โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ใช้ชีวิตอย่างไร ให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์

เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 08.40 น.

ถาม…

สวัสดีครับพี่พศินผมอยากยึดสายอาชีพภาวนาผมควรพัฒนาตนเองอย่างไรครับแนะนำให้หน่อยครับ

ตอบ…

ใช้ชีวิตอย่างไร ให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

1. แยกหน้าที่ออกเป็นสองส่วน คือ หน้าที่ภายนอก กับหน้าที่ภายใน

1.1หน้าที่ภายนอกคือ การงาน ครอบครัว สังคม สิ่งที่เรารับผิดชอบ สถานภาพทางสังคมที่เรามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ตรงนี้ทำให้ดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถ

1.2 หน้าที่ภายใน ตรงนี้เป็นเรื่องการขัดเกลาจิตใจของเรา ให้สามารถเป็นอิสระจากทุกสิ่ง เป็นหนึ่งเดียวกับการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นทุกสิ่งทั้งปวง หน้าที่ตรงนี้ให้ทำด้วยวิธีการเมตตา บริจาคทาน ถือศีล ทำสมาธิ วิปัสสนา

2. ให้รู้ว่ามีหน้าที่สองส่วนแต่ถึงเวลาปฏิบัติให้จับมารวมกัน

2.1 จำไว้ว่า สิ่งใดก็ตามที่จะทำให้หน้าที่ภายในของเราเสียหาย เราจะไม่ทำ แม้จะเป็นประโยชน์ต่อหน้าที่ภายนอก แต่ถ้าภายในของเราเสีย เราจะไม่ทำ เช่นทำแล้วรวยแต่ผิดคุณธรรม เราจะไม่ทำ ทำแล้วรวย แต่จิตใจตกต่ำเกิดความโลภ เราจะไม่ทำ หน้าที่การงานใด ๆ ที่เราจะเลือกทำ จะต้องมีส่วนกระบวนการที่ส่งเสริมให้จิตใจของเราพัฒนาได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้ผนึกงานของเราให้กลายเป็นการทำบุญไปด้วยในตัว ตรงนี้ผู้ต้องการพัฒนาจิตอย่างถึงที่สุด ควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกงานของตนด้วย

2.2 เราต้องไม่หลงประเด็น ต้องรู้ชัดว่า เมื่อเราทำหน้าที่ภายในเต็มที่แล้ว หน้าที่ภายนอกก็จะดีไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะคนเราใช้จิตใจ ใช้ตัวเองไปทำทุกอย่าง ถ้าจิตใจของเราดี เบิกบาน มีความสุข มีปัญญา จะเอาไปทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น อย่าหลงประเด็นไปคิดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกันเด็ดขาด อย่าไปมีความคิดผิดๆ ว่าการพัฒนาจิตใจเป็นการเสียเวลาที่ทำให้ประสบความสำเร็จช้า เพราะมันไม่จริง เราเป็นผู้ปฏิบัติ เราต้องมั่นในในวิถีทางของเราว่า การพัฒนาจิตนี่เองเป็นการเพิ่มขุมพลังชีวิตที่ดีที่สุด เป็นทางตรง ที่ลัดสั้นที่สุดอันนำไปสู่ชีวิตที่ประเสริฐเลิศทั้งปวง

2.3 เราต้องเข้าใจว่า ผู้พัฒนาจิตไม่จำเป็นต้องจน ไม่จำเป็นต้องวิ่งหนีเงิน เราสามารถมีความร่ำรวยได้เป็นปกติ แต่เราจะต้องไม่ยึดติดเงินทอง อย่าปล่อยให้เงินทองวัตถุมามีอำนาจเหนือเรา เพราะถ้าแม้แต่เงินทองเรายังเอาชนะไม่ได้ ก็เป็นอันว่า กิเลสทั้งหลายก็ยังเหยียบหัวเราอยู่ร่ำไป เราต้องวางตัวเป็นนาย ไม่ใช่ทาส ปล่อยวางได้ทุกเมื่อ มีก็ใช้ ไม่มีก็อยู่ได้ มีปัญญาพอที่จะหามา มีปัญญาพอที่จะสละออกไปโดยไม่อาลัยอาวรณ์

2.4 การช่วยเหลือผู้อื่น คือหน้าที่ของเรา ถ้าเราคิดว่า เราต้องการพัฒนาจิตจนถึงที่สุด การเสียสละ มีน้ำใจ แบ่งปัน เป็นสิ่งที่เราต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เป็นนิสัย เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อจิตใจของเราในระดับที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป

3. คุณธรรมที่ต้องมี

3.1 ขอให้เราจัดการหน้าที่ภายนอกด้วยหลักอิทธิบาทสี่ รักในงาน ให้เวลา หาความรู้ และทบทวนประเมิณผล ขอให้ทำอย่างดีที่สุด แล้วปล่อยวางกับผลที่จะเกิด อย่าขับเคลื่อนการทำงานด้วยความโลภ ด้วยเงิน แต่จงขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งปัจจุบันขณะ เพราะพลังแห่งปัจจุบันขณะมีความแข็งแกร่งกว่าพลังแห่งความทะเยอทะยาน อีกทั้งไม่มีผลเสียตกค้างที่ก่อให้เกิดความผิดหวัง และความโลภ จงทำงานด้วยจิตว่าง แรกๆ จะทำเช่นนี้ไม่ได้ แต่ถ้าฝึกทำไปเรื่อยๆ ก็จะทำได้แน่นอน เมื่อทำได้แล้วการงานที่รับผิดชอบอยู่ จะถูกขับเคลื่อนด้วยศักยภาพสูงสุดที่คุณมี

3.2 ควบคุมคำพูดของคุณให้มาก โดยเฉพาะการวิพากวิจารณ์ เมื่อคุณคิดว่าต้องการพัฒนาจิตจนถึงที่สุด คุณต้องรู้ลิมิตของตนเองที่จะพูด พูดได้แค่ไหนที่ไม่ไปตีกิเลสของตัวเองให้ฟุ้งกระจาย คุณต้องรู้จักมีระยะห่าง อย่าไปเล่นกับอะไรที่มันจะเข้ามาทำให้จิตของคุณตกต่ำ เมื่อต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งใดๆ คุณควรเข้าไปได้ใกล้แค่ไหนกิเลสของคุณจึงไม่ตีตลบหลัง ความสมดุลตรงนี้คุณต้องรู้จักรักษาให้ดี อย่างที่บอกไว้แต่แรก อย่าทำหน้าที่ภายนอก จนหน้าที่ภายในเสียหาย ถ้าคุณเลือกแล้วที่จะพัฒนาจิตจนถึงที่สุด คุณก็ต้องเตือนตนไว้เสมอว่าเป้าหมายของชีวิตคุณคืออะไร แล้วอย่าเอาอะไรไปแลกเด็ดขาด

3.3 แสดงออกทางการกระทำด้วยศีล อะไรที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ตนเองเดือดร้อน อย่าไปทำเด็ดขาด เพราะมันจะทำให้ชีวิตของคุณร้อน ไม่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาจิต การพัฒนาจิตจะเกิดได้ดี ก็ต่อเมื่อชีวิตสงบเย็นตามสมควร

3.4 อัดฉีดความเมตตาเข้าไปในจิตใจของคุณ คุณธรรมเกี่ยวกับความเมตตานี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่คุณต้องฝังจิตใจของคุณลงไปในนั้นให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น คุณต้องไม่ลืมที่จะวางอุเบกขาเมื่อถึงเวลาที่ควรวาง จงเมตตา แต่อย่าได้ทุกข์ร้อนไปกับความเมตตาของตนเอง คุณต้องพยายามฝึกจิตใจของคุณให้ข้ามพรมแดนของความเป็นเรา เขา ครอบครัว คนรัก ต้องพยายามฝึกให้ใจของคุณเห็นผู้อื่นสำคัญพอๆ กับตนเอง

3.5 การภาวนา เมื่อคุณคิดจะพัฒนาจิตจนถึงที่สุดแล้ว การภาวนาของคุณจะแยกจากชีวิตประจำวันไม่ได้เด็ดขาด คุณต้องมีกรรมวิธีในการหาอุบาย อย่าให้การภาวนาของคุณแข็งทื่อเป็นท่อนไม้ คุณต้องรู้จักหนักเบาของตนเอง อะไรคือจุดดีจุดแข็ง จุดเปราะบางที่กิเลสมันจะแทรกตัวเข้ามาได้ง่าย คุณต้องเป็นนักบูรณาการสามารถผูกโยงทุกประสบการณ์ไว้กับหลักธรรมความจริง 

เมื่อเกิดอะไรขึ้น ขอให้นำมาพิจารณาเกี่ยวกับไตรลักษณ์ให้หมด ทั้งความรัก ความชอบ ดีใจ เสียใจ ความรู้สึกและสิ่งทั้งปวงทั้งรูปและนามทุกสิ่งจงน้อมกำหนดลงสูงไตรลักษณ์ให้สิ้นซาก จงมีกำลังใจอยู่เสมอ เรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกใบนี้แบบผู้อาศัย ทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ ว่าเราจะเข้าไปยึดไม่ได้ ทั้งทางสมอง สัญญาหมายจำ รวมไปถึงความเข้าใจระดับจิตอันเกิดจากการทำสมาธิ และวิปัสสนา

4. ปรับสมดุลชีวิต

4.1 เพื่อนฝูง คุณต้องรู้จักคบคน ต้องคบแต่คนดี ที่ไม่พาไปในทางเสื่อม หลีกเลี่ยงคนไม่ดี หลีกเลี่ยงสังคมไม่ดี เลือกคบแต่บุคคลที่จะพาคุณไปในทางสร้างสรรค์ คบแต่กัลยาณมิตร ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุณคิดจะพัฒนาจิตจนถึงที่สุด คุณจำเป็นต้องมีผู้รู้ที่จะแก้ไขปัญหาการปฏิบัติทางจิตในขั้นลึกให้คุณได้ ถึงจุดหนึ่งคุณไม่สามารถอาศัยตำราได้ตลอดไป 

เพราะสภาวธรรมบางอย่างนั้น อยู่เหนือขอบเขตของตำราไปมาก ขอให้คุณใช้ปัญญาตรึกตรองดูให้มาก ก่อนจะยกใครเป็นครูบาอาจารย์ และอย่าฝากความหวังไว้กับอาจารย์ของคุณจนเกินไป แต่ให้ยึดที่ตัวธรรมะเป็นหลักโดยใช้ครูบาอาจารย์เป็นทางผ่าน ให้หลักโยนิโสมนสิการให้มาก เพื่อที่คุณจะไม่เลือกคนผิด และพึ่งพาบุคคลให้น้อยที่สุด แต่พึ่งพาหลักธรรมให้มากที่สุด

4.2 การงานของคุณ คุณต้องเลือกในการงานที่ทำให้จิตของคุณไม่ฟุ้งกระจาย ไม่เลือกงานประเภทที่ไปปั่นให้ใจของคุณขึ้นๆ ลงๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่คุณต้องใช้ปัญญาของคุณเองในการพิจารณา เพราะแต่ละคนก็มีสัดส่วนของกิเลสในใจต่างกัน มีจริตต่างกัน แต่เมื่อคุณคิดจะเอาดีทางด้านนี้จนถึงที่สุด คุณก็ต้องยอมแลกกับความสบาย ความง่ายบางอย่างในช่วงแรกๆ แต่เมื่อคุณผ่านมันมาได้ ชีวิตของคุณจะอยู่ในจุดที่แปดเปื้อนไปด้วยกิเลสน้อยกว่าคนทั่วๆไป

5. ยอมรับความจริง เพื่อเตรียมตัวตั้งรับ

5.1 งานพัฒนาจิตนั้น เป็นงานที่ไม่ง่าย เพราะคุณกำลังสู้อยู่กับกิเลสซึ่งมันชนะคุณมาเนิ่นนาน ดังนั้นคุณต้องไม่ประมาท และต้องรู้จักหล่อเลี้ยงกำลังใจของคุณเอาไว้เสมอ อย่ายอมแพ้อะไรง่ายๆ คุณจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องและหาอุบายให้ตนเองสามารถทำมันได้อย่างมีความสุข อย่าตามใจตัวเองจนเกินไป เพราะการตามใจตัวเองของเราส่วนใหญ่เป็นไปด้วยอำนาจกิเลสแทบทั้งสิ้น

5.2 ทางเส้นนี้เป็นเรื่องของการทวนกระแสโลก คุณต้องยอมรับว่า มันไม่ง่ายที่จะให้คนรอบข้างของคุณเข้าใจว่าคุณกำลังทำอะไร มันไม่ง่ายที่คุณจะทนทานต่อกระแสสังคมที่พัดคุณเข้าไปสู่วังวน คุณต้องต่อสู้กับตัวเองภายใน ต่อสู้กับความอยากของตน ต่อสู้กับโฆษณาชวนเชื่อที่ประโคมใส่หูของคุณทุกวัน ต่อสู้กับเสียงของพี่น้องเพื่อนพ้องร่วมโลก ที่จะมากระซิบข้างๆ หูของคุณบ่อยๆ ว่า "นั่นเธอทำอะไร มันผิดทางแล้ว มาตามฉันทางนี้ดีกว่า เธออย่าทำแบบนั้นเลย มันเป็นไปไม่ได้ มันเกินไป มาทางนี้เถอะนะ ใครๆเขาก็มาทางนี้กันทั้งนั้น"

ตลอดชีวิตของคุณ จะมีเสียงเหล่านี้มากระซิบข้างหูของคุณเป็นระยะๆ คุณต้องตั้งมั่นในเป้าหมาย อย่าได้หวั่นไหวเด็ดขาด

6. จงรู้ตัวว่าคุณคือผู้โชคดี เป็นความจริงอย่างถึงที่สุดที่ว่า ในโลกนี้มีคนคิดแบบคุณน้อยมาก และคุณตัดสินใจถูกแล้วที่ต้องการเดินในเส้นทางนี้ ถ้าทำได้และมีความเพียรพยายามพอ คุณจะรอดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องมาทุกข์ทนอยู่ในสังสารวัฏซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาและความทุกข์ทั้งปวง อันจะเป็นการตอกย้ำว่าคุณคือยอดคนผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถึงจิตถึงใจ เป็นศิษย์ที่ดีที่สุดของพระตถาคตอย่างเต็มภาคภูมิ

7. ขออนุโมทนากับความคิดที่ถูกต้องตรงธรรมในครั้งนี้ และขอให้คุณมีปัญญาสามารถฟันฝ่าทุกอุปสรรค์ไปได้อย่างดีที่สุด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 19

  • pop
    กาม คือต้นเหตุของความทุกข์ทั้งปวง
    12 พ.ย. 2562 เวลา 13.21 น.
  • BUB
    ขอกราบขอบพระคุณในธรรมะและการชี้แนะแนวทางนี้สำหรับการที่ต้องอยู่และดำรงหาเลี้ยงชีพในสังคมปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันที่ต้องการจะพยายามจะพ้นจากทุกข์ วิธีและแนวทางนี้สามารถทำได้จริง ส่งผลจริงค่ะ
    12 พ.ย. 2562 เวลา 12.17 น.
  • ชยุต 519
    สาธุ ขอบพระคุณสำหรับบทความดีๆครับ
    12 พ.ย. 2562 เวลา 11.30 น.
  • Yongyuth
    อยากจะไปนิพพาน จำเป็นต้องละกิเลสกาม เพราะโลกนี้เป็นโลก, ของกามารมณ์ ถ้ายังมีความอยาก ความต้องการ ทางเพศ ก็ต้องบอก ให้ทราบไว้ก่อนว่า มันไม่ใช่ทาง เดิน สู่พระนิพพาน เพราะกามราคะและปฏิฆะ จะหมดสิ้นไป ในชั้นอนาคามี หรือผู้ที่ จะอยู่เป็นสุขได้ด้วยอารมณ์ของฌานสมาบัติมีจิต เป็นอุเบกขา ที่ปล่อยวาง ทั้งความอยาก และความ ไม่อยาก
    12 พ.ย. 2562 เวลา 14.57 น.
  • ผมคิดว่าในการที่รู้ถึงในหลักของการดำเนินชีวิตอย่างดีแล้ว ก็ย่อมสามารถที่จะทำให้รู้ถึงในการที่จะเริ่มต้นทำต่อในสิ่งที่ถูกต้องและสำคัญให้กับชีวิตได้เป็นอย่างดีเหมือนกันนะครับ.
    12 พ.ย. 2562 เวลา 11.53 น.
ดูทั้งหมด