ใครเคยเป็นฝีบ้าง?
คงพอนึกออกว่าเป็นต่อมนูนๆ บวมๆ มีหนองอยู่ข้างใน มีสารพัดขนาดทั้งเล็กทั้งใหญ่ เกิดได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
คำอธิบายใน “อักขราภิธานศรับท์” สมัยรัชกาลที่ 5 ช่วยให้มองเห็นภาพชัดเจน
“ฝี, คือโรคมีศิศะ, โรคฝีนั้นมันตั้งหัวขึ้นหัวเดียวบ้างหลายหัวบ้าง, แรกตั้งขึ้นยังไม่มีหนองต่อมันแก่เข้าจึงมีน้ำหนองนั้น” (ศิศะ = ศีรษะ)
ถ้าต้องการสาเหตุที่เจาะจง ศาสตราจารย์นายแพทย์นิวัฒน์ จันทรกุล ให้รายละเอียดไว้ชัดเจนใน “สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 20 ว่า
“ฝี เป็นการอักเสบเนื่องจากโรคติดเชื้อแล้วทำให้เกิดหนองซึ่งเกิดจากการสลายของเนื้อเยื่อและตัวเชื้อโรคซึ่งเป็นสาเหตุอยู่ในโพรงหนองซึ่งล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อที่ดี เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ อาจเป็นตัวปรสิต เชื้อรา บัคเตรี หรือไวรัสก็ได้ เชื้อโรคเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนล้วนทำให้เกิดเป็นฝีขึ้นได้ทั้งนั้น”
ตัวกระตุ้นให้เกิดฝีก็มี ดังข้อความตอนหนึ่งใน “ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔” – ‘๒๗๙ ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา’
“คนมีแผลคันถ้าจะห้ามไม่ให้เกายังมีที่ว่าควรจะห้ามอยู่ เพราะว่าเกาเข้าหนังถลอกหรือที่คันนั้นจะเป็นเม็ดยอดสำคัญก็ให้โทษมาก” (เม็ดยอด = เม็ดฝี หัวฝี)
วรรณคดีมักเปรียบจิตใจที่ปวดร้าวเคียดแค้นกับความทุกข์ทรมานจากการเป็นฝี บทละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” เล่าถึงท้าวสิงหลโกรธแค้นพระไชยเชษฐ์ ลูกเขยหูเบาหลงเชื่อนางสนมว่า นางสุวิญชาคลอดลูกเป็นท่อนไม้และขับไล่นางออกจากเมืองไป ภายหลังเมื่อรู้ความจริง พระไชยเชษฐ์จึงตามไปขอคืนดี ท้าวสิงหลกล่าวแก่นางสุวิญชา พระธิดาบุญธรรมว่า
“พ่อขัดใจไชยเชษฐ์มันดูแคลน เจ็บแค้นดังหัวอกเป็นฝี
หากสงสารหลานน้อยคนนี้ ดับโมโหเสียทีเอาบุญไว้”
ความรู้สึกเจ็บแค้นแสนสาหัสเกิดได้ทั่วถึงทั้งชายหญิง ในนิทานกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” หลังจากสุดสาครพลอยหลงเสน่ห์สาวลังกาตามพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ และสินสมุทร ความผิดหวังคั่งแค้นโถมทับจิตใจนางสุวรรณมาลีจนหมดสภาพ หมดหวังที่จะให้สุดสาครช่วยแก้ไขสถานการณ์
“ส่วนสุวรรณมาลีศรีสมร สุดสาครคลาดคล้อยหลงคอยหา
แต่ราตรีมิได้วายฟายน้ำตา อยู่พลับพลาริมทุ่งจนรุ่งเช้า
นั่งชะแง้แลตะลึงรำพึงคิด หรือไปติดปมเชือกตามเทือกเขา
หรือพระจะแกล้งพรากไปจากเรา ยิ่งคิดเศร้าเสียใจอาลัยแล
ไม่แต่งองค์สรงเสวยให้เลยอิ่ม ความแค้นปิ้มเป็นฝีเขาตีแผล
แต่กลืนน้ำช้ำพระศอให้ท้อแท้ เหมือนอยู่แต่กายสิ้นซึ่งวิญญาณ์ฯ”
ไม่ต่างจากตอนที่ลูกสาวทั้งสองของพระอภัยมณีและนางสุวรรณมาลีไม่ยอมใจอ่อนเป็นของหัสไชยก่อนพิธีวิวาห์ ความรู้สึกของฝ่ายชายยามนั้นเป็นดังนี้
” พระหัสไชยใจเหมือนฝีที่ระบม เข้าเกลียวกลมกลัดหนองจะพองพัง”
ที่กวีนำอาการเจ็บปวดทรมานจากการเป็นฝีมาเปรียบเทียบกับความทุกข์ระทมใจเพื่อบอกถึงปริมาณและระยะเวลาของการเจ็บปวดนั้นไปพร้อมๆ กัน เจ็บฝีมิใช่เจ็บนิดหน่อยแค่ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ทั้งปวดทั้งทรมานยาวนานไม่รู้หาย จะหายขาดได้ก็ต่อเมื่อขจัดสาเหตุให้สิ้น ดังตอนที่ขุนนางยักษ์เล่านิทานเปรียบเทียบถวายพระเอกของเรื่องในนิทานคำกลอนเรื่อง “โคบุตร” ว่า
“แต่ปางหลังยังมีกรุงกระษัตริย์ ผ่านสมบัติสาวัตถีบูรีสถาน
ประชวรพระยอดในกายแทบวายปราณ พิษฝีซ่านทั่วตนสกนธ์กาย
แพทย์ประสิทธิ์คิดประกอบโอสถแก้ ที่เจ็บแผลมิอาจจะขาดหาย
ยังรุมรึงตรึงฤทัยไม่สบาย พอพบชายหมอฝีอันปรีชา
เอาคมมีดกรีดเจาะฉะเพาะหวะ ถอนศีรษะฝีออกนอกมังสา
ก็เหือดหายคลายโรคกระษัตรา ขอผ่านฟ้าจงรั้งยั้งพระทัย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
ราชาศัพท์เรียก ‘ฝี’ ว่า ‘พระยอด’ เป็นฝี คือ ประชวรพระยอด ศีรษะฝี คือ หัวฝี นั่นเอง
“สารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 20 อธิบายถึงอาการทุกระยะของฝีว่า
“เมื่อเกิดเป็นฝีขึ้น เห็นได้เด่นชัดในรายที่เป็นฝีที่ผิวหนังทั่วไป มีอาการปวด บวม แดง ร้อน สูญเสียหน้าที่ ระยะเริ่มแรก บริเวณที่เป็นฝีจะบวมขึ้นมาและมีสีแดง คลำดูรู้สึกร้อน พร้อมๆ กับมีอาการปวด ทำให้ร่างกายไม่สามารถทำหน้าที่ส่วนนั้นได้
ขณะเดียวกันผู้ที่เป็นฝีจะรู้สึกเป็นไข้ อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ 2-3 วัน แล้วทวีความรุนแรงขึ้น บริเวณฝีจะบวมแดงมากขึ้น นูนขึ้นมาจากผิวหนัง ทำให้ผิวหนังที่นูนนั้นบวมเป่งเป็นมัน อาการปวดรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นปวดตุบๆ ตลอดเวลา ลักษณะของฝีตอนนี้คลำดูตรงกลางของฝีจะหยุ่นนุ่ม เหมือนมีของเหลวอยู่ภายใน ตรงขอบๆ รอบๆ จะมีสีแดงคล้ำและแข็งเป็นดาน ผิวหนังที่คลุมบางมากขึ้น จนที่สุดแตกออกเป็นแผลหนองสีเหลืองหรือสีเขียวปน เลือดจะทะลักออกมา เมื่อฝีแตกหนองไหลออกมา อาการต่างๆ จะค่อยๆ ทุเลาลง แผลฝีเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย อาการรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและอวัยวะนั้น”
ถ้าอาการรุนแรงมากอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต ดังที่ “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔” บันทึกว่า
“สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ทรงพระประชวรเป็นพระยอดภายในที่ศูนย์พระนาภี แพทย์หมอไม่รู้ถึงพระโรค เข้าใจว่าเป็นโรคครรภรักษา ก็รักษาไป
ครั้นพระครรภได้ ๗ เดือน ณ เดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ ก็ประสูติพระราชกุมาร ออกมาอยู่ได้วัน ๑ ก็ดับศูนย์ ฝ่ายสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีนั้น พระยอดเป็นพระบุพโพแก่ก็แตกออกมาที่ศูนย์พระนาภีบ้างตกข้างในบ้าง ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ก็สิ้นพระชนม์”
ฝีน่ากลัวกว่าที่คิด •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
ความเห็น 0