โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

34 ปี ‘สืบ นาคะเสถียร’ งานอนุรักษ์ไม่มีวันสิ้นสุด ป่าไม้ไทยยังน่ากังวล

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 31 ส.ค. เวลา 03.45 น. • เผยแพร่ 31 ส.ค. เวลา 03.40 น.
สืบ นาคะเสถียร
ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“เช้าวันที่1 กันยาในราวป่าเสียงปืนกึกก้อง หยาดนี้เพื่อนน้ำตานอง จากข่าวร้ายกลางป่าอุทัย” ส่วนหนึ่งของบทเพลง“สืบทอดเจตนา” ของ“ยืนยง โอภากุล” (แอ๊ด คาราบาว) ซึ่งเล่าถึงการที่“สืบ นาคะเสถียร” ตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรม(การฆ่าตัวตาย) ในรุ่งสางวันที่1 กันยายน2533 เพื่อเรียกร้องให้สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง พร้อมข้อความในจดหมายว่า“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”

สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันที่31 ธันวาคม2492 เป็นคนปราจีนบุรี มีชื่อเดิมว่า“สืบยศ นาคะเสถียร” สอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่35 ก่อนจะรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ในปี2524

จากนั้นเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี ในปี2529 และเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี จากบทเรียนการช่วยสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นที่มาของวาทะอันทรงพลังผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้

ต่อมาในปี2532 แม้ได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

สืบ นาคะเสถียร ต้องพบปัญหามากมาย ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของผู้มีอิทธิพล การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตลอดจนความยากจนของชาวบ้านรอบ ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจ

วันที่1 กันยายน2533 สืบ นาคะเสถียร จึงสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้ ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรมในเวลารุ่งสาง ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า34 ปีแล้ว แต่สถานการณ์พื้นที่ป่าไม้และปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังน่ากังวล

พื้นที่ป่าลดลงมากสุดรอบ10 ปี

“นางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวกับ“ประชาชาติธธุรกิจ ว่า มีทั้งช่วงเวลาที่กระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติตื่นตัวและสถานการณ์พื้นที่ป่าในประเทศไทยดูดีขึ้น แต่ก็มีช่วงเวลาที่แย่ลงเช่นเดียวกัน

สถานการณ์พื้นที่ป่าในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา5 ปีที่ผ่านมา จนถึงปี2566 พบว่าพื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละประมาณ100,000 ไร่ โดยเฉพาะช่วง1 ปี ระหว่าง2565-2566 พื่นที่ป่าของไทยลดลงไปถึง317,819.20 ไร่

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า จากปี2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้102,135,974.96 ไร่ หรือคิดเป็น31.57% ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งปี2566 เหลือพื้นที่ป่าไม้101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น31.47% ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด นับเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ10 ปี

“มีคนที่พยายามจะปกป้องผืนป่า แต่ก็มีคนพยายามจะหาประโยชน์จากผืนป่าเช่นเดียวกัน อรยุพา กล่าว

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้จะมีช่วงเวลาที่ตัวเลขพื้นที่ป่าของประเทศดีดตัวเพิ่มขึ้นมา หากแต่เกิดจาการแปลภาพถ่ายดาวเทียมที่ละเอียดขึ้น หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคนิค วิธีการ และระบบ ซึ่งถ้าพิจารณาจากปีที่ต่อเนื่องกันและใช้ระบบการคำนวนที่คล้ายกัน เช่น5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าพื้นที่ป่าของไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

ถือเป็นเรื่องน่ากังวล เมื่อมีคนถามว่าพื้นที่ป่าลดลงเพราะอะไร แน่นอนว่าคำตอบคือมีคนบุกรุก และมีคนใช้ประโยชน์จากผืนป่า ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลและต้านทานได้ยาก คือ โครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐ ที่มีแนวโน้มจะใช้พื้นที่ป่าอยู่ตลอดเวลา เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ที่มีอยู่เกือบ100 โครงการ ตลอดจนโครงการตัดถนน และโครงการเหมืองเเร่ในพื้นที่ป่า เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายงานEIA ที่จะเป็นเสมือน“ตรายาง” แต่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่หรือไม่

สำหรับสถานการณ์ผืนป่าตะวันตก แม้พื้นที่ป่าในบางจังหวัดลดลง แต่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม รวมถึงสัตว์ป่ายังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ เช่น เสือโคร่ง ที่มีผืนป่าตะวันตกเป็นบ้านหลังใหญ่ให้ออกลูกแผ่หลานอย่างอุดมสมบูรณ์ ก็ด้วยความเข้มเเข็งของเจ้าหน้าท่ีพิทักษ์ป่าและการทำงานขององค์กรอนุรักษ์ต่าง ๆ ตลอดจนประชนชนโดยรอบพื้นที่

เปรียบเสมือนผืนป่า“ทุ่งใหญ่นเรศวร– ห้วยขาแข้ง” เป็นพื้นที่ไข่แดง และมีพื้นที่ป่าโดยรอบเป็นไข่ขาวที่คอยปกป้อง ส่วนชุมชนที่เป็นป่าอนุรักษ์รอบนอกเป็นเหมือน“รั้วมนุษย์” ซึ่งเป็นคีย์สำคัญที่ทำให้ผืนป่ายังคงอยู่ อรยุพา กล่าว

กระแสอนุรักษ์ในไทย และภาครัฐ

อรยุพา กล่าวถึงกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยมีปัญหาสภาพเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้บางคนอาจคิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว แต่คนทำงานอนุรักษ์ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และพยายามชี้ให้เห็นว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว

“ถ้าถามว่ากระแสการอนุรักษ์มาเป็นพัก ๆ มั้ย ไทยมีเรื่องสภาพเศรษฐกิจและสังคม บางครั้งคนก็อาจรู้สึกว่าทำไมต้องสนใจสิ่งแวดล้อม แต่นักอนุรักษ์เองก็ต้องทำงาน นักสื่อสารสิ่งแวดล้อมก็ต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ป่าคืออาหาร ป่าคืออากาศ ป่าคือน้ำ แต่ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว”

มีคำที่พูดต่อ ๆ กันมาว่า“งานอนุรักษ์ไม่มีวันเสร็จ ดังนั้น ต้องทำอยู่เรื่อย ๆ แต่ที่อยากให้เป็นประเด็นสำคัญ คือ คนที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คนไทยทั้งประเทศ ก็ควรจะทำตามหน้าที่ของตนเองอย่างหนักแน่น

ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ทำลายป่าอยู่เรื่อย ๆ หรือปล่อยให้มีการใช้ประโยชน์จากผืนป่าโดยไม่คำนึงตามสภาพสิ่งเเวดล้อมจริง หรือไม่ปฏิบัติตามปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยเคยไปให้คำมั่นสัญญาในระดับโลกไว้

“ไทยมีโครงการทำลายป่าอยู่ตลอดเวลาในนามของรัฐเอง ในการอนุญาตของรัฐเอง ซึ่งคือความย้อนแย้ง ไม่ใช่แค่คนทั่วไป แต่รัฐกลับย้อนแย้งในตัวเอง”

อยากฝากรัฐว่าให้ทำหน้าที่ของตัวเองในการปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่า ซึ่งไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อทุกชีวิต ดังนั้น โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะใช้พื้นที่ป่าน่าจะพอได้แล้ว ปัจจุบันสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต จากการกำหนด“ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก9 ข้อ” (Planetary Boundaries) ซึ่งมนุษย์ได้ทำลายไปแล้วถึง6 ข้อ อรยุพา กล่าว

“คุณจะส่งต่อสิ่งเเวดล้อมแบบไหนให้คนรุ่นต่อไป”

พิทักษ์คน เพื่อคนพิทักษ์ป่า

อรยุพา กล่าวว่า คุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นสิ่งที่ สืบ นาคะเสถียร ตระหนักและให้ความสำคัญตั้งแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้มูลนิธิฯ เองก็เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยระบุไว้ในตราสารการก่อตั้ง คือ การส่งเสริมสวัสดิภาพและสวัสดิการของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตลอดจนการเรียกร้องแทนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในหลาย ๆ เรื่อง

สิ่งที่ทำสำเร็จแล้วคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นถึงความสำคัญและมีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลเมื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในส่วนของมูลนิธิฯ เองก็มีการมอบเงินทุน ซึ่งไม่ใช่แค่มูลนิธิฯ อย่างเดียวที่ผลักดัน แต่ยังมีอีกหลายองค์กรที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอยู่

แม้จะไม่ใช่เงินจำนวนที่เยอะ แต่มูลนิธิฯ ยังคงพยายามสนับสนุนในกรณีที่ผู้พิทักษ์ป่าบาดเจ็บ เสียชีวิต และการให้ทุนการศึกษาบุตร ตลอดจนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการบริจาคของบุคคลทั่วไปและภาคเอกชน ในการนำสิ่งของจำเป็นเข้าไปให้ในพื้นที่ปฏิบัติการ รวมถึงหาแหล่งเงินทุนเพื่อซ่อมแซมหรือตั้งจุดพิทักษ์ป่าในพื้นที่ทรุดโทรม ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ดูแลคน เพื่อคนดูแลป่า อรยุพา กล่าว

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าปฏิบัติงานเป็นแนวหน้าในการอนุรักษ์คุ้มครองพื้นที่ ทั้งพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทางทะเล ประมาณ21,000 คน โดยในปี2567 มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ จำนวน11 ราย

สำหรับการดูแลขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงบประมาณ โดยในปีงบประมาณ2568 ให้ปรับอัตราค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จาก9,000 บาท เป็น11,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม2567 เป็นต้นไป

“การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร เมื่อ34 ปีที่แล้ว อาจไม่ใช่ทุกคนในปัจจุบันที่จะรู้สึกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้น หรืออาจมีแค่บางส่วนที่ตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์ดังกล่าว แม้กระทั่งคนรุ่นก่อนที่เกิดทันเหตุการณ์ก็อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่จะสนใจ มีช่วงเวลาหนึ่งที่เป็นกระเเส และอาจเงียบหายหรือถูกหลงลืมไปบ้าง แต่คนที่ทำงานอนุรักษ์หรือคนที่ศรัทธาต่อแนวความคิดของ สืบ นาคะเสถียร จะยังคงพยายามกระตุ้นเตือนหรือสื่อสื่อสารเรื่องราวของการอนุรักษ์ต่อไป”

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 34 ปี ‘สืบ นาคะเสถียร’ งานอนุรักษ์ไม่มีวันสิ้นสุด ป่าไม้ไทยยังน่ากังวล

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น