เราต้องใช้สุขภาพเราไปแลกกับฝุ่นยังไงบ้าง โรคอะไรบ้างที่เราต้องเผชิญแบบเงียบๆ และมันจะส่งผลระยะยาวกับเรายังไงหากเราไม่คิดหาทางป้องกัน
เริ่มอธิบายอย่างนี้ก่อนครับ ฝุ่นละอองถือเป็นมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาหลักของกรุงเทพและเมืองหลวงขนาดใหญ่ๆ ฝุ่นละอองเกิดขึ้นได้ 2 ประเภท
- เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ดิน ทราย หิน ละอองไอน้ำ เขม่าควันไฟ ฯลฯ
- เกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การจราจร การก่อสร้าง อุตสาหกรรม การทำอาหาร การทาสี ฯลฯ
(ท่านสามารถตรวจสอบได้ที่นี่: รายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย)
กรมควบคุมมลพิษระบุว่า การรายงานเรื่องดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) เป็นรายงานที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าคุณภาพอากาศนั้นดีหรือแย่ โดยแบ่งสารมลพิษทางอากาศหลัก 6 ชนิด ประกอบด้วย
(1) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
มีลักษณะ เป็นก๊าซไม่มีสี สีเหลืองอ่อนๆ มีรส กลิ่น ระดับเข้มข้นสูง
เกิดจาก ธรรมชาติที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน
ส่งผลให้ ระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ ระยะยาวอาจเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้
(2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
มีลักษณะเป็นก๊าซที่ไม่มีสีและกลิ่น
เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมบางชนิด
ส่งผลให้มีผลต่อระบบการมองเห็น ผู้มีอาการหอบหืด หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
(3) ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO)
มีลักษณะเป็นก๊าซไม่มีสี กลิ่น และรส
เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ
ส่งผลให้ไปสะสมในร่างกายด้วยการไปรวมตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจน 200-250 เท่า ทำให้การลำเลียงอออกซิเจนไปสู่เซลส์ต่างๆในร่างกายน้อยลง ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย หัวใจทำงานหนักขึ้น
(4) ก๊าซโอโซน (03)
มีลักษณะเป็นก๊าซที่ไม่มีสีหรือมีสีฟ้าอ่อน มีกลิ่นฉุน ละลายน้ำได้เล็กน้อย
เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนและสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย มีแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
ส่งผลให้ระคายเคืองตาและระคายเคืองตา ระบบทางเดินหายใจและเยื่อบุต่างๆ ความสามารถในการทำงานของปอดลดลง เหนื่อยเร็ว อาจะเป็นโรคปอดเรื้อรัง
(5) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10)
มีลักษณะเป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน
เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาในที่โล่ง กระบวนการอุตสาหกรรม การบด การโม่ การก่อสร้าง
ส่งผลให้เมื่อหายใจเข้าไปทำให้สะสมในระบบทางเดินหายใจ
(6) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)
มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง
เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม
ส่งผลให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดต่างๆ สะสมนานๆ ทำให้ปอดเสื่อมประสิทธิภาพ หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด
ทำไมเรื่องฝุ่นกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้คนตื่นตระหนกมากขึ้น ?
สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งสามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ พุ่งสูงขึ้นและอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพขึ้นมานั้น ทางบีบีซีรายงานหลังได้พูดคุยกับนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ระบุว่าสาเหตุที่ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมาจาก
สภาพอากาศที่มีหมอกในตอนเช้า มีสภาพอากาศปิด ไม่ปลอดโปร่ง อากาศนิ่ง และมีสภาพอากาศปิด ทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศเพิ่มขึ้น และไม่มีการหมุนเวียนของอากาศ
กรุงเทพมหานครมีแหล่งกำเนิดมลพิษตามปกติอยู่แล้ว ทั้งจากการก่อสร้าง จากยานพาหนะ การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ดีเซล และกิจกรรมต่างๆ
ผลจากฝุ่นละอองส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพเราบ้าง ??
สมองเสื่อม
นายแพทย์หง เซิน จากสำนักงานสาธารณสุขรัฐออนเทรีโอ หนึ่งในคณะวิจัยที่ศึกษาบันทึกสุขภาพผู้คนราว 2 ล้านคนในรัฐออนเทรีโอ แคนาดา กว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2001 - 2012 พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับถนนสายหลัก มีการจราจรคับคั่ง มีโอกาสป่วยด้วยอาการนี้สูงกว่าบริเวณอื่น
ทั้งปัญหาที่มาจากเสียงรบกวนและมลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น อนุภาคจากยางรถยนต์ที่หลุดออกเมื่อเสียดสีกับพื้นถนนและไนโตรเจนออกไซด์ เป็นเหตุให้เกิดสมองเสื่อมได้
มลพิษทางอากาศเข้าถึงเส้นเลือด ส่งผลร้ายต่อหัวใจ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระแห่งสหราชอาณาจักรแลเนเธอร์แลนด์ทำการทดลองหาความเกี่ยวข้องของมลพิษทางอากาศกับโรคหัวใจ พบว่า ฝุ่นละอองมลพิษขนาดเล็กหรือ Nanoparticles สามารถทะลุผ่านระบบกรองของจมูกและปอดเข้าสู่กระแสเลือดได้ อาจจะไปกระตุ้นการเกิดโรคหัวใจหรือทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการแย่ลง
อากาศเป็นพิษทำให้เสี่ยงต่อการแท้งได้เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่
มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดและทำให้เด็กมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ ระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงการแท้งลูกมากถึง 16% ไนโตรเจนไดออกไซด์เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
ดร. แมทธิว ฟูลเลอร์ หนึ่งในทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ ระบุว่า ความเสี่ยงจากผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อทารกนั้น เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่
มลพิษทางอากาศทำร้ายเซลส์ผิว อักเสบ ริ้วรอย และจุดด่างดำ
ผศ.นพ. ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์ กรรมการสมาคมแพทย์ความงาม ให้สัมภาษณ์กับ BBC Thai ว่า มลพิษทางอากาศนั้นสามารถแบ่งออกได้สองระดับ คือก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคผิวหนังอักเสบบริเวณที่มีต่อมไขมันจำนวนมาก
ระยะยาว อนุภาคของฝุ่นจะทำลายเซลส์ผิว หากระคายเคืองและแกะเกาจนเกิดแผล ก็อาจจะติดเชื้อ
ค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศที่เทียบเท่ากับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ
ดัชนีคุณภาพอากาศของไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ
0 - 25 = อากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและท่องเที่ยว
26 - 50 = อากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ
51 - 100 = อากาศปานกลาง คนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่สำหรับคนที่มีอาการไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ต้องลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
101 - 200 = เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ คนทั่วไปเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการ ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง คนที่ต้องดูแลสุขภาพ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้ามีอาการแน่นหน้าออก ปวดศรีษะ หัวใจเต้นไม่ปกติ คลื่นใส้ ควรปรึกษาแพทย์
201 ขึ้นไป = มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ มีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์
แก้ไข ป้องกันยังไงดี
ในส่วนของภาครัฐ มีนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นและเสนอแนะคำแนะนำว่ารัฐควรจะแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวรรณ วิจิตรวาทการ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอแนะว่า ปัญหาเกิดจากสภาพอากาศแห้งในประเทศ กอปรกับยานพาหนะที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้มลพิษเพิ่ม รวมถึงการเผาไหม้เกษตรด้วย
รัฐควรแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน เช่น การใช้นำมันดีเซลให้เป็นยูโร 5 และ ยูโร 6 ที่รัฐต้องเร่งดำเนินการให้ปรับคุณภาพให้ดีขึ้น ในส่วนของรถโดยสารประจำทาง รถบรรทุกก็ต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด รวมถึงเรื่องการเผาเกษตรด้วย
ขณะที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมก็เห็นพ้องที่รัฐควรวางแผนแก้ไขป้องกันเช่นกัน โดยคุณสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้ว่า สิ่งแรกที่ต้องลดจากตัวรถยนต์คือ รถแต่ละคันต้องสะอาด มลพิษน้อย มาตรฐานต้องดีและสูงขึ้น เห็นด้วยที่ต้องใช้ ถ้ารถมีจำนวนเพิ่มขึ้น มาตรฐานรถยนต์ต้องดีอยู่ในระดับยูโร 5-6 น้ำมันต้องมีกำมะถันลดลงไม่เหลือไม่เกิน 10 พีทีเอ็ม และควรลดจำนวนการใช้รถให้น้อยลง การจราจรจะได้เบาบางขึ้น
ขณะที่คุณมาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันขนส่งและผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า มาตรการเร่งด่วนคือ ภาคขนส่งต้องลดปริมาณการเดินทางบนท้องถนนในช่วงโอกาสวิกฤติโดยทันที โรงเรียนต้องพิจารณาหยุดสอนชั่วคราว เพราะเสี่ยงต่อสุขภาพนักเรียน เด็กเล็ก ส่วนรถเมล์คันดำควรหยุดวิ่งหรือลดจำนวนวิ่ง และลดการขนส่งกระจายสินค้าที่ไม่จำเป็น
ด้านคุณสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าขณะที่องค์การอนามัยโลกตั้งมาตรฐานค่าฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ 25 ไมโครกรัม แต่ไทยตั้งค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ 50 ไมโครกรัม (ซึ่งจะเห็นว่ามาตรฐานไทยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก) ทางแก้เร่งด่วน รัฐควรมีมาตรการสนับสนุนการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ลดราคารถเมล์ หรือให้บริการฟรีในบางวัน แจกหน้ากากอนามัยฟรี และอำนวยความสะดวกอื่นหากต้องลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
สำหรับการป้องกันแก้ไขในระดับประชาชน
หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นละอองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ
ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันฝุ่น และหมั่นทำความสะอาดบ้านทุกวัน
ใช้หน้ากากมีประสิทธิภาพที่กรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอน
เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานในที่โล่งแจ้งนานกว่า 12 ชั่วโมง
ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ ถ้ามีอาการผิดปกติควรรีบไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว
ที่มา:
กรมควบคุมมลพิษ
ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ
รายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย
โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางจัดการฝุ่นละออง
การจัดลำดับเมืองที่มีปัญหามลพิษ
เหตุใดฝุ่นละอองขนาดเล็กจึงพุ่งขึ้นสูง
ฝุ่นเป็นเหตุให้สมองเสื่อมได้
มลพิษเข้าถึงเส้นเลือด ส่งผลร้ายต่อหัวใจ
อากาศเป็นพิษเสี่ยงแท้งเทียบเท่าการสูบบุหรี่
มลพิษทางอากาศทำลายเซลส์ผิว
นักวิชาการ มธ. แนะรัฐแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้รัฐวางแผนแก้ไข ป้องกัน
ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY
Line@ : @aommoney
Website : www.aomMONEY.com
Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH
ความเห็น 0