หลังผ่อนปรนมาตรการงดขายเหล้าวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เราเห็นข่าวคนไทยจำนวนมากเข้าคิวแห่ซื้อแอลกอฮอล์ เรียกเสียงวิจารณ์ถึงพฤติกรรมไม่เว้นระยะดังกล่าว พร้อมตั้งคำถามถึงมาตรการงดขายเหล้าเบียร์ด้วยว่าเหมาะสมแค่ไหน ส่งผลอย่างไร และรัฐบาลควร “งด” ต่อไปหรือไม่
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ใช้การแบนสุราในวิกฤตโควิด19 หลายประเทศก็ยกมาตรการนี้มาเพิ่มความแข็งแกร่งให้มาตรการป้องกันการระบาด กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เคยออกมาเตือนให้จำกัดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ โดยชูประเด็นสุขภาพ ผลกระทบจากเหล้า พร้อมแก้ข่าวที่เป็นไวรัลว่าแอลกอฮอล์ในเหล้าสามารถฆ่าเชื้อโควิด19 ได้ ซึ่งไม่จริง!
แต่ “ของมึนเมา” เป็นปัญหาจริง ๆ หรือ? ถ้าเหล้าไม่ดีแล้วทำไมเรายังดื่ม? มาสำรวจสถานการณ์แอลกอฮอล์ของผู้คนกันหน่อย ว่าประชากรโลกเขามีพฤติกรรมการดื่มอย่างไร ในยุคโควิด19
ยิ่งระบาด ยิ่งอยากดื่ม
แอลกอฮอล์กับความวิตกกังวลมีความเกี่ยวพันกันอยู่ หลายครั้งผู้ดื่มเลือกใช้ความมึนเมาขจัดความกลุ้มใจ ความเครียด โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาด ที่ทั้งโลกถูกล็อกดาวน์ ผู้คนถูกบังคับให้ปฏิบัติตนอยู่ในกฎระเบียบ (บางครั้งก็กฎหมาย) เคร่งครัดเพื่อหยุดโรคระบาด
ผลวิจัยของ Alcohol Change UK จากประเทศอังกฤษบอกเราว่า 1 ใน 5 ของประชากรอังกฤษยอมรับว่าดื่มมากขึ้นในสถานการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะนักดื่มวัยทำงานที่มักกลับบ้านมาจิบหลังเลิกงานเป็นกิจวัตร
ที่สหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนียชี้ว่ายอดขายเหล้าพุ่งขึ้นกว่า 50% ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาฯ หลังจากหลายรัฐเริ่มมีมาตรการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะยอดขายทางออนไลน์ ร้านอาหารหลายที่ก็มีการปรับตัวให้ซื้อเหล้ากลับบ้านพร้อมอาหารได้
กลับมาใกล้ ๆ บ้านเราบ้าง ประเทศอินเดียก็วุ่นกับการขึ้นภาษีเหล้าหลังผ่อนมาตรการล็อกดาวน์จนเกิดความชุลมุนไม่สน Social Distance โดยรัฐบาลท้องถิ่นในกรุงนิวเดลี ประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิต 70% สำหรับการซื้อเหล้าเบียร์ทุกประเภททันที พร้อมเตือนประชาชนว่าหากตรวจพบการฝ่าฝืนมาตรการเว้นระยะห่างอีก จะยกเลิกการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทันที โหดสมเป็นอินเดีย!
ส่วนไทย เราเห็นข่าวประชาชนแห่ซื้อเหล้าหลังจากผ่อนปรนมาตรการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากผลสำรวจเมื่อปี 2562 จะเห็นได้ว่าคนไทยดื่มเหล้าติดอันดับโลกอยู่เหมือนกัน โดยพบว่าประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 55.9 ล้านคน เป็นผู้ดื่มสุรา อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายหากผู้ดื่มมีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป (แต่แน่นอนว่าถ้าผู้ดื่มใช้ความมึนเมาในการกระทำมิชอบ อันนั้นไม่ต้องเมาก็ผิด!) ในกรณีนี้ รัฐจะดูสถานการณ์ต่ออีก 14 วันเป็นระยะทดลองการผ่อนปรน โดยหวังว่าโรคจะไม่ระบาดร้ายแรงไปกว่านี้
เหล้า VS สุขภาพช่วงโควิด
น่าจะคาดเดากันไม่ยาก ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินพอดียิ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ(ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโควิด 19 โดยตรง แต่หมายถึงเชื้อโรคทั่วไป) เพราะการดื่มเหล้าติดต่อกันบ่อย ๆ อาจทำลายระบบภูมิคุ้มกันเราให้อ่อนแรง เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปเร่งโปรตีนในภูมิคุ้มกันให้ทำงานผันผวนผิดระบบที่ร่างกายต้องการ
และแม้คนส่วนหนึ่งจะใช้เครื่องดื่มมึนเมาปลอบประโลมจิตใจยามวิกฤต คนอีกกลุ่มก็เปลี่ยนการกักตัวให้เป็นการเลิกเหล้าเสียเลย โดยเรียกการมุ่งมั่นไม่ดื่มเหล้าว่า “Dry Covid” คนกลุ่มนี้ใช้ประโยชน์จากการไม่ได้ออกจากบ้านเป็นการหยุดตัวเองไม่ให้ซื้อเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งจำนวนคนที่เปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มของตนเองระหว่างโควิด 19 ระบาดในประเทศอังกฤษก็มีมากถึง 1 ใน 3 ของคนที่ดื่มเหล้าอยู่แล้วเลยทีเดียว
สำหรับใครที่ตั้งใจเลิกเหล้าอยู่แล้ว ลองเปลี่ยนวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาสในการงดเหล้า ก็ฟังดูเข้าท่านะ!
“ภาวะขาดเหล้า” ที่เราควรทำความเข้าใจ
ในขณะที่หลายฝ่ายเห็นพ้องว่าของมึนเมาเป็นตัวการทำให้ โควิด19 ยิ่งระบาด จากมาตรการห้ามขายเหล้าเบียร์ทุกชนิด เริ่มประกาศจากในกทม.เมื่อกลางเดือนถึงปลายเดือนเมษาฯ ที่ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมืองให้เหตุผลว่าต้องการลดกิจกรรมรวมตัวสังสรรค์ที่อาจเกิดขึ้นช่วงวันสงกรานต์ จนอาจทำให้โควิด19 ระบาดรุนแรงอีก
แต่การหยุดจำหน่ายเหล้ากะทันหันก่อให้เกิดผลกระทบกับคนไทยหลายภาคส่วนอยู่เหมือนกัน ทั้งกับเจ้าของร้านสะดวกซื้อรายย่อยและเจ้าของผับบาร์ที่ขาดรายได้สำคัญ รวมถึงผู้ป่วยสุราเรื้อรัง ที่เมื่อขาดเหล้า จะมีอาการทางกาย เช่น มือสั่น เห็นภาพหลอน บางรายรุนแรงถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตด้วยซ้ำไป หากคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวมีอาการดังกล่าว อย่าลืมสังเกตอาการและพาไปพบแพทย์ด่วน
ปัญหานี้ภาครัฐเองก็ไม่ได้ปล่อยผ่าน โดย กทม. มีโครงการเปิดให้ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรังเข้ารับการรักษาฟรีได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกทม. และศูนย์บริการสาธารณสุขกทม.ด้วย นอกจากนี้สายด่วนปรึกษาปัญหาสุรายังออกมาเปิดเผยด้วยว่า ช่วงเวลาที่มีการแบนเครื่องดื่มมึนเมา จำนวนผู้ที่โทรเข้ามาขอคำแนะนำมีจำนวนมาก เกือบเท่าช่วงรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาที่ปกติกินเวลา 3 เดือนทีเดียว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมองในภาพรวม ปัญหาที่ตามมากับของมึนเมามีทั้งความรุนแรง ประเด็นเมาแล้วขับ หรือการตั้งวงมั่วสุมในช่วงเวลาที่ทุกคนยังจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เห็นได้จากสถิติการชุมนุมมั่วสุมในเคหสถาน ซึ่งได้แก่การดื่มสุราถึงร้อยละ 60 จากจำนวนผู้กระทำผิด 129 คน (สรุปยอดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2563) ดังนั้นเหล่านักดื่มควรหลีกเลี่ยงการตั้งวงใด ๆ ขอให้ดื่มห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ จากเพื่อนฝูงไปก่อน แล้วเราค่อยกลับมาเจอกันหลัง โควิด19 แล้วกัน
หากคุณ คนรู้จัก หรือคนที่คนรัก ต้องการคำปรึกษา ไม่ว่าจะเรื่องการเลิกเหล้า หรือเรื่องภาวะถอนแอลกอฮอล์ ติดต่อ 1413 สายด่วนเลิกเหล้าได้เลย
--
อ้างอิง
ความเห็น 97
Peng@Prim
รู้ว่าไม่ดีกินทำไม มีแต่พูดให้คนกิน ทำไมไม่พูดว่าไม่ดีต้องเลิกผลิต
21 พ.ค. 2563 เวลา 09.14 น.
Rachai12
เหล้ามีส่วนดีทำให้รู้ว่าร่างกายแข็งแรงหรือเปล่า คนไม่กินเหล้าส่วนใหญ่ร่างกายไม่รับมีโรคประจำตัว. พวกดื่มได้แสดงร่างกายยังแข็งแรงสามารถเข้าสังคมได้
11 พ.ค. 2563 เวลา 01.41 น.
God of war Lincoln
ไร้สาระมีแต่ไร้สาระ
10 พ.ค. 2563 เวลา 15.58 น.
Mr.Sert
เหล้าพองมึงหรือมีฟอง
10 พ.ค. 2563 เวลา 15.30 น.
God of war Lincoln
มึงข่าวนี้มา1อาทิตย์ทำเหมือนการล้างสมองของพวกคอมมิวนิสต์ใช่มั้ยLine today
10 พ.ค. 2563 เวลา 14.07 น.
ดูทั้งหมด