ปูสีฟ้าบุกข้ามทวีป กินทุกอย่างที่ขวางหน้า เขย่าระบบนิเวศ
ปูสีฟ้าบุกข้ามทวีป – เดอะ การ์เดียน รายงานการโยกย้ายถิ่นของ ปูสีฟ้าสดใสตัดกับก้ามสีส้ม จากทวีปอเมริกามายังยุโรป เพิ่งพบเห็นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเอโบร ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของสเปนเมื่อปี 2555 จากนั้นเป็นต้นมา ประชากรปูสีฟ้าก็เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและคุกคามสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นส่งผลต่อระบบนิเวศ
นักวิจัยจากศูนย์วิจัยสมุทรศาสตร์มหาวิทยาลัยอลิกันเต บอกว่าถิ่นอาศัยเดิมของปูชนิดนี้ อยู่ตามชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกาและสันนิษฐานว่าอาจจะติดมากับน้ำอับเฉาเรือและถูกปล่อยลงสู่ทะเลในอีกซีกโลกหนึ่ง จึงพบปูชนิดนี้หนาแน่นแถบกัสเตยอนและบาร์เซโลนา
เมื่อปูสีฟ้าอาศัยในน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิต่ำในช่วงฤดูหนาว พวกมันไม่ค่อยจะกระตือรือร้นนัก แต่พอมาอยู่ในน้ำทะเลอุ่นกำลังดีอย่างชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนและพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีอาหารอย่างหอยและหมึกให้พวกมันกินอย่างอุดมสมบูรณ์ทำให้ปูตัวเมียมีลูกดกมาก
ปูตัวหนึ่งวางไข่ได้ถึง 8,000,000 ฟอง ภายใน 2 ปี โดยมีระยะเวลาตั้งท้อง 30-50 วัน ส่งผลให้จำนวนปูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปูจอมตะกละกินได้ตั้งแต่ปูท้องถิ่น หอยแครงและแม้แต่พวกเดียวกันเอง!
ส่วนนักล่าเพียงชนิดเดียวที่พวกมันต่อกรด้วยคือ หมึกยักษ์ แต่ต้องเป็นหมึกยักษ์ตัวเขื่องเท่านั้นถึงจะพิฆาตมันได้
ขณะที่นักวิชาการกำลังสังเกตพฤติกรรมของปูสีฟ้าว่ากินอะไรเป็นอาหารในฤดูหนาวเพราะมันกินได้หลากหลายมากจนกล่าวได้ว่าพวกมันกินทุกอย่างโดยมีอาวุธคือก้ามหนีบอันทรงพลัง
นอกจากชายฝั่งสเปนแล้ว กองทัพปูสีฟ้ายังบุกตูนิเซียด้วย สร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงเพราะพวกมันทำลายแหอวนจนเสียหาย
วิธีการเดียวที่จะควบคุมปริมาณของปูสีฟ้า คือ ต้องจับพวกมันมาเป็นอาหารเสียเลย
ด้านกระทรวงการเกษตรของตูนิเซียเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยจับปูสีฟ้าได้ 1,450 ตัน ในช่วง7 เดือนแรกของปีที่ผ่านมาซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 105,000,000 บาท ส่วนใหญ่นำมาแช่แข็งและส่งขายในเอเชีย
ส่วนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเอโบร จับปูสีฟ้าได้ประมาณ 1 ตันต่อวัน โดยปีที่แล้ว จับได้ 53 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,8868,800 บาท ขณะที่เดือนมกราคมปีนี้เพียงเดือนเดียว จับได้ 12 ตันแล้วและราคาก็ดีกว่าปีที่่ผ่านมาซึ่งชาวสเปนนิยมนำปูสีฟ้านำมาปรุงเป็นปาเอย่า หรือ ข้าวอบสเปนและกับข้าวต่างๆ
ความเห็น 0