ตอบโดย พระนวลจันทร์ กิตติปัญโญ วัดวิวัฏฏะ จ. เลย
คุณเคยเจอปัญหาที่ชวนให้อึดอัดใจอย่างการพูดความจริงไม่ได้บ้างไหมคะ เพราะเราถูกสอนว่าการโกหกไม่ดี แต่หลายทีที่ความจริงกลายเป็นเรื่องพูดยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพูดไปแล้วเราจะเห็นคนฟังเสียใจ ทุกข์ใจ บางคนเลยตัดใจโกหกไป จึงเป็นที่มาของคำถามว่า “การโกหก หรือพูดความจริงไม่หมด เป็นบาปไหมคะ” คำตอบของพระอาจารย์นวลจันทร์วันนี้น่าจะช่วยเราคลายข้อข้องใจกันได้นะคะ
“การพูดผิดบิดเบือนไปจากความจริงเป็นบาป แต่ว่าบาปบางอย่างมีประโยชน์ มีสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นตามมา เช่น การรักษาน้ำใจในช่วงที่ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับทราบ หรือได้ยินได้ฟังเรื่องนั้นๆ เราจึงพูดอย่างอื่นไปก่อนเพื่อรักษาคนที่อยู่ข้างๆ เพื่อไม่ให้เขาเสียใจ หรือทุกข์ใจมากไปกว่านี้
“บางครั้งการพูดความไม่จริง บางทีมีประโยชน์รักษาฝ่ายตรงข้ามไว้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจบเพียงแค่ไม้หนึ่งนะ ไม่ใช่ว่าวันนี้เราพูดคำไม่จริง แล้วเราก็จะพูดคำไม่จริง ไม่จริง ไม่จริง ไปเรื่อยๆ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผู้ฟังดูมีความพร้อมที่จะรับฟังความจริงหรือสัจจะ เราก็ต้องไม่ละเลย ไม่นิ่งดูดาย ควรนำความจริงมาพูด
“มีหลายครั้งความจริงที่จะพูด ไม่เหมาะแก่กาล ไม่เหมาะแก่บุคคล ไม่เหมาะแก่สถานที่ พูดไปมีแต่เกิดแตกสามัคคีร้าวฉาน มีแต่เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในบ้านเมืองในสังคม อย่างนี้ย่อมไม่ควรพูด
“หลักพิจารณาง่ายๆ คือ หนึ่ง ให้ดูคนฟังเป็นศูนย์กลาง ว่าเขาพร้อมหรือยัง สอง สิ่งที่จะพูดนั้นเป็นสิ่งดีงามเป็นกุศลหรือไม่
“มีพุทธพจน์บทหนึ่งท่านใช้คำว่า ถ้าจำเป็นต้องทำบาป ทำอกุศล ก็ไม่ควรที่จะกระทำบ่อยนัก นานๆ ทำที อย่าเอาไปทำถี่ๆ ในกรณีที่ถามมาก็คือ ถ้าจำเป็นต้องพูดคำไม่จริง ก็ขอให้เอาที่จำเป็น ไม่ใช่ทำเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัย”
อย่าลืมว่า ถ้าคุณรู้สึกหนัก มีทุกข์ในใจแบ่งเรื่องราวของคุณให้พวกเราได้ค่ะ ที่สำคัญเริ่มต้นปีลองเติมธรรมกันวันละนิดเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ ส่งความหนัก ความทุกข์ สิ่งสงสัยมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife อ้อมจะไปหาคำตอบจากพระอาจารย์มาให้ค่ะ อะไรที่อ้อมช่วยได้ อ้อมยินดีค่ะ
ติดตามข้อธรรมดีๆ ได้ที่เพจ fb : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ Line @Suanmokkh_Bangkok
เพิ่มเติม http://84000.org/tipitaka/read/?%C7%D4%B8%D5%E3%AA%E9
ตถาคต..ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่งตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่
ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=1607&Z=1725
ความเห็น 4
เปลี่ยนจากการที่ต้องโกหกมาเป็นการให้คำแนะนำจะดีกว่าไหมครับ.
22 ม.ค. 2563 เวลา 01.36 น.
บาปอยู่ละ เพราะเจตนาที่ตั้งต้นไว้ก่อนว่าจะลวงคนให้หลงเชื่อ และถ้ามีคนหลงเชื่อในคำโกหก ของเรา เป็นอันว่า ประกอบมุสาวาท ครบองค์ ถึงจะให้เหตุผลว่าช่วยให้คนอื่นสบายใจก็เถอะ แต่ศีลขาดในวันนี้วันเดียว กรรมเดียว วาระเดียว แต่วันพรุ่งถ้าเราตั้งเจตนาไว้แน่วแน่ ว่าจะไม่ขอประทุษร้าย (ตนเอง) ผู้อื่นด้วยการละเมิดศีล แล้วเราทำได้ วันนั้นเราได้บุญ
21 ม.ค. 2563 เวลา 19.50 น.
การโกหกไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า เพราะมันได้บาปอกุศล เป็นผล ดั่งคำสุภาษิต พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตําลึงทอง หมายความว่า การไม่พูด ดีกว่า การพูด ที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นโทษ ทำให้เขาหลงเข้าใจผิด เป็นการหลอกลวง ให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
22 ม.ค. 2563 เวลา 01.28 น.
@บุ้งบิ้ง@
บาปแหงแซะ.... อย่าเอาความจำเป็นมาอ้าง ถ้าเธอจำเป็นค้องผิดศีล นั่นก็แปลว่า เธอจำเป็นต้องลงนรกนะจ๊ะ เอวัง...
22 ม.ค. 2563 เวลา 01.20 น.
ดูทั้งหมด