“ท้าวทองกีบม้า” หลังพระเพทราชายึดอำนาจ นางหาเลี้ยงชีพ-เอาตัวรอดมาอย่างไร?
ชื่อเสียงของท้าวทองกีบม้า หรือ นางมารี กีมาร์ เดอ ปิน่า เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้คิดค้นสูตรตำรับคาวหวานอันเลื่องชื่อ เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด และขนมในตระกูลฝรั่งต่างๆ อันที่จริงแล้วไม่มีผู้ใดหรือหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่านางเป็นผู้คิดประดิษฐ์สูตรขนมขึ้น เพียงแต่“เล่ากัน” ว่านางเป็นลูกครึ่งโปรตุเกส–ญี่ปุ่น ที่น่าจะได้ใช้เวลาที่ลพบุรีและบางกอกในการคิดค้นอาหารคาวหวานเพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมือง คำเล่าลือนี้ต่อมากลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเชื่อถือกัน และดูจะกลายเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ในที่สุด[1]
บทความขนาดสั้นชิ้นนี้ ไม่มีจุดประสงค์ที่จะพิสูจน์ว่าขนมต่างๆ เหล่านี้มาจากไหนและใครเป็นคนคิดประดิษฐ์ขึ้น แต่จะพิจารณาสถานะของนางฟอลคอนที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ว่านางได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างไร เพราะหลังจากที่สามีของนางคือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน เสียชีวิตลงแล้ว จากนั้นไม่นานพระเพทราชาก็ปฏิวัติยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชีวิตของนางจึงกลายเป็นแม่หม้ายที่มีภาระเลี้ยงดูลูกชาย และหาเลี้ยงชีวิต ทั้งในฐานะของเจ้าพนักงานวิเสท ที่ทำหน้าที่ในพระราชวังหลวง รวมทั้งนำเสนอบันทึกของชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นนางด้วย และที่สำคัญคือจดหมายฉบับหนึ่งของนางที่เหลือตกทอดมาจนปัจจุบัน
ประวัติชีวิตนางฟอลคอน หรือท้าวทองกีบม้า
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และ ปรามินทร์ เครือทอง อธิบายประวัติของมาดามฟอลคอนไว้ในหนังสือเรื่องการเมืองในประวัติศาสตร์“ขนมหวาน” ของท้าวทองกีบม้าฯ ว่านางเป็นสตรีลูกครึ่งโปรตุเกส–ญี่ปุ่น ชื่อของนางสะกดได้หลายแบบ เช่น มารี ปินยา เดอ กีร์มา หรือ มารี ชีมาร์ด หรือ แคทเทอรีน เดอ ทอร์ควิมา[2] อย่างไรก็ตาม ในจดหมายฉบับที่ผู้เขียนนำเสนอนี้นางเองใช้ชื่อว่า“ดอญ่ากูโยม่าเดอปิน่า”
บรรพบุรุษฝ่ายบิดาของนางนั้นน่าจะเป็นชาวญี่ปุ่นและเชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งถูกขับไล่ออกจากประเทศหลังจากที่ โชกุน ฮิเดะโยชิ ขัดขวางการเผยแผ่ศาสนาคริสต์และขับไล่ชาวญี่ปุ่นที่เข้ารีตให้ออกจากประเทศ กลุ่มชาวญี่ปุ่นนี้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านญี่ปุ่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับหมู่บ้านโปรตุเกส จึงเป็นเหตุให้นางฟอลคอนคุ้นเคยกับหมู่บ้านทั้งสองนี้มาตั้งแต่ยังเด็ก
เมื่อเติบโตขึ้น นางคงใช้ชีวิตอยู่ภายในหมู่บ้านหรือค่ายนั้น และได้พบกับฟอลคอนซึ่งเริ่มเข้าทำงานในสยามกับพระคลัง ที่ต้องติดต่อกับชาวต่างชาติเสมอ ฟอลคอนเองก็คุ้นเคยกับหมู่บ้านโปรตุเกสเป็นอย่างดีมาก่อน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าฟอลคอนนั้นพูดโปรตุเกสได้เป็นอย่างดีด้วย
หลังจากที่ฟอลคอนเข้าทำงานในสยามแล้ว ก็ได้แต่งงานกับนางฟอลคอน จากนั้นนางได้ช่วยเหลือสามีดูแลรับรองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสยามทั้ง พ่อค้า บาทหลวง และทูต ทั้งที่อยุธยาและที่ลพบุรี จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติขึ้นในปี พ.ศ. 2231
การปฏิวัติค.ศ. 1688/พ.ศ. 2231
การปฏิวัติที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2231 หรือ ค.ศ. 1688 เป็นการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์อยุธยา เพราะเป็นปีที่สิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเริ่มต้นรัชกาลพระเพทราชา ทั้งถือกันว่าเป็นยุคของการเสื่อมความนิยมในชาวฝรั่งเศสด้วย
โดยสรุปนั้น การปฏิวัติที่เกิดขึ้นมีข่าวลือล่วงหน้ามาก่อนแล้วว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรและโปรดชาวต่างชาติมากเกินไป และมีข่าวรั่วไหลออกมาว่าชาวฝรั่งเศสจะนำเรือติดอาวุธเข้ามายึดครองสยาม ข้อสันนิษฐานสำคัญคือ ออกพระวิสุทธสุนทร(โกษาปาน) เป็นผู้เข้าใจและเห็นความเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสทั้งหมด
เพราะในคราวที่โกษาปานเดินทางไปฝรั่งเศสนั้น อัครมหาเสนาบดีเซนเญอเล่ย์(Seignelay) ของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ได้กล่าวถึงการขอเมืองบางกอกและมะริดให้กับฝรั่งเศสเพื่อตั้งสถานีการค้า[3] พระเพทราชาคงทราบข่าวความเคลื่อนไหวนี้เช่นกันและหาทางกำจัดชาวฝรั่งเศสออกไปจากอาณาจักร[4]
ในปี พ.ศ. 2230-31 กลุ่มอำนาจทางการเมืองของอยุธยาแบ่งเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มขุนนางเก่าที่มีบทบาทมาแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลุ่มนี้อาจนำโดยพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ ผู้ซึ่งมีสถานภาพเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลุ่มที่2 คือกลุ่มขุนนางใหม่ที่เลื่อนสถานภาพขึ้นและมีพระปีย์หรืออาจจะเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศสนับสนุนก็เป็นได้ พระปีย์นั้นปรากฏในเอกสารต่างชาติว่าเป็นหุ่นเชิดของกลุ่มอื่นๆ และมีความต้องการขึ้นเป็นกษัตริย์เช่นเดียวกัน กลุ่มที่3 คือกลุ่มชาวฝรั่งเศสที่นำโดยเจ้าพระยาวิไชเยนทร์หรือฟอลคอน ที่พยายามใช้สถานการณ์สร้างโอกาส เช่น การเดินทางเข้ามาของกองทหารฝรั่งเศส เป็นต้น[5]
เมื่อพระเพทราชาทรงเริ่มแผนการปฏิวัติในต้นปี พ.ศ. 2231 นั้น แผนการขั้นแรกคือการพยายามกันกลุ่มคนต่างๆ ไม่ให้เข้าใกล้องค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สำหรับกลุ่มขุนนางใหม่นั้นไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เพราะเจ้าฟ้าอภัยทศทรงอยู่ที่อยุธยาเป็นหลัก พระเพทราชาจึงพยายามกันฟอลคอนให้ออกมาจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และไม่ให้โอกาสเข้าเฝ้าบ่อยครั้งเท่าเดิมนัก กระทั่งนายทหารฝรั่งเศสบางคนก็บันทึกเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน เช่น พันตรี โบชอง(Beauchamp) บันทึกว่า
“นับแต่เกิดสุริยุปราคาแล้ว เมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ก็ไม่ได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอีกเลย แม้ว่าเขาจะเดินทางเข้าไปในพระราชวังทุกวันดังเช่นปกติก็ตาม ด้วยเหตุดังนั้นเขาจึงพยายามหาหนทางในการเข้าเฝ้า เขาจึงได้ไปขอร้องโปมาร์ต แพทย์ประจำพระองค์ว่าขอนำบาทหลวงเดอ แบส บาทหลวงเยซูอิตเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน โดยกราบบังคมทูลว่าท่านผู้นี้มีความสามารถยิ่งในทางด้านการรักษา และด้วยวิธีการรักษาของท่านคงจะทำให้พระอาการประชวรทุเลาลงได้ เมอซิเออร์โปมาร์ตรับปากว่าจะทำตามที่เขาบอก แต่พระเจ้าแผ่นดินกลับไม่ได้เสด็จออกให้บาทหลวงเดอ แบสถวายการรักษาเลย”[6]
จากนั้นพระเพทราชาจึงกำจัดบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะฟอลคอน เพราะพระองค์เองก็ต้องประเมินอำนาจของฝรั่งเศสที่ดูเหมือนว่าอยู่ในอารักขาของฟอลคอนแต่เริ่มแรกได้ว่ามีมากพอสมควร แต่ครั้นเหตุการณ์กลับบ่งชี้ว่ากองทหารฝรั่งเศสมีปัญหาภายในกันเอง เพราะต่างก็ระแวงระวังและไม่แน่ใจว่าตนนั้นต้องฟังใคร หรือเชื่อคำสั่งใครระหว่างฟอลคอนและ นายพล เดส์ฟาร์จ(Desfarges) ก็ยิ่งเป็นช่องทางให้พระเพทราชาพยายามแยกอำนาจของฝรั่งเศสห่างออกจากกันมากขึ้น
เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าพระเพทราชา ออกหลวงสรศักดิ์ อ่านหมากกลของฝรั่งเศสออกและเป็นผู้กู้ชาติคืนมาได้ทางหนึ่ง
“กลลวง” ที่พระเพทราชาใช้ดัก “ฟอลคอน”
กลลวงอย่างหนึ่งที่พระเพทราชาใช้อย่างง่ายดายคือบอกฟอลคอนว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ฟอลคอนเฝ้าที่พระราชวังเมืองลพบุรี แต่กลลวงนี้ซับซ้อนว่าปกติ คือพระเพทราชาปล่อยข่าวว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะทรงจับพระเพทราชาในฐานะกบฏ
ข่าวเช่นนี้ย่อมทำให้ฟอลคอนออกมาจากที่พักได้ง่ายกว่าที่จะบอกเพียงว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เข้าเฝ้าเป็นแน่แท้ แล้วในที่สุดฟอลคอนก็หลงเชื่อข่าวนี้ บันทึกของ พันตรี โบชอง ซึ่งอยู่กับฟอลคอนในฐานะทหารรักษาความปลอดภัยนั้นบันทึกว่า
“นับตั้งแต่นี้จนถึงวันที่18 พฤษภาคม ข้าพเจ้าประจำอยู่ที่ละโว้ตลอดกับเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ ซึ่งได้บอกถึงแต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา ในวันนั้นเองข้าพเจ้าได้รับประทานอาหารร่วมกับเขา เขาพูดกับข้าพเจ้าน้อยลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ครั้นพอลุกจากโต๊ะต่างก็แยกไปที่นอนของตน ประมาณ2 ชั่วโมงให้หลัง คือราวบ่าย3-4 โมง เขาก็เรียกข้าพเจ้าเข้าไปพบ
ครั้นข้าพเจ้าเข้าไปก็เห็นเขาอยู่กับบาทหลวง เดอ แบส เขาว่า‘ท่านพันตรี เกิดเรื่องขึ้นแล้วล่ะ พระเจ้าแผ่นดินมีพระประสงค์จะจับสมเด็จพระเพทราชา’ข้าพเจ้าบอกเขาว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อ และมีอีกหลายอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย เขาควรจะให้พวกเราไปรวมตัวกันที่บ้านของเขาซึ่งปลอดภัยมากกว่า และข้าพเจ้าจะได้สั่งให้คนฝรั่งเศสและอังกฤษเตรียมพร้อมโต้ตอบศัตรู
แต่เขากลับบอกว่า‘ไม่’ และย้ำ(สามถึงสี่ครั้งราวกับเป็นคนบ้าที่พยายามหาคำตอบ) ว่าให้ข้าพเจ้าไปยึดอาวุธจากกองกำลังชาวสยามที่ข้าพเจ้านำขึ้นมาจากบางกอก โดยอย่าให้พวกเขารู้ตัว ข้าพเจ้าว่าจะทำตามเหมือนกับที่เคยปฏิบัติมาก่อน พอข้าพเจ้าจะออกไป บาทหลวง เดอ แบสก็ถามเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ว่าเขาจะเข้าวังหรือไม่ เขาตอบว่า‘ข้าพเจ้าจะให้ทหารไปด้วย’ ในไม่ช้าข้าพเจ้าจึงไปที่กองกำลังทหารที่ข้าพเจ้ายึดอาวุธไว้และจัดให้เข้าแถว
เมื่อเห็นเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์กำลังเดินทางไปพระราชวังเพียงลำพัง ข้าพเจ้าจึงไปดักรอข้างหน้าแล้วถามว่าเขาจะไปที่ใด เขาตอบว่า‘จะไปพระราชวัง ตามฉันมาสิ’ เมอซิเออร์ เชอวาลิเยร์เดส์ฟาร์จ(Chevalier Desfarges) และเดอ แฟรตเตอวิลล์(De Fretteville) ซึ่งออกมาล่าสัตว์เดินอยู่พร้อมอาวุธครบมือ ก็เข้ามาถามข้าพเจ้าว่าจะไปไหน ข้าพเจ้าตอบว่า‘จะไปพระราชวังพร้อมด้วยเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์’ ทั้งสองจึงเดินเข้าไปทำความเคารพและถามว่าปรารถนาจะให้พวกเขาไปด้วยหรือไม่ เมื่อเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ตอบตกลง ทั้งสองก็ปลดอาวุธฝากไว้กับทหาร เว้นแต่ปืนพกที่พวกเขาไม่ทันได้ปลดออก
พวกเราเดินเข้าไปในพระราชวังเพียง20 ก้าว เมื่อเข้าไปนั้นเอง ข้าพเจ้าก็บอกกับเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ว่า‘ฯพณฯ เหตุใดจึงไม่ออกคำสั่งให้ข้าพเจ้าจับสมเด็จพระเพทราชา’ เขาตอบว่า‘อย่าพูดอะไรอย่างนั้นเด็ดขาด’ ในไม่ช้า เราก็เห็นสมเด็จพระเพทราชาพร้อมด้วยทหารกว่า2,000 นาย แวดล้อมด้วยข้าราชบริพารเดินตรงเข้ามาหาเรา คว้าแขนเสื้อของเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์แล้วว่า‘อ้า มันนี่แหละ’ ว่าแล้วก็บอกให้ขุนนางผู้หนึ่งเข้าไปจะจับตัดหัว เมอซิเออร์ก็องสต๊องส์อยู่ในสภาพเกือบใกล้ตาย หันหน้าไปทางสมเด็จพระเพทราชาเหมือนร้องขอชีวิต”[7]
ชะตาชีวิตท้าวทองกีบม้า
เมื่อฟอลคอนสิ้นสภาพ นางฟอลคอน หรือท้าวทองกีบม้า ซึ่งอยู่ที่บ้านที่ตั้งอยู่อีกราว200-300 เมตร จากพระราชวังลพบุรีก็คงจะทราบเรื่องในที่สุด แต่ปัญหาต่อมาคือนางต้องเผชิญชีวิตอย่างไร เพราะลูกของนางคนหนึ่งก็เสียชีวิตไปไม่นาน และฟอลคอนเองก็ไม่มีอำนาจพอที่นำศพลูกคนนี้ลงไปฝังที่อยุธยาได้ด้วย เหลือเพียงลูกชายอีกคนที่อยู่กับนาง บรรดาทรัพย์สินอันมีค่าของนางก็ต้องถูกริบเป็นของหลวง
แต่บันทึกหลายฉบับของทหารก็ชี้ว่านางได้ฝากหีบสมบัติกับทหารฝรั่งเศสให้นำลงมาไว้ที่บางกอก ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่านางปรารถนาที่จะได้กลับฝรั่งเศสมากกว่าที่จะอยู่ในสยาม และคงหวังว่าที่ป้อมเมืองบางกอกและกองกำลังทหารของนายพล เดส์ฟาร์จ จะเป็นเกราะป้องกันภัยจากสยามอันจะมาถึงตัวได้ในไม่ช้า
ในช่วงนี้เป็นช่วงที่กองกำลังทหารฝรั่งเศสอยู่ในสภาวะสับสนวุ่นวาย เพราะพระเพทราชาต้องการให้นายพล เดส์ฟาร์จเดินทางขึ้นไปลพบุรี ขณะที่ทางทหารฝรั่งเศสซึ่งมีจำนวนไม่มากนักก็ต้องรักษาความปลอดภัยที่ป้อมปราการที่บางกอก และต้องหวาดระแวงกับการลอบต่อสู้ของชาวสยาม ขณะนั้นนางฟอลคอนหรือมาดามฟอลคอน ก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ด้วย นางจึงพยายามจัดการทรัพย์สินของตนแบ่งทยอยลงมาบางกอก ดังที่ พันตรี โบชองเขียนว่า เมื่อจะเดินทางกลับลงมาบางกอก…
“บาทหลวง เดอ ลิยอนน์ ท่านพระคลังพร้อมด้วยอุปทูตท่านที่2 และข้าพเจ้าก็ออกเดินทางไปบางกอก เมื่อข้าพเจ้าอยู่บนหลังช้าง บาทหลวงโดลูส์นำหีบห่อลับ2 ห่อมอบให้ข้าพเจ้า เพื่อที่จะส่งต่อให้กับบาทหลวงคาร์มีล(Carmille) และบาทหลวงธียงวีลล์(Thionville) ที่บางกอก”[8]
ห่อลับทั้งสองนี้ ต่อมาจะถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อย เมื่อ พันตรี โบชองมาถึงบางกอกก็ไปพบบาทหลวงคาร์มีล
“ข้าพเจ้าไปพบบาทหลวงคาร์มีลผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบหีบ2 กล่องที่บาทหลวงโดลูส์ได้มอบให้กับข้าพเจ้าอย่างลับๆ เพื่อส่งต่อถึงมือท่าน ท่านบาทหลวงรับไปและเข้าไปเปิดดูในห้องเพียงผู้เดียว หลังจากนั้น4 ชั่วโมงท่านก็นำหีบห่อมาคืนกับข้าพเจ้าและบอกว่าสิ่งของข้างในไม่ใช่สมบัติของพวกท่าน ท่านไม่ต้องการรับผิดชอบเพราะว่าหากยอมรับเอาไว้แล้วก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ บาทหลวงคาร์มีลต้องการคืนให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการเช่นกัน และเมื่อเห็นว่าข้าพเจ้ายืนยันเช่นนั้นเขาจึงวางหีบไว้บนโต๊ะและออกไป” [9]
แต่ต่อมามีจดหมายมาจากเมืองละโว้ ความว่า
“ช่วงเวลานั้นเองบาทหลวงรัวเย่ บาทหลวงเยซูอิตได้เขียนจดหมายจากละโว้มาถึงข้าพเจ้าฉบับหนึ่งความว่า บรรดาห่อของทั้งปวงที่มาดามก็องสต๊องส์ฝากไว้กับข้าพเจ้านั้นไม่ใช่เป็นของนาง แต่เป็นของพระเจ้าแผ่นดินสยาม และข้าพเจ้าจะต้องนำไปคืนให้กับมือของท่านสังฆราช บาทหลวงเยซูอิตส่งจดหมายมาให้ข้าพเจ้าราวกับว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ไปรับของมาจากมาดามก็องสต๊องส์ด้วยมือเอง ทั้งๆที่ท่านเองเป็นคนมอบหมายให้ข้าพเจ้านำไปส่งต่อให้บาทหลวงคาร์มีล ไม่ใช่เอาไปคืนให้ท่าน เพราะว่าหากชาวสยามรู้ความจริงเข้าแล้ว ก็คงจะเกิดปัญหากับทั้ง2 ฝ่าย ทั้งคนที่รู้ความลับและกับฝ่ายสามีหล่อน
ข้าพเจ้านำจดหมายไปให้นายพลเดส์ฟาร์จอ่านดู เขาบอกให้ข้าพเจ้าเก็บห่อของไว้ก่อนจนกว่าสยามจะส่งคืนปืน400 กระบอกที่เขาให้เมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ไปแทนค่าใช้จ่ายกลับคืนมา นายพลเดส์ฟาร์จเขียนจดหมายถึงพระคลังว่าจะคืนห่อของให้เมื่อได้รับปืน400 กระบอกตามที่ทุกคนรู้ แต่พระคลังตอบว่าในทันทีที่เราคืนห่อของ ท่านก็จะเอาเงินมาใช้คืนด้วยตัวท่านเอง
ในที่สุดแล้วเวเรต์ก็เป็นคนนำไปคืนที่อยุธยา นายพลเดส์ฟาร์จซึ่งไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว ก็สั่งให้ไปแจ้งบาทหลวงคาร์มีลและบาทหลวงธียงวีลล์ ข้าพเจ้าเปิดหีบห่อออกดูต่อหน้าบาทหลวง นายพลเดส์ฟาร์จ และเวเรต์ ข้างในมีสายสร้อยยาว4 เส้น มีหมวก1 ใบ สร้อยคอ2 คู่ มีตุ้มหูไข่มุก แหวนทองคำหลายขนาด48 วง มรกตชิ้นเขื่องน้ำงามมาก1 ชิ้น เข็มกลัดจำนวนหนึ่ง ทับทิมเม็ดเล็กๆ แหวนฝังเพชรเม็ดเล็ก4 วง สร้อยทอง9 หรือ10 เส้น ก้อนทองคำ11 ก้อน หนักก้อนละกว่า3 มาร์ก ก้อนทองคำ8 อันๆ ละ10 เอกูส์ กระดุม1 โหล ปิ่น6 อัน เหรียญทอง12 เหรียญ
บาทหลวงจำได้ว่าทั้งหมดเป็นสิ่งของในหีบห่อที่บาทหลวงโดลูส์ให้กับข้าพเจ้าขณะออกจากละโว้ ไม่ใช่ของมาดามก็องสต๊องส์ เวเรต์เป็นผู้รับไปคืนให้กับท่านพระคลังซึ่งท่านก็คืนปืน400 กระบอกให้กับเมอซิเออร์เดส์ฟาร์จผ่านทางอุปทูต”[10]
แล้วหีบสมบัติเหล่านี้ก็อันตรธานหายไป พร้อมกับชาวฝรั่งเศส
เมื่อนางฟอลคอนเดินทางมาถึงบางกอกในวันที่4 ตุลาคม เวลา15 นาฬิกา นางมาพร้อมกับทหารฝรั่งเศสชื่อแซงต์มารี(Saint Marie) ผู้ซึ่งช่วยเหลือนางมาจากอยุธยา ทหารฝรั่งเศสชื่อ โวลอง เดส์ แวร์แกง เล่าว่านางหนีออกหลวงสรศักดิ์ลงมา เพราะออกหลวงสรศักดิ์ปรารถนาจะได้ตัวนางเป็นภรรยาคนหนึ่ง[11]
แต่ไม่มีชาวฝรั่งเศสเห็นด้วยกับเหตุการณ์นี้ นายพล เดส์ฟาร์จไม่ประสงค์ให้นางกลับไปด้วย แต่บรรดาบาทหลวงต่างเห็นตรงกันข้ามคือสมควรคืนนางให้กับฝ่ายสยาม อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อให้การเผยแผ่ศาสนาคริสต์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดังเดิม แต่ นายพล เดส์ฟาร์จก็ไม่ยอม และเกรี้ยวโกรธนายทหารฝรั่งเศสที่พานางฟอลคอนลงมายังบางกอก บันทึกของ นายพล เดส์ฟาร์จเองบันทึกตอนนี้ไว้ว่า
“ขณะที่เรื่องทั้งปวงกำลังดำเนินไปอยู่ ก็เกิดเรื่องใหม่ขึ้นมาอีกที่อาจทำให้ทุกอย่างจบสิ้นลง นั่นคือภรรยาของเมอซิเยอร์ก็องสต๊องส์ หลังจากที่นางถูกทรมานอย่างหนักทั้งจากพวกแขนลายที่มีหน้าที่ควบคุม และจากอุปราชบุตรชายพระเพทราชาซึ่งหลงใหลในตัวนางแล้ว เพื่อให้สารภาพเรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับสามี นางได้หลบหนีมาบางกอก เมื่อขุนนางทราบเรื่องและพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบก็สั่งว่า หากเราไม่ส่งนางกลับคืน อาจจะไม่มีข้อตกลงใดใดเกิดขึ้น
เขาเกรงว่าหากนางออกเดินทางพ้นอาณาจักรแล้ว หล่อนก็อาจจะครอบครองทรัพย์สินของสามีนางที่นำออกนอกอาณาจักรและอาจทำให้สูญหายได้แม้ข้าพเจ้าจะวิตกกังวลกับเรื่องนี้มาก เพราะเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าเกี่ยวข้องและเกิดขึ้นในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน(เพราะชาวสยามยืนยันจะช่วยเหลือสิ่งของ เช่น นายท้ายเรือ เชือก สมอเรือและสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการเดินทางออกไป ซึ่งข้าพเจ้าคงจะไม่สามารถจัดหาได้ในช่วงเวลาเช่นนี้) แต่ข้าพเจ้าก็มิต้องการคืนนางไปโดยไม่จัดการเรื่องความปลอดภัยของนางก่อน
ข้าพเจ้าได้พยายามทูลขอพระเจ้าแผ่นดินให้นางได้เดินทางกลับไปพร้อมด้วย แต่ไม่มีใครฟังข้อเสนอของข้าพเจ้าเลยและการต่อสู้ก็มีทีท่าว่าจะปะทุขึ้นอีกทั้งอาจรุนแรงกว่าที่เคยมีมา
พวกเขาได้จับกุมนายเวเรต์ซึ่งข้าพเจ้าได้ส่งให้ไปอยุธยาเพื่อจัดการเรื่องต่างๆ มิชชันนารีและบาทหลวงเจซูอิตท่านหนึ่ง ที่อยู่ที่นั่นถูกคุมตัว พ่อแม่ของนางฟอลคอนก็ถูกทรมาน แม่ของหล่อนเขียนจดหมายมาหาข้าพเจ้าให้จัดการเรื่องต่างๆ โดยเร็ว
ข้าพเจ้าข้อตกลงในข้อสัญญากับพระเจ้ากรุงสยามว่าจะทรงมอบอิสรภาพให้กับนางและครอบครัว มอบสิทธิที่นางจะแต่งงานกับผู้ใดก็ได้ตามปรารถนา และทรงสัญญาว่านางจะไม่ได้รับการทารุณใดใดอีก เมื่อได้รับคำมั่นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงส่งนางกลับคืนไป”[12]
ส่งตัวคืนสยาม
มีบันทึกอีกฉบับหนึ่งที่แสดงข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือจดหมายของบาทหลวง เดอ ลียอนน์(De Lionne) ว่าด้วยเรื่องภรรยาคอนซตันซ์ตินฟอลคอน ลงวันที่17 มกราคม ค.ศ. 1692 (พ.ศ. 2235) คือหลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติแล้ว4 ปี ดังนี้
“เมื่อภรรยาคอนซตันซ์ตินฟอลคอนได้หนีลงมาถึงบางกอกแล้ว พอพวกไทยได้ทราบเรื่องก็ได้มาขอให้มองซิเออร์เดฟาซ์ส่งตัวคืน มองซิเออร์เดฟาซ์จึงมาถามข้าพเจ้ากับมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศว่าควรจะทำประการใดดี
ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นมาดัมคอนซตันซ์หนีมาถึงบางกอกนั้น ก็ได้นึกอยู่แล้วว่ามองซิเออร์เดฟาซ์คงจะมาหารือเปนแน่ จึงได้ตรึกตรองในเรื่องนี้โดยเลอียด คงมีความเห็นในใจว่า มองซิเออร์เดฟาซ์ไม่ควรจะส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์ให้แก่ไทย
ฝ่ายมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศถูกมองซิเออร์เดฟาซ์เร่งให้ออกความเห็น ก็ไม่ได้พูดว่ากระไรนอกจากพูดว่าเรื่องนี้เปนเรื่องที่ลำบากมาก มองซิเออร์เดฟาซ์จึงมาถามความเห็นข้าพเจ้าๆ จึงได้ตอบว่าจะต้องตรึกตรองดูก่อน แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าในเรื่องชนิดนี้ควรมองซิเออร์เดฟาซ์จะเรียกนายทหารผู้ใหญ่มาประชุมเพื่อขอความเห็นของนายทหารบ้าง
การที่ข้าพเจ้าได้แนะนำไปเช่นนี้ก็โดยเชื่อว่าเปนหนทางที่ดีอย่าง1 แต่ข้าพเจ้าจะต้องสารภาพว่าข้าพเจ้าเชื่อใจด้วยว่าพวกนายทหารคงจะออกความเห็นไม่ยอมให้ส่งตัวด้วย
ครั้นมองซิเออร์เดฟาซ์ได้เร่งให้ข้าพเจ้ากับมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศออกความเห็นให้ในวันนั้นเอง เพราะเหตุว่าพวกไทยเร่งนักนั้น มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศจึงเห็นว่าควรจะเชื่อถ้อยคำของพวกข้าราชการไทยที่มาบอกมองซิเออร์เดฟาซ์ว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่จะยอมทำสัญญารับรองว่าจะไม่ทำร้ายต่อมาดัมคอนซตันซ์อย่างใด แลจะไม่กีดขวางในการสาสนาของมาดัมคอนซตันซ์ ทั้งจะไม่ให้มาดัมคอนซตันซ์เสื่อมเสียอิสริยศอย่างใดด้วย จะได้ทรงยอมให้มาดัมคอนซตันซ์อยู่ได้ตามความพอใจจะอยู่ในค่ายของพวกปอตุเกศหรือจะอยู่ในค่ายที่ติดต่อกับพวกบาดหลวงก็ได้
แลถ้ามาดัมคอนซตันซ์จะต้องการให้ปลูกบ้านให้อยู่ จะได้ทรงสร้างบ้านให้อยู่แลจะได้อยู่ในความปกครองของท่านสังฆราชต่อไป เมื่อได้ทำสัญญาดังนี้แล้วให้มองซิเออร์เดฟาซ์ส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์ไปยังกรุงศรีอยุธยา แลห้ามมิให้มองซิเออร์เดฟาซ์รับตัวมาดัมคอนซตันซ์ไว้อีก นี่แลเปนความเห็นของมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศ ซึ่งเห็นว่าในครั้งนี้ควรจะไว้ใจในถ้อยคำของพระเจ้าแผ่นดินสยามได้
ครั้นมองซิเออร์เดฟาซ์มาถามความเห็นข้าพเจ้าๆ จึงได้ตอบว่าเปนที่เสียใจมากที่ข้าพเจ้าจะต้องออกความเห็นไม่ตรงกับความเห็นของมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศผู้เปนหัวหน้าของข้าพเจ้า แต่เมื่อมองซิเออร์เดฟาซ์จะต้องการความเห็นของข้าพเจ้าโดยฉเพาะแล้วข้าพเจ้าก็เห็นว่ามองซิเออร์เดฟาซ์ไม่ควรจะเชื่อฟังถ้อยคำอย่างใดๆ ที่จะต้องส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์คืนให้แก่ไทย
เมื่อได้ทำใจตกลงเช่นนั้นแล้วก็ควรจะป้องกันความลำบากต่อไปโดยพูดให้เปิดเผยว่า พวกฝรั่งเศสได้ตั้งใจแล้วที่จะไม่คืนตัวมาดัมคอนซตันซ์ให้แก่ไทย ใครๆ จะพูดว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง เพราะฉนั้นอย่าให้พวกไทยมาพูดในเรื่องนี้อีกต่อไปเลย
พอข้าพเจ้าได้ออกความเห็นเช่นนี้ มองซิเออร์เดฟาซ์ก็ลุกขึ้นโดยโกรธข้าพเจ้ามากแลแสดงกิริยาไม่พอใจอย่างยิ่ง แล้วจึงพูดว่า‘เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว การจะเปนไปอย่างไรก็แล้วแต่การเถิด’ มองซิเออร์เดฟาซ์จึงขอให้มองซิเออร์เดอลาวีนช่วยเขียนจดหมายตอบในนามของมองซิเออร์เดฟาซ์ให้มีข้อความตรงกับที่ข้าพเจ้าได้แนะนำไว้
มองซิเออร์เดอลาวีนจึงได้ไปร่างจดหมายตอบ ใช้ถ้อยคำอย่างข้าพเจ้าพูดทุกอย่างมิได้เพิ่มหรือลดหย่อนอย่างใดเลย เมื่อได้ร่างเสร็จแล้วก็เอามาให้มองซิเออร์เดฟาซ์ดูว่าจะพอใจหรือไม่ ถ้าพอใจแล้วจะได้แปลเป็นภาษาไทยต่อไป มองซิเออร์เดฟาซ์ได้ตรวจดูเห็นว่าเปนสำนวนที่แรงนัก จึงขอให้มองซิเออร์เดอลาวีนเอาร่างไปให้มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศตรวจแลขอให้แก้ให้อ่อนลงสักหน่อย
มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศจึงสั่งให้มองซิเออร์เดอลาวีนไปบอกกับมองซิเออร์เดฟาซ์ ว่าเมื่อได้ตรึกตรองต่อหน้าพระเปนเจ้าแล้ว ได้เห็นว่าเปนการจำเปนที่จะต้องส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์ให้แก่ไทยตามข้อความที่ไทยได้มาตกลงไว้ มิฉนั้นจะเปนการบาปหนาซึ่งไม่มีอะไรจะล้างบาปได้
ครั้นมองซิเออร์เดอลาวีนได้นำความไปบอกมองซิเออร์เดฟาซ์ตามที่มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศสั่งแล้ว จึงได้มาหาข้าพเจ้าแล้วเล่าให้ข้าพเจ้าฟังตามเรื่องที่มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศได้พูดไว้ ข้าพเจ้าจึงได้มาตรึกตรองอีกครั้ง1 ก็เห็นว่ามองซิเออร์เดฟาซ์เองก็มีความประสงค์จะส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์ให้แก่ไทย มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศผู้เปนหัวหน้าทางฝ่ายสาสนาแลเปนหัวหน้าข้าพเจ้าโดยตรง ก็เห็นว่าจำเปนจะต้องส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์ มิฉนั้นจะบาปหนาซึ่งไม่มีอะไรจะล้างบาปได้
ส่วนบาดหลวงรีโชต์ผู้รู้การสาสนาดียิ่งกว่าบาดหลวงเยซวิตทั้งหลาย ก็มีความเห็นพ้องด้วยว่าควรจะส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์ เพราะฉนั้นความเห็นของข้าพเจ้าตรงกันข้าม แต่จะขัดขืนไปก็ดูไม่ควร ข้าพเจ้าจึงได้ไปหามองซิเออร์เดฟาซ์บอกว่าขอให้มองซิเออร์เดฟาซ์จัดการตามแต่จะเห็นควร ส่วนตัวข้าพเจ้าไม่จำเปนจะต้องออกความเห็นอย่างใด แต่มองซิเออร์เดฟาซ์ได้ขอให้ข้าพเจ้ากับมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศเขียนความเห็นเปนลายลักษณ์อักษร ข้าพเจ้าจึงได้เขียนหนังสือบอกอย่างเดียวกับที่ได้พูดไว้ด้วยปาก มองซิเออร์เดฟาซ์จึงได้ตกลงทำตามความเห็นของมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศแลความเห็นของตัวเองซึ่งตรงกัน เปนอันตกลงทำสัญญากับพระเจ้ากรุงสยาม เมื่อทำเสร็จแล้วก็ได้ส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์ให้ไทยรับไป
ครั้นต่อมาภายหลังเมื่อพวกเราได้ไปถึงเมืองปอนดีเชรีแล้ว มองซิเออร์เดฟาซ์จะต้องเขียนรายงารส่งไปยังเมืองฝรั่งเศส ได้มาตรวจความเห็นของข้าพเจ้าที่ข้าพเจ้าได้เขียนให้ไว้ หามีข้อความที่ให้ส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์ไม่ เพราะข้าพเจ้าไม่ได้มีความเห็นดังนั้น มองซิเออร์เดฟาซ์จึงได้เอาแต่ความเห็นฉบับของมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศส่งไปยังฝรั่งเศส ส่วนฉบับของข้าพเจ้าก็ได้คืนต้นฉบับมาให้ข้าพเจ้า ความเห็นฉบับนี้ข้าพเจ้ายังรักษาไว้ในทุกวันนี้ในการเรื่องจะส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์ให้แก่ไทยนั้น ข้าพเจ้ามีเกี่ยวด้วยเพียงเท่านี้เอง
ถ้าข้าพเจ้ามีเวลาพอ ข้าพเจ้าจะชี้เหตุผลให้ฟังโดยเลอียดว่าในการเรื่องนี้จะควรแลไม่ควรอย่างไร แต่เวลาไม่พอ แลถึงข้าพเจ้าจะไม่ชี้เหตุผลให้ฟังท่านก็ควรจะทราบได้จากทางอื่นเหมือนกัน ในที่นี้ข้าพเจ้าจะขอเพียงแต่ให้ท่านพิเคราะห์ดูข้อความในความเห็นที่มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศได้ให้ไว้แก่มองซิเออร์เดฟาซ์ในการที่แนะนำให้ส่งตัวมาดัมคอนซตันซ์นั้น มีคำกล่าวว่าความเห็นอันนี้มิได้เกี่ยวทางโลกอย่างใด ซึ่งเปนหน้าที่ของมองซิเออร์เดฟาซ์อยู่แล้ว แต่ได้ออกความเห็นเช่นนี้โดยเดิรทางสาสนาเท่านั้น
ข้าพเจ้าขอให้ท่านพิเคราะห์ในข้อนี้ เพราะเหตุว่าในส่วนตัวข้าพเจ้าเองเห็นว่า การที่มองซิเออร์เดฟาซ์คืนตัวมาดัมคอนซตันซ์ให้แก่ไทยนั้นเปนการไม่ควร แต่ถ้าจะคิดถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวด้วยฝ่ายบ้านเมืองก็ดูพอจะเห็นได้ว่าควรอยู่บ้าง แต่ถ้าจะเอาการสาสนามาพูดเปนการที่ข้าพเจ้าสงสัยอยู่สักหน่อย เพราะฉนั้นในการเรื่องนี้ถ้าผู้ใดเห็นในทางสาสนาว่าเปนการบาป ก็ต้องตาหนักอยู่กับมองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศ แต่ถ้าจะดูทางโลกเห็นว่าเปนการผิดแล้ว ก็ต้องหนักอยู่แก่มองซิเออร์เดฟาซ์ผู้เดียวหาเกี่ยวแก่มองซิเออร์เดอเมเตโลโปลิศ ซึ่งได้พูดแล้วว่าจะไม่ออกความเห็นในสิ่งที่เกี่ยวด้วยการบ้านเมืองไม่”[13]
บทสรุปในชีวิตของ “ท้าวทองกีบม้า” ก็คือนางถูกส่งตัวกลับไปยังสยาม แล้วกองทหารฝรั่งเศสก็เดินทางกลับออกไป หลังจากนั้นชาวต่างชาติบางคนที่เข้ามาในสยามก็บันทึกเกี่ยวกับนางฟอลคอนไว้บ้าง เช่นมองซิเออร์โชมองต์(Chaumont)[14] กล่าวเรื่องนางฟอลคอน ซึ่งเขาได้พบที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างปี พ.ศ. 2262-67 ไว้ว่า
“มาดัมคอนซตันซ์ภรรยาของมองซิเออร์คอนซตันซ์ผู้มีชื่อเสียง แลซึ่งมีชื่อเสียงดังเมื่อครั้งมองซิเออร์เดอโชมองเปนราชทูตนั้นได้มาหาข้าพเจ้า ผู้หญิงคนนี้อายุในราว65 หรือ66 ปี ได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังของพระเจ้ากรุงสยาม ตั้งแต่มองซิเออร์คอนซตันซ์สามีได้ถึงแก่กรรม ท่านผู้ที่แย่งชิงราชสมบัติไปได้นั้น ได้เอามาดัมคอนซตันซ์ไปอยู่ในชั้นเดียวกับพวกทาส แต่ในเมืองนี้ผู้ที่เปนทาสหาได้เปนคนต่ำช้าเสียชื่อเสียงอย่างใดไม่ แต่ไทยกลับเห็นเปนชั้นผู้มีเกียรติยศ เพราะมีอำนาจที่จะทำความอยุติธรรมได้หลายพันอย่าง
แต่สำหรับบุคคลที่เปนคริสเตียนอันดี เช่นมาดัมคอนซตันซ์นั้นก็ต้องถือว่าเปนทาสอย่างร้ายแรง มาดัมคอนซตันซ์จะไปวัดคริสเตียนก็ได้ตามชอบใจ บางทีก็ไปนอนยังบ้านซึ่งเปนบ้านอย่างงดงามในค่ายของพวกปอตุเกศแลเปนที่อยู่ของหลานด้วย ส่วนในพระราชวังนั่นมีพนักงารผู้หญิงที่ทำราชการอยู่ในวัง ได้อยู่ในความบังคับบัญชาของมาดัมคอนซตันซ์กว่า2000 คน แลมาดัมคอนซตันซ์เปนผู้ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวงทั้งเปนหัวหน้าเก็บพระภูษาแลฉลองพระองค์ แลเปนผู้เก็บผลไม้ของเสวยด้วย
เมื่อมาดัมคอนซตันซ์ได้รับหน้าที่เช่นนี้ก็เปนช่องทางที่จะหาผลประโยชน์ได้เปนอันมาก แต่มาดัมคอนซตันซ์เปนคนซื่อ ไม่ยอมหากำไรในสิ่งที่คนเคยรับหน้าที่นี้มาแต่เดิมๆ ได้เคยหาทุกๆ ปี มาดัมคอนซตันซ์ได้คืนเงินเข้าท้องพระคลังปีละมากๆ ซึ่งเปนเหตุทำให้พระเจ้ากรุงสยามรับสั่งว่าการที่จะหาคนซื่อตรงเช่นนี้นอกจากผู้ที่ถือสาสนาคริสเตียนเห็นจะหาไม่ได้ ซึ่งเปนการเท่ากับให้เกียรติยศแก่สาสนาคริสเตียน
ข้าพเจ้าได้สังเกตว่ามาดัมคอนซตันซ์คนนี้เปนคนที่ใจคอดีแลอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของสาสนาคริสเตียน แลเปนคนรู้นิสัยใจคอแบบธรรมเนียมแลความคดโกงของคนไทยทุกอย่าง เพราะฉนั้นเมื่อข้าพเจ้าตกอยู่ในที่ลำบากคราวใด ก็ได้เคยให้มาดัมคอนซตันซ์ช่วยเสมอ เพราะเห็นว่าคำแนะนำของเขาล้วนแต่ดีทั้งนั้น เวลานั้นมารดาของมาดัมคอนซตันซ์ยังอายุ80 ปีเศษ เดิรไม่ได้แล้ว เมื่อข้าพเจ้ามาถึงได้สักปี1 มารดามาดัมคอนซตันซ์ก็ถึงแก่กรรม”[15]
ส่วนหมอแกมป์เฟอร์ นายแพทย์ชาวเยอรมัน บันทึกไว้ว่า“เจ้าเด็กน้อยกับแม่คงเที่ยวขอทานเขากินมาจนทุกวันนี้ หาใครเกี่ยวข้องด้วยไม่”[16] สันนิษฐานว่าหมอแกมป์เฟอร์อาจไม่ได้พบนาง แต่คงได้ฟังเรื่องเล่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับนางและปะติดปะต่อเรื่องราวมากกว่า เพราะหลักฐานอื่นสอดคล้องกันว่านางฟอลคอนได้กลับเข้าไปรับราชการในวังหลวงอยู่ดังเดิม
จดหมายท้าวทองกีบม้า
อย่างไรก็ดี ในช่วงรัชกาลพระเพทราชาและพระเจ้าเสือ ชีวิตของนางฟอลคอนดูราบเรียบไม่ได้มีปัญหาใดๆ มากวนใจนัก มีเพียงความกังวลเรื่องทรัพย์สินที่สามีของนางหาไว้โดยการลงทุนกับบริษัทการค้าของฝรั่งเศส จดหมายฉบับหนึ่งของนางฟอลคอน ลงวันที่20 มิถุนายน พ.ศ. 2249 ลงนามโดยกีมาร์ เดอ ปิน่า ที่เมืองอยุธยา มีความว่า
“ความเมตตากรุณา คุณงามความดีและคุณลักษณะอื่นๆ ของท่านได้แซ่ซ้องไปทั่วเมืองจีนและยังได้แผ่กระจายมาถึงสัตว์โลกผู้น่าสงสารที่ทนทุกข์ทรมานในนรกดังเช่นเมื่อกาลก่อน ท่านสาธุคุณเซนต์จอห์น ข้าพเจ้าขอใช้เสรีภาพในการเขียนจดหมายถึงท่านสังฆราช และขอเรียนถามท่านสังฆราชว่าเป็นท่านที่จะเดินทางมาด้วยตนเองหรือพวกข้าพเจ้าจะต้องรอท่านอื่นๆ แทน ข้าพเจ้าเองเป็นหญิงหม้ายซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่เคารพรักเสมือนหนึ่งเป็นผู้ดูแลประชาชนในอาณาจักรแห่งนี้ ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ต่างก็โปรดปรานข้าพเจ้า ผู้คนก็รักใคร่ข้าพเจ้าดี
และนอกเหนือจากนั้น พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและท่านพระสันตะปาปาก็นิยมในตัวข้าพเจ้าด้วยเช่นกัน เนื่องจากว่าคอนสแตนติน ผู้เป็นสามีและตัวข้าพเจ้าเอง ได้อุปถัมภ์ค้ำชูเกื้อหนุนบรรดามิชชันนารี และเราเองก็ได้เอาใจใส่อำนวยความสะดวกในการจัดหาสิ่งจำเป็นมาให้ตามที่พวกเขาต้องการ พวกเขาทั้งหลายต่างก็ระลึกในไมตรีนี้
หากแต่วันนี้ คนที่เคยถูกเรียกขานกันว่าเป็นมารดาของเหล่ามิชชันนารี กำลังทุกข์ยากลำเค็ญอยู่ในคุกหลวง หล่อนต้องทนเจ็บปวดทรมาน ต้องเผชิญกับอันตรายนานัปการ ทั้งหล่อนต้องอยู่ในคุกมืดอับที่แทบไม่มีแสงสว่างเล็ดลอดเข้ามาได้เลย หล่อนไม่ได้อาศัยอยู่ในที่หรูหราอีกต่อไปแล้ว ต้องนอนกับพื้นดิน บนความอับชื้น และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะต่อสุขภาพของหล่อนสักเท่าใดนัก
ด้วยเหตุดังนั้น ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอร้องท่านว่าขอให้ท่านอย่าได้ทอดทิ้งทาสรับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่กำลังเป็นทาสของภูตผี และขอให้ท่านช่วยบรรเทาทุกข์ต่างๆ ให้ทุเลาเบาบางลง ได้โปรดเถิดท่านสาธุคุณ ขอให้ท่านมาหาข้าพเจ้าเถิด อย่ารอช้าอยู่เลย ความทุกข์ของข้าพเจ้าจะกลับกลายเป็นความสุขในยามที่ท่านเดินทางมาถึง และข้าพเจ้าหวังว่าจะได้ยินเสียงของท่านร้องกู่ก้องอยู่ในหูของข้าพเจ้า เวลาหมุนผ่านไปแล้ว ฟ้าฝนผ่านพ้นไปแล้ว เมฆหมอกสลายหายไปแล้ว มาเถิดสหาย ขอท่านจงลุกขึ้นและเดินทางมาที่นี่ด้วยเถิด
และด้วยท่านสาธุคุณพำนักอยู่ในประเทศจีน ข้าพเจ้าใคร่ขอร้องอย่างจริงใจให้ท่านแจ้งข่าวแก่ท่านผู้ปกครอง เกี่ยวกับสภาพอันน่าเวทนาที่ข้าพเจ้าต้องพบเจอ และขอร้องท่านให้เขียนจดหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นคริสตศาสนิกที่ยิ่งใหญ่ เพื่อว่าพระองค์จะได้รับสั่งให้ผู้อำนวยการบริษัทการค้าของฝรั่งเศสจ่ายเงินคงค้างที่เป็นของสามีข้าพเจ้าคืน เพราะข้าพเจ้าและบุตรชายมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด
และหากว่าเราได้เงินที่เป็นส่วนของเรานับแต่ที่สามีข้าพเจ้า คอนสแตนตินถึงแก่กรรมลงไป และเราก็เป็นผู้ที่จะต้องได้รับเงินตามกฎหมายนั้น เราก็จะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทรมานได้ และมีความสุขกับเสรีภาพที่เราได้รับจากภารกิจทางศาสนาที่เราเองไม่เคยได้รับมานานมากแล้ว
อีกทั้งข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านให้เขียนจดหมายถึงพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เพื่อว่าพระองค์ผู้ทรงมีพระเมตตาธิคุณแก่บรรดาบาทหลวงเยซูอิตจะได้ทรงสั่งการผู้อำนวยการบริษัทการค้าให้จ่ายเงินแก่เรา1,000 เอกูวฺส์ ต่อปี แต่โชคร้ายที่เราได้รับเพียงแค่2 ปีเท่านั้นและยังคงขาดอีกกว่า6 ปี พวกเรากำลังรอคอยความเมตตาและคุณความดีของท่านด้วยความมั่นใจ และเราขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วย
ลงนามกีมาร์เดอปิน่า”
จดหมายฉบับนี้เขียนเป็นภาษาละติน และมีฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโบราณ ลงวันที่ชัดเจนว่าวันที่20 มิถุนายน ค.ศ. 1706 หรือ พ.ศ. 2249 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ(พ.ศ. 2246-51) เก็บรักษาไว้ที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส อาจารย์ภูธร ภูมะธน ขอสำเนากลับมาเมื่อวันที่9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537[17] และมอบสำเนาให้ผู้เขียนไว้ศึกษา ฉบับแปลภาษาไทยนั้น ครั้งหนึ่งพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ แปลสรุปความไว้ในหนังสือแซมเมียลไว้ต์ เจ้าท่าว่าราชการเมืองมะริศครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[18]
ทั้งนี้พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ชี้แจงว่าจดหมายของนางฟอลคอนฉบับนี้แปลจากภาษาอังกฤษที่พิมพ์ในวารสารสยามสมาคม เล่ม28 ตอนที่1 (มกราคม พ.ศ. 2478) ครั้งนี้ผู้เขียนได้แปลขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยเทียบกับต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส
ประเด็นที่ปรากฏในจดหมายนี้ มีประเด็นสำคัญ2 ประเด็น คือ
ประการแรก นางฟอลคอนขอให้บรรดาสังฆราชบาทหลวงได้เห็นใจนางทดแทนกับที่นางได้เคยแสดงความเอื้ออารี และดูแลในขณะที่เหล่ามิชชันนารีปฏิบัติศาสนกิจในสยาม บ้างแสดงว่าในช่วงเวลาที่นางและสามีมีอำนาจเหนือชาวฝรั่งเศสนั้น ได้สนับสนุนกิจการของคณะมิชชันนารีเป็นอย่างมาก ข้อมูลนี้จะไปสอดคล้องกับที่บาทหลวง เดอ ลียอนน์ ไม่ต้องการคืนตัวนางให้กับฝ่ายสยาม
ประการที่2 คือการที่นางขอเรียกร้องให้ท่านสังฆราชเขียนจดหมายไปถึงบริษัทการค้าฝรั่งเศสให้จ่ายเงินให้ครบ เพราะยังค้างจ่ายนางอีกถึง6 ปี ประเด็นนี้ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย อธิบายเพิ่มเติมว่าในตอนแรกนั้นบริษัทการค้าฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเรียกร้องของนาง พร้อมทั้งชี้แจงว่า“คอนแสตนติน ฟอลคอน มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่ได้สัญญาไว้ เงินที่สัญญาว่าจะให้นั้น ก็ให้ได้แต่ครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้รับทรัพย์มรดกของฟอลคอนมิได้เกี่ยวในการได้การเสียของบริษัท จึงไม่ควรจะได้ประโยชน์จากบริษัท แต่ควรจะต้องใช้เงินให้แก่บริษัทจึงจะถูก” [19]
แต่ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงของบริษัท ในที่สุดแล้วรัฐบาลฝรั่งเศสจึงออกประกาศลงวันที่20 มิถุนายน พ.ศ. 2260 ให้นางฟอลคอนได้รับส่วนแบ่งในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัท โดยจ่ายเป็นเงินเลี้ยงชีพปีละ3,000 ปอนด์ฝรั่งเศส และได้ส่วนแบ่งกำไรที่หักต้นทุนออกแล้ว
อีก5 ปีต่อมานางฟอลคอนก็จบชีวิตลงอย่างสงบที่กรุงศรีอยุธยานี้เองเป็นอันปิดฉากหญิงแกร่งอีกคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทยเหลือไว้แต่บ้านอันหรูหรางดงามที่เมืองลพบุรีให้เป็นที่เล่าขานจนถึงทุกวันนี้
หมายเหตุ : ย่อหน้า เว้นวรรค และเน้นคำ โดย กอง บก. ออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดบันทึกสาเหตุที่ทำให้ “ท้าวทองกีบม้า” ต้องทำ “ขนมหวาน”
- ท้าวทองกีบม้า เป็นลูกของใคร? สืบเบาะแสหลักฐานต้นสกุล ฤๅจะผสมหลายเชื้อสาย?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] อาจกล่าวได้ว่าประวัติของนางฟอลคอนนี้ต่อมาถูกแต่งเติมอย่างพิสดาร เพราะมีจุดหักเหที่เปลี่ยนแปลงชีวิตในเชิงโศกนาฏกรรมได้ จึงทำให้มีนักเขียนหลายคนนำโครงเรื่องไปเขียนนวนิยาย เช่น คึกเดช กันตามระ เขียนเรื่อง ท้าวทองกีบม้า(2546) เป็นต้น
[2] ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และ ปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์“ขนมหวาน” ของท้าวทองกีบม้า“มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ“ขนมเทศ”. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546, น. 112-114
[3] มอร์กาน สปอร์แตช. เงาสยาม: ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. แปลโดย กรรณิกาจรรย์แสง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2554.
[4] ภูธร ภูมะธน. โกษาปาน ราชทูตผู้กู้แผ่นดิน. กรุงเทพฯ: สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์(พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้), 2550, น. 162-169
[5] ปรีดี พิศภูมิวิถี. จากบางเจ้าพระยาสู่ปารีส. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551.
[6] โบชอง. หอกข้างแคร่:บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. แปลโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556, น. 18-19
[7] เรื่องเดียวกัน, น. 19-22.
[8] เรื่องเดียวกัน, น. 28.
[9] เรื่องเดียวกัน, น. 32.
[10] เรื่องเดียวกัน, น. 52-53.
[11] โวลอง เดส์ แวร์แกง. การปฏิวัติในประเทศไทย พ.ศ. 2231. แปลโดย สิทธา พินิจภูวดล. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2535, น. 59-67.
[12] เดส์ฟาร์จ. ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. แปลโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2552, น. 42-43.
[13] ประชุมพงศาวดารภาคที่35 เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาค2, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงทรามสงวน อภัยรณฤทธิ์ ท.จ. เมื่อปีขาล พ.ศ.2469, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2469, น. 105-109. (ตัวสะกดการันต์ตามต้นฉบับเดิม)
[14] ไม่ใช่ราชทูตเชอวาลิเย่ร์ เดอ โชมองต์
[15] ประชุมพงศาวดารภาคที่35 เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาค2, น. 109. (ตัวสะกดการันต์ตามต้นฉบับเดิม)
[16] ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และ ปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์“ขนมหวาน” ของท้าวทองกีบม้า“มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ“ขนมเทศ”. น. 57.
[17] ภูธร ภูมะธน. “เอกสารไทยในฝรั่งเศส: เอกสารภาษาไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่น่าสนใจ2 ฉบับที่สำนักมิซซังต่างประเทศ กรุงปารีส,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่6 ฉบับที่12 (พฤศจิกายน2528), น. 114-121.
[18] พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์. แซมเมียลไว้ต์ เจ้าท่าว่าราชการเมืองมะริศครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2518, น. 303-309.
[19] ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และ ปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์“ขนมหวาน” ของท้าวทองกีบม้า“มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ“ขนมเทศ”. น. 59-60.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “จดหมายภาษาฝรั่งเศสของท้าวทองกีบม้า ในแผ่นดินพระเจ้าสรรเพ็ชญ์ที่8 (พระเจ้าเสือ) แห่งอยุธยา” เขียนโดย ผศ.ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2562
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นาทีชีวิต “ท้าวทองกีบม้า” หลังพระเพทราชายึดอำนาจ นางหาเลี้ยงชีพ-เอาตัวรอดมาอย่างไร?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 3
Sopon
แต่งเพิ่มยังกับแม่มันอยู่ในเหคุการณ์ พงศาวดารมีนิดเดียว
19 ต.ค. 2566 เวลา 01.40 น.
ONG•KC
ตอนเด็กๆ ชอบทานขนมฝอยทอง มากๆ ครับ ; )
24 มี.ค. 2566 เวลา 22.40 น.
pong am
ยาวชิป ทำหนังสือมาขายเหอะ
24 มี.ค. 2566 เวลา 17.46 น.
ดูทั้งหมด