โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Bisexual Lighting ทำไมต้องม่วง น้ำเงิน ชมพู? กับความหมายที่สื่อถึงสุนทรียะใหม่ของชาวเควียร์

นิตยสารคิด

อัพเดต 14 มิ.ย. 2567 เวลา 03.13 น. • เผยแพร่ 14 มิ.ย. 2567 เวลา 03.13 น.
bisexual-lighting-cover
bisexual-lighting-cover

Atomic Blonde คือภาพยนตร์แนวสายลับยุคสงครามเย็นที่ออกฉายเมื่อปี 2017 โดยมีชาร์ลีซ เธรอน (Charlize Theron) รับบทเป็น ลอเรน โบรห์ตัน (Lorraine Broughton) หน่วยสืบราชการลับของสหราชอาณาจักรหรือ MI6 ที่ต้องไปตามสืบสวนคดีฆาตรกรรมของเพื่อนร่วมหน่วยและตามล่าหารายชื่อสายลับที่หายไปที่กรุงเบอร์ลินในช่วงสงครามเย็น

ในช่วงต้นของภาพยนตร์ ผู้ชมจะเห็นเธอร่ำไห้กับการสูญเสียสามี แต่ต่อมาเธอก็ได้ไปมีสัมพันธ์กับสายลับจากฝรั่งเศส ซึ่งรับบทโดย โซเฟีย โบเทลล่า (Sofia Boutella) ซึ่งแน่นอนว่า สีที่ถูกออกแบบมาในฉากนี้ก็คือ “สีม่วง สีชมพู และสีน้ำเงิน”

สามสีนี้ถูกใช้ประกอบฉากทั้งในภาพยนตร์และในสื่อต่าง ๆ มากมายมากว่า 10 ปีแล้ว จนผู้คนจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตและได้ขนานนามการจัดแสงลักษณะนี้ว่า “Bisexual Lighting”

เนื่องในโอกาสเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ “คิด” จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาค้นหาและสำรวจแนวโน้มของการจัดแสงในลักษณะนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการยอมรับในชุมชนชาวเควียร์กับที่ทางในภูมิทัศน์สื่อในสมัยปัจจุบัน

Benjamin Farren / Pexels

จุดเริ่มต้นของ Bisexual Lighting
เป็นการยากที่จะสามารถระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนว่า คำศัพท์นี้เริ่มใช้กันตั้งแต่เมื่อไร จอร์จ เพียร์พอยต์ (George Pierpoint) นักข่าวจากบีบีซีได้ตั้งข้อสังเกตถึงจุดเริ่มต้นของคำศัพท์คำนี้ว่า เกิดขึ้นในช่วงปี 2014 จากการพูดถึงในบล็อกหนึ่งในเว็บไซต์ Tumblr โดยในบทความนั้นได้ระบุถึงฉาก ๆ หนึ่งของซีรีส์เรื่อง Sherlock

ฉากที่ถูกกล่าวถึงเป็นฉากที่เชอร์ล็อก โฮล์ม (Sherlock Holmes) รับบทโดย เบเนดิกต์ คัมเบอร์เบทช์ (Benedict Cumberbatch) และ ดร. จอห์น เอช. วัตสัน (John H. Watson) รับบทโดย มาร์ติน ฟรีแมน (Martin Freeman) กำลังอยู่ในคลับที่ถูกจัดแสงด้วยโทนสีชมพูและน้ำเงิน โดยเจ้าของบล็อกได้วิเคราะห์ว่า การจัดแสงในลักษณะนี้ช่วยขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ในตัวของวัตสันที่มีต่อเชอร์ล็อก

ทำไมถึงเป็นสามสีนี้?

มีผู้วิเคราะห์หลายคนที่ออกมาเสนอแนวคิดว่า เพราะสามสีนี้ตรงกันกับสีของธงชาติสำหรับชาวไบเซ็กชวล ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1998 โดย ไมเคิล เพจ (Michael Page) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวไบเซ็กชวล โดยธงผืนนี้ประกอบไปด้วยสีแดงอมม่วงอยู่แถบด้านบน ซึ่งสื่อถึงเพศหญิงและสีน้ำเงินซึ่งสื่อถึงเพศชายอยู่แถบด้านล่าง พร้อมแถบสีลาเวนเดอร์แทรกอยู่ตรงกลาง เพื่อสื่อถึงบุคคลที่สนใจในทั้งสองเพศ

Wikimedia Commons

เมื่อหน้าจอถูกฉาบด้วยแสงสีชมพู/ม่วง/น้ำเงิน
การจัดแสงด้วยโทนสีเหล่านี้ในปัจจุบันจึงกลายเป็นเสมือนการสื่อสารทางอ้อมที่แม้จะไม่ใช่คำพูด แต่ผู้ชมก็รู้สึกได้ถึงการสาดกระทบของแสงเหล่านั้นที่แผ่ไปทั่วผืนจอ

ดังเช่นกรณีซีรีส์ที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับการจัดแสงในลักษณะนี้ นั่นคือซีรีส์ชุด Black Mirror ในตอนที่ชื่อว่า San Junipero เทคนิคการใช้แสงนี้มีเพื่อสื่อถึงตัวละครรักสองเพศ เพื่อขับเน้นเนื้อเรื่องให้ชวนติดตามความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นระหว่างตัวละครหญิงสองคน

หรือตัวอย่างที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเกิดขึ้นในซีรีส์ Heartstopper ซีซั่น 1 ที่มีการใช้ Bisexual Lighting ที่น่าสนใจ ฉากนั้นเล่าเรื่องราวของนิก เนลสัน (Nick Nelson) รับบทโดย คิต คอนเนอร์ (Kit Connor) ที่กำลังมองดูทารา (Tara) รับบทโดย คอรินนา บราวน์ (Corinna Brown) แฟนสาวของเขา ซึ่งกำลังจูบกับดาร์ซี (Darcy) รับบทโดย คิซซี่ เอ็ดจ์เจลล์ (Kizzy Edgell) ที่งานปาร์ตี้ แสงไฟโทนสีฟ้า ม่วง และชมพู ส่องกระทบไปที่ร่างกายของนิก ซึ่งสื่อถึงช่วงเวลาที่เขามีความเข้าใจเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของตัวเองมากขึ้น ประกอบกับเพลง "Clearest Blue" โดยวง CHVRCHES (ดนตรีคืออีกหนึ่งองค์ประกอบที่มักใช้ร่วมกับเทคนิค Bisexual Lighting) บรรเลงขึ้น หลังจากนั้น นิกก็รีบวิ่งออกไปหา ชาร์ลี (Charlie) ซึ่งรับบทโดย โจ ล็อก (Joe Locke)

“ผมจำได้ว่า ผมได้บอกไดอาน่า โอลิฟิโรวา (Diana Olifirova) สุดยอดตากล้องของพวกเราว่า ‘ถ้าคุณสามารถเนรมิตสีสันจากธงของชาวไบเซ็กชวลให้อาบไล้ไปทั่วตัวละครนิกได้ มันคงจะเป็นสิ่งที่สุดยอดมากเลยล่ะ” แพทริก วอลเตอร์ส (Patrick Walters) ผู้ควบคุมดูแลการสร้างซีรีส์เรื่องนี้กล่าวในงาน Tudum ของ Netflix

ดนตรีมักมาคู่กับการจัดแสงในลักษณะนี้ ดังในสื่ออย่างมิวสิกวิดีโอ จาเนล โมเน่ (Janelle Monáe) ได้ออกมิวสิกวิดีโอเพลง “Make Me Feel” ซึ่งภายหลังได้ถูกพูดถึงในฐานะหนึ่งในมิวสิกวิดีโอที่หยิบการจัดแสงแบบ Bisexual Lighting มาใช้อย่างจริงจัง

ในช่วงไคลแม็กซ์ของมิวสิกวิดีโอนี้ ผู้ชมจะเห็นโมเน่ (Monáe) เดินสับเท้าไปมาระหว่าง เทสซ่า ทอมป์สัน (Tessa Thompson) กับผู้ชายอีกคนที่ใส่แจ็กเก็ตหนัง ดูเหมือนกับเธอตื่นกลัวที่จะต้องเลือกคนใดคนหนึ่ง พร้อมพื้นหลังที่ถูกแต่งแต้มไปด้วยแสงสีน้ำเงิน ชมพู และม่วง

สองด้านของ Bisexual Lighting
ซาช่า เกฟเฟ่น (Sasha Geffen) นักวิจารณ์วัฒนธรรมเพลงป็อป ผู้แต่งหนังสือ Glitter Up the Dark: How Pop Music Broke the Binary ได้เขียนบทความชื่อ “Janelle Monáe Steps Into Her Bisexual Lighting” ถึงปรากฏการณ์ของมิวสิกวิดีโอ “Make Me Feel” ลงในเว็บไซต์ Vulture.com ว่า “การได้เห็นสีสันของธงชาติกลุ่มไบเซ็กชวล ปรากฏบนใบหน้าของดาราภาพยนตร์ สามารถตีความได้ว่าเป็นการแสดงการยอมรับกลุ่มไบเซ็กชวลในวงกว้าง ไม่ใช่เป็นแค่หมวดหมู่ย่อยที่ไม่สำคัญภายในตัวย่อ LGBTQ+ ที่คลุมเครืออยู่เสมอ ไม่ใช่เป็นการผ่อนคลายความเป็นชาย/หญิงลงเพียงเล็กน้อย แต่เป็นการยอมรับว่า การเป็นไบเซ็กชวลนั้นเป็นสุนทรียภาพที่ทรงคุณค่าในตัวมันเอง”

เกฟเฟ่นยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการมีอยู่ของผลงานชิ้นนี้ว่า “‘Make Me Feel’ นั้นเต็มไปด้วย Bisexual Lighting ซึ่งแม้ว่าการเลือกใช้ดีไซน์นี้อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ก็อาจสื่อถึงการที่ โมเน่ได้มีการติดตามวัฒนธรรมเควียร์บนอินเทอร์เน็ตอย่างใกล้ชิด ที่ซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่ให้ชาวเควียร์ได้เรียนรู้ที่จะรักตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในชีวิตของพวกเขา”

เกฟเฟ่นทิ้งท้ายบทความไว้ว่า “มิวสิกวิดีโอใหม่ของโมเน่ชิ้นนี้ นำเสนอสิ่งที่ค่อนข้างแปลกใหม่เข้ามาในพื้นที่สื่อ กล่าวคือ คุณไม่จำเป็นต้องตีความมันผ่านเลนส์ของผู้กำกับชาย ความเป็นเควียร์ของมันนั้นชัดเจน มันคือความปลื้มปีติ และการกำกับด้วยตัวเธอเองนั้น มันเป็นการพิสูจน์ว่าศิลปินหญิงกลุ่มเควียร์ก็สามารถสร้างโลกอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเธอเองได้อย่างยอดเยี่ยม โลกที่ส่องสว่างด้วยเฉดสีชมพูและน้ำเงินอันร้อนแรง”

ทว่า เหรียญย่อมมีสองด้าน ในขณะที่ผู้คนชื่นชมในการสร้างพื้นที่ใหม่และสุนทรียศาสตร์แบบใหม่กับกลุ่มเควียร์ แต่สำหรับ เอมิเลีย เพอร์ริน (Amelia Perrin) นักเขียนจากนิตยสาร Cosmopolitan ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้การจัดแสงในลักษณะนี้จะสื่อสารถึงกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกแง่หนึ่ง การนำเสนอเหล่านั้นมักจะยังตัดขาดจากภาพความเป็นจริง นั่นคือการนำเสนอเป็นห้วงเวลาของความเพ้อฝัน

“ความสัมพันธ์แบบรักสองเพศ ควรได้รับพื้นที่และเวลาบนหน้าจอเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นความจริงแท้ ไม่เสแสร้ง และรวมไปถึงด้านที่ไม่สวยงามเหมือนอย่างที่ความสัมพันธ์แบบชายหญิงได้รับการนำเสนอ การเปรียบเทียบรสนิยมทางเพศที่อยู่ภายใต้การนำเสนอที่น้อยอยู่แล้วนั้น กับสุนทรียภาพแบบแสงสีนี้ จึงเป็นการมองที่แคบเกินไป และจะยิ่งลดทอนความน่าเชื่อถือของความสัมพันธ์แบบรักสองเพศอีกด้วย”

เพอร์รินกล่าวต่อ “แม้ว่า Bisexual Lighting อาจเป็นการพัฒนาที่ดีในแง่ของการมองเห็นกลุ่มรักสองเพศบนหน้าจอ แต่ก็ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องมีตัวเลือกในการปล่อยให้ความสัมพันธ์แบบรักสองเพศแบ่งบานอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพาแนวคิด ตัวชี้วัด หรือ ภาพลักษณ์ตายตัวที่อาจส่งผลเสีย ดังนั้นการลดทอนความเป็นรักสองเพศให้กลายเป็นแค่สุนทรียภาพนั้น ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์แบบเก่าที่ล้าสมัย ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างแน่นอนในอนาคต”

Michał Turkiewicz / Unsplash

ที่มา : บทความ “Janelle Monáe Steps Into Her Bisexual Lighting” โดย Sasha Geffen
บทความ “Is 'bisexual lighting' a new cinematic phenomenon?” โดย George Pierpoint
บทความ “"Sure, bisexual lighting looks cool - but it can be problematic"” โดย Amelia Perrin
บทความ “What is bisexual lighting? The history behind the cinematic phenomenon” โดย Eleanor Noyce
บทความ “The bisexual movie canon reaches beyond the obvious” โดย Lillian Hochwender

เรื่อง : คณิศร สันติไชยกุล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 1

  • piyapong
    เควียร์?
    16 มิ.ย. 2567 เวลา 04.11 น.
ดูทั้งหมด