โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

7 ปีมีผู้ใช้มากกว่า 42 ล้าน LINE ประเทศไทยเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันผู้ใช้ได้อย่างไร

THE STANDARD

อัพเดต 07 พ.ค. 2561 เวลา 13.27 น. • เผยแพร่ 07 พ.ค. 2561 เวลา 12.40 น. • thestandard.co
7 ปีมีผู้ใช้มากกว่า 42 ล้าน LINE ประเทศไทยเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันผู้ใช้ได้อย่างไร
7 ปีมีผู้ใช้มากกว่า 42 ล้าน LINE ประเทศไทยเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันผู้ใช้ได้อย่างไร

ในระยะเวลาเพียง 7 ปี นับตั้งแต่ที่ LINE เข้ามาตีตลาดลุยให้บริการในประเทศไทยครั้งแรก (มิถุนายน 2554) พวกเขาประสบความสำเร็จและเติบโตได้แบบก้าวกระโดดสุดๆ วัดได้จากฐานผู้ใช้ไทยในปัจจุบันที่มีมากกว่า 42 ล้านราย และการขยับขยายองค์กรใหญ่เรื่อยๆ (ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มพนักงานอีก 120 คน รวมเป็น 450 คน)

แม้จะเริ่มต้นจากการเป็นแค่ ‘แชตแอปพลิเคชัน’ แต่ปัจจุบัน LINE กลับขยายธุรกิจตัวเองไปได้ไกลกว่านั้นมากๆ เพราะมีแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ๆ ในหลายหมวดหมู่ เกม ข่าว สตรีมมิงชมคอนเทนต์ย้อนหลัง บริการส่งอาหาร บริการจัดหาแท็กซี่ หรือล่าสุดกับ ‘บริการจัดหางาน (LINE JOBS)’ ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ

น่าสนใจว่าวิธีคิดของ LINE ประเทศไทยเป็นอย่างไร องค์กร (เคยเล็ก) จากญี่ปุ่นแห่งนี้ใช้กลยุทธ์ไหนพาตัวเองทะยานไปไกลได้ถึงขนาดนี้ จากเคยมีรายรับหลักพันล้านเยน LINE เปลี่ยนเป็นหลักแสนล้านเยนได้ด้วยเคล็ดลับใดภายในเวลา 5 ปี (รายได้รวมของบริษัทปี 2012: 6,510 ล้านเยน / 2017: 167,147 ล้านเยน = เพิ่มขึ้น 25.7 เท่าตัว) แล้วต่อจากนี้พวกเขามีแผนการจะขยับขยายธุรกิจออกไปในทางไหนอีก ทิศทางองค์กรในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

เราหอบหิ้วความสงสัยและคำถามคาใจทั้งหมดเดินทางมายังออฟฟิศ 3 ชั้นแห่งใหม่สุดน่ารักของ LINE ประเทศไทยที่เพิ่งย้ายจากย่านสาทรมาอยู่บนอาคารเกษร ทาวเวอร์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้ อริยะ พนมยงศ์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย วัย 44 ปี บอกเล่ากลยุทธ์ทางธุรกิจและส่วนผสมการนำองค์กรประสบความสำเร็จให้เราได้ศึกษาตาม

ตลอดบทสนทนาเกือบๆ 1 ชั่วโมง 14 นาที เรื่องที่เราได้รู้จากอริยะหลายๆ เรื่องคือความรู้ใหม่ บางเรื่องอาจไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน เช่นเดียวกับบางแง่มุมความสำเร็จที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเผลอมองข้ามอยู่บ่อยๆ แต่อย่างน้อยที่สุดบทความนี้น่าจะพอสะท้อนแง่คิดไอเดียบางอย่างให้คนที่คิดอยากทำธุรกิจ (หรือทำอยู่แล้ว) สามารถนำไปปรับใช้ได้เหมือนที่ LINE ประเทศไทยทำมาแล้ว

 

Portal Platform ผู้ให้บริการที่ตั้งใจจะเข้าไปอยู่ในทุกอณูการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

LINE เปิดตัวให้บริการครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เพื่อแก้ Pain Point ข้อจำกัดด้านการติดต่อสื่อสารในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว ใครหลายคนจึงอาจจะติดภาพจำมอง LINE เป็นแค่ ‘แชตแอปพลิเคชัน’ หรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแชตสนทนาเท่านั้น แต่กับ LINE พวกเขาวางเป้าหมายตัวเองไว้ใหญ่และไปไกลกว่านั้นมากๆ

อริยะบอกว่า “ถ้าอธิบายง่ายๆ เราเป็นแพลตฟอร์มครับ แต่เราต้องการจะเป็น Portal Platform ศูนย์รวมบริการที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค แน่นอนว่าทุกคนใช้แชต LINE ส่งสติกเกอร์กัน แต่วันนี้เรามีบริการที่หลากหลาย เช่น LINE TV บริการสำหรับชมวิดีโอหรือคอนเทนต์ออนไลน์ย้อนหลัง

“ส่วนถ้าใครอยากอ่านข่าวก็มาที่ LINE TODAY ใครอยากช้อปปิ้งก็สามารถซื้อของผ่าน LINE ได้ด้วย เพราะองค์กรธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ก็จะใช้บริการของเราสื่อสารกับผู้บริโภคของเขา ถ้าเป็นธุรกิจการเงิน เราก็มี Rabbit LINE PAY จะเห็นได้ว่าเราแตกไลน์ขยายธุรกิจของบริษัทออกไปในทุกๆ ด้าน โดยเน้นบริการที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเป็นหลัก นี่คือจุดยืนของเรา”

‘ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้’ คือ Key Concept ที่อริยะจะนำมาใช้สร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ของ LINE นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโอกาสและความเป็นไปได้ของตลาด ณ​ ช่วงเวลานั้นๆ ด้วย ซึ่งโดยปกติเมื่อ LINE เปิดธุรกิจหรือบริการใหม่ใดๆ ออกมาก็ตาม พวกเขาจะให้ระยะเวลา 1-2 ปีเท่านั้นในการสรุปแนวโน้มและชี้อนาคตของบริการใหม่เหล่านั้น

ผ่านมา 7 ปีของการดำเนินธุรกิจในไทย ปัจจุบันบริการของ LINE เติบโตออกไปเร็วมากๆ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

  • ธุรกิจคอนเทนต์ – LINE TV, LINE TODAY, LINE STICKERS
  • ธุรกิจโซลูชันสําหรับองค์กร – LINE Official Account, LINE@
  • ธุรกิจเกม – LINE GAME
  • ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ – LINE GIFTSHOP
  • ธุรกิจเพย์เมนต์ – Rabbit LINE Pay
  • ธุรกิจใหม่ – LINE MAN, LINE FINANCE, LINE JOBS

กลยุทธ์การตลาดแบบ Hyperlocal เมื่อ LINE ประเทศไทยได้อิสระและความยืดหยุ่นในการคิดบริการใหม่เต็ม 100%

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ทำให้ LINE ประเทศไทยประสบความสำเร็จแบบสุดๆ ชนิดที่ไทยกลายเป็นหนึ่งใน 4 ตลาดหลักของ LINE ที่มีฐานผู้ใช้สูงสุดร่วมกับญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย คือการที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเปิดอิสระให้กับทีมงานในไทยคิดริเริ่มสร้างบริการใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างเต็มที่ เราจึงได้เห็นบริการอย่าง LINE TV, LINE MAN หรือ LINE TAXI เกิดขึ้นมาด้วยฝีมือและไอเดียของคนไทย และยังถูกนำไปพัฒนาเพื่อเปิดใช้ในประเทศอื่นๆ อีกด้วย

อริยะบอกกับเราว่าเพราะ LINE รู้และเข้าใจว่าการจะต้องต่อกรกับคู่แข่งหรือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เจ้าอื่นๆ สิ่งที่พวกเขาพอจะทำได้คือการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Hyperlocal สร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่อินไซด์ผู้บริโภคจริงๆ ขึ้นมาช่วยแก้ Pain Point ฝั่งผู้ใช้งานเพื่อเน้นเจาะตลาดในประเทศนั้นๆ เป็นหลัก

“เมื่อ LINE คิดจะทำอะไร ผมจะมีหน้าที่ดูตลาดในประเทศไทย ฉะนั้นตอนที่ผมคิดบริการใหม่ๆ ของประเทศไทยขึ้นมา ผมก็คิดเพื่อรองรับผู้บริโภคคนไทย เช่นเดียวกันคนที่ดูแล LINE ประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย หรือไต้หวัน พวกเราจึงมีความยืดหยุ่นและอิสระในการคิดบริการเป็นของตัวเองสูง รวมถึงอิสระในการเข้าซื้อธุรกิจและลงทุนธุรกิจใหม่ๆ

“นี่คือกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ LINE ประเทศไทยมีความคล่องตัวสูงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่ต้องคอยคำสั่งและการอนุมัติจากบริษัทแม่ (Headquater) เท่านั้นถึงจะดำเนินการได้ ต่างจากเราที่คิดได้เอง ทำได้เองและลุยเองได้ทันที”

 

*กรณีศึกษา ความสำเร็จของ ‘LINE MAN’ บริการที่คิดขึ้นเพื่อแก้ Pain Point ของร้านค้าและผู้บริโภคได้ตรงจุด *

“ผมกล้าพูดเลยว่าเกือบจะทุกบริการ เราไม่ได้มาเป็นคนแรก เรามาทีหลัง แต่สิ่งที่ผมเชื่อว่า LINE ทำได้ดีคือการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค” นี่คือประโยชน์เด็ดจากอริยะที่เขาบอกกับเรา

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า LINE MAN ที่เพิ่งเปิดให้บริการในปี 2559 ไม่ได้เป็นผู้เล่นที่บุกเบิกตลาด Food Delivery ไทยหรือเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายแรกของประเทศอย่างที่อริยะว่าไว้ แต่สิ่งที่ LINE เด่นกว่าผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ นอกเหนือจากแพลตฟอร์มและการมีฐานผู้ใช้ 42 ล้านราย คือความมุ่งมั่นแก้ไข Pain Point ผู้บริโภครวมถึงฝั่งร้านอาหารให้หมดไปพร้อมๆ กัน

“ช่วงนั้นเราพยายามคิดว่าบริการถัดไปของ LINE ที่จะมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมันจะเป็นอะไรได้บ้าง พอออกไปดูตามที่ต่างๆ และพยายามทำความเข้าใจกับมันก็พบว่าส่ิงที่เราจะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ คือวินมอเตอร์ไซค์และอาหาร สองสิ่งนี้คือเรื่องใกล้ตัว

“สำคัญที่สุดคือเรามองที่ผู้บริโภคเป็นหลัก หัวใจของบริการ LINE คือ ‘ผู้ใช้’ เมื่อพบว่าตลาดนี้ค่อนข้างใหญ่เราก็ต้องมาดูต่อว่าถ้าจะทำ มันยังมี Pain Point หรืออะไรที่ผู้บริโภคยังต้องการอีก ช่วงเวลาดังกล่าวในไทยมีเจ้าตลาดบริการส่งอาหารเยอะมาก และสิ่งที่พบเห็นคือผู้ให้บริการทุกเจ้าจะเน้นร้านอาหารระดับราคาปานกลางค่อนไปทางราคาสูงเป็นหลัก เพราะธุรกิจของพวกเขาจะกินค่า Commission จากร้านอาหารในหลัก 20-30% ฉะนั้นยิ่งอาหารที่ผู้บริโภคส่ังมีราคาสูงมากเท่าไร ผู้ให้บริการก็จะมีรายได้เพิ่มตามขึ้นไปด้วย นี่คือโมเดลธุรกิจของเขา”

อริยะบอกต่อว่าจากจุดนี้เองที่ทำให้เขาและทีมงานค้นพบว่าร้านอาหารส่วนใหญ่ที่จะไปร่วมกับบริการส่งอาหารเหล่านี้ได้จะต้องเป็นร้านอาหารระดับขึ้นห้าง (ในที่นี้หมายถึงร้านอาหารที่มีราคาอาหารสูง) ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงร้านอาหารริมถนนหรือสตรีทฟู้ดคือส่ิงที่คนไทยส่วนใหญ่บริโภคกันในทุกวันและผูกพันมากกว่า

“พอเราไปดูร้านอาหารกลุ่มนี้แล้วพบว่าไม่มีใครสนใจเขาเลย (สตรีทฟู้ด) ไม่มีใครรับส่งอาหารจากร้านเหล่านี้ ซึ่งถ้าพวกเขาคิดจะทำเองก็คงลำบาก ไหนจะต้องไปสร้างเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน จ้างมอเตอร์ไซค์ เราเลยเห็นโอกาสจากจุดนี้ สิ่งที่เราทำคือแทนที่จะชาร์จค่าส่งอาหารจากร้าน 20-30% ก็เปลี่ยนมาชาร์จ 0% เพื่อไม่เอาเงินจากร้านอาหารเลยสักบาท”

นอกจากนี้เขายังบอกอีกด้วยว่าลำพังการแก้ Pain Point ผู้บริโภคได้เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สำคัญ หากคุณไม่พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ใช้งาน

“โจทย์ที่ LINE ในฐานะที่อยู่ในวงการเทคฯ อยากจะให้ทุกคนเข้าใจคือ ‘ทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องง่าย’ นี่คือเรื่องที่สำคัญมาก ผมบอกได้เลยว่าถ้าวันแรกผมไปบอกร้านอาหารที่อยู่ใน LINE MAN ว่าเขาต้องใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเพื่อรับออร์เดอร์ ต้องทำทุกอย่างผ่านโทรศัพท์มือถือ ผมว่า LINE MAN ไม่มีทางเกิดแน่นอน มันยากเกินไป กลายเป็นว่าเราพยายามไปเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำธุรกิจของเขา

“ดังนั้นสิ่งที่ LINE ทำคือการอาสารับผิดชอบดูแลเทคโนโลยีการสั่งอาหารและการเรียกใช้บริการทั้งหมด เมื่อคนขับ (พนักงานส่งอาหาร) ไปถึงร้านอาหารก็สั่งอาหารตามที่ผู้ใช้บริการสั่งพร้อมจ่ายเงินสด (บริการ LINE MAN กำหนดเงินสำรองจ่ายเบื้องต้นที่ออเดอร์ละไม่เกิน 1,000 บาท) นำอาหารไปส่งและรับเงินสดกลับมา จะเห็นว่าเราแทบจะไม่ได้ยุ่งกับวิธีบริหารของฝั่งร้านอาหารเลย สิ่งที่เราทำคือการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคและเพิ่มจำนวนลูกค้าและรายได้กลับไปให้ยังฝั่งร้านอาหาร”

สู่ LINE TAXI บริการที่ต่อยอดจาก LINE MAN แก้ Pain Point ทำเทคโนโลยีให้ง่ายและ ‘ไม่จำเป็นต้อง Disrupted ใคร’

เมื่อแก้ปัญหา Pain Point ทั้งฝั่งผู้ผลิต (ร้านอาหาร) ผู้บริโภค และทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ใช้ได้แล้ว สิ่งที่ LINE ในฐานะ LINE MAN ทำต่อไปคือการขยายรูปแบบการบริการให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของ ‘LINE TAXI’ บริการเรียกแท็กซี่ภายใต้ความร่วมมือกับสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้ว และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘เทคโนโลยีอาจจะไม่จำเป็นต้อง Disrupted ใครเสมอไป’

“ถ้าไปดูในตลาดทุกวันนี้ก็จะพบว่ามีผู้ให้บริการขนส่งมวลชน (ในรูปแบบไรด์แชริ่ง) อยู่หลายเจ้า แต่สิ่งที่เราเห็นและพบว่าน่าสนใจคือเมื่อปีที่แล้ว สหกรณ์แท็กซี่เข้ามาคุยกับ LINE ว่าพวกเราพอจะทำอะไรร่วมกันได้บ้าง ส่ิงที่เราต้องทำความเข้าใจคือวันนี้ กรุงเทพฯ มีคนขับแท็กซี่ประมาณ 90,000 คน ในจำนวนนี้สังกัดกับสหกรณ์ประมาณ 60,000 คน ฉะนั้นพวกเขาจึงมีโครงข่ายที่ค่อนข้างใหญ่

“พอ LINE ได้ศึกษาและวิจัยตลาดนี้ก็พบ Pain Point ของมัน คือทั้งๆ ที่มีผู้ให้บริการค่อนข้างเยอะ แต่ผู้บริโภคก็ยังเรียกแท็กซี่ไม่ได้เลย นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามองเห็นโอกาสในตลาด ในเมื่อคุณยังแก้โอกาสให้ผู้บริโภคไม่ได้เราก็อยากขอลองอีกแรง ส่วนอีกมุมคือ Pain Point ฝั่งคนขับ ผมยอมรับในฐานะผู้บริโภคว่ามุมคนขับอาจจะเป็นมิติที่ผมมองข้ามมาตลอด ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่ใช้บริการแท็กซี่บางครั้งอาจจะมีอคติกับคนขับทำไมเรียกรถแล้วไม่ยอมไป แต่มันก็มีอีกมิติที่ถ้าเราได้ลองเข้าไปคลุกคลีแล้วจะเห็น มันเลยทำให้เราได้เห็นว่าทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการเองก็ต่างมีปัญหาในมุมที่ต่างกัน”

อริยะบอกว่าในตอนนั้นเขาเริ่มมองเห็นวิธีแก้ปัญหาลางๆ เนื่องจากแชตของ LINE เองก็มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้ย่อมมีผู้ใช้ที่เป็นคนขับรถแท็กซี่และผู้โดยสารรวมอยู่ด้วย และจากจำนวนคนขับแท็กซี่สังกัดสหกรณ์แท็กซี่ที่มีมากถึง 60,000 คน เขาเชื่อว่าน่าจะเพียงพอตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารได้แน่นอน ในที่สุด LINE TAXI จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

“เราเปิดตัวมาได้ประมาณ 4 เดือนแล้ว แต่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ต้องบอกว่าผมตกใจกับผลตอบรับพอสมควร เพราะมันดีมากๆ LINE TAXI เติบโตเกินความคาดหมาย อาจจะประจวบเหมาะกับจังหวะที่เกิดกระแสด้วย (Uber ขายกิจการในอาเซียนทั้งหมดให้ Grab) ซึ่งผมมองว่าช่วงนี้ผู้บริโภคกำลังต้องการทางเลือก ตลาดที่มีการแข่งขันของผู้ให้บริการย่อมเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภค สมมติว่ามีเจ้าตลาดเจ้าเดียวผู้บริโภคก็จะเสียเปรียบ เมื่อไรก็ตามที่มีการแข่งขัน ผู้บริโภคย่อมมีแต่ได้ อย่างน้อยผู้บริโภคก็มีทางเลือก”

ข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ ของ LINE TAXI ที่อริยะบอกกับเราคือการมีฐานผู้ใช้ LINE ดั้งเดิมเป็นจำนวนมาก (42 ล้านคน) ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทั้งฝั่งคนขับและทำให้ผู้โดยสารสามารถเรียกรถได้เต็มที่ ที่สำคัญบริการ LINE TAXI ยังเป็นบริการถูกกฎหมาย 100% อีกด้วย เพราะอริยะเชื่อว่าการเป็นบริษัทเทคโนโลยีอาจจะไม่จำเป็นต้อง Disrupted ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ เสมอไป

“ส่วนทิศทางในอนาคตของ LINE TAXI ต้องบอกว่าปัจจุบันเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เราก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการสร้างบริการที่มีคุณภาพ ช่วยให้ผู้บริโภคเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ได้เร็ว ซึ่งเฟสต่อจากนี้คือการขยายพื้นที่ให้บริการของ LINE TAXI และมองถึงความเป็นไปได้ในการขยายสเกลการให้บริการออกไป”

 

วัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง สนับสนุนให้พนักงานสร้างผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง

ออฟฟิศแห่งใหม่ของ LINE นอกจากจะออกแบบได้น่ารักและน่าทำงานแล้ว ขั้นตอนการออกแบบยังคำนึงถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่จะช่วยให้พนักงาน Productive และเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานได้อย่างไม่รู้จบอีกด้วย ซึ่งบริการหลายๆ อย่างของ LINE ยกตัวอย่าง LINE MAN ก็มาจากไอเดียของพนักงานบริษัท เนื่องจากอริยะเชื่อว่าวัฒนธรรมการทำงานที่ดี ไอเดียที่น่าสนใจไม่ควรจำกัดว่าจะต้องมาจากผู้นำเพียงคนเดียว

“กลุ่มพนักงานของเราถูกเรียกว่า Tech Millennials คือคนยุค Millennials ที่ถนัดด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรมองค์กร LINE ที่สังเกตได้จากสิ่งแวดล้อมออฟฟิศคือผมต้องการให้พนักงานเต็มไปด้วยไอเดียที่สดใหม่ ทุกคนมีโอกาสคิดบริการใหม่ๆ ที่มาจากไอเดียของเขาเอง ออฟฟิศของเราเลยมีพื้นที่ให้พนักงานได้รีแลกซ์เยอะ มีห้องประชุมที่ไม่เหมือนห้องประชุม เป็นบรรยากาศสบายๆ ให้พนักงานได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงสิ่งบันเทิงให้พวกเขาได้เล่นสนุก โต๊ะพูล โต๊ะปิงปอง ฟิตเนส ห้องงีบหลับ เสิร์ฟอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรี ทำให้เขารู้สึกสนุกและสบายเหมือนมีองค์กรคอยดูแลตลอดเวลา

“ผมเชื่อใจลูกน้องของตัวเอง ความไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญ บางธุรกิจผมปล่อยให้เขาบริหารกันเองเลย แต่เมื่อไรที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือผมก็พร้อมสนับสนุน นอกจากนี้ผมก็ให้ความสำคัญกับการสร้างทีมมากๆ เพราะการจะสร้างธุรกิจให้ดีได้ก็ต้องเริ่มจากทีมงานก่อน LINE ใส่ใจตั้งแต่กระบวนการคัดคนเข้ามา และสไตล์การทำงานที่เราพยายามทำให้มันเป็น ผมจะไม่บอกว่าเขาต้องทำอะไร แต่เขาต้องเดินมาบอกผมเองว่าอยากสร้างอะไร เราคือทีมเดียวกัน ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเจ้านายและพวกเขาคือลูกน้อง แต่พวกเราต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดและพร้อมรบไปด้วยกัน”

เรื่องที่น่าสนใจนอกเหนือจากวัฒนธรรมองค์กรคือเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว LINE ประเทศไทยยังได้เข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพ DGM59 พร้อมดึงบุคลากรจำนวนกว่า 40 ชีวิตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ส่งผลให้พวกเขามีทีมนักพัฒนาระบบและแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง นั่นหมายความว่าในอนาคตหากอริยะอนุมัติไอเดียสร้างบริการใดๆ ขึ้นมาก็มีหน่วยงานพร้อมต่อยอดผลิตมันออกมาเป็นรูปร่างทันที!

 

Data น้ำมันและทองของยุค 4.0 ที่ผู้ประกอบการธุรกิจพลิกมุมต่อยอดสร้างประโยชน์ได้มหาศาล

ในยุคที่ใครหลายคนต่างก็บอกว่าข้อมูลคือสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล ผู้บริหาร LINE ประเทศไทยก็มองและเชื่อไม่ต่างกัน เขาบอกว่าหากข้อมูลถูกจัดเก็บและต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ได้สุดทาง มันก็ไม่ต่างจากน้ำมันหรือ ‘ทอง’ ดีๆ นี่เอง

“เราเห็นกันอยู่แล้วว่าสำหรับธุรกิจเทคฯ ข้อมูล (Data) มันคือน้ำมันและทองของยุค 4.0 มันไม่ใช่แค่การจัดเก็บแต่รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ด้วย แล้วคนที่ใช้ข้อมูลได้ดีก็สามารถผันมันเป็นธุรกิจหรือบริการใหม่ๆ ได้ ถามว่าวันนี้ถ้าเราพูดถึง FinTech หรือต้องการปล่อยเงินกู้ให้คนไม่มีบัญชีธนาคาร เราจะทำอย่างไร มันก็อยู่ที่ข้อมูลไง แทนที่เราจะดูข้อมูลที่ธนาคารเก็บ เราก็ดูว่าพฤติกรรมการซื้อของบนโลกออนไลน์ของเขาเป็นอย่างไร”

อริยะยังบอกอีกว่า Data Scientist คือบุคลากรที่องค์กรและหน่วยงานบริษัทในปัจจุบันต้องการตัวมากที่สุด แต่ในประเทศไทยสายงานนี้ไม่ถือว่าขาดแคลนมากนัก เพราะส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษามาแล้วก็มักจะหันไปประกอบอาชีพครูสอนคณิตศาสตร์แทน

“ข้อดีคือเรามี Supply ที่อาจจะไม่รู้ตัว เนื่องจาก Skill Set พื้นฐานของ Data Scientist คือความถนัดด้านสถิติ เลข ซึ่งโดยปกติมหาวิทยาลัยในไทยจะผลิตคนด้านนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปคุยกับแผนกด้านคณิตศาสตร์ของสถาบันการศึกษาก็จะพบว่าคนที่เรียนจบด้านนี้ส่วนใหญ่ไปเป็นอาจารย์กันหมด แต่วันนี้สิ่งที่เราต้องบอกพวกเขาคือคุณมีอนาคตที่แตกต่างได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่อาจารย์ ฉะนั้นเราเลยแค่ต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์ (Repurpose) Supply นั้นใหม่ก็เท่านั้น”

โดยสรุปก็คือนอกจากจะต้องคิดบริการขึ้นมาจากความต้องการของผู้บริโภคแบบอินไซด์ในตลาดที่คุณอยู่เป็นหลักแล้ว LINE ยังมองเรื่องการแก้ Pain Point ตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกฝ่าย แล้วทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องง่ายเพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ไม่เบียดเบียนผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ในระบบนิเวศ ทั้งยังให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์โดยนำข้อมูลมาต่อยอดสร้างประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 13

  • IIKRSK
    เข้าใจว่าครบทั้ง 60 กว่าล้านคนสะอีก
    07 พ.ค. 2561 เวลา 14.33 น.
  • ronnawut2
    ไม่มีความปบอดภัยเลย เจาะใครดูก็ได้ จากหวย 30 ล้าน รู้ทรงเลย ถ้าแม่งคิดจะล้วงๆได้หมด
    07 พ.ค. 2561 เวลา 14.17 น.
  • รอมซี จาเเน
    ไม่อ่านเลยครับ. อ่านคอมเมนต์อย่างเดียว ยาว........เกิน!.
    07 พ.ค. 2561 เวลา 15.05 น.
  • โบตั๋น
    สื่อควรมีจิตสำนึกต่อสังคมให้มาก ดาราแก้ผ้าโชว์มั่วกามสำส่อน แบบอย่างที่ไม่ดี ไม่สร้างสรรค์ คือทำลาย
    07 พ.ค. 2561 เวลา 16.07 น.
  • อี้ดจุฑา
    ไลน์อ่อนภาษาไทย ควรสรุปเนื้อเรื่องแบบย่อความ
    07 พ.ค. 2561 เวลา 15.16 น.
ดูทั้งหมด