โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

คนลพบุรี ทำไร่มันสำปะหลัง ดูแลง่าย ไม่ซับซ้อน 20 ไร่ ได้ 1 แสน

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 06 พ.ย. 2563 เวลา 06.53 น. • เผยแพร่ 06 พ.ย. 2563 เวลา 06.53 น.
7 ไร่มัน

คุณชำนาญ กูลสกิจ หนุ่มเมืองลิง วัย 45 ปี เริ่มต้นชีวิตด้วยการรับจ้างทั่วไป สู้ชีวิตตั้งแต่ ป.4 เนื่องจากคุณชำนาญเกิดมาในครอบครัวที่เป็นเกษตรกร ชีวิตตั้งแต่วัยเด็กก็เหมือนถูกกำหนดไว้แล้วว่าอาชีพของตนก็คือ เป็นเกษตรกร จนกระทั่งอายุได้ 18 ปี คุณอาของคุณชำนาญได้มาชักชวนให้มาช่วยปลูกมันสำปะหลัง เมื่อคุณชำนาญได้ลองเริ่มต้นปลูกมันสำปะหลัง ทำให้คุณชำนาญได้รับความรู้จากคุณอาในการปลูกมันสำปะหลังมากพอสมควร     

คุณชำนาญ กูลสกิจ บอกว่า เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ค่าครองชีพถูกกว่าสมัยนี้มาก ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าจ้างคนงาน ค่ารถไถ ค่าที่ดิน และอื่นๆ ทำให้การปลูกมันสำปะหลังมีต้นทุนที่ไม่สูงมาก ทำให้ได้กำไรดี จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณชำนาญ ในวัย 18 ปี เกิดความคิดที่อยากจะมีไร่มันสำปะหลังเป็นของตนเอง คุณชำนาญจึงทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยการรับจ้างทั่วไป รับจ้างดูแลสวนต่างๆ ให้คนในพื้นที่ เพื่อที่ต้องการหาเงินมาต่อยอดความฝันของตนเอง และด้วยคุณชำนาญทำงานรับจ้างให้กับหลายๆ คน จึงได้ความรู้มากมายจากเกษตรกรคนอื่นๆ

ผ่านไป 1 ปี คุณชำนาญสามารถเก็บเงินก้อนได้จำนวนหนึ่งในวัย 19 ปี จึงได้ตัดสินใจลงทุนปลูกมันสำปะหลัง 5 ไร่ สายพันธุ์ระยอง 5 และสายพันธุ์ระยอง 11 คุณชำนาญ บอกว่า ในตอนนั้นสาเหตุที่เลือกปลูกมันสำปะหลังสายพันธุ์ระยอง 5 และสายพันธุ์ระยอง 11 เพราะให้แป้งดี และเป็นที่นิยมในช่วงสมัยนั้น

ปัจจุบัน คุณชำนาญมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของตนเอง จำนวน 20 ไร่

คุณชำนาญ บอกว่าในช่วงฤดูฝนจะเป็นช่วงเพาะปลูก สำหรับเกษตรกรปลูกมัน คุณชำนาญเลือกปลูกมันสำปะหลัง สายพันธุ์แขกดำ และสายพันธุ์ 81 เพราะ 2 สายพันธุ์นี้ให้แป้งที่ดี โตไว ต้นสูง เหมาะกับการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน

และคุณชำนาญเลือกปลูกมันสำปะหลังสายพันธุ์ระยอง 5 ในช่วงการเพาะปลูกนอกฤดูกาล เพราะสายพันธุ์ระยอง 5 มีต้นที่เตี้ย จึงไม่เหมาะกับการปลูกในช่วงฤดูฝนเท่าไร จึงนำมาเพาะปลูกนอกฤดูกาลแทน และให้แป้งดี เทียบเท่ากับ สายพันธุ์แขกดำ และสายพันธุ์ 81

คุณชำนาญ อธิบายถึงหลักการในการปลูกมันสำปะหลังว่า เริ่มจากการไถหน้าดิน โดยใช้ผาล 3 ไถ 1 รอบ ทิ้งดินให้หน้าดินแห้งกรอบ เป็นระยะเวลา 1 เดือน จากนั้นไถผาล 7 และทิ้งดินไว้ 10-20 วัน จากนั้นตัดต้นมันให้ได้ความยาว 20 เซนติเมตร นำต้นมันไปแช่ในน้ำที่เราผสมไว้ ได้แก่  กะปิ 1 กระปุกเล็ก น้ำเปล่า 100 ลิตร เครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด แช่ไว้ต้นละ 5 นาที เพื่อให้ไส้ของลำต้นได้อิ่มน้ำ และดูดซับน้ำได้ดี จากนั้นถึงวิธีการนำต้นมันลงแปลงปลูก โดยเว้นระยะห่าง 60 เซนติเมตร ต่อการปลูก 1 ต้น เมื่อต้นมันอายุได้ 50 วัน ถ้าหากมีเพลี้ยก็สามารถฉีดสารกำจัดเพลี้ยได้ โดยผสมกับฮอร์โมนเพื่อฉีดพ่น และไม่ลืมที่จะฉีดยาคุมไข่ หลังจากฉีดพ่นครั้งแรกไปแล้วเป็นระยะเวลา 20 วัน ก็ฉีดฮอร์โมนในครั้งที่ 2 หากมีหญ้าขึ้นต้องตัดหญ้าตลอด มั่นคอยเช็กดูเพราะถ้าหากมีหญ้าขึ้นบริเวณต้นมัน จะทำให้หญ้าเหล่านั้นไปแย่งสารอาหาร เมื่อมันสำปะหลังออกผลผลิตแล้ว จะได้หัวมันที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักไม่ดี

อัตราส่วนในการรดน้ำต้นมัน หากปลูกในช่วงฤดูกาลซึ่งตรงกับฤดูฝนก็ไม่ต้องจำเป็นต้องรดน้ำ แต่ถ้าหากปลูกนอกฤดูกาลจะใช้วิธีปลูกมันน้ำหยด ต้องหยดน้ำ 1 ชั่วโมง ก่อนนำต้นมันลงแปลงปลูก หลังจากนำต้นมันลงแปลงปลูกเสร็จแล้ว รดน้ำไปอีก 2 ชั่วโมง เพื่อให้หน้าดินรัดต้นได้ดี จากนั้นปล่อยน้ำหยดจนชุ่มทุก 7 วัน เมื่อต้นมันมีอายุครบ 5 เดือน ทิ้งระยะห่างในการรดน้ำ เป็น 10-15 วัน รดครั้งหนึ่ง มันที่เหมาะสมแก่การเก็บเกี่ยวคือ มันที่มีอายุ 8 เดือนขึ้นไป ช่วงเวลานั้นหัวมันจะสร้างแป้งได้ดี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินในที่นั้นๆ ด้วย จนถึงเวลาถอนหัวมัน ให้สังเกตที่ใบต้นมัน ใบจะร่วง ถ้าร่วงเยอะหมายถึงแป้งในหัวมันสร้างได้เต็มที่ ให้แป้งดีแน่นอน โรงงานที่รับซื้อมันสำปะหลังส่วนใหญ่ ให้ราคาตามค่าของแป้งในหัวมัน ช่วงนี้ราคาจะอยู่ที่ 2.80 บาท ต่อค่าแป้ง 25% และราคา 2.30 บาท ต่อค่าแป้ง 15%

คุณชำนาญ กล่าวอีกว่า มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เพราะเนื่องจากมันสำปะหลังมีวิธีการดูแลที่ไม่ยุ่งยากและซับซ้อนมากนัก แต่ก็ต้องการความใส่ใจและดูแล สามารถทำรายได้ปีละแสนบาท

สำหรับท่านใดที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกมันสำปะหลัง ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิมเติมได้ที่ บ้านเลขที่ 10 หมู่บ้านบ่อคู่ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี โทร. 087-915-4135, 086-124-7767 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก กูลสกิจ ฟาร์ม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น