปดาห์และรายวันของตัวเอง (ได้เวลากลับมาแล้วลองใช้ให้คุ้ม)
  • 2.จำกัดสิ่งที่จะทำเราวอกแวกจากสิ่งที่ตั้งใจจะทำ
  • 3.บันทึกการเรียนรู้ในประสบการณ์ที่เกิดขึ้น. (เมื่อสถานการณ์การนี้ผ่านพ้นไป เราจะได้กลับมาอ่านประสบการณ์ที่น่าภาคภูมิใจของตัวเอง)

เพราะในวันนี้พูดได้เต็มปากเลยว่าคงไม่มีใครไม่กังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เราทำได้เพียงช่วยตัวเองและช่วยชาติด้วยการหยุดโรคติดต่อ โดยเริ่มต้นที่การไม่ติดต่อ และขอเว้นระยะห่างกันสักพักนะ

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0