โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษกินเองที่บ้าน ทั้งประหยัด ทั้งสุขภาพดี!

WWF-Thailand

เผยแพร่ 10 ก.พ. 2562 เวลา 17.01 น.

เริ่มปี 2019 มาได้หนึ่งเดือนแล้ว หลายๆ คนคงถือเป็นโอกาสได้เริ่มต้นหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในชีวิต เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มจะอยากปรับวิถีการกิน หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งคุณรู้ไหมว่า การใส่ใจเลือกสิ่งที่ดีในชีวิตความเป็นอยู่ของเรา จะสามารถส่งผลกระทบทั้งดีและร้ายไปไกลกว่าบ้านหรือชุมชนของเราอีกด้วย

Eat Better ขอนำเสนอหนึ่งทางเลือกที่คุณทำได้ที่บ้าน ด้วยผักสวนครัวปลอดสารพิษที่สามารถปลูกเองได้ภายในรั้วบ้าน เพราะการปลูกผักสวนครัวไว้ประกอบอาหารทานเองนั้น นอกจากจะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการได้ลองเริ่มต้นปลูกและกินพืชผักออร์แกนิก ดูแลให้พืชเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นำมาประกอบอาหารรับประทานได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมี หรือสารเร่งให้โตไวๆ และช่วยลดใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษในการขนส่งได้วันละไม่น้อยเลยทีเดียว

เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ชีวิต ที่จะเห็นผลดีทั้งสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของเราและคนรอบข้างไปพร้อมกัน

#EatBetter #กินดีกว่า #WWFThailand 

กิน…เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

พืชผักสวนครัวเหล่านี้ ปลูกง่าย สามารถปล่อยให้โตตามธรรมชาติ แต่ต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ สำหรับปุ๋ยก็สามารถนำเศษอาหารที่เหลือทิ้งในแต่ละมื้อมาใส่พรวนดินได้ ช่วยลดปริมาณขยะ ลดมลพิษได้อีกด้วย ซึ่งผักหลายชนิดก็สามารถปลูกในคอนโดได้ถ้าหากมีพื้นที่เพียงพอ เช่น พริกขี้หนู กะเพรา ต้นอ่อนทานตะวัน ผักกาดหอม(ผักสลัด) 

เพียงแค่เริ่มปลูกผักสวนครัวไว้ทานเองในบ้าน เริ่มง่ายๆ ที่บ้านของเรา ได้ทั้งความสดอร่อย ปลอดภัย ราคาถูก และยังช่วยโลกอีกด้วย ลองหันมามองทางเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง ครอบครัว และคนรอบตัวที่คุณรัก เมื่อทุกคนค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมการกินไปด้วยกัน หันมาใส่ใจตัวเองและคำนึงถึงโลกของเรามากขึ้น ก็จะทำให้ความเป็นอยู่ของพวกเราดีขึ้นไปด้วยกัน 

วิธีปลูกผักโดยการหว่านเมล็ด ซึ่งสามารถนำไปใช้ปลูกผักกาดหอม แตงกวา มะเขือ คะน้า กะเพรา และตำลึงได้

1. เตรียมดินร่วนปนทราย แล้วผสมดินกับปุ๋ยหมักในอัตราส่วน 50 : 50 ซึ่งปุ๋ยหมักสามารถทำได้เองด้วยการนำเศษผักผลไม้ที่เหลือทิ้งมาผสมกับมูลสัตว์และดิน พร้อมพรมน้ำลดลงไป)

2.ใส่กรวดรองก้นในกระถางที่เราจะเพาะ แล้วนำดินที่เราได้ผสมไว้แล้ว เทใส่ลงไป

3.ใส่ดินที่เตรียมไว้ในกระถาง 

4. ทำหลุมตรงกลางความลึกประมาณ 1.2 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ข้อนิ้วก้อย ความห่างของแต่ละหลุมควรกระจายห่างกัน หรือลงในแปลงเป็นแถวก็ได้

5. นำเมล็ดพันธุ์ใส่ลงไปในหลุม หลุมละ 4-5 เมล็ด

6. ดูแลด้วยการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ และดูทิศทางในการตั้งกระถางให้ดี ให้แสงแดดสามารถส่องถึงได้

*เมื่อผักที่เราเพาะไว้เริ่มมีการเจริญเติบโต หากเห็นว่ามีต้นกล้าที่สภาพไม่ดีให้ถอนทิ้งไป แต่ควรถอนด้วยความระมัดระวัง และหากพบว่าขึ้นเป็นต้นเบียดกันแน่น ก็ควรถอนแยกออกมาเช่นกัน

*สำหรับคะน้าใช้เวลาปลูก 14 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวได้

สำหรับ ตำลึง สามารถหว่านเมล็ดไว้ข้างๆ รั้วได้ เพราะตำลึงเป็นไม้เลื้อย

วิธีปลูกผักโดยการปักชำ ซึ่งสามารถนำไปใช้ปลูกตะไคร้ได้

1. นำลำต้นตะไคร้ที่ตัดใบออกให้เหลือเพียงโคนต้นประมาณ 10 ซม. 

2. ปักชำลงในดินร่วนที่มีแสงแดด โดยเอาโคนปักลงในดินที่เตรียมไว้ให้ห่างกันประมาณ 1 ศอก 

หากปลูกในภาชนะต้องมีความลึกไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ต้นจะไม่แคระแกร็น และควรปลูกในกระถางละ 2 - 3 ต้นก็ได้

3. หมั่นรดน้ำให้ชุ่มเช้าเย็น เมื่อตั้งไว้ให้โดนโดดตลอดวันจะทำให้โตเร็วขึ้น

* เมื่อต้องการนำไปปรุงอาหารควรใช้กรรไกรตัด หากใช้มือดึงจะทำให้บาดมืดได้

วิธีปลูกผักโดยการลงเมล็ด ซึ่งสามารถนำไปใช้ปลูกต้นอ่อนทานตะวันได้ ซึ่งต้นอ่อนทานตะวันสามารถปลูกเพื่อสร้างรายได้เสริมด้วย

1. นำเมล็ดทานตะวันไปตากแดดจัด 1 วัน

2. นำเมล็ดทานตะวันที่ตากแดดแล้วไปแช่น้ำ 4-6 ชั่วโมง ระหว่างแช่จะมีฟองอากาศเพราะน้ำเข้าไปในเมล็ด หลังจากนั้นนั้นเทน้ำออก

3. นำเมล็ดมาบ่มในผ้าขนหนูเป็นเวลา 18-20 ชั่วโมง โดยทุก ๆ 5 ชั่วโมงให้คนกลับไปกลับมา เมื่อเมล็ดงอกเป็นตุ่ม ๆ จึงเริ่มเพาะลงดินได้

4. โรยเมล็ดลงดิน ไม่ให้หนาหรือบางเกินไป โดยดินที่เตรียมไว้ควรเป็นดินละเอียด และควรร่อนเอากากใบไม้หรือขุยมะพร้าวออกก่อน)

5. โรยดินกลบบาง ๆ อีกที และรดน้ำพอชุ่ม

6. ดูแลโดยการรดน้ำวันละสองครั้งเช้าเย็น 

* ควรหาสแลนมาบังแดดเพื่อคุมแสง สามารถปลูกในที่ร่มได้ แต่ไม่อับแสงจนเกินไป 

-----------

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก 

http://www.baanlaesuan.com/

http://www.organicfarmthailand.com/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น