เข้าใจสุดๆ แหละว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน ฉันรักเธอ เธอรักฉัน เรารักกัน แค่นี้ก็น่าจะพอแล้ว แต่ถ้าหยิกแขนตัวเองแล้วมองกลับมาที่โลกของความจริง การที่คนสองคนจะตกลงใช้ชีวิตร่วมกันได้ มันคือการทำข้อตกลงกันระหว่างครอบครัวสองครอบครัว คือการยินยอมของคนทั้งสองคนและผู้ใหญ่อีกสองคู่ และตามธรรมเนียมปฏิบัติทีถือมาช้านาน หนึ่งในข้อตกลงที่ต้องหาจุดกึ่งกลางกันให้ได้ระหว่างสองฝ่ายก็คือเรื่องสินสอด
มาถึงคำถามที่ว่า “สินสอดคืออะไร?” พวกเรารู้กันโดยอัตโนมัติจากการไปร่วมงานแต่งงานหลายครั้งหลายคราแล้วแหละว่าสินสอดคือเงินหรือทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ ที่ฝ่ายชายให้กับพ่อแม่ฝ่ายหญิง เสมือนเป็นค่าน้ำนมที่ดูแลว่าที่ภรรยาของเขามาอย่างดี ถ้าเทียบเรื่องนี้ในบริบทของวัฒนธรรมตะวันตก ฝรั่งร้อยทั้งร้อยจะเห็นว่าการให้สินสอดคือเรื่องแปลก เพราะในระเบียบการปฏิบัติของบ้านเขา มีแค่แหวนหมั้นเท่านั้นที่เป็นของกำนัลจากฝ่ายชาย และการเรียกสินสอดก็ถูกตีความไปในเชิงที่ว่าเป็นการตีราคาของลูกสาวตัวเองเพื่อขายให้กับว่าที่สามีของเธอ
แต่จริงๆ แล้ว ถ้าย้อนกลับไปอ่านประวัติความเป็นมาของการมีสินสอดในธรรมเนียมการแต่งงานแบบไทย จุดประสงค์ก็คือการป้องกันไม่ให้ผู้หญิงกลายเป็นหม้ายขันหมากจากการถูกคลุมถุงชน สินสอดเลยกลายเป็นเหมือนตัวค้ำประกันว่าฝ่ายชายจะแต่งแล้วไม่ชิ่งไปไหนนะ และในสมัยก่อนที่ผู้ชายถูกวางตำแหน่งให้เป็น “ช้างเท้าหน้า” สินสอดก็เป็นเหมือนตัวป่าวประกาศว่าเขาคนนั้นมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและสามารถดูแลภรรยาของตัวเองได้แบบไม่ต้องกัดก้อนเกลือกิน ไม่ผิดที่ความคาดหวังของพ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะถูกตั้งเอาไว้ค่อนข้างสูง เพราะนั่นหมายถึงชีวิตหลังแต่งงานที่ลูกสาวของตัวเองจะต้องเผชิญ
สินสอดในอีกมุมหนึ่งคือเงินชดเชยค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่ทั้งคู่ควรจะได้รับจากลูกสาวทุกเดือน ซึ่งเป็นปกติเวลาที่แต่งออกไปแล้ว บางคนก็ต้องช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัวของตัวเอง บวกกับค่าเลี้ยงดูลูกอีก เงินก้อนนี้ก็อาจจะถูกเว้นว่างบางเดือนไปบ้าง สินสอดก็เปรียบเสมือนเงินก้อนที่ให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเอาไว้หยิบใช้เวลาจำเป็น โดยเฉพาะคู่ตายายที่เกษียณและไม่มีรายได้แล้ว
ทีนี้มาถึงคำถามที่ว่าในเมื่อมันอยู่ในระเบียบปฏิบัติของการที่คนสองคนจะได้ใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยากันอย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรม สินสอดเท่าไหร่ถึงจะเป็นที่น่าพอใจของผู้ใหญ่? อันนี้อยู่ที่ฐานะและระดับในสังคมของคู่รักว่าควรจะมากหรือน้อย อยู่ที่การเจรจาตกลงกันของแต่ละบ้านว่าทางพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะให้ไฟเขียวที่จำนวนทรัพย์สินเท่าไหร่ และถ้าจริงจังขึ้นมาอีกหนึ่งระดับ ก็มีสูตรคำนวณสินสอดตามหลักเศรษฐศาสตร์เป็นตัวช่วย
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ผู้หญิงสามารถรับผิดชอบด้านการเงินได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ความหมายของการให้สินสอดก็เปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของธรรมเนียมการแต่งงานโดยทั่วๆ ไป แต่เป็นในเชิงของการทำตามขนบเท่านั้น พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวบางคนแค่รับไว้เป็นพิธี จบงานก็คืนให้ลูกๆ เอาไว้ใช้ตั้งตัว บางคนก็ปฏิเสธไม่รับตั้งแต่แรก หรือแม้แต่เรื่องการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ก็มีการแชร์กันระหว่างฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเพื่อไม่ให้ภาระตกอยู่กับฝ่ายชายเพียงฝ่ายเดียว
สรุปสั้นๆ ได้ว่า ท้ายที่สุดแล้วสินสอดก็เป็นเรื่องของความพอใจและการตกลงใจกันของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย แต่การเห็นแก่ความรักของคนทั้งสองและการให้เกียรติการตัดสินใจของคู่บ่าวสาวน่าจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่ถูกคำนึงถึงมากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้ว ชีวิตหลังแต่งงานก็เป็นของคนสองคน ว่าไหมล่ะ?
ความเห็น 44
ฟ้าลิขิต
บ่มีค่าสินสอด
02 เม.ย. 2561 เวลา 17.19 น.
DANAI
ก็ต้องไปถามแม่เธอดูนะ ว่าเท่าไรถึงจะพอ
30 ม.ค. 2561 เวลา 12.18 น.
YA ท่าน้ำนนท์
เหนเขาว่า 30 ล้านนะ ถึงจะพอ
27 ม.ค. 2561 เวลา 05.47 น.
ความสุขของลูกๆเป้นรองเรื่องอายชาวบ้าน...
24 ม.ค. 2561 เวลา 12.28 น.
อนุสรณ์ เภาวิเศษ
แต่ยุคนี้ไม่เป็นอย่างนั้นนะ พอแต่งกันก็เลิกเพื่อเอาสินสอด
24 ม.ค. 2561 เวลา 09.21 น.
ดูทั้งหมด