โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธรรมะ

ธรรมสวัสดี: ปล่อยวางมาก ๆ คนว่าโง่ จะทำอย่างไรดี

LINE TODAY

เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2561 เวลา 08.00 น.

ถาม: เข้าใจว่า "การปล่อยวาง" คือหนทางแห่งการดับทุกข์ แต่ทุกครั้งที่โดนกระทำ หากปล่อยวางไม่ถือโทษ ไม่โกรธ ก็จะถูกหาว่าโง่ ยอมถูกเขากระทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ หรือจะทำอะไรกับเราก็ได้ แบบนี้จะต้องทำอย่างไร?

ตอบ: การที่คน ๆ หนึ่งต้องมาถูกกระทำอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เป็นความบีบคั้น เป็นความทุกข์ และอยากพาตัวเองให้พ้นจากจุดนั้น ในกรณีนี้ผู้ถามรู้ว่าวิธีเอาตัวรอดจากความทุกข์คือการ "ปล่อยวาง" แต่สงสัยว่าปล่อยวางแล้วจะทำอย่างไรต่อ? ต้องยอมถูกกระทำต่อไปอย่างนั้นหรือ? ถ้าไม่ใช่.. แล้วจะต้องทำอย่างไร? เพราะเมื่อปล่อยวางแล้ว ความทุกข์ก็ยังอยู่ ไม่ได้ดับหายไป

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ชีวิตคนเรามีความทุกข์มากมายอันเกิดมาจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ และการที่จะพ้นจากความทุกข์ได้ ไม่ใช่ว่าต้องไปอดทนต่อสิ่งที่เกิด แต่คือการยอมรับว่าสิ่งที่เกิดนั้น มันมีเหตุของมันอยู่ ทางแก้คือจะต้อง "ทำใจได้" โดยที่ไม่ทุกข์กับมัน ปัญหาคือ.. แล้วจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?

อย่างที่รู้กันว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม มันก็เลยเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุด ก็มีความขัดแย้งให้เห็นเป็นเรื่องปกติ เพราะแต่ละคนต่างก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ไล่ตั้งแต่เรื่องทางมโนธรรม ทางศาสนา ความเชื่อ ฐานะทางสังคม พื้นฐานครอบครัว จิตสำนึก ความรัก การเรียนรู้ และอีกมากมายเหลือที่จะกล่าว 

การจะทำให้สังคมมีแต่ความสงบสุขนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ที่ถูกคือ.. ทำอย่างไรให้ตัวเราอยู่กับสังคมที่มีปัญหามากมายเช่นนี้ได้ โดยที่เราไม่ไปมีปัญหากับมัน ซึ่งก็มีเพียงหนทางเดียวคือการ "ปล่อยวาง" แต่มันก็ยากที่ใครจะยอมรับคำนี้ได้ง่าย ๆ เพราะฟังแล้วมันเหมือนเป็นการจำยอมให้ตัวเองเป็นเบี้ยล่าง หรือตกเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว

งั้นเอาใหม่! เรามาเปลี่ยนจากคำว่า ‘ปล่อยวาง’ มาเป็นคำว่า "ช่างหัวมัน" แทน

นั่นไง! พอใช้คำนี้ ก็ดูเหนือขึ้นมาทันที !!

หลักใหญ่ใจความของคำว่า "ช่างหัวมัน" ก็คือการปล่อยวางนั่นเอง แต่การที่เราจะทำเป็นไม่สนใจกับอะไรซักอย่างที่มันทำร้ายจิตใจ ต้องถือว่าเป็นศาสตร์ชั้นสูงเลยทีเดียว เพราะจะช่างหัวมันได้ มันไม่ได้ง่ายเหมือนพูด มันยากกว่าพูดมากมายนัก ผู้ที่สามารถช่างหัวมันได้ในทุก ๆ ฉากของอนิจจัง คนนั้นจึงไม่ธรรมดาเลย ที่ไม่ธรรมดาเพราะผู้นั้นจะต้องมีความเข้าใจในสัจธรรม มองเห็นทุกอย่างตามที่เป็นจริงได้เท่านั้น รู้ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นมายา โลกนี้เป็นเพียงละครที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง ความทุกข์ที่เกิดนั้น เป็นแค่ฉากละครที่เปลี่ยนไปตามบทที่ตัวเองเขียน แล้วก็ไป "อิน" กับมันเอง จะเป็นจะตายไปกับมัน ทั้งที่เป็นแค่ฉากละครชั่วคราวที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความสูญเสียที่ทำให้จะเป็นจะตายนั้น ที่แท้มันแค่ในความคิด!

"การปล่อยวาง" จึงเป็นเรื่องราวของการเห็นแจ้งว่าไม่มีอะไรเลยที่ควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่น เมื่อปล่อยวางได้ ความโหดร้ายก็สลายไป ความเห็นอกเห็นใจก็จะสร้างความดีงามทั้งมวลขึ้นมา ความตระหนักแจ้งชัดว่าเมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ ย่อมลบเลือนความอยากที่ต่ำทรามให้หมดไป และทำลายความเห็นแก่ตัวลง

"การปล่อยวาง" เป็นวิปัสสนาญาณแห่งชีวิตสำหรับทุกคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ใครอยากมีความสามารถนี้แล้วจะมีได้เลย ตราบที่ยังไม่เคยเอาจริง กับการรู้เท่าทันในผัสสะแต่ละอารมณ์กระทบแล้ว ก็ไม่มีทางจะมีความสามารถนี้ได้เลย

"การปล่อยวาง" จะทำให้เราเข็มแข็งขึ้น และนี่คือวิทยาศาสตร์แห่งการทำใจได้ แม้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เมื่อปล่อยวางได้ วันเวลาที่เหลืออยู่ก็จะมีแต่ความสุข

สำหรับผู้ถามคำถามนี้ อยากให้ฟังเพลง ๆหนึ่ง (ซึ่งอาจเคยฟังมาแล้ว) เพลงนี้กล่าวถึงสัจธรรม ชื่อเพลงว่า "ก้อนหินก้อนนั้น" มีเนื้อหาโดยสรุปว่า.. 

"ไม่มีอะไรจะทำร้ายเรา 
ได้เท่ากับเราทำร้ายตัวเราเอง 
ให้คิดเองว่าชีวิตนี้เป็นของใคร
ไม่มีอะไรจะทำร้ายเรา 
ถ้าเราไม่รับมันมาใส่ใจ 
ที่คิดว่าถูกทำร้าย 
เพราะใจเราแบกรับมันเอง"

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา … 

บอกเราว่าสิ่งทั้งปวงนั้นอยู่เหนือการควบคุม สิ่งใดอยู่เหนือการควบคุม สิ่งนั้นกำลังสอนให้เรารู้จักปล่อยวาง

เจริญพร

พระมหาทรงศักดิ์ จิรสุโภ

วัดปากน้ำ นนทบุรี

สำหรับผู้มีคำถามธรรมะ อยากไขข้อข้องใจทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่อีเมล: dhammaboxes@gmail.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 92

  • Sawasdee
    แปลว่า ยังปล่อยวางไม่มากพอ เพราะ แค่ถูกหาว่าโง่ ก็ยังวางลงไม่ได้ เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ฝึกปล่อยวางกับความเห็นของคนอื่นคับ
    19 ธ.ค. 2561 เวลา 09.32 น.
  • Mr. EI
    สำหรับผม การปล่อยวางที่ถูกต้องคือการไม่สนใจในสิ่งที่เหนือการควบคุม เช่น เพื่อนขี้นินทา ซึ่งเราไปคุมเขาไม่ได้ แต่ไม่ควรจะเพิกเฉยต่อปัญหา เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานก็ควรจะคุยกัน อาจจะกระทบบ้างก็จำเป็น เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นปัญหาก็ไม่หมดไป บางครั้งก็เอาธรรมะมาประยุกต์ใช้ผิดๆ ปากบอกปล่อยวางแต่จริงๆ แล้วมันคือการละเลย มันกลายเป็นข้ออ้างเสียมากกว่า
    19 ธ.ค. 2561 เวลา 14.33 น.
  • นี้คิดว่าการปล่อยวาง คือการไม่โกธรกับเรื่องที่มากระทบกับอารมณ์ของเรา เราจะคิดว่าช่างมันเถอะ ไม่เป็นไรหรอก จะดูเหมือนยอมคนหรือไม่สู้คน ก็ไม่เป็นไร เพราะมันจะได้ไม่มีเรื่องอะไรอยู่สงบๆดีกว่าไม่ต้องขุ่นเคืองใจกันด้วย ไม่สนใจกับคำเหน็บแนมพวกนี้
    19 ธ.ค. 2561 เวลา 12.50 น.
  • จะสนใจในคำพูดเหล่านั้นทำไมคะในเมื่อเราปล่อยวางแล้ว ก็ตาทใจเขาเถอะใครจะพูดอะไรเราไม่ตอบเฉยก็สบายใจ
    19 ธ.ค. 2561 เวลา 14.43 น.
  • ใครจะว่าอย่างไร จะสรรเสริญหรือนินทา จะว่าโง่. ก็หาได้สำคัญไม่ ใจที่ปล่อยวางแล้วย่อมสงบค่ะ
    19 ธ.ค. 2561 เวลา 14.47 น.
ดูทั้งหมด