โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

เปิดผลสอบสวน ‘ไอกรน’ระบาดในโรงเรียนสาธิตมศว บางส่วนพบติดเชื้อสู่คนในครอบครัว

เดลินิวส์

อัพเดต 13 พ.ย. เวลา 14.45 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. เวลา 06.47 น. • เดลินิวส์
เปิดผลสอบสวน ‘ไอกรน’ระบาดในโรงเรียนสาธิตมศว บางส่วนพบติดเชื้อสู่คนในครอบครัว
กรมควบคุมโรคเผยผลสอบสวนโรค 'ไอกรน' ระบาดในโรงเรียนสาธิต มศว บางส่วนพบติดเชื้อสู่คนในครอบครัวด้วย ระบุ ความต่างเหตุระบาดในชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่กรมควบคุมโรค พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน สั่งปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากพบนักเรียนป่วยโรคไอกรนในโรงเรียนจำนวนมาก ว่า ทางกองระบาดกรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักอนามัย กทม.ลงไปสอบสวนโรค หลังได้รับการแจ้งพบผู้ป่วยโรคไอกรนในเดือน พ.ย. ซึ่งจริงๆ มีคนป่วยตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 4, 5, 6 โดย ม.5 เยอะสุด ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง รวมๆ ประมาณ 20 ราย ตอนนี้ยังสอบสวนโรคอยู่ว่ามีการติดต่อจากที่ไหน ใครป่วยบ้าง อาการเป็นอย่างไร โดยสอบสวนทั้งโรงเรียน และที่บ้าน เพราะพบว่า มีส่วนหนึ่งที่แพร่ระบาดสู่คนในครอบครัว แต่ก็เป็นส่วนน้อย และมีการติดตามต่อเนื่อง

เมื่อถามว่า ปกติจะพบการระบาดในพื้นที่ภาคใต้มากกว่า ทำไมพบที่ กทม.ได้ พญ.จุไร กล่าวว่า ขณะนี้มี 2 ลักษณะที่แตกต่างกัน โดยกรณีแรกกรณีที่พบผู้ป่วยในโรงเรียน จะเห็นว่า เป็นเด็กโต อาการไม่ค่อยรุนแรง มีไข้ ไอ น้ำมูก ไปรับยารักษาแล้วอาการดีขึ้น เหตุผลเป็นเพราะเด็กโตเหล่านี้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนแล้วตอนที่ยังเป็นเด็กเล็ก เพราะโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ แต่อยู่กับเรามา มีวัคซีนมานานกว่า 50 ปีแล้ว ทั้งนี้การที่ได้รับวัคซีนครบ หากได้รับเชื้อป่วยอาการจะไม่รุนแรง ทั้งนี้ การรับวัคซีนแล้วหลังจากนั้น 10 ปี ภูมิคุ้มกันจะเริ่มตก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของทุกวัคซีน แต่ร่างกายก็ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ หากสุขภาพแข็งแรงก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านโรคได้ ดังนั้นจะพบว่า น้องๆ นักเรียนที่ป่วยมีอาการที่ไม่รุนแรง

ส่วนรูปแบบการระบาดในภาคใต้นั้น เมื่อปลายปี 2566 จะเป็นการระบาดในเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 1 ขวบ หรือต่ำกว่า 6 เดือน และมีผู้เสียชีวิตด้วย จะเห็นว่า โรคมีความรุนแรง เพราะน้องๆ ในภาคใต้ได้รับเชื้อในช่วงที่อายุน้อย บางคนน้อยกว่า 3 เดือน ติดจากคนรอบข้าง ซึ่งโรคนี้จะรุนแรงในเด็กเล็ก และคนมีโรคประจำตัว เช่น หอบ หืด หรือผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุต้องระวัง ดังนั้นสรุปการระบาดในภาคใต้เป็นเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ทางกระทรวงสาธารณสุขพยายามให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนเพื่อส่งผ่านภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูกได้ เพราะกว่าทารกที่เกิดมาแล้วจะได้รับวัคซีนด้วยตัวเองก็เมื่ออายุ 2 เดือน ดังนั้น ช่วงอายุก่อน 2 เดือนจะมีความเสี่ยง หากในชุมชนมีคนป่วย เด็กติดเชื้อก็เสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

“ปัจจุบันเราพยายามรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์รับวัคซีน ซึ่งอยู่ในระบบอยู่แล้ว มีวัคซีนส่วนน้องๆ ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง 4 ขวบ ให้ไปรับวัคซีน ซึ่งเป็นวัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ผู้ปกครองควรพาไปรับวัคซีน และหลัง 10 ปีไปแล้ว ควรรับวัคซีนกระตุ้น 1 เข็มด้วย ซึ่งเป็นวัคซีนรวมเป็นไอกรน คอตีบ บาดทะยัก” พญ.จุไร กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีพบการระบาดในเด็กโตครั้งนี้แปลว่าไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า ต้องตรวจสอบดูก่อน แต่ถึงแม้ไม่ได้รับการกระตุ้น แต่จะเห็นว่าป่วยแต่อาการไม่หนัก แต่หากได้รับการกระตุ้นแล้วภูมิคุ้มกันขึ้นเร็ว จะช่วยให้ร่างกายกำจัดเชื้อได้เร็ว การแพร่สู่คนรอบข้างไม่มาก เพราะไม่ไอ เนื่องจากไอกรนแพร่จากการไอ ซึ่งจะไออยู่ 1-2 สัปดาห์ มีการฟักเชื้อนานจึงอาจจะต้องกังวลนิดหนึ่ง

“สิ่งที่ต้องระวังคือ ไอกรนแพร่คนรอบข้างได้ เพราะจะไอมาก ไอจนจะแทบหยุดหายใจ และไอเป็นเวลานานเฉลี่ย 2 สัปดาห์ ทำให้แพร่เชื้อได้ แต่หากได้รับยารักษาถูกต้องภายใน 7 วันก็จะไม่แพร่ อย่าง 5 วันได้ยาปฏิชีวนะก็จะไม่แพร่เชื้อแล้ว ส่วนกรณีนี้ น่าจะเกี่ยวกับการเล่นกีฬา ซึ่งหากเด็กเริ่มไอ ขอให้พัก เพราะถ้าไปออกกำลังกายก็จะเสี่ยงแพร่เชื้อได้” พญ.จุไร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้เรียกว่าเป็นการระบาดได้หรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า ได้ เพราะมีเคสยืนยันกว่า 20 ราย และมีเคสเข้าข่ายอยู่ ซึ่งมีการพิจารณาให้ยา แต่ไม่จำเป็นต้องให้ยาทั้งโรงเรียน เราจะพิจารณาเฉพาะใกล้ชิด เนื่องจากเชื้อนี้จะอยู่ในสารคัดหลั่ง น้ำลาย กินข้าวร่วมกัน ไม่ใช้ช้อนกลาง ทั้งนี้ใน กทม.อาจจะมีมานานแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ตรวจแล้วเจอ สิ่งสำคัญคือ เมื่อพบแล้วเราสามารถป้องกันการแพร่กระจาย

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องปิดโรงเรียนหรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า ปัจจุบันแนะนำการปิดโรงเรียนที่โรคมือ เท้า ปาก อุจจาระร่วง เพราะเชื้อไวรัสอยู่ในสิ่งแวดล้อม การปิดโรงเรียน เพื่อทำความสะอาดกำจัดเชื้อ แต่ไอกรน จะมีมาตรการเหมือนโควิด ไข้หวัดใหญ่ เชื้ออยู่ที่คน ต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ สุขอนามัยส่วนบุคคล แต่การปิดโรงเรียน ก็อาจขึ้นกับโรงเรียน มีหลายปัจจัย ขึ้นกับพื้นที่

“ขอให้อย่าวิตกกังวล ตระหนักก็เพียงพอ เพราะโรคนี้ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีมานานแล้ว เพียงแต่ตระหนัก อย่างเด็กเล็กควรรับวัคซีนตามกำหนด และขอย้ำผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากยิ่งป่วยโรคหอบหืดต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน และหญิงตั้งครรภ์ขอให้ไปฉีดวัคซีนไอกรนด้วย ซึ่งหากฝากครรภ์ แพทย์ก็จะแนะนำอยู่แล้ว” พญ.จุไร กล่าว

เมื่อถามถึงความครอบคลุมของวัคซีน พญ.จุไร กล่าวว่า การให้วัคซีนของภาครัฐ ซึ่งเป็นวัคซีนรวมไอกรนด้วยนั้น กำหนดว่าต้องมากกว่า 90% ทุกพื้นที่จะป้องกันการระบาดได้ หากจุดไหนเริ่มต่ำแสดงว่าเริ่มระบาด ซึ่งทางชายแดนภาคใต้การครอบคลุมของวัคซีนยังน้อย และยังมีโรคหัดด้วย ส่วนเรื่องการตรวจหาเชื้อไอกรนนั้น จะมีค่าใช้จ่ายสูง จึงเลือกตรวจกลุ่มเสี่ยง เด็กต่ำกว่า 1 ปี มีโรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุ สังเกตได้ คือ เบื้องต้นจะคล้ายหวัด มีอาการป่วย 2-3 วัน ขอให้พักอยู่บ้านก่อน จะได้ไม่แพร่เชื้อในโรงเรียน ทั้งนี้กรณีมีอาการ 3-4 วันเริ่มไอมาก ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติว่า มีการป่วยที่โรงเรียนหรือไม่ หรือมีเพื่อนที่โรงเรียนป่วยหรือไม่ หรือเด็กมีโรคหอบหรือไม่ ซึ่งหากมีปัจจัย ทางแพทย์จะตรวจหาเชื้อไอกรนด้วยวิธี PCR ต่อไป.

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0