“นายแวง” ผู้อารักขากษัตริย์ ตำแหน่งสำคัญในกฎมนเทียรบาลและลานประหาร
พระมหากษัตริย์ในหลายประเทศย่อมต้องมีราชองครักษ์ หรือทหารรักษาพระองค์ เพื่อคอยรักษาความปลอดภัยให้พระเจ้าแผ่นดิน ในสังคมไทยสมัยโบราณก็ปรากฏหน่วยงานที่ทำหน้าที่อารักขาพระเจ้าแผ่นดินอย่างชัดเจนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บุคลากรประเภทหนึ่งซึ่งรับหน้าที่ในกลุ่มงานอารักขาพระเจ้าแผ่นดินนี้มีชื่อ “นายแวง” รวมอยู่ด้วย
หลักฐานเก่าสุดที่กล่าวถึงทหารรักษาพระองค์น่าจะเป็น “กฎมณเทียรบาล” กฎหมายลักษณะหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ว่าด้วยระเบียบแบบแผนอันเกี่ยวเนื่องกับราชสำนัก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าตราขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในกฎมนเทียรบาลได้กล่าวถึงตำแหน่งหน้าที่ของทหารรักษาพระองค์ไว้หลายตำแหน่ง
ตำแหน่ง “นายแวง” เป็นอีกหนึ่งจุด ซึ่งถูกระบุบทบาทหน้าที่ไว้เหมือนทหารราชองครักษ์
คำว่า “แวง” เป็นคำเขมร แปลว่า เส้นตรง, แถว ส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตระบุว่าหมายถึง ยาว, แถว, ดาบ, ล้อมวง ซึ่งหน้าที่ของนายแวงในราชสำนักก็มักจะปรากฏคล้ายกับคำแปลดังกล่าว คือเข้าแถว ล้อมวง เพื่อรักษาความปลอดภัยในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ
ปรามินทร์ เครือทอง นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการอิสระ อธิบายถึงหน้าที่นายแวงไว้ในหนังสือ “สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์” ว่า นายแวงมีหน้าที่ตรวจตราความปลอดภัย เหมือนทหารราชองครักษ์ในขบวนเสด็จของพระเจ้าแผ่นดิน ทำหน้าที่ประสานงานกับเจ้าพนักงานฝ่ายอื่นๆ ตามแต่จะเสด็จฯ ไปในสถานที่ต่างๆ
หากเป็นการเสด็จฯ ในที่อันตราย นายแวงและเจ้าหน้าที่ต่างๆ จะต้องตรวจตราความปลอดภัย ไม่ให้มีบุคคลแปลกปลอม หรือสัตว์ร้ายแฝงอยู่ในที่เสด็จฯ เมื่อตรวจตราเรียบร้อยแล้วก็มีหน้าที่ยืนเฝ้ารับเสด็จฯ ตามตำแหน่งที่ระบุไว้ในกฎมนเทียรบาลมาตรา 30 ความว่า
“…. ถ้าเสด็จขึ้นเฃาแลเข้าถ้ำ ขึ้นปรางเข้าพระวิหาร ให้ขุนดาบเข้าค้นแล้วตรวจในเข้าค้นแล้วให้นายแวงค้นแล้วให้กันยุบาดค้นเล่าเปน 4 ถ่า จึ่งเชิญเสดจ์เมื่อเสดจ์ตำรวจในแนมสองข้างนายแวงถัด ขุนตำรวจขุนดาบอยู่แต่ข้างล่าง ครั้นเสดจ์ถึงใน ตำรวจในอยู่บานประตูข้างใน นายแวงอยู่บานประตูข้างนอก ขุนดาบอยู่เชิงบันใดเชิงเขา…”
ส่วนมาตรา 104 ในกฎมนเทียรบาล ได้บอกถึงหน้าที่นายแวงในฐานะเป็นผู้ถ่ายทอดพระราชโองการจากพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง ความว่า
“อนึ่งท่านใช้ นายแวง นายมหาดไท บอกการงานแก่ลูกเจ้าเง่าขุนมุนนายสัพกำนัลแห่งใดๆ ก็ดี ให้เร่งรับถ้อยความทำการโดยพระราชโองการพระผู้เปนเจ้า ถ้าถ้อยความงานอันนายแวงนายมหาดไทสั่งนั้นหนักใจจะรับจะทำหมีได้ ก็ให้เร่งพิดทูลคืนพระราชโองการอันนายแวง นายมหาดไท สั่งนั้น…”
นอกจากหน้าที่ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นายแวงยังได้รับหน้าที่เป็น “ผู้คุม” ในลานประหารอีกด้วย
นายแวงจะกำกับดูแลนักโทษสู่แดนประหาร อีกทั้งมีหน้าที่ระวังป้องกันผู้ตีชิงเอานักโทษระหว่างทาง หรือในแดนประหาร ดังจะเห็นได้จากกฎมนเทียรบาลมาตรามาตรา 175 ในกรณีเนรเทศพระราชโอรสไปจองจำยังต่างเมือง ได้กำหนดให้นายแวงเป็นผู้คุมและดูแลความเรียบร้อยดังนี้
“ถ้าโทษหนักที่หนึ่งนฤเทศไปต่างเมือง แลคือเมืองเพชบูรรณจันตบรรณนครศรีธรรมราช ส่งนายแวงหน้า 2 แวงหลัง 2 ดํารวจ ในถือกฏสั่งเรือในพิเนศ แลเรือขุนดาบแห่หน้าเรือชาววังตามหลัง หัวหมื่นองครักษนารายหลังตามไปส่งถึงที่ จึ่งนายแวงดํารวจในลงเรือหน้า แลเอากฎไปแก่เจ้าเมืองแลกรมการ…”
ทั้งนี้ การกุมตัวพระราชกุมารไปรับโทษนั้น นายแวงมีอำนาจสิทธิขาดในการจับกุมผู้มีพฤติกรรมต้องสงสัยได้ทันที โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการช่วยเหลือพระราชกุมารในทางใดทางหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่การส่งอาหารให้ เพราะโทษในมาตรา 175 นั้น เป็นโทษ “ขังในหลุม” กล่าวคือ ขุดหลุมใต้เรือน ปากหลุมมีประตูปิดใส่กุญแจ ถ้าโทษไม่หนักก็ให้จองจำอยู่ปากหลุมแทน ถ้าโทษถึงชีวิตก็ให้ใส่หลุมอดอาหารจนสิ้นพระชนม์ ซึ่งระหว่างนี้เองที่นายแวงจะต้องควบคุมดูแลให้การลงโทษเป็นไปตามพระราชอาญา
จากบทบาทและหน้าที่ของนายแวงในฐานะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาล กล่าวได้ว่า นายแวง เป็นตำแหน่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย ปรามินทร์มองว่า นอกจากนายแวงจะได้เข้าเฝ้ารับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์แล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในลานประหาร ความสำคัญของตำแหน่งนี้อยู่ถัดจากตำรวจในเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญภายใต้ขนบธรรมเนียมราชสำนัก
อ่านเพิ่มเติม :
- เจาะ “พระเจ้าตากสินล่องหน หลบท่อนจันทน์” ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน และข้อมูลแนวจินตนิยาย
- ดูวิธีสำเร็จโทษเจ้านาย ไม่ได้มีแค่ใช้ท่อนจันทน์ มี “ใส่หลุมอดอาหาร” และ “วิธีพิสดาร”
- สำรวจวัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษประหารชีวิตพระเจ้าแผ่นดิน-เชื้อพระวงศ์
อ้างอิง :
ปรามินทร์ เครือทอง. สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2544
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562
ความเห็น 0